• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตับอ่อน

   

 

 
ตับอ่อน เป็นอวัยวะหนึ่งที่อยู่ภายในช่องท้องของคนเรา หาใช่คำตรงข้ามของ “ตับแข็ง” ไม่ ตับอ่อนเป็นต่อมอย่างหนึ่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุด รูปร่างคล้ายตัวลูกอ๊อด อยู่ใต้ตับ วางขวางอยู่ในช่องท้องส่วนบน พาดไปใต้กระเพาะอาหาร
ตับอ่อนแบ่งออกเป็นส่วนหัวและส่วนหาง ส่วนหัวก็คือส่วนที่มีลักษณะคล้ายหัวของลูกอ๊อด ส่วนที่ต่อยาวออกไปก็คือส่วนหาง
 

ตับอ่อนเป็นอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่ 2 ประการคือ ทำหน้าที่สร้างน้ำย่อยหลายชนิด เพื่อใช้ในการย่อยอาหารในลำไส้เล็ก หน้าที่อีกประการหนึ่งก็คือทำหน้าที่สร้างอินซูลินเพื่อใช้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในตับอ่อนจึงมีเซลล์อยู่สองชนิดเซลล์ส่วนใหญ่ของตับอ่อนเป็นเซลล์ที่สร้างน้ำย่อย
เซลล์พิเศษที่สร้างอินซูลินเป็นเซลล์ที่เกาะกันอยู่เป็นกลุ่ม ๆ กระจายอยู่ทั่วเนื้อของตับอ่อนเรียกชื่อว่า กลุ่มเซลล์ของแลงเกอร์ฮาน ตามชื่อของคนที่ค้นพบกลุ่มเซลล์นี้


น้ำย่อยที่ตับอ่อนสร้างขึ้นเป็นน้ำย่อยที่ใช้ย่อยอาหารแต่ละชนิดที่เรากินเข้าไป น้ำย่อยแต่ละอย่างก็ทำหน้าที่ย่อยอาหารเฉพาะกลุ่ม เช่นน้ำย่อย ทริปซิน ย่อยอาหารประเภทโปรตีนเท่านั้น เช่น เนื้อสัตว์
นม เนย น้ำย่อยไลเปสย่อยอาหารประเภทไขมัน น้ำย่อยอะไมเลสย่อยอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล
น้ำย่อยที่ตับอ่อนสร้างขึ้นจะเข้าสู่ลำไส้เล็กทางท่อที่ต่อออกมาจากตับอ่อนท่อนี้ไปเชื่อมรวมเข้ากับท่อน้ำดีก่อนที่จะเปิดเข้าสู่ลำไส้เล็ก ที่ปากท่อมีหูรูดเล็ก ๆ คอยปิดเปิดให้น้ำย่อยไหลเข้าสู่ลำไส้

ในเนื้อตับอ่อนเต็มไปด้วยน้ำย่อยเมื่อตับอ่อนฉีกขาดจากอันตรายใด ๆ ก็ตาม จะรักษาค่อนข้างยาก เนื่องจากน้ำย่อยที่มีอยู่ซึมออกมาในช่องท้องทำให้เกิดอาการอักเสบ และถ้าไม่มีน้ำย่อยจากตับอ่อนช่วยย่อยอาหารที่เรากินเข้าไป อาหารที่ผ่านกระเพาะก็จะผ่านลำไส้ไปเฉย ๆโดยไม่ได้ถูกย่อย อาหารที่เป็นเม็ดโต ๆ ไม่สามารถถูกร่างกายดูดซึมนำไปใช้ได้ ร่างกายก็จะขาดอาหารผอมแห้งและขี้โรค


อินซูลินเป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่สร้างขึ้นโดยกลุ่มเซลล์แลงเกอร์ฮาน อินซูลินมีหน้าที่ช่วยให้น้ำตาลกลูโคส (อณูที่เล็กที่สุดของน้ำตาลที่ถูกร่างกายย่อยแล้ว) ในกระแสเลือดซึมเข้าสู่เซลล์ร่างกาย เซลล์ทั่วร่างกายจะใช้กลูโคสเป็นพลังงานเพื่อทำหน้าที่ต่าง ๆ ได้นั้นต้องอาศัยฮอร์โมนอินซูลิน หากอินซูลินมีน้อยหรือไม่มี การส่งผ่านกลูโคสเข้าสู่เซลล์ร่างกายจะเกิดขึ้นน้อย น้ำตาลที่ย่อยแล้วและถูกดูดซึมเข้าไปก็จะคั่งอยู่ในกระแสเลือด เนื่องจากเซลล์ร่างกายจับเอาไปใช้ไม่ได้ น้ำตาลส่วนที่คั่งอยู่นี้เองจะถูกขับออกไปทางปัสสาวะ นี่คือภาวะขาดอินซูลิน หรือที่เราเรียกกันว่าเป็น “เบาหวาน” คนที่เป็นเบาหวานเมื่อตรวจเลือดจึงพบว่ามีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าคนปกติ เมื่อตรวจปัสสาวะก็จะพบว่ามีน้ำตาลในปัสสาวะซึ่งคนปกติไม่มี

คนที่เป็นเบาหวานก็คือคนที่กลุ่มเซลล์แลงเกอร์ฮานทำงานสร้างอินซูลินน้อยกว่าปกติ อะไรเป็นสาเหตุให้เซลล์แลงเกอร์ฮานทำงานได้ไม่เก่งเท่าคนอื่นๆ นั้นยังไม่มีใครทราบ แต่พบแล้วว่าโรคเบาหวานเป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม บางคนก็มีอาการตั้งแต่เด็ก แต่ส่วนมากเบาหวานมักจะเป็นกับคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป

สำหรับโรคเบาหวานนั้น ปัจจุบันวิธีการรักษาคือการควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ คือทำอย่างไรร่างกายจึงจะมีอินซูลินใช้อย่างพอเพียงเพื่อที่เซลล์ร่างกายจะเอาน้ำตาลเข้าไปใช้ในเซลล์ได้ วิธีการก็คือให้ยากระตุ้นให้กลุ่มเซลล์แลงเกอร์ฮานทำงานมากขึ้น ยาบางชนิดก็เป็นยาที่ช่วยให้เซลล์จับน้ำตาลได้เก่งขึ้น หรือกระทั่งการใช้ฮอร์โมนอินซูลินที่สกัดจากตับอ่อนของสัตว์บางชนิดฉีดเข้าไปในร่างกายของคนที่เป็นเบาหวาน วิธีการรักษาเช่นนี้ทำให้คนเป็นโรคเบาหวานต้องการการรักษาที่ต่อเนื่อง เมื่อใดที่หยุดใช้ยาร่างกายก็จะกลับเข้าสู่สภาพเดิม คือมีอินซูลินน้อย ร่างกายไม่มีน้ำตาลใช้ทั้ง ๆ ที่น้ำตาลล้นเกินอยู่ในกระแสเลือด

สำหรับยาสมุนไพรที่ใช้รักษาเบาหวานที่ได้รับการพิสูจน์ว่าสามารถลดน้ำตาลในเลือดได้จากการทดลองทางห้องปฏิบัติการแล้วก็คือ มะระ แต่ต้องเป็นมะระสด การต้มเอาน้ำนั้นทำให้สารที่สามารถลดน้ำตาลในเลือดได้สลายตัวไป

การเลือกรักษาโรคเบาหวานด้วยตัวเองด้วยการกินยาสมุนไพร ควรมีการตรวจเลือดหาระดับน้ำตาลด้วยในขณะที่กินยาอยู่ เพื่อทดสอบดูว่ายาสมุนไพรนั้นได้ผลหรือไม่ การใช้ยาสมุนไพรรักษาโรคเบาหวานก็จะต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่องด้วย เพราะเนื่องจากไม่มียาหรือสมุนไพรชนิดไหนที่สามารถมาทำให้เซลล์ของแลงเกอร์ฮานทำงานเป็นปกติได้ อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาที่ว่า “ยาหม้อนี้รักษาเบาหวานให้หายขาดได้” ไม่ว่าจะเป็นยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณสำหรับโรคเบาหวานก็ต้องใช้ตลอดไปทั้งสิ้น เว้นเสียแต่ว่าผู้ป่วยคนนั้นมีอาการไม่มากและสามารถควบคุมอาหารได้ดีเท่านั้น ก็อาจจะไม่ต้องใช้ยาควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

เบาหวานในระยะเริ่มแรกไม่มีอาการ วิธีวินิจฉัยที่ได้ผลแน่นอนคือการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ผู้ที่มีญาติพี่น้องสายตรงหรือพ่อแม่เป็นโรคเบาหวาน คนทีมีอายุเกิน 40 ปี ควรได้รับการตรวจหาน้ำตาลในเลือดทุกปี การตรวจหาน้ำตาลที่ทำได้ง่ายเพียงแต่อดอาหารหลังเที่ยงคืน แล้วไปเจาะเลือดในวันรุ่งขึ้นก่อนที่จะกินอะไรเข้าไป หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติจะได้แก้ไขเสียแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่โรคเบาหวานจะลุกลามใหญ่โตและเกิดอาการแทรกซ้อน
โรคเบาหวานในเด็กก็พบได้ หากเด็กมีอาการกินจุ หิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย แต่ไม่อ้วน ควรพาเด็กไปให้หมอตรวจ

    

 

ตับอ่อน
หน้าที่ของตับอ่อนประการแรกคือการย่อยอาหาร น้ำย่อยจากตับอ่อนเข้าสู่ลำไส้เล็กในตำแหน่งเดียวกับท่อน้ำดี น้ำย่อยนี้เป็นด่างเพื่อลดสภาพความเป็นกรดของอาหารที่ผ่านมาจากกระเพาะอาหาร เมื่ออาหารถูกย่อยแล้วจึงถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย นอกจากนี้เซลล์ของตับอ่อนที่เรียกว่า “กลุ่มเซลล์ของแลงเกอร์ฮาน” ยังสร้างฮอร์โมน 2 ชนิด คืออินซูลิน และกลูคากอน ซึ่งจะถูกลำเลียงเข้าสู่กระแสเลือดโดยตรง อินซูลินเป็นฮอร์โมนที่สำคัญมาก มีหน้าที่ช่วยเนื้อเยื่อในร่างกายจับเอาน้ำตาลในเลือดไปใช้ กลูคากอนมีหน้าที่ตรงข้ามคือ กระตุ้นตับและเนื้อเยื่อให้ปล่อยน้ำตาลที่สะสมไว้ ออกไปสู่กระแสเลือดในยามที่ร่างกายขาดแคลนน้ำตาล. 

ข้อมูลสื่อ

71-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 71
มีนาคม 2528
พญ.ลลิตา ธีระศิริ