• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โอ๊ย! ปวดลูกตา(ตอนที่ 3)


อาการปวดลูกตา 2 ตอนที่จบไปแล้วนั้น กล่าวถึงการอักเสบและสายตาผิดปกติ เป็นสาเหตุซึ่งคิดว่าน่าจะจัดว่าพบค่อนข้างบ่อย

ตอนที่ 3 นี้ ผมจะกล่าวถึงการปวดตาที่มีสาเหตุมาจากเหตุที่เหลืออื่นๆ นอกจากที่กล่าวมาในตอนต้นทั้งหมด ได้แก่

1.ภาวะตาเขเพียงเล็กน้อย หรือพวกที่มีตาส่อนหน่อยๆ ลักษณะเด่นของพวกนี้พอสังเกตได้ก็คือ ถ้าให้มองจ้องวัตถุอะไรระยะใกล้ๆ ประมาณสักฟุตหรือสองฟุต สามารถเพ่งตาทำให้ตาอยู่ในแนวตรงได้ หมายความว่าสังเกตไม่ออกว่าตาผู้นั้นมีลักษณะเข แต่ถ้าให้เขามองตรงไปข้างหน้าไกลๆ ประมาณ 6 เมตรออกไป จะสังเกตได้ทันทีว่า ตาผู้นั้นจะเข เราผู้สังเกตจะเห็นตาดำของผู้นั้นเอียงออกไปด้านข้าง ไม่ตาซ้ายก็ตาขวาหรือเฉียงเข้าด้านในข้างใดข้างหนึ่ง (แบบนี้พบน้อยกว่าพวกเฉียงออกด้านข้าง)
 

 

ลักษณะการเฉียงของลูกตาหรือเขแบใดแบบหนึ่ง แต่ผู้นั้นสามารถบังคับให้ตรงได้เป็นครั้งคราวลักษณะเช่นนี้แหละครับที่ทำให้เกิดภาวะเครียดของกล้ามเนื้อการกลอกตาได้ การที่เป็นเช่นนี้เพราะต้องพยายามบังคับการกลอกตาให้หันเข้าหาภาพ หรือวัตถุที่ตัวผู้นั้นพยายามเพ่งมอง การมองระยะแรกๆ ก็ไม่มีอาการ ครั้นมองนานๆ จะมีอาการเมื่อยล้า ปวดกระบอกตา ปวดศีรษะ จะเป็นทุกครั้งที่ใช้สายตาในระยะใกล้ๆ เป็นต้นว่า อ่านหนังสือ พิมพ์ดีด คิดตัวเลข ทำบัญชี เป็นต้น

ถ้ามีอาการดังกล่าว ลองไปปรึกษาแพทย์ทางตาดูเถอะครับ ว่าอาการปวดตาที่เกิดขึ้นจะเข้าข่ายตาเขที่ว่านี้ไหม ?

การแก้ไขพวกนี้ต้องใช้วิชา “จักษุบำบัด” คือ การฝึกการเพ่งมอง การใช้กล้ามเนื้อตาให้สัมพันธ์กัน ส่วนจะใช้แว่นตาด้วยหรือไม่นั้น ต้องดูว่ามีสายตาผิดปกติด้วยหรือไม่ (ส่วนมากมักมีด้วยเสมอ)
การรับประทานยาแก้ปวดเพื่อช่วยประทังอาการปวด ไม่สามารถแก้ไขได้ถาวร ลงท้ายอาจต้องมีการผ่าตัด

ยังมีอีกประเภทหนึ่งที่สังเกตยากยิ่งขึ้นไปอีก คือมีอาการตาเขเพียงนิดหน่อย แต่ผู้นั้นสามารถ “ข่ม” หรือ “บังคับ” ให้ตรงได้ตลอดเวลาโดยอัตโนมัติ โดยที่ว่ากลไกการบังคับเป็นไปเอง และเป็นตลอดเวลา เราเรียกว่า “ตาเขแบบซ่อนเร้น”

ภาวะตาเขแบบซ่อนเร้นนี้ มีได้ทั้งชนิดที่มีความโน้มเอียงจะเขออกด้านนอก หรือเข้าด้านในหรือขึ้นบนและเขลงด้านล่าง ไม่อย่างไรอย่างหนึ่ง กล่าวง่ายๆ ก็เสมือนกับว่า การทำงาน การบังคับ การจ้องมองหรือการกลอกตา ไม่อยู่ในสภาพ “สมดุลย์”กันนั่นเอง ทำให้ตาเกิดภาวะมีความโน้มเอียงจะเขอยู่ลูกเดียว
 

 

เมื่อเป็นเช่นนี้การบังคับให้ตานิ่งหรือสมดุลย์อยู่ตลอดเวลาในช่วงระยะเวลาต้นๆ ของการใช้สายตาไม่ว่าจะมองไกลหรือใกล้ผู้นั้นยังพอทำได้ไม่มีอาการอะไร ครั้นสายตานานๆ เกินขีดความสามารถของกำลังกล้ามเนื้อ การกลอกลูกตา จะเริ่มมีอาการ “ล้าหรือเมื่อยลูกตา " ไม่ข้างใดข้างหนึ่งภายหลังที่ใช้สายตาอยู่สักพักถ้ายังใช้สายตาติดต่อกันนานออกไป จะรู้สึกมึนศีรษะและต่อไปจะมีอาการปวดขมับและปวดกระบอกตาตามมาในที่สุด

ครั้นถ้าหยุดใช้สายตาสักพัก อาการปวดเมื่อยล้าตาจะค่อยๆ ทุเลาลงไป หมายถึงถ้ามองออกไปไกลๆ ถ้าจะให้ดีมองดูวิวทัศนียภาพธรรมชาติไกลๆ ดีกว่ามองออกไปไกลๆ แต่ไปมองรถราที่วิ่งขวักไขว่ในท้องถนน แบบนี้ยิ่งมีอาการมากขึ้นไปอีก

การจะทราบว่าตนเองมีภาวะ “ตาเขซ่อนเร้น” ที่กล่าวนี้หรือเปล่า ต้องได้รับการตรวจพิเศษครับ ตรวจกันธรรมดาอย่างที่ตรวจโรคตาอักเสบไม่สามารถจะบอกได้ เพียงว่าถ้าท่านมีอาการเมื่อยล้า ปวดกระบอกตา เมื่อใช้สายตาสักพัก ทั้งๆ ที่ตรวจวัดสายตาแล้วว่าปกติดี ตาท่านไม่ส่อนไม่เขจนเห็นชัดเจน เยื่อตาไม่อักเสบตามอาการปวดตาตอนที่ 1 แล้ว ขอให้ท่านลองไปปรึกษาจักษุแพทย์ดูเถอะครับ คงไม่มีแพทย์ท่านใดรังเกียจที่จะให้คำแนะนำหรอก


2.ปวดกระบอกตาจากสาเหตุทางภาวะของโรคทางกายระบบอื่นที่เกี่ยวข้อง
โรคทางกายบางโรค สามารถทำให้มีอาการปวดตาร่วมด้วยได้ ควรจะนึกไว้เสมอด้วย เป็นต้นว่า โรคความดันโลหิตสูง โรคโลหิตจาง โรคทางระบบสมอง โรคทางระบบหลอดเลือด ฯลฯ เป็นต้น แต่บางครั้งตรวจแล้วเท่าไรๆ ก็ไม่พบ น่าจะคิดถึงข้อสุดท้ายต่อไปคือ


3.ภาวะจิตใจ จัดอยู่ในหัวข้อสุดท้าย ท่านลองพิจารณาดูซิครับว่า ในขณะนั้นจิตใจท่านสบายดีอยู่หรือเปล่า ? มีความวิตกกังวล ตึงเครียด ถูกบีบคั้น ร่างกายอ่อนเพลีย เพลียใจหรืออดหลับอดนอน ทำงานหนักเกินกว่าปกติ นอนดึก มีเวลาน้อย ดื่มสุรากล่อมใจมากไป มีความกลัว และฯลฯ อยู่ไหม ? เพราะภาวะจิตใจที่ไม่ปกติ สามารถทำให้มีอาการทางกายได้เสมอ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการปวด ที่เด่นชัดเห็นจะได้แก่ การปวดหัว และปวดกระบอกตานี่แหละ

แต่ถ้าท่านนั่งหลับตาพิจารณาดูแล้วว่า ภาวะต่างๆ ที่กล่าวมาข้างบนมิได้แผ้วพาลเข้ามาในจิตใจหรือร่างกายท่านเลยแม้แต่น้อย กระนั้นยังปวดลูกตาอยู่เป็นครั้งคราวละก้อ ขอให้นึกถึงอีกอันเถอะครับ อันสุดท้ายจะเรียกว่า ลูกหลงก็ได้ คือท่านอาจจะเริ่มมีอาการ “ประสาท” แล้วก็ได้ เช่นเดียวกับที่ผมก็เคยมีอาการปวดกระบอกตาจนหาสาเหตุไม่พบมาแล้ว ยังเป็นอยู่บางครั้งบางคราว มานั่งคิดดูว่า ตัวเองถ้าประสาทแล้วกระมังนี่

ท่านผู้อ่านจะมีอาการเช่นเดียวกับผมหรือเปล่า ?.......วานบอกที
 

ข้อมูลสื่อ

30-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 30
ตุลาคม 2524
โรคตา
นพ.สุรพงษ์ ดวงรัตน์