• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เบาหวาน

วันที่ 14 พฤศจิกายน เป็นวันเบาหวานโลก ซึ่งทั่วโลกจะได้จัดกิจกรรมส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของโรคนี้ ช่วยกันหาทางป้องกันและควบคุมโรคให้ลดความพิการและความสูญเสียลง


เบาหวานได้ชื่อว่าเป็น "ภัยเงียบ" หรือ "เพชฌฆาตมืด" (silent killer) เพราะเป็นโรคที่ไม่ปรากฏอาการ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะรู้สึกแข็งแรงเช่นคนปกติทั่วไป จะไม่รู้ว่าตัวเองมีโรคเบาหวานซ่อนเร้นอยู่ ซึ่งจะค่อยๆ บ่อนทำลายร่างกายลงทีละน้อย จนในที่สุดปรากฏอาการของโรคแทรกซ้อนอันตราย เช่น โรคหัวใจ อัมพาต โรคติดเชื้อต่างๆ

โรคนี้ส่วนใหญ่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม มักตรวจพบเมื่อมีการตรวจเช็กสุขภาพ หรือเมื่อเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นแล้ว

โรคนี้แม้ว่าจะเป็นโรคเรื้อรัง แต่ก็สามารถมีความปกติสุขและมีชีวิตยืนยาวเช่นคนทั่วไปได้
ขอเพียงแต่ทำความเข้าใจในธรรมชาติของโรคนี้อย่างถ่องแท้ และมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ อดทนในการดูแลตนเอง และปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง
 

* ชื่อภาษาไทย 

เบาหวาน

* ชื่อภาษาอังกฤษ 

Diabetes mellitus (DM)

* สาเหตุ

1. ส่วนใหญ่เป็นความผิดปกติที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม (สายเลือด) มักมีพ่อแม่พี่น้องเป็นเบาหวานร่วมด้วย และอาจเป็นกันหลายคนในครอบครัวเดียวกัน (ได้ชื่อว่า "ครอบครัวเบาหวาน") สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่

♦ เบาหวานชนิดที่ 1 เป็นเบาหวานชนิดรุนแรง พบเป็นได้ตั้งแต่วัยเด็กและในคนอายุต่ำกว่า 20 ปี โดยที่ไม่มีภาวะน้ำหนักเกิน และมีอาการไม่สบายชัดเจน คือ ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย หิวข้าวบ่อย อ่อนเพลีย น้ำหนักลด จำเป็นต้องรักษาด้วยยาฉีดอินซูลินทุกวัน เนื่องจากผู้ป่วยชนิดนี้เกิดจากความผิดปกติของตับอ่อนที่ไม่สามารถผลิตอินซูลิน* ถ้าหากขาดยาฉีดอินซูลินก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น หมดสติจากภาวะคีโตนในเลือดสูงได้ (คีโตน มีพิษต่อสมอง ทำให้หมดสติ) เบาหวานชนิดที่ 1 นี้พบได้น้อยกว่าชนิดที่ 2 มาก

 *อินซูลินซึ่งเป็นสารที่ผลิตโดยตับอ่อน ทำหน้าที่นำน้ำตาล (กลูโคส) จากกระแสเลือดเข้าสู่ภายในเซลล์ (อันเป็นองค์ประกอบของเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ) เพื่อการเผาผลาญให้เกิดพลังงาน ทำให้ร่างกายสามารถทำงานได้เป็นปกติ ถ้าร่างกายขาดอินซูลินอย่างรุนแรง (ดังที่พบในโรคเบาหวานชนิดที่1) หรือว่าร่างกายดื้อต่ออินซูลิน กล่าวคือมีอินซูลินพอเพียง แต่ทำหน้าที่ไม่ได้(ดังที่พบในโรคเบาหวานชนิดที่ 2)   ก็จะเกิดการคั่งของน้ำตาลในกระแสเลือด และท้นออกมาทางปัสสาวะ คือ มีน้ำตาลหลุดออกมาในปัสสาวะ จึงได้ชื่อว่า "เบาหวาน" เกิดอาการและภาวะรุนแรงต่างๆ (ภาพประกอบที่ 1)

                

 ♦ เบาหวานชนิดที่ 2 เป็นชนิดที่พบได้บ่อยมาก (ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเบาหวานชนิดนี้) มักไม่มีอาการแสดงชัดเจน (ได้ชื่อว่า "เพชฌฆาตมืด") มักพบในคนอายุมากกว่า 30 ปี ที่มีรูปร่างท้วม (น้ำหนักเกิน) หรือ อ้วน ซึ่งพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายหลายเท่า ในปัจจุบันพบเบาหวานชนิดนี้ในเด็กอ้วนได้บ่อยขึ้นกว่าแต่ก่อน มักตรวจพบเมื่อผู้ป่วยมาขอตรวจเช็กสุขภาพ (โดยที่ร่างกายแข็งแรงดี) โดยพบว่ามีระดับน้ำตาลสูงถึงขั้นที่เป็นโรค (ระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง มีค่าเท่ากับหรือมากกว่า 126 มก./ดล.) แต่ยังไม่สูงมากถึงขั้นแสดงอาการ (ระดับน้ำตาลในเลือดมีค่าเท่ากับหรือมากกว่า 200 มก./ดล.)

เบาหวานชนิดที่ 2 สามารถรักษาด้วยการใช้ยาลดน้ำตาลชนิดกิน ควบคู่กับการควบคุมอาหารและน้ำหนักตัว หากปล่อยปละละเลยแม้จะไม่มีอาการก็สามารถเกิดโรคแทรกซ้อนตามมาในระยะยาว (5-10 ปีต่อมา) ได้

2. ส่วนน้อยเกิดจากพฤติกรรม ที่สำคัญคือ การบริโภคเกินจนเป็นโรคอ้วน (ดัชนีมวลกายมากกว่า 30 กก./เมตร2 ความอ้วนทำให้ร่างกายดื้อต่ออินซูลิน) การดื่มสุราจัดอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง ตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอ

นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการใช้ยาผิดๆ (ที่พบบ่อย คือ การใช้ยาสตีรอยด์พร่ำเพรื่อ) หรือพบร่วมกับโรคอื่น (เช่น เนื้องอกต่อมหมวกไต มะเร็งตับอ่อน)

3. ภาวะตั้งครรภ์ ทำให้สตรีที่ตั้งครรภ์บางคนเป็นเบาหวานได้ เนื่องจากรกมีการสร้างฮอร์โมนหลายชนิดที่เข้าสู่ร่างกายผู้ที่เป็นมารดา ทำให้มารดาเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินได้ หลังคลอด 1-2 เดือนไปแล้วก็มักจะหายได้ เรียกว่า "เบาหวานขณะตั้งครรภ์ (gestational diabetes mellitus, GDM)" สตรีกลุ่มนี้ในระยะต่อไปอาจกลายเป็นเบาหวานอย่างถาวรได้

 

* อาการ

ในรายที่เป็นไม่มาก ระดับน้ำตาลในเลือดไม่เกิน 200 มก./ดล. ซึ่งพบในกลุ่มเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นส่วนใหญ่ ผู้ป่วยจะรู้สึกสบายดีและไม่มีอาการผิดปกติใดๆ มักตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจปัสสาวะหรือตรวจเลือดขณะไปพบแพทย์ด้วยเรื่องอื่น หรือจากการตรวจเช็กสุขภาพ

ในรายที่เป็นมาก ระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 200 มก./ดล. ซึ่งพบในกลุ่มเบาหวานชนิดที่ 1 และบางส่วนของเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งเป็นถึงขั้นรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะบ่อย และออกครั้งละมากๆ กระหายน้ำบ่อย หิวบ่อยหรือกินข้าวจุ อ่อนเปลี้ยเพลียแรง บางรายอาจสังเกตว่าปัสสาวะมีมดขึ้น

ในรายที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 อาการต่างๆ มักเกิดขึ้นรวดเร็วร่วมกับน้ำหนักตัวลดลงฮวบฮาบ (กินเวลาเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน) ผู้ป่วยเด็กบางรายอาจมีอาการปัสสาวะรดที่นอนตอนกลางคืน ผู้ป่วยบางรายอาจมาโรงพยาบาลด้วยอาการหมดสติด้วยภาวะคีโตนในเลือดสูง ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีอายุน้อยและรูปร่างผอม

ในรายที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแสดงชัดเจน ส่วนน้อยจะมีอาการผิดปกติดังกล่าวข้างต้น น้ำหนักตัวอาจลดลงบ้างเล็กน้อย บางรายอาจมีน้ำหนักขึ้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนอยู่แต่เดิม ในรายที่เป็นเรื้อรังมานาน (ทั้งที่มีอาการหรือไม่มีอาการปัสสาวะบ่อยมาก่อน) อาจมีอาการคันตามตัว เป็นฝีหรือโรคติดเชื้อราที่ผิวหนังบ่อย หรือเป็นแผลเรื้อรัง หรืออาจมาพบแพทย์ด้วยภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ชาหรือปวดแสบปวดร้อนตามปลายมือปลายเท้า ตามัวลงทุกที หรือต้องเปลี่ยนแว่นสายตาบ่อย เจ็บ จุกหน้าอกจากโรคหัวใจขาดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาต ภาวะองคชาตไม่แข็งตัว เป็นต้น

 

* การแยกโรค

ในรายที่มีอาการปัสสาวะบ่อย และกระหายน้ำบ่อย อาจเกิดจากโรคเบาจืด (diabetes insipidus) ซึ่งพบได้น้อย สามารถแยกจากเบาหวานโดยการตรวจเลือด พบว่าระดับน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ปกติ

ในรายที่มีอาการอ่อนเพลีย น้ำหนักลด อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น เอดส์ (มีไข้เรื้อรัง ท้องเดินเรื้อรัง) วัณโรคปอด (มีไข้และไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด) คอพอกเป็นพิษ หรือภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (มีอาการหิวบ่อย น้ำหนักลด ใจสั่น มือสั่น เหงื่อออกมาก ชีพจรเต้นเร็ว คอโต) มะเร็ง

อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามีอาการผิดปกติดังกล่าว ก็ควรจะรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด

 

* การวินิจฉัย

แพทย์จะทำการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งมีเกณฑ์การวินิจฉัยดังนี้
ในรายที่มีอาการปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย จะวินิจฉัยเป็นเบาหวานเมื่อตรวจพบระดับน้ำตาลในเลือด (แบบตรวจตามสะดวก ไม่ต้องให้ผู้ป่วยอดอาหารมาก่อน) มีค่าเท่ากับ ๒๐๐ มก./ดล.หรือมากกว่า จากการตรวจเพียงครั้งเดียว ในช่วงเวลาไหนก็ได้

ในรายที่ไม่มีอาการ (เช่น การมาขอตรวจเช็กสุขภาพ) แพทย์จะให้ผู้ป่วยอดอาหารอย่างน้อย 8ชั่วโมง (นิยมให้อดมาตั้งแต่กลางคืน แล้วมาตรวจตอนเช้าวันรุ่งขึ้น) แล้วตรวจดูระดับน้ำตาลมีค่าเท่ากับ 126 มก./ดล.หรือมากกว่า ให้สงสัยว่าอาจเป็นเบาหวาน แพทย์จะนัดตรวจระดับน้ำตาลหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมงซ้ำในวันถัดๆ ไปอีกครั้ง ถ้าพบว่าเท่ากับ 126 มก./ดล.หรือมากกว่า ก็จะวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานชนิดไม่มีอาการ (เพชฌฆาตมืด) ถ้ามีค่าต่ำกว่า ๑๒๖ มก./ดล.ก็จะยังไม่วินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน จนกว่าจะตรวจพบว่ามีค่าเท่ากับ 126 มก./ดล.หรือมากกว่า เป็นจำนวน 2 ครั้ง จึงจะวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน

ในรายที่ไม่มีอาการ แล้วตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมงดังกล่าวแล้วยังไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นเบาหวานตามเกณฑ์ หากมีปัจจัยเสี่ยงที่ชวนให้คิดว่าน่าจะเป็นเบาหวาน เช่น รูปร่างอ้วนจัด หรือมีประวัติเบาหวานในครอบครัว แพทย์จะทำการตรวจอีกวิธีหนึ่งที่เรียกว่า "การทดสอบความทนต่อกลูโคส" โดยให้ผู้ป่วยดื่มกลูโคส 75 กรัม หลังจากนั้น 2 ชั่วโมงตรวจดูระดับน้ำตาลในเลือด ถ้าพบว่ามีค่าเท่ากับ 200 มก./ดล. หรือมากกว่า จากการตรวจ 2 ครั้งในต่างวันกัน ก็สามารถวินิจฉัยว่า เป็นเบาหวานชนิดไม่แสดงอาการ

เมื่อตรวจพบว่าเป็นเบาหวาน แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ความดันเลือด ระดับไขมันในเลือด ตรวจปัสสาวะ คลื่นหัวใจ การทำงานของไต เป็นต้น เพื่อประเมินภาวะแทรกซ้อน และปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

 

* การดูแลตนเอง

เมื่อมีอาการปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย งควรรีบไปพบแพทย์ ตรวจเลือดดูว่าเป็นเบาหวานหรือไม่
แม้แต่ขณะที่รู้สึกสบายดี ก็ควรหาทางตรวจเช็กระดับน้ำตาลในเลือด ในกรณีที่อาจมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน เช่น มีประวัติเบาหวานในครอบครัว หรือมีภาวะน้ำหนักเกิน หรืออ้วน หรือมีอายุมากกว่า 45 ปี


ถ้าตรวจพบว่าเป็นเบาหวาน ก็ควรหมั่นดูแลตนเองดังนี้
1.  เรียนรู้ธรรมชาติของโรคเบาหวาน และวิธีการดูแลรักษาจากผู้รู้ หนังสือ และสื่อต่างๆ
จนเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรเข้าใจความเป็น "เพชฌฆาตมืด" คือ การไม่แสดงอาการของโรคนี้ รวมทั้งความจำเป็นที่ต้องคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ผลตั้งแต่ระยะแรกของโรค หากปล่อยให้น้ำตาลในเลือดสูงก็จะยิ่งทำให้โรคกำเริบมากขึ้น จนต้องใช้ยากินขนาดสูงขึ้นไปเรื่อยๆ และในที่สุดอาจต้องใช้ยาฉีดตลอดชีวิต รวมทั้งการปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินเป้าหมายพึงประสงค์ (ระดับน้ำตาล 150-200 มก./ดล. ซึ่งผู้ป่วยยังรู้สึกสบายดี) ก็ย่อมก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนในระยะยาวได้ 
ผู้ป่วยควรหมั่นปฏิบัติ ควบคุมโรคให้ได้ตามเป้าหมายพึงประสงค์
 

2.พบแพทย์ตามนัด เพื่อติดตามผลการรักษา ตรวจเช็กและเฝ้าระวังโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
 

3. กินยาหรือฉีดยารักษาตามคำแนะนำของแพทย์ อย่าปรับเปลี่ยนชนิดและขนาดของยาตามอำเภอใจ แม้ว่ารู้สึกสบายดีก็ไม่ควรลดหรือหยุดยาเอง
 

4.ควรหมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ถ้าเป็นไปได้ควรมีเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดไว้ที่บ้านหรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน ทำการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดทุกวัน (ถ้าเพิ่งเป็นใหม่หรือยังคุมน้ำตาลไม่ได้) หรือทุกสัปดาห์ (ถ้าคุมได้ดีแล้ว) โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนตรวจ (เช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน) ก่อนอาหารบ้าง หลังอาหารบ้าง เพื่อประเมินว่าสามารถคุมน้ำตาลได้ดีตลอด 24วโมงหรือไม่
 ควรให้แพทย์ตรวจดูระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (HbA 1 C) ทุก 3-6 เดือน
 

5 เมื่อเริ่มกินยาหรือฉีดยารักษาเบาหวาน ควรเฝ้าสังเกตดูอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ (อาจเกิดเพราะใช้ยาเกินขนาด กินอาหารน้อยไปหรือผิดเวลา หรือมีการออกแรงกายมากเกิน) ได้แก่ อาการใจสั่น ใจหวิว จะเป็นลม เหงื่อออก หิวข้าวก่อนเวลา ถ้าหิวก็ให้รีบอมลูกอม กินน้ำตาลทราย หรือน้ำหวานแก้ไขทันที ควรกลับไปปรึกษาแพทย์ก่อนนัด และสอบถามแพทย์ถึงวิธีป้องกันไม่ให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นหมดสติเป็นอันตรายได้

                               
 6.เมื่อมีอาการเจ็บป่วย (เช่น เป็นไข้ อาเจียน ท้องเดิน) หรือตั้งครรภ์ ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด หรือหมั่นตรวจน้ำตาลในเลือด หากพบว่ามีระดับน้ำตาลต่ำหรือสูงเกินไป ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับยาให้เหมาะสม
 

7.อย่าซื้อยากินเอง เพราะยาบางอย่างอาจเพิ่มน้ำตาลในเลือดได้ เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาเม็ดคุมกำเนิด สตีรอยด์ เป็นต้น และยาบางอย่างอาจเสริมฤทธิ์ของยารักษาเบาหวาน ทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำได้ เช่น แอสไพริน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ ยากลุ่มซัลฟา (เช่น โคไตรม็อกซาโซล) เป็นต้น
 ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้ยาเองต้องแน่ใจว่า ยานั้นไม่มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด
 

8.ควบคุมอาหารการกินอย่างเคร่งครัด โดยมีหลักง่ายๆ ดังนี้

♦ กินอาหารวันละ 3 มื้อ กินให้ตรงเวลา ไม่งดมื้อใดมื้อหนึ่ง กินในปริมาณใกล้เคียงกันทุกวัน ทุกมื้อ รู้จักใช้หลักการแลกเปลี่ยนอาหาร (food exchange) ของอาหารแต่ละหมู่ เพื่อให้ได้ปริมาณแคลอรีที่ใกล้เคียงกัน

♦ อย่ากินจุบจิบ ไม่เป็นเวลา

♦ในแต่ละมื้อ ให้กินอาหารที่มีทั้งแป้ง เนื้อสัตว์ ไขมัน และผัก

♦หลีกเลี่ยงการกินน้ำตาล น้ำผึ้ง น้ำหวาน น้ำอัดลม เครื่องดื่มบำรุงกำลัง ขนมหวาน ขนมเชื่อมน้ำตาล นมหวาน (ให้ดื่มนมจืดแทน) ผลไม้ที่มีรสหวานจัด (เช่น ทุเรียน ขนุน ลำไย ลิ้นจี่ องุ่น ละมุด อ้อย เป็นต้น) ผลไม้กระป๋อง ผลไม้แช่อิ่ม หรือเชื่อมน้ำตาล

♦ ถ้าชอบหวาน ให้ใช้น้ำตาลเทียมแทน

♦ ห้ามดื่มเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ รวมทั้งยาดองเหล้า

♦ หลีกเลี่ยงการกินเครื่องในสัตว์ ไขมันสัตว์ น้ำมันหมู เนย มันหมู มันไก่ เนื้อติดมัน หมูสามชั้น ครีม กะทิ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม ไข่แดง หอยนางรม อาหารทอด (เช่น ไก่ทอด กล้วยแขก ปาท่องโก๋ มันทอด ข้าวเกรียบทอด เป็นต้น)

♦ หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด และอาหารสำเร็จรูป (เช่น ไส้กรอก กุนเชียง เป็นต้น)

♦ กินอาหารประเภทแป้ง เช่น ข้าว ขนมจีน ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ ถั่ว ข้าวโพด เผือก มัน ขนมปัง ในจำนวนพอเหมาะ ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป

♦ กินผักให้มากๆ (ปริมาณไม่จำกัด) โดยเฉพาะผักประเภทใบและถั่วสด เช่น ผักกวางตุ้ง ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักบุ้ง ผักกระเฉด มะระ มะเขือยาว ถั่วงอก ถั่วแขก ถั่วฝักยาว เป็นต้น

♦ กินผลไม้ที่มีรสหวานไม่มาก ได้มื้อละ 6-7  เช่น ส้ม มังคุด มะม่วง มะละกอ พุทรา ฝรั่ง สับปะรด แอปเปิ้ล ชมพู่ กล้วย เป็นต้น

                
 

9. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ หรือทำงานออกแรงกายให้มาก (เช่น ทำสวน ขุดดิน ยกของ กวาดบ้าน ถูบ้าน ล้างรถ) ควรทำในปริมาณมากพอๆ กันทุกวัน อย่าหักโหม (ถ้าออกกำลังมากเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้) ทั้งการควบคุมอาหารและการออกกำลังควรให้เกิดความพอเหมาะ ที่จะช่วยควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ถ้าอ้วนเกิน แสดงว่ายังปฏิบัติทั้ง 2 เรื่องนี้ไม่ได้เต็มที่


10. ถ้าน้ำหนักเกิน ควรลดน้ำหนักโดยการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย
 

11. พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้ร่าเริง อย่าให้เครียด หรือวิตกกังวล (ความเครียดอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงได้) ถ้ามีโอกาส ควรทำงานอาสาสมัครหรือสาธารณกุศล เข้าสมาคม ชมรม หรือกลุ่มกิจกรรมต่างๆ จะช่วยให้รู้สึกตัวเองมีคุณค่าและหายเครียด


12. ควรเลิกสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัด และถ้ามีความดันโลหิตสูง หรือภาวะไขมันในเลือดสูง ควรดูแลรักษาจนสามารถควบคุมโรคได้ มิเช่นนั้นอาจทำให้หลอดเลือดแดงแข็งเร็วขึ้น ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคแทรกซ้อนต่างๆ


13. หมั่นดูแลรักษาเท้า ดังนี้
  • ทำความสะอาดเท้า และดูแลผิวหนังทุกวัน เวลาอาบน้ำควรล้างและฟอกสบู่ตามซอกนิ้วเท้าและส่วนต่างๆ ของเท้าอย่างทั่วถึง หลังล้างเท้าเรียบร้อยแล้วซับทุกส่วน โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้าให้แห้งด้วยผ้าขนหนู ระวังอย่าเช็ดแรงเกินไปเพราะผิวหนังอาจถลอกเป็นแผลได้

  • ถ้าผิวหนังที่เท้าแห้งเกินไป ควรใช้ครีมทาผิวทาบางๆ โดยเว้นบริเวณซอกนิ้วเท้า และรอบเล็บเท้า

  • ตรวจเท้าอย่างละเอียดทุกวัน โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้า ฝ่าเท้า บริเวณที่เป็นจุดรับน้ำหนัก และรอบเล็บเท้า เพื่อดูว่ามีรอยช้ำ บาดแผล หรือการอักเสบหรือไม่ หากมีแผลที่เท้า ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที

  • การตัดเล็บ ควรตัดด้วยความระมัดระวัง เพื่อป้องกันมิให้เกิดเล็บขบ ซึ่งอาจลุกลาม และเป็นสาเหตุของการถูกตัดขาได้
- ควรตัดเล็บในแนวตรงๆ และอย่าให้สั้นชิดผิวหนังจนเกินไป
- ไม่ควรใช้วัตถุแข็งแคะซอกเล็บ
- การตัดเล็บ ควรทำหลังล้างเท้าหรืออาบน้ำใหม่ๆ เพราะเล็บจะอ่อนและตัดง่าย ถ้าสายตามองเห็นไม่ชัด ควรให้ผู้อื่นตัดเล็บให้

  • ป้องกันการบาดเจ็บและเกิดแผล โดยการสวมรองเท้าทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน (อย่าเดินเท้าเปล่า) ควรเลือกรองเท้าที่สามารถหุ้มรอบเท้าได้ทุกส่วน รวมทั้งข้อเท้า (เช่น รองเท้าผ้าใบ) และสวมพอดี ไม่หลวม ไม่บีบรัด พื้นนุ่ม มีการระบายอากาศและความชื้นได้ ควรสวมถุงเท้าด้วยเสมอ โดยเลือกสวมถุงเท้าที่สะอาด ไม่รัดแน่น และเปลี่ยนทุกวัน ก่อนสวมรองเท้าควรตรวจดูว่า มีวัตถุมีคมตกอยู่ในรองเท้าหรือไม่ สำหรับรองเท้าคู่ใหม่ ในระยะแรกเริ่มควรใส่เพียงชั่วเวลาสั้นๆ ในแต่ละวัน เพื่อให้รองเท้าค่อยๆ ขยายปรับตัวเข้ากับเท้าได้ดี

  • หลีกเลี่ยงการตัด ดึง หรือแกะหนังแข็งๆ หรือตาปลาที่ฝ่าเท้า และไม่ควรซื้อยากัดลอกตาปลามาใช้เอง
  • ถ้ารู้สึกว่าเท้าชา ห้ามวางขวดหรือกระเป๋าน้ำร้อน หรือประคบด้วยของร้อนใดๆ จะทำให้เกิดแผลไหม้พองขึ้นได้ (วิธีเหล่านี้ไม่ช่วยให้อาการชาดีขึ้นแต่อย่างใด)

  • ถ้ามีตุ่มหนอง มีบาดแผล หรือการอักเสบที่เท้าควรไปพบแพทย์รักษา อย่าใช้เข็มบ่งเอง หรือใช้ทิงเจอร์ไอโอดีน หรือไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ชะแผล ควรล้างแผลด้วยน้ำสะอาดกับสบู่ และปิดแผลด้วยผ้าก๊อซที่ปลอดเชื้อ และติดด้วยปลาสเตอร์อย่างนิ่ม (เช่น ไมโครพอร์) อย่าปิดด้วยปลาสเตอร์ธรรมดา


14. ควรพกบัตรประจำตัวที่ระบุถึงโรคที่เป็นและยาที่ใช้รักษา หากระหว่างเดินทางไปไหนมาไหนประสบอุบัติเหตุ หรือเป็นลมหมดสติ แพทย์จะได้ให้การช่วยเหลือที่ถูกต้องและทันการ

 

 

* การรักษา

 แพทย์จะให้การรักษาให้เหมาะสมกับชนิดและความรุนแรงของโรค ดังนี้
• ถ้าเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 (พบในเด็ก และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี) จะรักษาด้วยยาฉีดอินซูลินทุกวัน ควบคู่กับการควบคุมอาหาร

• ถ้าเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 (พบในผู้ใหญ่และเด็กอ้วน) จะให้การรักษาโดยการควบคุมอาหารและน้ำหนักตัวสักระยะหนึ่งก่อน ถ้าไม่ได้ผลหรือมีระดับน้ำตาลสูงมากตั้งแต่แรก ก็จะให้ยาเบาหวานชนิดกิน ซึ่งมีให้เลือกใช้อยู่หลายชนิด แพทย์จะเลือกใช้ชนิดและขนาดยาให้เหมาะกับสภาพของผู้ป่วยแต่ละราย โดยเริ่มจากยาชนิดเดียว ขนาดต่ำก่อน ถ้าไม่ได้ผลก็จะค่อยปรับเพิ่มขนาดยา รวมทั้งอาจเพิ่มชนิดของยาในภายหลัง

แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาติดตามผลการรักษาทุก 1-2 เดือน
บางกรณีจะทำการตรวจกรองภาวะแทรกซ้อนและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดังนี้
  - ประเมินปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดอย่างน้อยปีละครั้ง ได้แก่ ความดันสูง ไขมันในเลือดสูงหรือผิดปกติ ภาวะมีสารไข่ขาวในปัสสาวะ ประวัติการสูบบุหรี่ ประวัติโรคหัวใจ และหลอดเลือดในครอบครัว
  - ตรวจคลื่นหัวใจ หรือทดสอบวิ่งสายพาน (exercise stress test) ปีละครั้ง
  - ตรวจระดับครีอะตินีนในเลือด (ดูภาวะไตวาย) ปีละครั้ง
  - ตรวจตาโดยจักษุแพทย์ปีละครั้ง ควรตรวจถี่ขึ้นสำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่ตั้งครรภ์
  - ตรวจความผิดปกติของเท้า (เช่น อาการชา ลักษณะการเต้นของชีพจรที่เท้า) ปีละครั้ง ในปัจจุบันมีการใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า เส้นใยเดี่ยว (monofilament) ตรวจหาความเสื่อมของประสาทส่วนปลายก่อนที่ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกชาปลายมือปลายเท้าได้
ทั้งนี้ ถ้าพบความผิดปกติจะได้หาทางป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน หรือชะลอความรุนแรงลงได้ เช่น ให้แอสไพรินกินวันละ 75-162 มก. ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ให้ยาต้านเอซ (ACE-inhibitors) ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งภาวะไตวายเรื้อรัง

 

* ภาวะแทรกซ้อน

มักเกิดกับผู้ป่วยที่ปล่อยปละละเลย ขาดการรักษา หรือปรับลดหรือปรับเพิ่มยาเองตามอำเภอใจ (ด้วยความไม่เข้าใจถึงความเป็นเพชฌฆาตมืดของโรคนี้)

ที่เป็นอันตรายร้ายแรงและอาจถึงขั้นเสียชีวิตฉับพลัน ได้แก่ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (มักเกิดจากการใช้ยาเกินขนาด กินอาหารน้อยหรือผิดเวลา) และภาวะน้ำตาลในเลือดสูงมากๆ (มักเกิดจากการขาดยา หรือหยุดยากะทันหัน) ซึ่งอาจถึงขั้นเป็นลมหมดสติ และถ้าได้รับการรักษาไม่ทันกาลก็อาจเสียชีวิตได้
ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่ค่อยๆ เกิดขึ้นทีละน้อยอย่างสะสม ก็มักจะเกิดจากการปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง (150-200 มก./ดล.) อยู่นาน 5-10 ปีขึ้นไป โดยที่ผู้ป่วยรู้สึกสบายดี (ทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิดว่าคุมโรคได้แล้ว จึงแอบปรับลดยาเอง และไม่เคร่งครัดในการควบคุมอาหารและน้ำหนักตัว) ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ดังนี้

- หลอดเลือดแดงทั้งขนาดใหญ่และเล็กทั่วร่างกายแข็งและตีบ ทำให้เกิดความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ เช่น จอประสาทตาเสื่อม (ตามัว ตาบอด) ไตวายเรื้อรัง (ถึงขั้นต้องฟอกไต) ประสาทเสื่อม (ทำให้มีอาการชาปลายมือปลายเท้า ท้องเดินหรือท้องผูกเรื้อรัง อาการโรคกระเพาะอาหารเรื้อรัง หน้าซีดเป็นลมเวลาลุกขึ้นยืน องคชาตไม่แข็งตัว หรือนกเขาไม่ขัน) โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (ถึงขั้นหัวใจวายกะทันหัน ซึ่งเป็นสาเหตุการตายฉับพลันของผู้ป่วยเบาหวาน) อัมพาต ความจำเสื่อม
ภาวะเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะเป็นอย่างถาวร แม้ว่าต่อมาจะสามารถคุมน้ำตาลในเลือดได้ดีก็ไม่ได้ช่วยให้ฟื้นคืนสู่ปกติได้ คือมีแต่ทรงกับทรุดลงเท่านั้น

- เกิดการติดเชื้อง่าย เนื่องจากเบาหวานทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำซาก (เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ช่องคลอดอักเสบ โรคเชื้อราที่ผิวหนัง ฝี พุพอง) หรือติดเชื้อรุนแรง (เช่น กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน ปอดอักเสบ วัณโรคปอด) ถ้าเป็นไข้หวัดใหญ่ก็มีโอกาสเกิดปอดอักเสบรุนแรงถึงเสียชีวิตได้

- แผลเน่าที่เท้า ซึ่งพบได้บ่อยในผู้ที่เป็นเบาหวานมาเกิน 10 ปีขึ้นไป เนื่องจากเท้าชาจากปลายประสาทเสื่อม (จึงเกิดแผลง่าย) เกิดการติดเชื้อง่ายและรุนแรง (เนื่องจากภูมิคุ้มกันต่ำ) และแผลหายช้าหรือเป็นเนื้อเน่าตาย (เนื่องจากหลอดเลือดปลายเท้าตีบ ขาดเลือดไปเลี้ยง) อาจถึงขั้นตัดนิ้วเท้า กลายเป็นคนพิการได้

- ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ต้อกระจก ต้อหินเรื้อรัง นิ่วในถุงน้ำดี กล้ามเนื้อหัวใจพิการ (ทำให้หัวใจวายเรื้อรัง) ภาวะไขมันสะสมในตับ (อาจกลายเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง มะเร็งตับ ตามมาได้) เป็นต้น

 

* การดำเนินโรค

เบาหวานมักเป็นเรื้อรังตลอดชีวิต ถ้าปล่อยปละละเลยหรือขาดการดูแลรักษาอย่างถูกต้องก็อาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือน้ำตาลในเลือดสูงรุนแรงถึงขั้นเป็นอันตรายรุนแรงฉับพลันได้ และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างสะสมจนทำให้อวัยวะต่างๆ เสื่อมจนเกิดโรคแทรกซ้อนเกือบทุกระบบดังกล่าวข้างต้นได้

แต่ถ้ารู้จักดูแลรักษาอย่างจริงจังและต่อเนื่องก็สามารถคุมโรคได้ตามเป้าหมายพึงประสงค์ ผู้ป่วยก็จะชะลอไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ สามารถดำเนินชีวิตอย่างปกติสุขเฉกเช่นคนทั่วไป และมีชีวิตยืนยาว อาจอยู่ถึง 80-90 ปีได้

 

* การป้องกัน

สำหรับคนทั่วไป ควรปฏิบัติดังนี้
1. ควบคุมอาหาร โดยลดขนาดของหวานๆ และไขมัน กินข้าวเป็นอาหารหลักสลับกับอาหารประเภทแป้งเป็นบางมื้อ กินพืชผัก ผลไม้ และเมล็ดธัญพืชให้มาก กินปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ถั่วเหลือง เต้าหู้เป็นประจำ

2. ออกกำลังกายเป็นประจำ

3. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  - ดัชนีมวลกาย 18.5-22.9 กก./เมตร๒
  - เส้นรอบเอวชาย < 90 ซม. หญิง < 80 ซม.
เหล่านี้อาจมีส่วนช่วยป้องกันมิให้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ (ส่วนเบาหวานชนิดที่ 1 อาจหาทางป้องกันได้ยาก)

นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัด (อาจทำให้ตับอ่อนอักเสบหรือตับแข็ง ซึ่งทำให้เป็นเบาหวานตามมาได้) และอย่าใช้ยาสตีรอยด์พร่ำเพรื่อ

สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน (เช่น รูปร่างอ้วน มีประวัติเบาหวานในครอบครัว) นอกจากการปฏิบัติตัวดังกล่าวอย่างเคร่งครัดแล้ว ควรหมั่นตรวจเช็กสุขภาพเป็นประจำ เพื่อค้นหาเบาหวานระยะแรกเริ่ม ถ้าพบว่าเป็นเบาหวานจะได้ให้การรักษาอย่างจริงจังตั้งแต่แรก ซึ่งป้องกันไม่ให้เกิดโรคกำเริบมากขึ้น และช่วยป้องกันโรคแทรกซ้อนระยะยาวได้

 

* ความชุก

พบได้ประมาณร้อยละ 4-6 ของประชากรทั่วไป  พบได้มากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น  และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน ได้แก่ ผู้ที่มีประวัติเบาหวานในครอบครัว  และผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน


 

ข้อมูลสื่อ

367-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 367
พฤศจิกายน 2552
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ