• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หน้าต่างกาลเวลา

ครับ... การพัฒนาสมองของคนเรามีหลายมิติ

การพัฒนาบางอย่างสามารถทำได้ตลอดชั่วชีวิต เช่น ปัจจุบันมีคนตั้งชมรม "คนแก่อยากกลับเป็นเด็ก" - "Old people playing young" ย่อๆ ว่า OPPY ออกเสียง อ๊อปปี้

กิจกรรมหนึ่งที่เชิดหน้าชูตาของชมรม ได้แก่ สอนให้ผู้สูงอายุเหล่านี้เรียนรู้การใช้คอมพิวเตอร์ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นเข็ญใจอันใด คนส่วนใหญ่ที่ใช้คอมพ์ไม่เป็น ไม่ใช่เพราะโง่ แต่เป็นเพราะไม่ยอม "ทำตัวให้โง่" เพื่อจะเรียนรู้การใช้มันต่างหาก เรื่องนี้เป็นเรื่องยาว พูดได้ 3 วันไม่จบ ขอยกไปถกกันวันหลัง
กลับมาที่เรื่องของเรา การพัฒนาสมองในบางมิติ มีสิ่งที่นักวิชาการเรียก "หน้าต่างกาลเวลา" (window period)

"หน้าต่างกาลเวลา" เปรียบเสมือนเรื่องราวในไทม์แมชชีนที่เราดูกันในภาพยนตร์ ตัวเอกหลงเข้าไปอยู่ในโลกอีกยุคหนึ่ง เพราะบังเอิญเจาะผ่าน "หน้าต่างกาลเวลา" ที่ได้จังหวะเปิดของมันพอดี
หมายความว่า "หน้าต่างกาลเวลา" มีกำหนดเวลาปิด-เปิดแน่นอน

"หน้าต่างกาลเวลา" ของการเรียนรู้ ก็มีจังหวะการเปิด-ปิดที่แน่นอนเช่นกัน
พูดอย่างนี้ อาจงง ขอยกตัวอย่าง
ถ้าเราเอาลูกเป็ดที่เกิดใหม่จากเครื่องฟักไข่ ให้มันเห็นสิ่งใดก็ตามที่เดินด้วยขา 2 ขา เช่น แม่เป็ดตัวหนึ่ง หรือตัวเราเอง มันจะเดินตามแม่เป็ด หรือตัวเราไปตลอดชีวิต

แม้สิ่งนั้นจะเป็นสิ่งไม่มีชีวิต หรือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสิ่งมีชีวิต เช่น นิ้วของเรา 2 นิ้วทำท่าเดินไปบนพื้น ตะเกียบ 2 อันทำท่าเดินเหมือนกัน มันก็จะตามนิ้ว หรือตะเกียบไปอย่างซื่อสัตย์จนตลอดชีวิต
เป็นเรื่องแปลกแต่จริง ลองทำดูได้ ถ้าอยากไปไหนๆ โดยมีลูกเป็ดตัวหนึ่งติดสอยห้อยตามไปด้วย
เรื่องนี้มีกติกาอยู่ 2 ข้อ

ข้อแรก 2 ขาที่ลูกเป็ดเห็นต้องเป็น 2 ขาแรกในชีวิตลูกเป็ด เข้าทำนอง รักแรกพบ (Love at first sight)

ข้อ 2 สำคัญมาก เข้ากับเรื่องที่พูดกันพอดี 2 ขานั้นต้องปรากฏให้ลูกเป็ดเห็นภายใน 24 ชั่วโมงแรก ตรงนี้แหละครับ เรียก "หน้าต่างกาลเวลา"

หมายความว่า ลูกเป็ดมีเวลาเรียนรู้ที่จะเดินตามแม่มัน (หรือสิ่ง 2 ขาใดๆ ที่เดินได้) เพียงช่วงเวลา 24 ชั่วโมงแรก หลังจากนั้น สมองส่วนที่ทำหน้าที่จดจำการเดินตามจะปิดไปตลอดกาลนาน คราวนี้มันจะไม่เลือกว่าจะตามใครโดยเฉพาะเจาะจงแล้ว ขอให้คนๆ นั้น หรือของสิ่งนั้นๆ มี 2 ขาเป็นใช้ได้
เห็นไหมครับว่า ธรรมชาติชาญฉลาดเพียงใด ที่สร้างสมองลูกเป็ดให้สามารถจดจำแม่ของมันได้ใน 24 ชั่วโมงแรกของชีวิต และจดจำได้ตลอดไป

แต่ในทางกลับกัน ถ้าผ่านเวลานาทีทองนี้ไปแล้ว ลูกเป็ดก็จะสูญเสียความสามารถในการติดตามแม่ของมันไปตลอดกาลเหมือนกัน
เข้าทำนอง สิ่งใดมีคุณอนันต์ มักมีโทษมหันต์

 

อีกตัวอย่างหนึ่ง
ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา มีนกวงศ์นกฟิ้นช์ชนิดหนึ่งที่มีสายพันธุ์ย่อยแบ่งเป็น นกพันธุ์ตะวันออก กับนกพันธุ์ตะวันตก อาศัยอยู่ห่างไกลกัน ทางแถบตะวันออกของทวีปอเมริกา และตะวันตกตามลำดับต่อไปจะเรียกสั้นๆ ว่า นก ตอ. (ตะวันออก) กับนก ตต. (ตะวันตก)
นกฟิ้นช์นี่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายนกกระจอกบ้านเรา เห็นทีจะเป็นเครือญาติกัน
วันหนึ่ง มีคนพิเรนทร์อยากรู้ ถ้าจับเอาลูกนกของเจ้า ตอ. ไปให้เจ้านก ตต.เลี้ยง จะเกิดอะไรขึ้นกับเสียงร้องของลูกนก
ครับ นก 2 ชนิดนี้เสียงร้องแม้มีความคล้ายคลึงกัน แต่มีความแตกต่างอยู่บ้าง เหมือนคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือพูดภาษาอีสาน กับคนทางภาคใต้แหลงใต้ ต่างคนพูดไทยเหมือนกัน แต่สำเนียงออกไปคนละทาง

ผู้เขียนเคยไปทำงานอยู่เชียงใหม่ระยะหนึ่ง พยายามฝึกอู้คำเมือง ฝึกอยู่นานจนคิดว่า เราพูดได้ชัดแล้ว สมัยนั้นเลือดลมหนุ่มโสดยังแรง ริจีบสาวเหนือ อู้คำเมืองเลย หวังให้เธอประทับใจ อู้ไป อู้มา เธอกระซิบบอก ลำบากนักอย่าอู้เลย พูดภาษากลางก็ได้ ผู้เขียนถามว่าทำไม เขาตอบ สำเนียงพี่ออกทองแดง ผู้เขียนถึงได้รู้ว่าเรื่องของสำเนียงภาษา ถึงพยายามอย่างไร ถ้าเราไม่ได้พูดมาแต่เล็กๆ ยังไงๆ ก็ต้องมี "ทองแดง" หลุดออกมาให้เขาจับพิรุธจนได้

ลูกนก ตอ. เมื่อนำไปให้พ่อแม่นก ตต. เลี้ยงตั้งแต่ออกจากไข่ มันจะร้องเป็นเสียงนก ตต.
ในทำนองเดียวกัน ลูกนก ตต.ที่ถูกเลี้ยงโดยพ่อแม่นก ตอ. ตั้งแต่ออกจากไข่ ก็จะร้องเป็นเสียงนก ตอ.
ฟังดูเป็นเรื่องธรรมดา ทำนองคนไทยเกิดภาคไหน ต้องพูดภาษาสำเนียงของภาคนั้น
ทีเด็ดอยู่ตรงตอนต่อไป

คนพิเรนทร์คนนั้นยังทำการทดลองต่อไป ความจริงไม่ใช่คนพิเรนทร์หรอก ผู้อ่านคงพอจับไต๋ได้แล้ว เป็นนักวิชาการ นักวิชาการเป็นผู้มีความอยากรู้อยากเห็นเสมอ จนบางครั้งถูกมองว่าพิเรนทร์ คราวนี้เขาทดลองใหม่ แทนการให้พ่อแม่นกเลี้ยงตั้งแต่ออกจากไข่ เขานำลูกนกที่มีอายุหลายวันแล้ว ค่อยนำไปให้พ่อแม่สายพันธุ์ตรงข้ามเลี้ยง คราวนี้ ไม่มีลูกนกตัวไหนเลยที่ร้องเพลงเป็น ไม่ว่าจะเป็นลูกนก ตอ. หรือลูกนก ตต. พูดง่ายๆ กลายเป็นลูกนกใบ้ ร้องออกมามีแต่เสียงแบ๊ะๆ

แสดงว่า ในเรื่องของการร้องเพลง นกจะมีหน้าต่างเวลาอยู่เหมือนกัน ถ้านอกเหนือช่วงเวลานั้นไปแล้ว นกไม่สามารถเรียนรู้เรื่องการร้องเพลงได้ไปจนตลอดชีวิต
มันเหมือนกับว่า สมองของเขา (ลูกนก) มีรอยหยักสำหรับการเรียนร้องเพลงประจำชาติ เอ๊ย! ประจำตระกูลอยู่

รอยหยักนี้จะเปิดช่วงเวลาสั้นๆ เพียงไม่กี่วันแรกหลังการเกิด
เสียงร้องเพลงของพ่อแม่ที่ลูกนกได้ยิน จะฟิตกับรอยหยักนั้นพอดี เหมือนลูกกุญแจฟิตกับแม่กุญแจ เกิดการสตาร์ตชึ่ง เหมือนเวลาเราเอากุญแจสตาร์ตรถ

ด้วยวิธีนี้ลูกนกจะร้องเพลงประจำเผ่าพันธุ์ของมันได้ และจะจำได้ตลอดไป ไม่ผิดเพี้ยน
แต่ถ้าไม่มีการกระตุ้นโดยลูกกุญแจที่ถูกต้อง ดังลูกนกที่ถูกพรากจากพ่อแม่ในวันแรกๆ หรือกระตุ้นโดยลูกกุญแจที่ห่างไกลกันมากๆ เช่น เสียงนกชนิดอื่น รอยหยักนี้จะค่อยเลือนหายไป จนสูญสิ้นไปจากสมองในที่สุด ลูกนกตัวนั้นก็จะเป็นนก "ใบ้" ไปตลอดกาล

จากการทดลองทั้งหมดนี้ "คนพิเรนทร์" นั้นยังสรุปอีกว่า
รอยหยักนี้มีความยืดหยุ่น สามารถปรับตัวได้ในระดับหนึ่ง ดังการทดลองอันแรกที่ให้พ่อแม่นกต่างถิ่นกันเลี้ยงลูกนกคนละถิ่น ผลคือ ลูกนกสามารถเลียนเสียงสำเนียงต่างถิ่นได้อย่างชัดเจน
เรื่องนี้คงทำนองเดียวกันกับคนไทยเกิดภาคไหน สามารถพูดภาษาไทยสำเนียงถิ่นนั้นๆ ได้ชัด แม้คนไทยไปเกิดเมืองนอกเมืองนา ก็ไม่มีปัญหาในการพูดภาษานั้นๆ อย่างชัดเจนเช่นกัน
ทำให้นึกว่า ในเรื่องนี้มนุษย์กับสัตว์มีความคล้ายคลึงกันอยู่
อดคิดต่อไปไม่ได้ว่า แล้วมนุษย์เรามีสิ่งที่เรียก "หน้าต่างเวลา" อยู่บ้างไหม
ยังเป็นสิ่งที่ถกเถียงกัน และต้องคุยกันยาว อดใจอีกสักนิด

ตัวอย่างที่ยกมาในเรื่องของ "หน้าต่างกาลเวลา" ทั้ง 2เรื่อง เพราะเป็นเรื่องยังไม่ค่อยเป็นที่รู้กัน กระทั่งศัพท์ "หน้าต่างกาลเวลา" ผู้เขียนบัญญัติขึ้นเอง อย่าเพิ่งถือเป็นเรื่องเป็นราว อย่างไรก็ดี เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะ "หน้าต่างกาลเวลา" ไม่ได้มีอยู่เฉพาะ 2 เรื่องที่กล่าวมา แต่ยังเข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องอื่นๆ อีกมาก ทั้งที่เรารู้และไม่รู้ อย่างหลังคือ "เรื่องไม่รู้" ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะ "หน้าต่างกาลเวลา" ที่เกี่ยวกับคนแทบทั้งหมด เราไม่รู้เลย เหตุผลใหญ่คือ เราไม่สามารถทำการทดลองกับคนได้ตรงๆ อย่างที่เราทำกับสัตว์อื่นๆ อย่างเป็ด อย่างนก เพราะเกี่ยวกับศีลธรรมจรรยา อย่างที่เรียก Ethics
ดังนั้น เรื่องราวของ "หน้าต่างกาลเวลา" ในคนจึงยังเป็นความลับดำมืด ไม่ค่อยมีใครรู้ว่า "หน้าต่างกาลเวลา" ในเรื่องของการเรียนรู้ มีในคนเช่นเดียวกับในสัตว์หรือไม่ แต่ผู้เขียนเชื่อเป็นการส่วนตัวว่า "หน้าต่างกาลเวลา" เรื่องการเรียนรู้น่าจะมีในคนเช่นกัน ด้วยเหตุผลง่ายๆ คนก็เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับนกและเป็ด เพียงแต่ของเราอาจยุ่งยาก ซับซ้อน มากกว่าสัตว์อื่นเขา เพราะสมองเราพัฒนามามากกว่า

 

อย่างไรก็ดี แม้สมมุติฐานของผู้เขียนจะเป็นความจริง สิ่งที่ขาดไปคือเราไม่รู้ว่า "หน้าต่างกาลเวลา" สำหรับเรื่องนี้ในคนตกอยู่ในช่วงอายุไหนบ้าง นี่ยิ่งทำให้เราลำบากใจขึ้นไปอีกในทางปฏิบัติ
ต่อไป เป็น "หน้าต่างกาลเวลา" ที่ผู้เขียนรวบรวมมาเท่าที่พอรู้กัน

ต้องออกตัวเสียก่อนว่า "หน้าต่างกาลเวลา" ในคน เป็นเรื่องยังไม่ชัดเจนดังที่ได้กล่าวมา ฉะนั้น ที่จะกล่าวต่อไปถือว่าคุยกันเล่น อย่าได้ถือเป็นเรื่องจริงจังขนาดนำไปอ้างอิงทางวิชาการ ใครมีข้อมูลอื่นนำมาแชร์กันได้

"หน้าต่างกาลเวลา" เรื่องแรกที่ขอคุยเล่น การอบรมบ่มนิสัยให้แก่ลูก
แต่แหม บก.ส่งจดหมายน้อยมาอีกแล้ว หมดโควตาหน้ากระดาษ
ขออดใจไปต่อฉบับหน้านะ
 

ข้อมูลสื่อ

368-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 368
ธันวาคม 2552
อื่น ๆ
นพ.กฤษฎา บานชื่น