• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อย่าอดอาหารมื้อเย็น

ตั้งชื่อเรื่องอย่างนี้คงมีหลายคนที่เกิดความรู้สึกขัดแย้ง เพราะเป็นการสวนกระแสความเชื่อเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะการลดความอ้วนและการมีชีวิตยืนยาว ซึ่งส่วนใหญ่เชื่อว่าอาหารมื้อเย็นไม่จำเป็น เนื่องจากร่างกายจะได้พัก ไม่จำเป็นต้องกิน ต่างกับมื้อเช้าและมื้อกลางวันที่ต้องกินให้มากเพื่อเติมพลังไว้สำหรับการทำงานหนัก

แนวคิดของผู้เขียนที่อยากนำเสนอในอีกมุมมองหนึ่งซึ่งชวนให้แย้งว่า การเติมพลังควรเติมล่วงหน้าก่อนการใช้งานนานกี่ชั่วโมง หรือเติมไปใช้ไป เพราะหากพิจารณากันง่ายๆ อย่างรถยนต์ในขณะที่วิ่งอยู่เราก็ไม่ได้เติมน้ำมัน แต่ใช้พลังงานจากน้ำมันที่เก็บไว้ในถัง

ถ้าสังเกตสรีรวิทยาของร่างกายจะพบว่า ขณะพักและขณะตึงเครียด จะมีประสาทอัตโนมัติ ๒ ระบบที่ทำงานตรงข้ามกันคอยควบคุม โดยจะยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายขึ้นดังนี้

เวลาที่สัตว์ (เช่น กวาง) รู้สึกปลอดภัย ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย ระบบประสาทอัตโนมัติพาราซิมพาเทติกจะทำให้ทางเดินอาหารและการขับถ่ายทำงาน โดยที่สมอง กล้ามเนื้อลาย และหัวใจได้พัก กวางจะตาปรือ ม่านตาเล็ก ขนเรียบ เหงื่อแห้ง กินไปถ่ายไปอย่างมีความสุข แต่ถ้าอยู่ในสภาพไม่ปลอดภัยเกิดสัญญาณอันตราย ระบบซิมพาเทติกจะทำให้สมอง กล้ามเนื้อลาย และหัวใจทำงานเพิ่มขึ้น ตาเบิกโพลง ม่านตาขยาย ขนตั้งชัน เหงื่อซึม และหยุดกินหยุดถ่าย เป็นสภาพที่ตึงเครียด

ร่างกายคนเรานั้นมีกลไกที่น่าทึ่งมาก ถ้าเรายอมรับความจริงเรื่องระบบประสาทอัตโนมัตินี้ก็จะทำให้เกิดความคิดว่า การอดอาหารมื้อเย็นสอดคล้องหรือขัดแย้งกับสภาวะธรรมชาติ

มีคำกล่าวว่า "หนังท้องตึง หนังตาหย่อน" สะท้อนว่า เวลาอิ่มจะง่วง ตรงข้ามกับ "หนังท้องหย่อน หนังตาตึง" หมายถึงเวลาหิว ตาจะสว่าง

ถ้าอย่างนั้นหากเราต้องการเรียนหนังสือ หรือต้องสอบแข่งขัน ซึ่งสมองจะทำงานหนักมากขึ้น เราควรกินให้เต็มที่ก่อนเข้าสอบจะดีไหม หรืออย่างพวกนักกีฬา กรรมกร เขาต้องกินมื้อเช้าและมื้อกลางวันอย่างเต็มที่แล้วจึงทำงานหนัก พอตกเย็นก็กินน้อยหรือไม่กินเลย อย่างนั้นใช่หรือไม่

ร่างกายมีกลไกของระบบพัก และระบบตึงเครียด ซึ่งเป็นไปโดยธรรมชาติ ระบบทางเดินอาหารจะทำงานหนักขณะพัก ตรงข้ามกับอวัยวะอื่นโดยเฉพาะสมอง กล้ามเนื้อลาย (กล้ามเนื้อแขนขา ลำตัว) และหัวใจ ที่ทำงานหนักขณะตึงเครียด โดยมีตับ กล้ามเนื้อลาย และเนื้อเยื่อไขมัน เป็นที่เก็บสำรองสารอาหาร เสมือนถังเชื้อเพลิงของรถยนต์

ในทางชีวเคมีของร่างกาย จะมีฮอร์โมน ๒ กลุ่มดังนี้
ระบบพัก จะมีฮอร์โมนเจริญเติบโต หลั่งออกมาเพื่อเสริมสร้างเนื้อเยื่อ และมีอินซูลินทำหน้าที่เปลี่ยนสารอาหารที่กินเข้าไปเก็บไว้เป็นเชื้อเพลิงสำรอง

ระบบตึงเครียด จะมีฮอร์โมนได้แก่ คอร์ติซอล กลูคากอน เอพิเนฟรีน ออกมาเปลี่ยนเชื้อเพลิงสำรองให้เป็นเชื้อเพลิงสำเร็จรูป ใช้งานได้ทันที

เนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย เวลาทำงานจะต้องการเลือดมาเลี้ยงเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ปริมาณเลือดในร่างกายคงที่ จึงต้องมีการแบ่งกันใช้แบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ดังนั้นขณะอิ่มจึงควรพัก เพราะระบบทางเดินอาหารต้องการเลือดไปเลี้ยงมาก ส่วนขณะทำงานก็ไม่ควรกิน เพื่อให้เลือดที่ไปเลี้ยงทางเดินอาหารลดลง นำไปให้ที่อื่น (เช่น สมอง กล้ามเนื้อ) ใช้บ้าง

ที่กล่าวมานี้เป็นทรรศนะของผู้เขียนที่ต้องการมองอีกมุมหนึ่งว่า เราไม่จำเป็นต้องอดอาหารมื้อเย็น เพราะคิดว่าไม่จำเป็นต้องใช้พลังงาน แต่การกินมื้อเย็นจะทำให้พักหลับสบาย สมอง หัวใจได้พัก ส่วนระบบทางเดินอาหารก็ทำงานไป พลังงานก็เก็บสำรองไว้ใช้วันต่อไปได้ ขณะที่มื้อเช้าและมื้อกลางวันก็กินให้พอดี ไม่อิ่มเกิน โดยเฉพาะถ้าต้องทำงานที่ใช้สมอง หรือกำลังแรงกายมาก

สำหรับคนที่ต้องการลดความอ้วน ก็ไม่จำเป็นต้องอดอาหารมื้อเย็น แต่ปรับเปลี่ยนเป็นอาหารที่ให้พลังงานไม่สูงมาก กินพอไม่ให้รู้สึกหิว จะได้พักหลับสบาย การลดน้ำหนักไม่ควรอดอาหารแต่ควรคำนึงถึงพลังงานรวมที่ได้ในแต่ละวันมากกว่า ถ้าใช้ไปมากกว่าที่ได้รับก็ลดได้ แต่ต้องค่อยเป็นค่อยไปถึงจะไม่อันตราย
ทั้งนี้ ให้ยึดหลักทางสายกลางไว้ จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

 

ข้อมูลสื่อ

378-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 378
ตุลาคม 2553
นพ.พินิจ ลิ้มสุคนธ์