• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ร่างกฎหมายอุ้มบุญ (๒) ความหวังของหญิงที่มีบุตรยาก

ฉบับที่แล้วสรุปสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. .... เสนอโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ๓ ประเด็นไปแล้ว ฉบับนี้ต่อประเด็นที่ ๔-๘ ดังนี้

๔.
เรื่องความเป็นบิดามารดาตามร่างกฎหมายนี้ ถือว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของคู่สมรสที่ต้องการจะมีบุตร แม้ว่าคู่สมรสที่ต้องการจะมีบุตรถึงแก่ความตายก่อนเด็กเกิดก็ตาม จึงเป็นการเปลี่ยนหลักกฎหมายปัจจุบันที่ถือว่าหญิงที่คลอดเด็กเป็นมารดาตามกฎหมาย ขณะที่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายอุ้มบุญ ทางออกในการแก้ปัญหาเรื่องนี้คือ การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสที่ต้องการมีบุตร

. ร่างกฎหมายนี้ไม่อนุญาตให้มีการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการตั้งครรภ์แทน และห้ามผู้ที่จะเป็นคนกลางหรือนายหน้าที่เรียกรับผลประโยชน์ใดๆ เพื่อตอบแทนในการจัดการหรือแนะนำให้มีการอุ้มบุญ
สำหรับการโฆษณา หรือประกาศข่าวผ่านสื่อต่างๆ ว่ามีหญิงที่จะรับตั้งครรภ์แทนผู้อื่นหรือมีผู้ที่ประสงค์จะให้หญิงอื่นเป็นผู้รับตั้งครรภ์แทน ถือว่าผิดกฎหมายเช่นกัน กรณีเหล่านี้มีโทษทางอาญา

๖. หญิงที่ตั้งครรภ์แทนจะได้รับค่าใช้จ่ายในการดูแลตัวเองในช่วงตั้งครรภ์ คลอดและหลังคลอด หรืออาจจะได้รับเงินชดเชยเมื่อต้องหยุดงาน ค่าเดินทาง ฯลฯ ทั้งนี้ทางแพทยสภาจะประกาศหลักเกณฑ์เสนอต่อคณะกรรมการข้างต้น

๗. กรณีที่มีตัวอ่อนเหลือจากการตั้งครรภ์แทน แพทย์ที่ต้องการนำตัวอ่อน (ต้องมีอายุไม่เกิน  ๑๔ วันนับแต่วันปฏิสนธิ แต่ไม่รวมเวลาขณะแช่แข็ง) ไปศึกษาวิจัยทางการแพทย์ จะต้องได้รับความยินยอมจากสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่เป็นเจ้าของตัวอ่อนเสียก่อน และต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการด้วย

. กรณีที่เกิดปัญหาพิพาทฟ้องร้องในเรื่องการตั้งครรภ์แทน ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้กำหนดให้เป็นอำนาจของศาลคดีเยาวชนและครอบครัวที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา
พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ มาตรา ๖ ได้บัญญัติเรื่องสุขภาพของหญิงเกี่ยวกับระบบเจริญพันธุ์ว่าเป็นเรื่องที่มีความจำเพาะ ซับซ้อน ซึ่งต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสม การมีกฎหมายการตั้งครรภ์แทนในอนาคตจึงสอดรับกันเป็นอย่างดี  

ในอนาคตเมื่อร่างกฎหมายการตั้งครรภ์แทนผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาและประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว จะมีส่วนช่วยให้ผู้หญิงมีสามีที่ไม่สามารถมีบุตรได้ด้วยตนเอง สามารถมีบุตรสมความปรารถนา โดยกฎหมายได้วางหลักเกณฑ์ที่จะควบคุมให้มีการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ให้ถูกต้องเหมาะสมตามมาตรฐานทางการแพทย์และสอดคล้องกับหลักจริยธรรม รับรองความเป็นบิดามารดาตามกฎหมายโดยใช้หลักความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมของคู่สมรสที่ต้องการมีบุตรด้วยวิธีการตั้งครรภ์แทน หรือผสมเทียม

ร่างกฎหมายนี้ยังมีผลเกี่ยวกับกฎหมายอื่นๆ เช่น สิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลของบิดามารดาที่เป็นข้าราชการ การลดหย่อนภาษีเงินได้ สิทธิและหน้าที่ในเรื่องครอบครัวและมรดก ข้อสำคัญคือคู่สมรสที่ต้องการมีบุตรด้วยวิธีการตั้งครรภ์แทนจะต้องมีความพร้อมที่จะเป็นพ่อแม่ และต้องรับผิดชอบอุปการะเลี้ยงดูเด็กตามกฎหมาย 


 

 

ข้อมูลสื่อ

378-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 378
ตุลาคม 2553
ไพศาล ลิ้มสถิตย์