• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มะเร็งต่อมลูกหมาก

มะเร็งต่อมลูกหมาก ส่วนใหญ่ไม่มีอาการแสดง และอาจตรวจพบโดยบังเอิญขณะไปตรวจเช็กสุขภาพกับแพทย์ บางรายอาจมีอาการถ่ายปัสสาวะลำบากแบบเดียวกับอาการของต่อมลูกหมากโต

มะเร็งชนิดนี้มักลุกลามช้า และสามารถมีชีวิตเป็นปกติสุขและยืนยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่ไม่มีอาการแสดง

ปัจจุบันยังไม่แนะนำให้ผู้ที่ไม่มีอาการแสดงไปตรวจคัดกรองมะเร็งชนิดนี้ด้วยการตรวจหาระดับสารพีเอสเอในเลือด เพราะยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่าได้ประโยชน์เท่าที่ควร


► ชื่อภาษาไทย
มะเร็งต่อมลูกหมาก


► ชื่อภาษาอังกฤษ
Prostate cancer


► สาเหตุ
ยังไม่ทราบแน่ชัด เชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจน (androgen) ได้แก่ เทสโทสเทอโรน (testosterone) ร่วมกับปัจจัยทางกรรมพันธุ์ (พบว่าผู้ที่มีพ่อหรือพี่น้องเป็นโรคนี้ จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งชนิดนี้มากกว่าคนทั่วไป) อาหาร (มะเร็งชนิดนี้พบมากในคนอ้วน ผู้ที่กินเนื้อแดงหรือไขมันมาก กินผักผลไม้น้อย) การทำหมัน (พบว่าผู้ชายที่ทำหมันเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้ทำหมัน) และการมีระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนในเลือดสูง (เช่น การใช้ฮอร์โมนชนิดนี้เป็นเวลานานๆ)


► อาการ
มะเร็งชนิดนี้มักมีการลุกลามช้า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการแสดง อาจตรวจพบโดยบังเอิญขณะไปตรวจเช็กสุขภาพ
 

     

ในรายที่มะเร็งลุกลามเป็นก้อนโตจนเกิดภาวะอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ ก็จะมีอาการแบบเดียวกับต่อมลูกหมากโต กล่าวคือจะเกิดอาการถ่ายปัสสาวะลำบาก ต้องออกแรงเบ่งหรือรอนานกว่าจะถ่ายปัสสาวะออกมาได้ ทำให้ใช้เวลาในการถ่ายปัสสาวะนาน ปัสสาวะไม่พุ่ง ลำปัสสาวะเบี้ยวหรือเล็กลง มีความรู้สึกเหมือนถ่ายไม่สุด และปัสสาวะบ่อย หลังเข้านอนตอนกลางคืนต้องลุกขึ้นปัสสาวะบ่อย
บางรายอาจถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด หรือมีเลือดออกปนมากับน้ำอสุจิ
ในรายที่มะเร็งแพร่กระจาย ผู้ป่วยจะมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด
ถ้ามะเร็งแพร่ไปกระดูกสันหลัง ซี่โครง หรือเชิงกราน จะมีอาการปวดหลัง ซี่โครง หรือเชิงกราน
ถ้าแพร่ไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณต้นขาจะมีอาการขาบวม
ถ้าแพร่ไปที่ประสาทสันหลังจะมีอาการขาชาและอ่อนแรง
ถ้าแพร่ไปที่สมองจะมีอาการปวดศีรษะ เดินเซ แขนขาอ่อนแรง


► การแยกโรค
ในรายที่มีอาการถ่ายปัสสาวะลำบาก ต้องออกแรงเบ่งนานหรือปัสสาวะไม่พุ่ง ลำปัสสาวะเบี้ยวหรือเล็กลง อาจต้องแยกออกจากโรคต่อมลูกหมากโต โดยการตรวจเลือดดูระดับสารพีเอสเอ (มักพบว่าสูงในมะเร็งต่อมลูกหมาก) และการตรวจชิ้นเนื้อ

ในรายที่ถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด อาจเกิดจากเนื้องอกของทางเดินปัสสาวะ หรือนิ่วในทางเดินปัสสาวะ


► การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยโรคนี้โดยการใช้นิ้วตรวจทางทวารหนัก คลำพบว่าต่อมลูกหมากเป็นก้อนแข็งหรือขรุขระ ตรวจพบสารพีเอสเอ (prostate specific antigen-PSA) ในเลือดสูง และทำการตรวจอัลตราซาวนด์ต่อมลูกหมากผ่านทางทวารหนัก (transrectal ultrasound-TRUS) และตัดชิ้นเนื้อพิสูจน์
ในรายที่สงสัยว่ามะเร็งมีการแพร่กระจาย แพทย์อาจทำการตรวจสแกนกระดูก (bone scan) ถ่ายภาพด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
แพทย์จะกำหนดระยะของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากไว้ ดังนี้
ระยะที่ ๑. เป็นระยะเริ่มแรกสุด ที่เริ่มมีการก่อตัวของเซลล์มะเร็ง ซึ่งแพทย์ยังไม่สามารถคลำพบด้วยนิ้วมือ

ระยะที่ ๒. ก้อนมะเร็งมีขนาดโตขึ้นจนคลำพบได้ด้วยนิ้วมือ แต่ยังจำกัดขอบเขตอยู่ภายในต่อมลูกหมาก

ระยะที่ ๓. มะเร็งลุกลามออกนอกต่อมลูกหมากไปยังอวัยวะที่อยู่ข้างเคียง
ระยะที่ ๔. มะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง หรือผ่านกระแสเลือดไปยังกระดูก ประสาทไขสันหลัง สมอง หรืออวัยวะอื่นๆ


► การดูแลตนเอง
เมื่อสังเกตพบว่ามีอาการถ่ายปัสสาวะผิดปกติ เช่น ถ่ายลำบาก เบ่งนาน ปัสสาวะไม่พุ่ง ปัสสาวะลำเล็กหรือลำเบี้ยว กลางคืนต้องลุกขึ้นถ่ายปัสสาวะบ่อย หรือมีเลือดปนในปัสสาวะหรือน้ำอสุจิ ควรจะรีบไปปรึกษาแพทย์

ถ้าพบว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ควรติดตามรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ (มักจะเป็นศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ หรือหมอยูโร หรือ urologist และแพทย์โรคมะเร็ง) อย่างต่อเนื่อง
เนื่องจากมะเร็งต่อมลูกหมากมักจะมีการลุกลามช้า และการบำบัดรักษาสามารถควบคุมโรคได้ค่อนข้างดี ทำให้มีชีวิตได้ยืนยาว ผู้ป่วยจึงควรดำเนินกิจวัตรประจำวันได้เป็นปกติ และควรดูแลสุขภาพของตนเองดังนี้ 
  ออกกำลังกาย อย่างน้อยสัปดาห์ละ ๕ วัน

นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

กินอาหารให้ครบ ๕ หมู่ โดยเน้นผัก ผลไม้ให้มากๆ กินโปรตีนจากปลา ถั่วเหลือง และเต้าหู้ ลดเนื้อแดง ไขมัน และน้ำตาล

  ผ่อนคลายความเครียดด้วยการทำงานอดิเรกที่ชอบ (เช่น ปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ วาดภาพ เล่นดนตรี ร้องเพลง เต้นรำ) เจริญสมาธิและสติ พูดคุยปรับทุกข์กับญาติมิตรสนิท เข้าสมาคมสังสรรค์กับผู้คนต่างๆ รวมทั้งทำงานจิตอาสา หรือสาธารณกุศล

หากมีโอกาสควรเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มมิตรภาพบำบัดโรคมะเร็ง


► การรักษา
แพทย์จะเลือกวิธีการรักษาตามความรุนแรง (มะเร็งลุกลามเร็วหรือช้า) ระยะของโรคที่เป็น อายุของผู้ป่วย รวมทั้งคำนึงถึงผลดีผลเสียของวิธีการรักษา

ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งระยะแรกเริ่ม (ระยะที่ ๑) ไม่มีอาการแสดง (ตรวจพบโดยบังเอิญ) แพทย์จะไม่ให้การรักษาใดๆ แต่จะเฝ้าติดตามดูการเปลี่ยนแปลงโดยการตรวจระดับสารพีเอสเอและการใช้นิ้วตรวจทางทวารหนักเป็นระยะๆ ถ้าจำเป็นอาจทำการตรวจชิ้นเนื้อ
ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีชีวิตที่เป็นปกติสุขอยู่ได้เป็นเวลานาน เนื่องจากมะเร็งมีการลุกลามช้า ไม่คุ้มกับความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนจากวิธีบำบัดรักษา เช่น กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น
แต่ถ้าติดตามแล้วพบว่ามะเร็งมีการลุกลามมากขึ้น แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยการผ่าตัด หรือรังสีบำบัด

♦  ผู้ที่มีสุขภาพทรุดโทรม หรือมีโรคประจำตัวร้ายแรง (เช่น โรคหัวใจ) หรือคาดว่าอยู่นานไม่ถึง ๑๐ ปี หรือมีอายุมากเป็นอุปสรรคต่อการผ่าตัดหรือฉายรังสี แพทย์ก็อาจไม่ให้การรักษาใดๆ และเฝ้าติดตามดูการเปลี่ยนแปลงของโรค ในทำนองเดียวกัน

ผู้ป่วยที่มะเร็งยังจำกัดอยู่เฉพาะที่ต่อมลูกหมาก และมีอายุต่ำกว่า ๖๕ ปี หรือคาดว่าสามารถอยู่ได้นานเกิน ๑๐ ปี มักจะทำการผ่าตัดต่อมลูกหมาก ซึ่งมีอยู่หลายวิธี รวมทั้งวิธีใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด
การผ่าตัดอาจมีผลข้างเคียง เช่น กลั้นปัสสาวะไม่ได้ นกเขาไม่ขัน (องคชาตไม่แข็งตัว)

♦  ผู้ป่วยที่มะเร็งยังจำกัดอยู่เฉพาะที่ต่อมลูกหมาก แต่มีอายุมาก หรือสุขภาพทรุดโทรม หรือปฏิเสธการผ่าตัด หรือผู้ป่วยที่มะเร็งเริ่มลุกลามออกไปที่บริเวณรอบๆ ต่อมลูกหมาก แพทย์มักจะให้การรักษาด้วยรังสีบำบัด ซึ่งมีทั้งวิธีฉายรังสีจากภายนอกเข้าไปที่ต่อมลูกหมาก หรือการฝังเม็ดรังสี (radioactive seeds) ไว้ในเนื้อมะเร็ง
รังสีบำบัดอาจมีผลข้างเคียง เช่น อาการเจ็บปวดขณะถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ ปัสสาวะบ่อยหรือต้องรีบเข้าห้องน้ำทันทีที่มีความรู้สึกปวดปัสสาวะ ถ่ายอุจจาระเหลว นกเขาไม่ขัน

♦  ผู้ป่วยที่มะเร็งแพร่กระจายไปทั่วแล้วหรือค่าพีเอสเอเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ หรือผู้ป่วยอายุน้อยที่เป็นมะเร็งชนิดร้ายแรง แพทย์มักจะให้ฮอร์โมนบำบัด โดยการให้ยาต้านแอนโดรเจนชนิดเม็ด (เช่น bicaltumide, nilutamide, flutamide) หรือฉีดยายับยั้งฮอร์โมน luteinizing hormone-releasing hormone (LH-RH) ทำให้อัณฑะไม่สามารถสร้างฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (เช่น leuprorelin, goserelin)

บางรายแพทย์อาจทำการผ่าตัดอัณฑะออกทั้ง ๒ ข้าง เพื่อไม่ให้มีการสร้างฮอร์โมนเพศชาย (เทสโทสเทอโรน)

 

 

 

การทำฮอร์โมนบำบัดลดปริมาณเทสโทสเทอโรนจะช่วยให้ก้อนมะเร็งฝ่อเล็กลง
นอกจากใช้กับมะเร็งที่แพร่กระจายแล้ว บางครั้งแพทย์ก็อาจนำไปใช้ในผู้ป่วยหลังผ่าตัด หรือในผู้ป่วยก่อนหรือหลังให้รังสีบำบัด เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการรักษา

ฮอร์โมนบำบัดอาจมีผลข้างเคียง เช่น นกเขาไม่ขัน น้ำหนักขึ้น ร้อนวูบวาบตามตัว สูญเสียมวลกล้ามเนื้อและกระดูก และหากใช้นานๆ อาจทำให้เกิดโรคหัวใจได้

หลังการรักษาไม่ว่าด้วยวิธีใด แพทย์จะติดตามตรวจระดับสารพีเอสเอในเลือดเป็นระยะ ถ้าอยู่ในเกณฑ์ปกติ แสดงว่าโรคสงบหรือทุเลา แต่ถ้ามีค่าสูงขึ้นก็แสดงว่าโรคอาจกำเริบขึ้นอีก


► ภาวะแทรกซ้อน
มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ ทำให้เกิดอาการทุกข์ทรมานหรือพิการ (เช่น ปวดหลัง ปวดกระดูก แขนขาอ่อนแรง) และอายุสั้น
นอกจากนี้ โรคนี้ยังอาจทำให้เกิดอาการนกเขาไม่ขันและกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ซึ่งอาจเกิดจากตัวโรคเองหรือเป็นผลข้างเคียงจากการรักษาก็ได้


► การดำเนินโรค
ขึ้นกับความรุนแรง ระยะของโรค อายุผู้ป่วย และการตอบสนองต่อการรักษา
ถ้าเป็นระยะแรกเริ่ม เป็นมะเร็งชนิดลุกลามช้า หรือไม่มีอาการแสดง มักจะมีชีวิตอยู่ได้ยืนยาว


► การป้องกัน
ถึงแม้มะเร็งชนิดนี้ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด และหาทางป้องกันได้ยาก แต่การปฏิบัติตัวต่อไปนี้อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค และชะลอการลุกลามของโรค
ลดอาหารมัน

กินผัก ผลไม้ เมล็ดธัญพืช ถั่วเหลือง และเต้าหู้ให้มากๆ

กินมะเขือเทศ (ที่ปรุงสุก) แตงโม มะละกอสุก และฝรั่งไส้ชมพูให้มากๆ ซึ่งมีสารไลโคพีน (lycopene) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่ง

ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ ๕ วัน

ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

♦  การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง
ปัจจุบันยังไม่แนะนำให้ทำการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากในคนทั่วไปที่ไม่มีอาการ เช่น การตรวจสารพีเอสเอในเลือด การใช้นิ้วตรวจทางทวารหนัก เพราะยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่ามีประโยชน์ เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่ไม่มีอาการแสดงมักเป็นมะเร็งชนิดเจริญช้า ไม่แพร่กระจายออกนอกต่อมลูกหมากและสามารถมีชีวิตที่เป็นปกติเป็นเวลายาวนาน

นอกจากนี้ การตรวจคัดกรองโรคด้วยการตรวจสารพีเอสเอในเลือดยังขาดความแม่นยำ มีโอกาสพบผลบวกลวง (false positive หมายถึงตรวจพบระดับของพีเอสขึ้นสูงซึ่งเกิดจากสาเหตุที่ไม่ร้ายแรง ไม่ใช่เกิดจากมะเร็ง) ค่อนข้างมาก ซึ่งอาจนำไปสู่การตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ไม่จำเป็นและเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่างๆ

ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีประวัติโรคนี้ในครอบครัว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาถึงผลดีผลเสียของการตรวจคัดกรองมะเร็งชนิดนี้


► ความชุก
โรคนี้พบมากเป็นอันดับ ๕ ของมะเร็งที่พบในผู้ชาย มักพบในผู้ชายอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป ส่วนในช่วงอายุ ๔๐-๖๐ ปีอาจพบได้ แต่น้อย

ผู้ที่มีพ่อหรือพี่น้องเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป
คนอ้วนที่เป็นมะเร็งชนิดนี้ มักเป็นมะเร็งชนิดร้ายแรง และรักษายากกว่าคนที่ไม่อ้วน 

 

 

ข้อมูลสื่อ

375-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 375
กรกฎาคม 2553