• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ลูกรักเป็นหืด คุณอึด... แค่ไหน?

ฉบับที่แล้วเล่าถึงแนวความคิดและการทำงานในโครงการดูแลผู้ป่วยเด็กโรคหืดของหน่วยงานกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลบ้านโป่ง แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดมากนัก ครั้นจะเขียนเล่ารายละเอียดของโครงการทั้งหมด ก็ดูเป็นวิชาการไปคงน่าเบื่อ จะใช้วิธีการที่บุคลากรทางสาธารณสุขสามารถประยุกต์ใช้ได้ในหน่วยงานของตน และญาติผู้ป่วยทั้งหลายก็สามารถนำไปปรับใช้ได้เช่นกัน
 

โครงการนี้เริ่มจากการเก็บข้อมูลของหน่วยงานกุมารเวชกรรม พบว่ามีอัตราป่วยด้วยโรคหอบหืดเพิ่มมากขึ้นทุกปี อัตราการกลับมานอนโรงพยาบาลซ้ำด้วยโรคเดิมเป็นอันดับ ๑  และจำนวนผู้ป่วยที่มาด้วยอาการหอบรุนแรง (acute asthma attack) เพิ่มมากขึ้น แพทย์หญิงภาวนา ตันติไชยากุล กุมารแพทย์จึงได้จัดทำโครงการดูแลผู้ป่วยเด็กโรคหอบหืดขึ้น โดยวิธีการนั้น เน้นไปที่การรักษาต่อเนื่อง ทั้งยาที่กินและวิธีการปฏิบัติตัว เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างแพทย์ พยาบาลและเภสัชกร โดยใช้เภสัชกรคนเดิมที่ได้เลือกแล้วสอนวิธีการพ่นยาในเด็กคือเภสัชกรหญิงกนิษฐา โสดารักษ์ พยาบาลก็คนเดิม ซึ่งมีผู้เขียนและเพื่อนร่วมทีมอีก ๑ คนคือนางสาวพรทิพย์ เพียงดวงใจ เนื่องจากเป็นโครงการที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับยาที่ใช้รักษาด้วย จึงต้องเคร่งครัดมากเรื่องของการควบคุมตัวแปรทั้งหลาย
 

ขั้นตอนแรกคุณหมอเลือกผู้ป่วยตามแบบการวิจัยเชิงทดลอง กระทั่งได้ผู้ป่วยมาประมาณ ๓๕ คน ระหว่างดำเนินการมีผู้ป่วยออกจากโครงการเนื่องจากย้ายไปต่างจังหวัด ญาติไม่ยินยอมภายหลังจำนวน ๕ คน ที่เหลืออยู่กับเราทั้งหมด ช่วงแรกขลุกขลักและใช้เวลามาก และมีสมุดประจำตัวผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งมีข้อมูลให้ญาติได้ลงข้อมูลอาการของเด็กทุกวัน เช่น ให้ญาติตอบคำถามว่า วันนี้เด็กเป็นหวัดไหม หอบไหม ขาดโรงเรียนด้วยโรคหอบหรือไม่ และมาพ่นยาที่ห้องฉุกเฉินกี่ครั้ง ซึ่งได้รับความร่วมมือจากญาติเป็นอย่างดี สมุดเล่มนี้แบ่งเป็นสีชมพู และสีฟ้า เพื่อแบ่งกลุ่มสำหรับงานวิจัย คุณหมอบอกว่าถ้าเสร็จโครงการแล้วใครไม่ทำสมุดหายมีรางวัลให้ด้วย แล้วทุกคนก็ได้รับรางวัลเป็นกระเป๋าผ้าน่ารักๆ คนละ ๑ ใบ
 

         


การซักประวัติเป็นสิ่งสำคัญมากในผู้ป่วยทุกโรค โดยเฉพาะโรคหอบหืดที่ต้องดูภูมิหลังและปัจจุบันของผู้ป่วย เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกันมาก หลายครอบครัวอย่างที่เคยเล่าไปแล้วว่ามีคนสูบบุหรี่ในบ้าน ชอบเล่นกับหมา แมว หนุนหมอนหรือของเล่นที่ยัดด้วยนุ่น หลายคนมีญาติสายตรงเป็นโรคหอบ และการจัดสิ่งแวดล้อมไม่เอื้อต่อการควบคุมโรค


ตอนแรกๆ เหนื่อยมากกันทุกคน คุณหมอภาวนาบอกว่าเครียดทุกวัน เราเปิดคลินิกวันจันทร์ และพุธ ช่วงเช้า ซึ่งเป็นวันที่คุณหมอออกตรวจผู้ป่วยนอกด้วย จึงมีผู้ป่วยมากมาย สำหรับผู้ป่วยในโครงการที่นัดมาดูเรื่องหืดนั้น จะได้รับการตรวจและซักประวัติค่อนข้างนานมาก บางรายนานถึงครึ่งชั่วโมง เพราะข้อมูลที่ญาติลงให้นั้น ต้องได้รับการตรวจสอบความน่าเชื่อถืออีกครั้ง บางคนมีจุดบกพร่องผิดพลาดตรงไหน ต้องจัดการให้เรียบร้อย และในรายที่พ่นยา ก็จะเดินตรงไปหาเภสัชกรหญิงกนิษฐาเพื่อสอนกันตัวต่อตัว และให้ผู้ป่วยหรือญาติปฏิบัติให้ดูด้วย เรียกว่าต้องทำจริง จึงจะได้ผลจริง
 

เรื่องการพ่นยาไม่ถูกต้องนี้ พบบ่อยมาก เคยสงสัยว่าทำไมเด็กพ่นยาแล้วไม่ได้ผล ต้องลองให้ทำให้ดู หรือบางรายให้ยาไป แต่ไม่ยอมพ่นก็มี ในเด็กเล็กใช้แรงสูดยาเหมือนเด็กโตไม่ได้ เราก็จะใช้กรวยที่เรียกว่า spacer ต่อเข้ากับกระบอก แล้วให้เด็กหายใจเข้า-ออกธรรมดา ซึ่งเภสัชกรหญิงกนิษฐาช่วยได้มากทีเดียว
 

ระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจผู้ป่วยโครงการนี้มีปัญหาเกิดขึ้นบ้าง เช่น มีผู้ป่วยอื่นๆ อีกที่ต้องรอนาน แม้จะนัดผู้ป่วยในโครงการมาวันละไม่กี่คนก็ตาม ต้องแก้ปัญหาด้วยการขอความช่วยเหลือจากนายแพทย์วิฤทธิ์ ตันติไชยากุล คู่ชีวิตของคุณหมอภาวนามาช่วยตรวจผู้ป่วยทั่วไป โดยจัดโต๊ะตรวจให้อีกต่างหาก จึงพอแก้ปัญหาไปได้ในบางวัน
สาเหตุที่ไม่แยกคลินิกตรวจโรคหืดโดยเฉพาะ ก็เพราะกุมารแพทย์จะออกตรวจวันละ ๑ คน มีห้องตรวจห้องเดียว ต้องรับผู้ป่วยทุกประเภท จึงต้องตรวจรวมกันไป

 

            


หน้าที่ของญาติอย่างที่บอกไปแล้ว คือลงสมุดประจำตัวผู้ป่วยทุกวัน ปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม เปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นผลเสียต่อสุขภาพ ทั้งเรื่องอาหาร การออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ มีเด็กหลายคนวิ่งเล่นจนเหนื่อย ต้องเข้ามานอนโรงพยาบาล สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องให้พวกเขาตระหนัก ซึ่งระยะแรกก็ไม่มั่นใจว่าพ่อแม่เด็กจะให้ความร่วมมือตลอดเวลา ๘ เดือนหรือไม่ คุณหมอจะนัดผู้ป่วยมาเป็นระยะ เพราะเด็กจะมาหาโดยไม่มีอาการ แต่ต้องกินยา หรือพ่นยาทุกวันอย่างต่อเนื่อง ต้องพยายามอธิบายให้พ่อแม่เด็กเข้าใจวิธีการรักษา ด้วยความคิดที่ว่า โรคหืดไม่ได้รักษาที่อาการ แต่รักษาโรค หมายความว่า แม้ตัวผู้ป่วยจะไม่มีอาการแต่โรคยังอยู่


อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปเรื่องนี้ตรงกับพยาบาลที่โรงพยาบาลท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งมีการเปิดคลินิกโรคหอบเหมือนกัน ได้ข้อมูลว่าการทำเรื่องโรคหอบหืดในเด็กนั้น พ่อแม่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และคลินิกที่โรงพยาบาลท่าม่วงก็ได้ผลเหมือนกัน เนื่องจากพ่อแม่นั้น ถ้าตนเองป่วยก็จะทนเอา แต่ถ้าลูกรักป่วยเมื่อไหร่ สัญชาตญาณบอกว่า ถึงไหนถึงกัน ขอให้ลูกหายเท่านั้น จึงนับว่าง่ายต่อการดูแลผู้ป่วยเป็นอย่างมาก แม้ช่วงแรกคุณหมอจะนัดมาบ่อยกว่าปกติก็ตาม ทุกคนก็พร้อมใจกันมา แต่ถ้าคนไหนติดธุระก็ขอเลื่อนไปได้ 


ระหว่างดำเนินโครงการ ได้จัดพบปะผู้ดูแลเด็กทั้งหลาย ในลักษณะแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน แนะนำกันเอง ซักถามกันได้ จากนั้นเลี้ยงขนมเล็กๆ น้อยๆ พอเป็นน้ำใจให้แก่เด็กๆ และสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้ป่วย พยาบาล และแพทย์ ผู้ปกครองเด็กหลายคนเห็นผู้เขียนเป็นพยาบาลประจำตัวไปแล้ว เมื่อก่อนเคยกลัวพยาบาล ไม่กล้าพูดคุยซักถาม แต่พอมีโครงการนี้ พวกเขารู้สึกตรงกันข้าม การพูดคุยซักถามเป็นเรื่องจำเป็น เพราะทำให้เกิดความรู้ รู้แล้วก็จะได้ปฏิบัติได้ถูกต้อง
เมื่อสิ้นสุดโครงการวิจัย แต่ก็ไม่ได้สิ้นสุดการดูแลรักษา ผู้ป่วยทุกคนยังอยู่กับเรา และคุณหมอยังนัดมาเรื่อยๆ เพื่อควบคุมโรคหืดให้ได้


สิ่งหนึ่งที่ต้องทำต่อเนื่องก็คือการคัดกรองผู้ป่วยที่ยังไม่ได้เข้าโครงการ ให้เข้ามารับการรักษาอย่างทั่วถึง โดยคัดกรองผู้ป่วยที่มีประวัติหอบหืดทุกราย และนัดเข้าคลินิกวันจันทร์ ซึ่งคุณหมอภาวนาบอกอย่างมุ่งมั่นว่า "เราจะทำหอบหืดรุ่นที่ ๒" 

มีคำถามอยู่ข้อหนึ่งที่ถามแม่เด็ก ๒ คน แล้วได้คำตอบตรงกันคือ...
 "อยากได้อะไรจากพยาบาลอีกไหม"

คนแรกเป็นแม่ของ ด.ช.นพดล เธอถามว่าจะขอให้คนอื่นได้ไหม... ขอให้โครงการนี้ไปทำกับเด็กคนอื่นที่เป็นโรคหืดให้ทั่วถึง เพราะสงสารเด็ก คำตอบนี้ตรงกับแม่ของ ด.ญ.จีรนันท์ โดยไม่ได้นัดหมาย 

หลักการสำคัญของการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ คือ การรักษาต่อเนื่อง รักษาที่โรค ไม่ใช่รักษาอาการ การปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัดในเรื่องของความสะอาด หลีกเลี่ยงสิ่งที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ได้ง่าย ให้สังเกตกันเองก็แล้วกันว่า อะไรคือสิ่งกระตุ้นให้เด็กหอบ ซึ่งส่วนใหญ่จะเหมือนๆ กันคือ อากาศเย็น ฝุ่น ควันบุหรี่

เคยถามตัวเองว่า การทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโรคหืดนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคืออะไร
ข้อแรกคือ ต้องรักผู้ป่วยก่อน โชคดีที่เด็กมีความน่ารักอยู่แล้ว ทำให้รักได้ง่าย
ข้อสองคือ ต้องอึดกันทั้งหมด หมายถึง แพทย์ พยาบาล และพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กนั่นแหละ
วัดความสำเร็จกันตรงที่ใครอึดกว่ากัน คนนั้นชนะ ถ้าพร้อมใจกันอึด ก็ชนะยกทีม ที่ต้องอึดก็เพราะโรคหืดรักษาไม่หาย แต่ควบคุมได้ อย่าเผลอ!

ข้อมูลสื่อ

376-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 376
สิงหาคม 2553
บทความพิเศษ
เสาวรี เอี่ยมละออ