• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เมื่อเด็กเข้าเรียนใหม่เป็นไข้หวัดบ่อย

เมื่อเด็กเข้าเรียนใหม่ เป็นไข้หวัดบ่อย


"ตั้งแต่เข้าเรียนอนุบาลมา ๒ เดือน ลูกเป็นไข้หวัดบ่อยมาก ต้องหาหมอกินยามาตลอดทุกวัน ลูกไม่ค่อยยอมกินข้าว กินนม น้ำหนักลดไปร่วม ๒ กิโลกรัม ไม่ทราบว่าลูกมีความผิดปกติอะไร ถึงได้ไม่สบายบ่อยอย่างนี้..."

ช่วงหลังเปิดเรียนใหม่ๆ มักมีพ่อแม่ผู้ปกครองปรับทุกข์ในทำนองนี้อยู่เนืองๆ

ก่อนเข้าโรงเรียน เด็กจะสบายดี นานๆ จะเป็นไข้หวัดสักทีหนึ่ง แต่หลังให้เข้าโรงเรียน เด็กจะเป็นไข้หวัดแทบทุกสัปดาห์ หรือสัปดาห์เว้นสัปดาห์ หรืออย่างน้อยเดือนละ   ๑-๒ ครั้ง จนต้องพาไปหาหมอ และหยุดเรียนอยู่บ่อยๆ

พ่อแม่มักไม่เข้าใจว่า ทำไมลูกจึงป่วยบ่อย บางคนจะพาลูกตระเวนเปลี่ยนหมอเปลี่ยนโรงพยาบาลไปเรื่อยๆ ซึ่งมักจะได้ยาซ้ำซ้อน หรือได้ยาเกินจำเป็นอย่างต่อเนื่อง

ยาหลักๆ ที่ได้ก็มี ยาลดไข้ (พาราเซตามอล) ยาแก้หวัดแก้ไอ (มักผสมอยู่ในขวดเดียวกัน) และยาปฏิชีวนะ (ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย)

เมื่อพูดกันตามหลักวิชาแล้ว ยาที่จำเป็นสำหรับการรักษาไข้หวัดในเด็กเล็กที่ยังไม่มีภาวะแทรกซ้อน มีเพียงตัวเดียว คือยาลดไข้ เพื่อใช้บรรเทาอาการตัวร้อน ปวดศีรษะ ทำให้คนไข้รู้สึกสุขสบาย อาการไข้มักจะเป็นอยู่เพียง ๒-๓ วัน เต็มที่ไม่เกิน ๔ วัน ก็จะทุเลาไปเองโดยธรรมชาติ นอกเสียจากว่ามีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น อาการไข้อาจเป็นอยู่นานเกิน ๔ วันขึ้นไป

ส่วนอาการน้ำมูกไหลใสๆ นั้น ใช้วิธีเช็ดหรือใช้ลูกยางขนาดเล็กดูดออกก็เพียงพอ น้ำมูกจะมีมากใน ๒-๓ วันแรก ก็มักจะแห้งหายไปเอง แต่ในทางปฏิบัติ หมอมักจะให้ยาแก้น้ำมูกให้เด็กกินเป็นประจำ ยานี้อาจช่วยให้น้ำมูกแห้งและลดอาการคัดจมูกได้บ้าง แต่ควรกินเพียง ๒-๓ วัน เมื่อน้ำมูกแห้งแล้ว ก็หยุดกิน ข้อเสีย ยานี้นอกจากทำให้มีอาการง่วงซึมแล้ว ยังอาจทำให้เสมหะเหนียว กระตุ้นให้เกิดอาการไอมากขึ้น (เมื่อพบว่ากินยานี้แล้วมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้น ก็ควรจะหยุดยา)

ข้อเสียอีกอย่างของยาแก้น้ำมูกก็คือ ทำให้เด็กบางคนรู้สึกปากคอแห้ง คอขม เบื่อนม เบื่ออาหาร ถ้าเบื่อนานๆ ก็อาจทำให้น้ำหนักลดได้ ถ้าให้เด็กกินยาแก้น้ำมูก ก็ควรเฝ้าดูอาการดังกล่าว หากมีก็ควรจะหยุดยา เพราะน้ำหนักตัวน้อย มีความหมายสำคัญกว่าน้ำมูกมากกว่ากันมาก

ส่วนยาปฏิชีวนะ จะมีประโยชน์เฉพาะในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน โดยสังเกตได้จากอาการข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
๑. มีไข้ (ตัวร้อน) ทุกวัน ติดต่อกันเกิน ๔ วัน
๒. มีน้ำมูกข้นเหลืองหรือเขียวเกิน ๒๔ ชั่วโมง
๓. ไอมีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว (อาจเป็นหลอดลมอักเสบ)
๔. มีอาการปวดหู หูอื้อ (อาจเป็นหูชั้นกลางอักเสบ)
๕. มีอาการหายใจเร็วกว่าปกติ กล่าวคือ 

  • เด็กอายุ ๐-๒ เดือน หายใจเกิน ๖๐ ครั้งต่อนาที
  • เด็กอายุ ๒ เดือน - ๑ ขวบ หายใจเกิน ๕๐ ครั้งต่อนาที
  • เด็กอายุ ๑-๕ ขวบ หายใจเกิน ๔๐ ครั้งต่อนาที (อาจเป็นปอดอักเสบ)


ถ้าไม่มีอาการดังกล่าว เพียงแต่มีไข้ไม่เกิน ๔ วัน และน้ำมูกใส ถือว่าเป็นไข้หวัดจากเชื้อไวรัส ซึ่งไม่มียารักษาโดยเฉพาะ และจะหายได้เองเป็นส่วนใหญ่ (จัดเป็นโรคที่รักษาก็หาย ไม่รักษาก็หาย) การให้ยาปฏิชีวนะ นอกจากจะไม่มีประโยชน์แล้ว หากใช้พร่ำเพรื่ออาจก่อให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยา แพ้ยาง่าย และมีการทำลายจุลินทรีย์ชนิดดีในลำไส้ (ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายคนเรา)

ผมเคยพบเด็กเข้าเรียนใหม่หลายคนที่เป็นไข้หวัดบ่อย และได้รับยาหลายขนาน (รวมทั้งยาปฏิชีวนะ) อย่างต่อเนื่องเป็นแรมเดือนจนมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ทั้งๆ ที่เป็นไข้หวัดจากไวรัสและไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ เมื่อแนะนำให้กินยาลดไข้เพียงอย่างเดียว งดยาขนานอื่นๆ ทั้งหมด (เพราะไม่จำเป็น) พร้อมทั้งให้จิบน้ำผึ้งผสมมะนาว (ผสมน้ำเพียง ๔ ส่วนกับน้ำมะนาว ๑ ส่วน) เมื่อมีอาการไอหรือเบื่ออาหาร เด็กก็ฟื้นคืนความแข็งแรง กินนม กินข้าวได้ และน้ำหนักขึ้นดี ต่อมาเมื่อร่างกายมีภูมิต้านทานโรคดี อาการเจ็บป่วยก็ห่างหายไป

ส่วนข้อสงสัยว่า ทำไมเด็กเข้าเรียนใหม่จึงป่วยเป็นไข้หวัดบ่อย

คำตอบก็คือ เด็กเล็กยังขาดภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสที่ทำให้เป็นไข้หวัด ซึ่งมีอยู่กว่า ๒๐๐ ชนิด

เมื่อเป็นไข้หวัดครั้งหนึ่ง ก็จะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสชนิดนั้นๆ โดยจำเพาะและจะไม่เป็นไข้หวัดซ้ำจากเชื้อชนิดนั้นๆ แต่เมื่อติดเชื้อไวรัสชนิดใหม่ ซึ่งร่างกายยังไม่มีภูมิต้านทาน ก็จะเกิดเป็นไข้หวัดครั้งใหม่

ตอนยังไม่เข้าโรงเรียน เด็กไม่ค่อยได้สัมผัสใกล้ชิดกับคนมากนัก นานๆ จึงจะติดเชื้อไข้หวัดสักที

แต่เมื่อเข้าโรงเรียน ในห้องเรียนมีเด็กอยู่กัน ๒๐-๓๐ คน แต่ละคนอาจมีเชื้อไวรัสไข้หวัดคนละชนิด รวมๆ กันแล้วในห้องนั้นอาจมีเชื้อไวรัสที่ไม่ซ้ำกันถึง ๑๐-๒๐ ชนิด เด็กในห้องนั้นก็จะหมุนเวียนกันติดเชื้อไวรัสที่ไม่ซ้ำกันจนครบ ซึ่งอาจใช้เวลา ๓-๔ เดือน (ตลอดทั้งเทอม) จึงผลัดกันเป็นไข้หวัดอยู่บ่อยๆ เมื่อรับเชื้อจนครบ ร่างกายจะมีภูมิต้านทานต่อไวรัสทุกตัวที่มีอยู่ในห้องนั้น เด็กก็จะห่างหายจากไข้หวัดไปในที่สุด

เมื่อเข้าใจตรงนี้ จะได้ไม่ต้องวิตกกังวลจนเกินไป และทำใจยอมรับว่าเด็กคงหลีกเลี่ยงจากการเป็นไข้หวัดได้ยาก เพราะเด็กๆ จะเล่นคลุกคลีใกล้ชิดกันเป็นนิสัยปกติ

ขอเพียงว่าทุกครั้งที่เด็กเป็นไข้หวัด ก็ควรหาทางดูแลและให้ยารักษาให้ถูกต้อง ดูแลเรื่องอาหารการกิน อย่าให้น้ำหนักตัวลดต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ รวมทั้งเฝ้าสังเกตอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

ข้อสำคัญ ควรมีหมอประจำที่เชื่อใจได้ ไว้ปรึกษาหารือเมื่อมีข้อสงสัย หรือวิตกกังวล
 

ข้อมูลสื่อ

313-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 313
พฤษภาคม 2548
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ