• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ทำอย่างไรเมื่อลูกขาโก่ง

ทำอย่างไรเมื่อลูกขาโก่ง


ผู้ถาม : พลอย/กรุงเทพฯ
ดิฉันมีปัญหาของลูกสาวอายุ ๑ ขวบ ๕ เดือน มาขอเรียนปรึกษาคุณหมอค่ะ
คือจากการสังเกต ดิฉันรู้สึกว่า ลูกสาวมีลักษณะขาโก่ง จึงอยากจะทราบว่าจะมีวิธีแก้ไขได้อย่างไร ดิฉันกังวลมากเลยค่ะ (กลัวว่าจะเป็นปมด้อยของลูก)
ขอความกรุณาคุณหมอช่วยตอบด้วยนะคะ

ผู้ตอบ : นพ.ปิยชาติ สุทธินาค 

"ลูกของผมขาโก่ง ต่อไปจะเดินได้หรือครับ"
"ลูกของฉันขาผิดปกติไหม"
"เสียดายที่ตอนเล็กๆ ไม่ได้ดัดขาให้ ตอนนี้ขาถึงได้โก่งแบบนี้"
"มีคนแนะนำให้มาตัดรองเท้า จะช่วยแก้ขาที่โก่งได้ไหม"
คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่มีเสมอๆ จากคุณพ่อคุณแม่ ไม่แต่เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น ในต่างประเทศก็พบได้พอๆ กัน  ปัญหาขาโก่งและปัญหาของเด็กที่เท้าบิดเข้าในยังเป็นปัญหาที่แพทย์ได้รับการปรึกษาบ่อยที่สุดสำหรับโรคกระดูกในเด็ก

ความจริงแล้วเด็กเกิดใหม่ทุกคนขาโก่งทั้งนั้น แต่จะมากจะน้อยต่างกัน เนื่องจากขณะที่เด็กอยู่ในครรภ์มารดาในระยะสุดท้ายของการคลอด ตัวเด็กที่ใหญ่ขึ้นจะต้องเบียดตัวเองให้อยู่ในมดลูกที่มีเนื้อที่จำกัด เพื่อให้ประหยัดเนื้อที่ ทารกส่วนใหญ่มักจะอยู่ในท่าขัดสมาธิและงอสะโพกให้มากที่สุด  เมื่อคลอดออกมาสู่โลกภายนอกที่แสนสบาย "ท่า" เหล่านี้จะยังคงเหลือให้เห็นอยู่บ้างในระยะแรกๆ ซึ่งถ้าสังเกตให้ดี จะเห็นว่าทารกหลังคลอดจะอยู่ในท่าแขนขางอ และลำตัวโค้งเล็กน้อย โดยเฉพาะส่วนขาที่บริเวณหัวเข่า จะไม่อยู่ในแนวกลางลำตัว แต่จะแบะออกจนเห็นกล้ามเนื้อขาด้านในที่อยู่ชิดกันได้ง่าย ทำให้เห็นว่าขาเด็กโก่งออกมากยิ่งขึ้น  ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านี้เป็นปกติตามธรรมชาติ และเมื่อเขาโตขึ้นแขน ขา ก็จะค่อยๆ เหยียดตรงออกมา

คุณจะสามารถเห็นว่า เด็กเริ่มมีขาตรงตอนอายุประมาณขวบครึ่ง โดยไม่จำเป็นต้องไปนวดหรือดัดขาแต่อย่างใด ทั้งนี้ เพราะการที่เด็กได้หัดเดินและใช้กล้ามเนื้อทำงาน จะเป็นการแต่งปั้นการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อขาและกระดูกให้ตรงตามธรรมชาติอยู่แล้ว จนกระทั่งเมื่อพ้นวัยนี้เข้าสู่อายุ ๒ ขวบจะเห็นว่าขาของเด็กกลับกลายมาเดินคล้ายเป็ด คือ เข่าอยู่ชิดกัน ส่วนปลายเท้าแยกออกจากกัน ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า "Knock knee"  คือ เดินแล้วเข่ามาชนกันนั่นเอง จนอายุ ๓ ขวบขาจึงจะค่อยๆ กลับมาตรงตามปกติเมื่ออายุประมาณ ๖-๗ ขวบ

สิ่งที่กล่าวมาเป็นเรื่องตามธรรมชาติที่พบได้ในเด็กทั่วๆ ไป แต่ก็มีบางรายที่ขาโก่งหรือเข่าชิดมากเกินกว่าค่าเฉลี่ยของเด็กทั่วไป แต่ทุกรายก็จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงจากขาโก่งมาเป็นขาตรง แล้วโตมาเป็นเข่าชนกัน จนกลับมาตรงใหม่ทุกราย

การเปลี่ยนแปลงในรูปร่างของกระดูกนี้จะมีอยู่จนอายุ ๘ ขวบ คือ ถ้าเลยจากอายุนี้ไปแล้วก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นอีก ดังที่พบว่าในสังคมเรามีบางคนที่เดินเข่าชนกัน หรือเดินขาโก่งจนส่งเข้าประกวดนางงามไม่ได้ แต่ปัจจัยทางกรรมพันธุ์ก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เช่น พ่อแม่ที่ขาโก่งกว่าคนปกติ ลูกก็อาจมีขาโก่งกว่าปกติด้วย แต่ทางการแพทย์จะไม่ถือว่าผิดปกติ เพราะว่าลักษณะของกระดูกที่โก่งงอแบบนี้จะไม่มีผลในการใช้งานหรือการเล่นกีฬา

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะทราบว่าเด็กส่วนใหญ่ที่ขาโก่งมักจะอยู่ในภาวะปกติ แต่คุณก็ควรจะพาไปพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจดูว่า ขาที่โก่งนั้นเหมาะสมกับวัยหรือไม่ หรือมีภาวะผิดปกติอื่นรวมอยู่ด้วยหรือเปล่า หลายต่อหลายครั้งที่ตรวจพบว่า เด็กมีลักษณะของขาที่ผิดปกติอันเนื่องมาจากความผิดปกติของสมอง ดังนั้น ประวัติพัฒนาการของเด็กจึงเป็นสิ่งสำคัญ

โดยทั่วไปเด็กจะคว่ำได้เมื่ออายุประมาณ ๔ เดือน นั่งได้เมื่ออายุ ๖ เดือน เกาะยืนประมาณ ๘-๙ เดือน ยืนได้ตอน ๑ ขวบ เดินได้เมื่อ ๑ ขวบ ๓ เดือน และวิ่งได้คล่องอายุ ๑ ขวบครึ่ง  ในรายที่มีความผิดปกติของสมอง เด็กจะมีพัฒนาการที่ช้ากว่าวัย เด็กบางรายที่น้ำหนักตัวมาก แถมมีพัฒนาการเร็ว คือ ยืนได้เร็ว อาจจะทำให้ขาโก่งได้มากกว่าปกติ หรือกว่าที่ขาจะหายโก่งก็ช้ากว่าเด็กปกติ เป็นต้น แพทย์จึงจำเป็นต้องตรวจระบบประสาทโดยละเอียด และวัดความสูงว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ โดยเฉพาะความยาวของลำตัวและแขนขา เนื่องจากมีภาวะผิดปกติที่เกิดจากการขาดฮอร์โมนและวิตามินหลายตัว เช่น วิตามินดี ไทรอยด์ฮอร์โมน และฮอร์โมนในการเจริญเติบโต  เป็นต้น ที่จะทำให้เด็กตัวเตี้ยและมีรูปขาที่ผิดปกติได้

การรักษาจึงขึ้นอยู่กับสาเหตุว่าเป็นจากสาเหตุใดก็รักษาไปตามนั้น แต่ก็มีเด็กกลุ่มใหญ่ที่พบว่ามีปัญหาขาโก่งมากกว่าเด็กปกติก็จริง แต่ก็ยังไม่ถือว่าเป็นเด็กผิดปกติ กลุ่มนี้จะใช้การเฝ้าติดตามเป็นระยะๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะกลับมาเป็นปกติเมื่อถึงอายุอันควร 

การดัดขาหรือไม่ดัดขาไม่มีผลต่อรูปกระดูก มีบางครั้งที่แพทย์บางคนแนะนำให้ตัดรองเท้าพิเศษสำหรับเด็ก  แต่จากการศึกษาวิจัยพบว่า เด็กมักไม่ค่อยยอมใส่รองเท้า และยังไม่เคยมีหลักฐานทางการแพทย์สนับสนุนเลยว่า รองเท้าพิเศษนี้จะช่วยให้เด็กขาโก่งดีขึ้น ดังนั้นในปัจจุบันความนิยมให้เด็กใส่รองเท้าพิเศษจึงน้อยลงมาก
 

ข้อมูลสื่อ

313-006-2
นิตยสารหมอชาวบ้าน 313
พฤษภาคม 2548
นพ.ปิยชาติ สุทธินาค