• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สมองและการเรียนรู้

สมองและการเรียนรู้


"ปัจจุบันในนานาอารยประเทศมีผลวิจัยทางสมองมากมาย ทำให้เราทราบว่าการพัฒนาสมองนั้นมีผลกระทบมาจากการอบรมเลี้ยงดู การส่งเสริม การสนับสนุนจากผู้เลี้ยงดู ผู้ปกครอง และพ่อแม่ (ร้อยละ ๔๐-๗๐ ) มากกว่าพันธุกรรม (ร้อยละ ๓๐-๖๐) และทำให้ทราบว่า เด็กที่เกิดมาแล้วถูกทอดทิ้ง ใยประสาทของเซลล์สมองจะเกิดน้อย ทำให้ความฉลาดน้อยและเรียนได้ช้า ทำอะไรไม่ค่อยไว เฉื่อยชา ขาดเหตุผล แต่เด็กที่ได้รับการกระตุ้นทางตา หู จมูก ลิ้น และกายให้ได้เห็น ได้กลิ่น ได้ยิน ได้รส และได้สัมผัส ตั้งแต่เกิดมาใหม่ๆ โดยเฉพาะด้วยความรักจากพ่อแม่ จะช่วยให้ใยประสาทของเซลล์สมองงอกงาม"

                                        ศ.นพ.ประเวศ วะสี

อัจฉริยบุคคล ไม่ใช่เรื่องของพรสวรรค์หรือสายเลือดเพียงอย่างเดียว
ความเป็นจริงทางประสาทวิทยาเผยให้รู้ว่า ในวัย ๒-๓ ขวบแรกของชีวิต เด็กตัวเล็กๆ มีความสามารถที่จะเรียนรู้เกือบทุกสิ่งทุกอย่างได้ง่าย รวดเร็ว โดยไม่รู้ตัว ความเพลิดเพลิน สนุกสนาน และกระหายที่จะเรียนรู้วิชา ทักษะ ไปพร้อมๆ กับการละเล่นต่างๆ อย่างไม่สิ้นสุด ซึ่งหากการเรียนรู้นี้เกิดขึ้นในวัยเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว จะต้องใช้ความพยายามอย่างมาก บางสิ่งบางอย่างอาจจะไม่สามารถทำได้เลย

สมองและเซลล์สมอง
คนเราจะคิดทำการสิ่งใด จะฉลาด หรือโง่ คิดผิด คิดถูก หรือตัดสินใจผิดถูก ก็ขึ้นกับการทำงานสั่งการของสมอง เพราะฉะนั้น เราต้องเรียนรู้ว่าสมองทำงานอย่างไร และทำอย่างไรให้สมองคิดได้เร็ว ถูกต้อง ฉลาด และเจริญเติบโตดี ความรู้ที่พ่อแม่ผู้เลี้ยงดูและครูต้องรู้คือ ทำอย่างไรให้สมองเด็กฉลาด โดยเฉพาะในช่วงอายุ ๓ ขวบแรก จะเป็นช่วงสำคัญสุดของพัฒนาการของเด็ก ทำไมไอคิว (ระดับเชาวน์ปัญญา) เด็กไทยถึงต่ำ ทำไมคนไทยต้องอาศัยสมองต่างชาติมาคิดแก้ปัญหาระดับชาติ ทำไมคนไทยคิดประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆไม่ได้ หรือคิดแตกต่างไม่ค่อยเป็น เกิดมาแล้วสมองคนไทยจะต้องด้อยกว่าชาติตะวันตกหรือ? เปล่าเลย แต่อยู่ที่การพัฒนาและส่งเสริมต่างหาก

สมองคนเราเริ่มก่อตัวตั้งแต่อายุ ๒ สัปดาห์ในครรภ์ ปัจจัยที่ได้รับขณะตั้งครรภ์ก็จะมีผลต่อการเจริญเติบโตของสมองเช่นกัน เช่น แม่ต้องมีอารมณ์ดี ได้รับสารอาหารที่ครบห้าหมู่ โดยเฉพาะธาตุเหล็ก ไอโอดีน โปรตีน กรดโฟลิก วิตามิน ไขมันปลา ได้ฟังเพลงที่ชอบ ไม่ได้รับสารพิษ เช่น บุหรี่ เหล้า ได้ความรักและกำลังใจจากสามี
เมื่อทารกคลอดออกมา สมองหนักประมาณ ๑ ปอนด์ และเจริญเติบโตเต็มที่ ๓ ปอนด์ ที่อายุ ๑๘-๒๐ ปี โดยจำนวนเซลล์สมองแรกเกิดมีประมาณ ๑ แสนล้านเซลล์ มีใยประสาทประมาณร้อยละ ๒๐ ของผู้ใหญ่ หลังจากคลอดแล้วจำนวนเซลล์สมองไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่จะขยายตัวและเพิ่มสายใยประสาทเพื่อเชื่อมระหว่างเซลล์ ใยประสาทมากน้อยขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและการกระตุ้นต่างๆ ยิ่งมีใยประสาทมากยิ่งฉลาด และเรียนรู้ได้เร็ว ถึงแม้จำนวนเซลล์สมองเท่าเดิม แต่ก็อาจจะสูญเสียการติดต่อสื่อสารระหว่างเซลล์ด้วยกันได้ ซึ่งเกิดจากเซลล์สมองที่ไม่ได้ถูกใช้ในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม โดยเฉพาะในวัยที่กำลังเจริญเติบโต (ภายใน ๑๐ ขวบแรก) ซึ่งเราจะสูญเสียความทรงจำ และไม่เกิดการเรียนรู้ของ เซลล์กลุ่มนั้น สมองสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ขึ้นกับประสบการณ์และสิ่งกระตุ้นต่างๆ ที่สมองได้รับ หากสมองได้รับการกระตุ้นจากการที่ได้ฝึกใช้ความคิดต่างๆ เช่น การแก้ปัญหา จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ เด็กก็จะคิดแก้ปัญหาเป็น มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ แต่ตรงข้ามหากไม่ได้ฝึกคิดอะไรเลย เช่น เรียนรู้แบบท่องจำมากมาย จนไม่มีเวลาฝึกสมองคิด นานๆ เข้าก็จะคิดไม่ออก

เซลล์สมองที่เกี่ยวกับการเรียนรู้มี ๒ อย่าง คือ neurons และ glial cells ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ที่ส่วนบนของสมองชั้นนอก (neocortex) การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้เมื่อเซลล์สมอง ๒ เซลล์ ติดต่อกันโดยผ่านทางสายใยประสาทส่งผ่านข้อมูลซึ่งกันและกัน เซลล์สมองมีส่วนประกอบ ๓ ส่วน

๑. เซลล์สมอง (cell body)

๒. สายใยประสาทรับข้อมูล (dendrite)

๓. สายใยประสาทส่งข้อมูล (axon)

เซลล์สมองจะเกิดการเรียนรู้โดยข้อมูลที่เราได้รับจากสัมผัสทั้ง ๕ คือ ผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น สัมผัสผิวกาย จะส่งผ่านเข้าสู่สมองจากเซลล์สมองส่งผ่านทางสายใยประสาทส่งข้อมูลไปยังสายใยประสาทรับข้อมูลของเซลล์สายใยประสาทตัวรับโดยจะมีจุดเชื่อมระหว่างกัน เมื่อมีข้อมูลผ่านมาบ่อยๆ จะทำให้จุดเชื่อมนี้แข็งแรง ซึ่งเซลล์สมองแต่ละเซลล์จะเชื่อมกัน ๕,๐๐๐-๑๐,๐๐๐ เซลล์ และมีตัวเชื่อมประมาณ ๑ ล้านล้านจุด และเด็กๆ จะสร้างใยประสาทได้เร็วและง่ายกว่าผู้ใหญ่ และยิ่งใช้บ่อยๆ ใยประสาทก็จะแข็งแรงมากขึ้น ข้อมูลก็จะเดินทางได้เร็วขึ้น ทำให้เรียนรู้ได้ง่ายขึ้น ซึ่งเราจะเห็นว่าเด็กๆ จะเรียนรู้ได้เร็วกว่าผู้ใหญ่

ใน ๒-๓ ขวบแรก สมองจะเรียนรู้อย่างรวดเร็วมาก และจะพัฒนาระบบประสาทที่เกี่ยวกับการหายใจ การเต้นของหัวใจ การเคลื่อนไหว การมองเห็น และการได้ยินเสียงก่อนอย่างอื่นใด กระบวนการของการรับส่งข้อมูลในสมองจะเป็นแบบกระแสไฟฟ้า-สารเคมี โดยภายในเซลล์ประสาทจะเป็นไฟฟ้า ส่วนระหว่างเซลล์ประสาทจะเป็นสาร  เคมี เซลล์สมองมีกระแสไฟฟ้าที่สามารถทำให้หลอดไฟ ๒๕ วัตต์ติดได้ ประจุไฟฟ้าในเซลล์สมองจะมีทั้งบวกและลบ ซึ่งในผนังเซลล์สมองจะมีช่องทางให้ประจุไฟฟ้าเหล่านี้เข้าออกได้ ประจุบวกอยู่นอกเซลล์ ประจุลบอยู่ในเซลล์ ถ้า ๒ ข้างสมดุลกันก็จะอยู่ในระยะพัก เมื่อมีการกระตุ้นโดยข้อมูลต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาก็จะทำให้ประจุ ไฟฟ้าเหล่านี้ไม่สมดุลกัน เกิดกระแสไฟฟ้าส่งพลังงานออกมากระตุ้นใยประสาทต่อไปยังจุดเชื่อม ซึ่งจะมีสารเคมีหลั่งออกมาเพื่อนำข้อมูลไปสู่เซลล์สมองอีกอันหนึ่ง

ระบบการศึกษาที่ควรจะเป็น
ในเมืองนอกระบบการศึกษามีบทบาท ๒ อย่าง ได้แก่

๑. ทำให้สมองมีการเจริญเติบโต โดยเฉพาะใยประสาทที่เชื่อมต่อกันระหว่างเซลล์สมอง และป้องกันโรคสมองเสื่อม

๒. ทำให้มีพฤติกรรมด้านสุขภาพที่ดี มองตนเองมีคุณค่า มีทักษะด้านต่างๆ เช่น ทักษะชีวิต ทักษะสื่อสาร ลดพฤติกรรมที่ไม่ดี เช่น การสูบบุหรี่ เป็นต้น

เพราะฉะนั้น การที่เด็กจะมีพ่อแม่จบการศึกษาน้อยหรือมาก หรือแม้แต่จบปริญญาเอก แต่ถ้าขาดความรู้ในด้านการเลี้ยงดูเด็ก จะมีความสามารถในการพัฒนาบุตรหลานต่ำกว่าพ่อแม่ที่เรียนรู้เรื่องพัฒนาการสมอง เนื่องจากไม่รู้ว่าจะกระตุ้นพัฒนาการเด็กได้อย่างไร เช่น การพูดคุย ใช้ของเล่น เล่นกับเด็ก การให้ความรักความอบอุ่น เป็นต้น ทั้งหมดนี้สามารถยืนยันได้ว่า ไอคิวเด็กสามารถเพิ่มขึ้นได้ เช่น สหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษ ไอคิวเด็กเพิ่มขึ้นกว่า ๒๐ จุด แต่ในเมืองไทยเด็กจะมีไอคิว (๙๑.๖) ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

เกิดอะไรกับเด็กไทย
การพัฒนาไอคิวของเด็กไทยยังมีปัญหา เนื่องจาก

๑. การเลี้ยงดู พ่อแม่ผู้เลี้ยงดูยากจนและมีการศึกษาน้อย หรือมีฐานะการเงินและเรียนสูงแต่ขาดความ รู้ในการเลี้ยงดูบุตร ทำให้

  • เด็กขาดสารอาหาร สมองขาดสารอาหาร
  • เด็กได้รับการพัฒนาและส่งเสริมที่ไม่ถูกทาง
  • เด็กขาดความรัก ความอบอุ่นจากพ่อแม่ ในพ่อแม่ยากจน มีเวลาให้ลูกน้อยลงเพราะต้องทำงาน
  • ได้รับภาพสื่อหรือสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงในบางครอบครัว เช่น พ่อแม่ตบตีกัน ซึ่งจากการวิจัยพบว่า มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของพันธุกรรมของคนคนนั้น  (Kotulax : Inside  the  Brain 1996 )

๒. ระบบการศึกษา ผู้จัดการศึกษาขาดความรู้ด้านพัฒนาการสมอง ที่ไม่ได้พัฒนาตามผลวิจัยทางด้านสมองของต่างชาติ เนื่องจากเราจะเน้นเนื้อหาวิชาการมากมาย และเรียนรู้สิ่งที่ไกลตัวมากกว่าใกล้ตัว ซ้ำซาก จนขาดเวลาและโอกาสในการพัฒนาศักยภาพหรือทักษะชีวิตด้านอื่นๆ เช่น

  •  พฤติกรรมการกิน การใช้ชีวิต การดูแลสุขภาพตนเอง ทั้งกายและจิต เราไม่ได้เน้นให้ปฏิบัติได้จริง
  • ทักษะทางสังคม การปรับตัวเข้ากับบุคคลอื่นๆ (ไหวพริบการรู้เท่าทันคน) ซึ่งเกิดจากการที่เด็กได้มีเวลาคบหา เล่น ทำกิจกรรม ทำงานร่วมกับเพื่อนๆ ตั้งแต่เล็กจนโต
  • ทักษะทางด้านการสื่อสาร
  • ทักษะการแก้ปัญหาต่างๆ เกิดจากเด็กได้ทำอะไรด้วยตนเองตามวัย ไม่ใช่ให้เรียนหนังสืออย่างเดียว
  • ทักษะการอบรมเลี้ยงดูเด็ก
  • ทักษะความคิดริเริ่มใหม่ๆ แปลกๆ เกิดจากการที่เด็กได้มีโอกาสคิดผลิตสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ ตั้งแต่เล็กๆ ไม่ว่าการละเล่นที่แปลกๆ การวาดรูปตามจินตนาการของตนเอง เปิดโอกาสให้เด็กใช้ความคิดและเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น โดยผู้ใหญ่ไม่ควรไปจำกัด หรือการเรียนศิลปะ พละ ดนตรี ควรจะให้เด็กคิดจินตนาการเองว่าอยากทำอะไร แบบไหน มากกว่าที่จะให้เด็กท่องจำทฤษฎีซ้ำซากมากเกินไป เช่น การวาดรูปไม่ใช่เอาขวดมาวางแล้วให้เด็กวาดตามว่าสวยหรือไม่ แต่เป็นการเปิดโอกาสว่าเด็กคนไหนอยากวาดอะไรที่เป็นความต้องการในชีวิตหรือสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยหรืออื่นๆ อีกมากมายที่เรากำหนดหัวข้อขึ้นมา

๓. กระแสสังคม และระบบการสอบเข้าระดับต่างๆ หรือการสอบชิงทุนที่เน้นการแข่งขันแต่ด้าน

วิชาการไม่ได้เน้นทักษะชีวิต เนื่องจากประชาชน สังคมขาดความรู้ที่ถูกต้องในการพัฒนาบุตรหลาน เพราะฉะนั้นประชาชนต้องขวนขวายหาความรู้ในการพัฒนาเด็ก และรัฐควรจะให้ความรู้ประชาชนเช่นกัน หรือบรรจุลงในชั้นมัธยม หรือให้คู่ที่จะแต่งงานได้รับรู้เสียก่อน

ข้อควรคิดเกี่ยวกับสมอง
 ไม่ว่าเราจะอายุเท่าไร การกระตุ้น การให้สมองได้ใช้ความคิดแก้ไขปัญหา หรือการทำกิจกรรมต่างๆ จะช่วยให้สมองเจริญเติบโตได้ดี และประสบการณ์จะทำให้สมองเจริญเติบโตดี แต่ต้องมีส่วนในการฝึกคิดและร่วมลงมือทำอย่างแท้จริง

จากการศึกษานี้เราจะพบว่า สมองจะเจริญเติบโตได้ดีจาก

๑. สิ่งแวดล้อมทางสังคมและอาหารที่สมบูรณ์

๒. มนุษย์เป็นสัตว์สังคม และการเรียนคือการมีกิจกรรมทางสังคมที่ท้าทายความคิดอยู่เสมอ เราเรียนดีขึ้นเมื่อเราทำงานด้วยกัน

๓. การสัมผัสอันอ่อนโยนอบอุ่น ความมีเมตตาในการเลี้ยงดูหรือดูแล

๔. มีปฏิสัมพันธ์ต่อสิ่งแวดล้อม

๕. สมองจะไวต่อสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะในระยะวัยเด็กๆ (ประมาณก่อน ๑๐ ขวบ)

๖. สมองควรจะถูกใช้และถูกกระตุ้นทุกอายุ และใช้คิดสิ่งต่างๆ ที่ท้าทายต่อสมอง

๗. การเล่นเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับการเรียนรู้ในเด็กเล็ก ส่วนเด็กโตก็เป็นการทำกิจกรรมต่างๆ

๘. ในการเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือ การทำให้สภาวะในขณะเรียนรู้มีแรงกดดันหรือความเครียดน้อยที่สุด และกระตุ้นให้เด็กคิดในทุกรูปแบบ ไม่ว่าคิดสร้างสรรค์ คิดจินตนาการ คิดแก้ปัญหา คิดวิเคราะห์ เป็นต้น และทำสิ่งที่ดีที่ท้าทายมากที่สุด

๙. การที่จะให้เด็กเป็นคนดี ต้องปลูกฝังสิ่งดีๆ  ตั้งแต่เล็กๆ

 ๑๐. การเรียนรู้ในสภาวะที่ไร้แรงกดดันทุกรูปแบบ แต่ให้มีความสุข สนุกสนานในการเรียนการสอน แม้ในการสอนการบ้านจากพ่อแม่ 

การมีปฏิกิริยาต่อสังคม การเลี้ยงดูที่ดี การสัมผัสอันอ่อนโยน การใช้สมองคิดทำงานต่างๆ ที่ท้าทาย และการเล่นต่างๆ การทำกิจกรรมกลุ่ม สภาพการเรียนรู้ที่ไร้แรงกดดัน ล้วนมีผลต่อการเจริญเติบโตของสมองและใยประสาท ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน โรงเรียน หรือที่ทำงาน ซึ่งจะมีผลอย่างมากต่อการเรียนรู้ 

การวิจัยในสัตว์และคน
ความสามารถของสมองในการเจริญเติบโตและเปลี่ยนแปลง เรียกว่า neuro-Plasticity  หมายถึง การที่เราใช้สมองส่วนใดบ่อยๆ สมอง ส่วนนั้นจะเจริญเติบโตดี แต่หากเราไม่ได้ใช้สมองส่วนนั้นเลย นานๆ เข้า สมองส่วนนั้นจะฝ่อไป เรียกว่า neural prunning ได้มีการทดลองต่างๆ เกี่ยวกับสมองดังนี้

Kotulax
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้นำเด็ก ๖ เดือน มาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่พร้อมทั้งของเล่น เพื่อนเล่น อาหารดี เรียนรู้สิ่งต่างๆ และการละเล่น พบว่ามีไอคิวมากกว่าอีกกลุ่มที่ตรงกันข้าม และสมองมีการทำงานมากขึ้น (จากเครื่องตรวจสมอง) และเขากล่าวว่าไอคิวสามารถเพิ่มขึ้นหรือลดลงมากกว่า ๒๐ แต้มได้ ขึ้นกับประสบการณ์และการกระตุ้นต่างๆ

Dr. Bob Jacops
พบว่าเด็กนักเรียน ที่ได้ทำกิจกรรมที่ ท้าทายความคิดจะมีสมองเจริญเติบโต มีใยประสาทมากกว่า เด็กนักเรียนที่เรียนไปเรื่อยๆ ถึงร้อยละ ๒๕ ดังนั้นสมองจะไวต่อประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์และมีความสุข สนุกสนาน

Hooper & Teresi
ในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ได้ศึกษาคนในสถานสงเคราะห์กับคนชราที่อยู่ที่บ้าน พบว่าภายใน ๖ เดือน ไอคิวของคนในสถานสงเคราะห์จะลดลง เพราะขาดการกระตุ้นและความรักความอบอุ่น

Fas
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ทำ การศึกษาเด็กกำพร้า ที่ถูกทำร้ายทั้ง ๑,๐๐๐ คน ซึ่งไม่ค่อยได้ถูกกอด/พูดคุย ไม่ค่อยได้เล่น พบว่า มีสมองเล็กกว่าคนปกติร้อยละ ๒๐-๓๐ มากกว่า ครึ่งของคนเหล่านี้ มีบางส่วนของสมองสูญเสียการรับรู้ด้านอารมณ์ไป

Lally
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้ทำการศึกษาพบว่า การมีประสบการณ์ในช่วงแรกๆ ของชีวิต จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพันธุกรรมที่ควบคุมพัฒนาการของสมอง คือจะทำให้มีไอคิวเพิ่มขึ้นได้

Dr. Diamond & Hopson
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ และ Khalsa ใน   ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้ทำการศึกษาพบว่า หลังคลอดออกมา สมองเด็กจะมีรูปแบบสมองเหมือนกันทุกคนทั่วโลก แต่วิธีการส่งเสริมการเรียนรู้ การอบรมเลี้ยงดูต่างกัน จึงทำให้ไอคิว เด็กต่างกัน เพราะเซลล์สมองส่วนไหนที่ไม่ได้เชื่อมโยงกันก็ จะถูกทำลาย (neural prunning) ทำให้ประสิทธิภาพของสมองส่วนนั้นถูกทำลาย เช่น การคิดเป็น แก้ปัญหาเป็น ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ จินตนาการใน คนไทยจะหดหายไป เพราะเราไม่ค่อยได้กระตุ้นให้เด็กฝึกคิด

Torsten Wiesel & David Hubal
ได้เย็บปิดตาข้างหนึ่ง ของแมวไว้ ๒ สัปดาห์ หลังจากนั้นพอ เปิดตาก็ไม่สามารถมองเห็นแม้ว่ากายวิภาคจะปกติ เพราะฉะนั้น สมองจะมีช่วงเวลาที่สำคัญในการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมภายนอก ที่แตกต่างกันในแต่ละหน้าที่การทำงาน เช่น การมองเห็นควรเป็นตั้งแต่แรกเกิด เช่น เด็กที่เป็นต้อกระจก ถ้าทิ้งไว้นานๆ เมื่อเอาต้อกระจกออกก็จะทำให้มองไม่เห็น ปัจจุบันจึงต้องรีบผ่าออกทันทีหลังคลอดทำให้เด็กในปัจจุบันสามารถมองเห็นได้ ถ้าเป็นต้อกระจกตั้งแต่แรกเกิด

Harry Chougani
ได้ทดลองในคน พบว่าสมองมีการทำงาน ที่มากในช่วง ๐-๑๐ ขวบ ซึ่งสมองจะเรียนรู้ได้มาก ช่วงนี้เซลล์สมองจะเรียนรู้ว่าจุดเชื่อมไหนจะคงอยู่และจุดไหนจะถูกทำลายไป

Craig Ramey
แห่งมหาวิทยาลัย Alabama ได้นำเด็ก ๖ สัปดาห์ ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ยากจน มาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ในด้านอาหาร การเลี้ยงดู ของเล่น หลังจาก ๓ ขวบ เด็กเหล่านั้น ไอคิวเท่ากับปกติ (๑๐๐) ขณะที่เด็กที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิม ที่ยากจนมีไอคิวต่ำกว่าปกติ (๘๐)

Dr. Gregory Pappsa
กล่าวว่า อาหารสมอง คือการศึกษา เป็นวัคซีนป้องกันโรคปัญญาอ่อน (โง่) ทำ ให้ฉลาดขึ้น คนที่ไม่ได้รับการศึกษาหรือไม่สนใจพัฒนาทางสมองจะตายเร็วกว่า อย่างในสหรัฐอเมริกา พบว่า คนไร้การศึกษา และยากจนจะตายมากกว่าคนที่มีการศึกษาและมีเงิน ๓-๗ เท่า

การวิจัยอื่นๆ

  • สมองของเด็กในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าคล้ายคนเป็นโรคอัลไซเมอร์ คือบางส่วนเสียการทำงานไป
  • สัตว์ที่เจริญเติบโตในป่าจะมีสมองใหญ่กว่าสัตว์ในสวนสัตว์ร้อยละ ๒๐-๓๐ เพราะมีประสบการณ์การใช้สมองอย่างหลากหลาย
  • เด็กที่ถูกทารุณกรรมจะมีระดับคอร์ติซอล (สารความเครียด) ในเลือดสูง หัวใจเต้นเร็ว นอนไม่ค่อยหลับ จะมีปัญหาด้านพัฒนาการสมอง อารมณ์ ความประพฤติ และการเรียนรู้
  • เด็กที่ได้รับการตอบสนองจากผู้เลี้ยงดูช้า เช่น ปล่อยให้ร้องไห้นานๆ หิวแล้วยังไม่ได้กิน กลัวแต่ไม่มีใครมาอยู่ใกล้ชิด ไม่มีใครมาสัมผัสโอบอุ้ม เด็กจะรู้สึกไม่มั่นใจตนเอง รู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต และหวาดระแวง แต่ถ้าความต้องการของเขาได้รับตอบสนองเป็นครั้งคราว หรือตอบสนองแบบไม่เต็มใจ เช่น อุ้มอย่างรุนแรง กระแทกกระทั้น เขาจะเรียนรู้ในการปฏิสัมพันธ์เข้ากับคนหรือสิ่งแวดล้อมยาก สมองจะปฏิเสธการกระตุ้นด้านทักษะทางสังคม ความจำ และการเรียนรู้
  • ในการเรียนภาษาที่สองที่จะออกสำเนียงได้ถูกต้อง ก็ควรจะเรียนในอายุก่อน ๑๐-๑๒ ขวบ ถ้าหลังจากนี้ ก็จะเรียนการออกสำเนียงเหมือนภาษาแม่ยากขึ้น
  • การขาดการกระตุ้นที่เหมาะสมจะเป็นการสร้างสมองให้มีภาพลบ การที่เด็กได้เรียนรู้ หรืออยู่ในสภาพที่รุนแรง สงคราม ก้าวร้าว จะทำให้เกิดการเพิ่มอาชญากร อัตราการฆ่าตัวตาย ความซึมเศร้า ติดยาเสพติดได้ ซึ่งเราต้องระมัดระวังการที่จะนำสิ่งกระตุ้นที่ไม่ดี หรือนำเอาความรุนแรงไปกระตุ้นสมองเด็ก
  • การทดลองในหนู พบว่าหนูที่แยกจากแม่ การเจริญเติบโตของสมองจะหยุดลง และไม่ค่อยอยากอาหาร แต่ถ้ามีแม่มาเลียก็จะสามารถรื้อฟื้นกลับมาได้ คอร์ติซอลก็จะลดลง
  • เด็กที่คลอดก่อนกำหนด การอุ้ม การแตะตัว ถูนวด สามารถทำให้เด็กเติบโตเร็วขึ้น อารมณ์ดีขึ้น สารความเครียดลดลง ร้องไห้น้อยลง ไอคิวเพิ่มขึ้น
  • ในเด็กที่สติปัญญาอ่อนเล็กน้อย สามารถเพิ่มสติปัญญาได้โดยให้มีประสบการณ์กระตุ้นต่างๆ จากสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจเพิ่มไอคิวได้ถึง ๑๕ จุด เพราะฉะนั้น ควรให้เด็กหรือครอบครัวที่ยากจนได้รับการพัฒนาที่ถูกทาง
  • สมองเป็นส่วนที่สามารถเปลี่ยนแปลงและพัฒนาได้ตลอดเวลา (แต่ในผู้ใหญ่จะช้ากว่าในเด็กมาก) ขึ้นกับประสบการณ์ การเรียนรู้ที่สัมผัส และรู้ว่าการเรียนรู้นั้นซับซ้อน อิสระ หลากหลายรูปแบบในแต่ละคน
  • สมองเด็กที่มีความเครียด ความกดดันจะมีความสามารถในการเรียนรู้ลดลง

ปัจจัยที่มีผลต่อสมอง
สมองเจริญเติบโตดี (ฉลาด) (โดยเฉพาะต่อกลุ่มวัยรุ่น)

  • การได้ทำกิจกรรมกลุ่ม
  • มีปฏิสัมพันธ์กับสังคม
  • ช่วยเหลือตัวเองตามวัย
  • ได้ทำหรือเรียนสิ่งที่ชอบ
  • ได้รับคำชมเชยเสมอ
  • ความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่/ผู้ใกล้ชิด
  • ศิลปะ ดนตรี กีฬา ออกกำลังกาย ร้องเพลงตามความชอบและอิสระ ไม่ใช่ท่องทฤษฎี
  • มองตนเองในแง่บวก
  • ได้คิดจินตนาการ เช่น การฟังนิทาน
  • เป็นคนยืดหยุ่น
  • สัมผัสของจริง ทัศนศึกษา
  • อาหารครบ ๕ หมู่ โดยเฉพาะปลา ถั่วเหลือง ธาตุเหล็ก ไอโอดีน วิตามินบี
  • การละเล่นต่างๆ เล่นกับเพื่อนๆ
  • ได้ทำงานด้วยตนเอง
  • ออกกำลังกายเพิ่มออกซิเจนไปสมอง
  • ได้รับการศึกษาที่เหมาะสม สร้างกระบวนการคิดมากกว่าเน้นความจำ

สมองถูกทำลาย (เป็นได้ทุกวัย)

๑. ความเครียดนานๆ* จากสาเหตุ

  •  ทำงาน/เรียนหนัก บ้างาน การบ้านมาก
  •  ถูกบังคับให้เรียนหรือทำงานในสิ่งที่ไม่ชอบ
  •  ถูกดุด่าทุกวัน
  •  ขาดความรัก ความอบอุ่น
  •  ขาดการออกกำลังกาย พักผ่อน
  •  เข้มงวดเกินไป
  •  มองตนเองในแง่ลบ
  •  วิตกกังวลมากนานๆ

๒. สมองไม่ได้ถูกกระตุ้นหรือถูกใช้เลย เช่น การคิด จินตนาการ ความคิดแปลกแตกต่างๆ คิดแก้ปัญหา

๓. ความกังวล โกรธ ความแค้น ทุกข์มากนานๆ 

๔. ขาดสารอาหาร เช่น ไอโอดีน ธาตุเหล็ก โปรตีน 

๕. การได้รับสารพิษ ไม่ว่า เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด สารตะกั่ว

* ความเครียดนานๆ จะยับยั้งการเรียนรู้ ทำลายสมอง เกิดโรคมะเร็ง ภูมิแพ้ โรคหัวใจ เอสแอลอี โรคกระเพาะ เป็นต้น

สมองเรียนรู้ได้ดีในห้องเรียน
การทำให้สมองเรียนรู้ได้ดีในห้องเรียน คือการลดความเครียดในห้องเรียนให้มากที่สุด ดังนี้

 ๑. เล่นดนตรีที่สนุกสนาน มีความสุข

 ๒. การให้เด็กนั่งสมาธิก่อนเรียน หรือเมื่อรู้สึกเครียด  หรือระหว่างชั่วโมงสอน พักสายตาสัก ๕ นาที

 ๓. ไม่ถือโกรธเมื่อเวลาเด็กทำผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ และฟังเหตุผลเด็กก่อนจะดุด่าว่ากล่าว ครูใจดี

 ๔. จัดกิจกรรมกลุ่มเพื่อลดความเครียด

 ๕. การเรียน การสอน การทำการบ้าน ที่สนุกสนาน มีความสุข

  ไร‰แรงกดดัน ให้เด็กรู้ว่าครู/พ่อแม่เข้าใจความรู้สึกเด็ก

 ๖. มีการเคลื่อนไหว ยืดเส้นยืดสาย แสดงละครที่เกี่ยวกับเรื่องที่เรียน

 ๗. ให้เด็กแสดงออก เขียนเรื่องและย่อความ

 ๘. ให้เด็กแสดงออกถึงความต้องการและความรู้สึกได้

 ๙. ไม่ควรเรียนวิชาที่ซ้ำๆ ซากๆ ที่เด็กเบื่อหน่ายหรือยากเกินไป และไม่ได้เกิดประโยชน์

 ๑๐. ดูแลตนเองไม่ให้มีอารมณ์เครียด เพื่อไม่ให้มีผลต่อเด็ก

 ๑๑. แสง สี เสียงดนตรี และการเคลื่อนไหวทำให้ความจำเกิดขึ้นได้ดี

 ๑๒. มีเวลาให้นำความรู้ที่ได้เรียนนั้นไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง ทดลองจริง ปฏิบัติจริง

เพราะฉะนั้น ครู พ่อแม่ ต้องนึกตลอดเวลาว่า สมองเด็กกำลังเจริญเติบโต และต้องคำนึงถึงว่าเด็กต้องใช้เวลาอยู่กับครูนานมากกว่าพ่อแม่ ซึ่งแสดงว่าสมองส่วนใหญ่นั้นล้วนแต่มีผลจากครู และต้องคำนึงถึงว่าสมองเด็กต้องการหาสิ่งใหม่ๆ ประสบการณ์ใหม่ๆ มาเรียนเสมอ ต้องการตัวกระตุ้น แต่ไม่ใช่วิชาการมากมายซ้ำซากเกินไป จนทำให้เด็กมีความทุกข์ โดยให้ความรู้เฉพาะที่ใช้ประโยชน์ได้จริงๆ ไม่ซ้ำๆ ซากๆ ต้องมีความพอดีในการให้ความรู้เด็ก การทำกิจกรรม ออกกำลังกาย และการพักผ่อน และเราต้องดูสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอารมณ์ของครู พ่อแม่ ที่จะมีผลต่อสมองเด็กและการเรียนรู้

ข้อมูลสื่อ

317-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 317
กันยายน 2548
พญ.กมลพรรณ ชีวพันธุศรี