• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ภาวะพร่องเอนไซม์ย่อยนม

ภาวะพร่องเอนไซม์ย่อยนม


มีคนจำนวนไม่น้อยที่ดื่มนมไม่ได้ เพราะดื่มทีไรจะมีอาการท้องไส้ปั่นป่วน หรือท้องเสียขึ้นมาทันที ทำให้เข้าใจว่า "แพ้นม" บางคนถึงกับไม่กล้าดื่มนมไปเลย ความจริงอาการนี้มักเป็นเพราะร่างกายขาดเอนไซม์หรือน้ำย่อยในการย่อยน้ำตาลแล็กโทสในนม ซึ่งเป็นภาวะที่ไม่มีอันตรายร้ายแรง หากรู้จักหลักปฏิบัติที่ถูกต้อง อาการต่างๆ ก็มักจะหายได้และบางคนก็อาจหันมาดื่มนมได้อีก

ชื่อภาษาไทย  ภาวะพร่องเอนไซม์ย่อยนม, ภาวะพร่องแล็กเทส
ชื่อภาษาอังกฤษ  Lactase deficiency, Lactose intolerance

สาเหตุ  เกิดจากลำไส้ขาดเอนไซม์หรือน้ำย่อยที่มีชื่อว่า "แล็กเทส (lactase)" เอนไซม์ชนิดนี้สร้างโดยเยื่อบุลำไส้เล็กทำหน้าที่ในการย่อยน้ำตาลชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า "แล็กโทส (lactose)" ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของน้ำนมทั้งนมมารดา นม วัว และนมแพะ น้ำตาลแล็กโทสจะถูกย่อยให้แตกตัวออกเป็นน้ำตาลที่มีขนาดเล็กลง ๒ ชนิด ได้แก่ กลูโคส (glucose) กับกาแล็กโทส (galactose) ซึ่งลำไส้สามารถดูดซึมได้ดี แต่ถ้าร่างกายขาดเอนไซม์แล็กเทส น้ำตาลแล็กโทส ในนมไม่ถูกย่อยให้เป็นน้ำตาลที่มีขนาดเล็กลง ลำไส้ก็ไม่สามารถดูดซึมแล็กโทส เป็นผลให้มีการดึงดูดน้ำเข้ามาในโพรงลำไส้ และเมื่อแล็กโทสเคลื่อนผ่านลงไปในลำไส้ใหญ่ ก็จะทำปฏิกิริยากับแบคทีเรียที่มีอยู่ในลำไส้ใหญ่ เกิดเป็นแก๊ส (ลม) และสารที่มีฤทธิ์เป็นกรด (ได้แก่ กรดแล็กติก และกรดอื่นๆ) ทำให้เกิดอาการท้องอืดและท้องเดินหลังดื่มนมหรือกินผลิตภัณฑ์จากนม (เช่น ช็อกโกแลต ไอศกรีม น้ำสลัด เนย คุกกี้ เป็นต้น)

สาเหตุที่ร่างกายพร่องเอนไซม์แล็กเทส ส่วนใหญ่จะไม่มีสาเหตุชักนำ แต่เป็นภาวะที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของร่างกายคนเราที่ลำไส้เล็กจะสร้างเอนไซม์ชนิดนี้มากที่สุดตอนแรกเกิด และจะค่อยๆ สร้างได้น้อยลงไปเรื่อยๆ เมื่อเข้าสู่วัยเด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่ มักจะเริ่มปรากฏอาการท้องเดินหลังดื่มนมเมื่ออายุประมาณ ๓-๕ ขวบ บางคนอาจเกิดภาวะพร่องเอนไซม์แล็กเทส หลังจากเป็นโรคอุจจาระร่วงจากการติดเชื้อซึ่งเชื้อโรคจะเข้าไปทำลายเยื่อบุลำไส้ ทำให้สูญเสียหน้าที่ในการสร้างน้ำย่อยชนิดนี้ ที่พบบ่อย ได้แก่ ทารกหรือเด็กเล็กที่เป็นโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรตา (rotavirus) หลังจากโรคนี้ทุเลาแล้ว เด็กจะมีอาการท้องเดินทุกครั้งที่ดื่มนม (ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ดื่มนมตามปกติ) ซึ่งมักจะเป็นอยู่หลายสัปดาห์ แล้วในที่สุดเยื่อบุลำไส้จะฟื้นตัวกลับมาสร้างเอนไซม์ได้เหมือนเดิม อาการท้องเดินก็จะหายไปได้ ส่วนน้อยมากที่อาจมีความผิดปกติมาแต่กำเนิด ทำให้เยื่อบุลำไส้เล็กไม่สามารถสร้างเอนไซม์แล็กเทสตั้งแต่แรกเกิด ทำให้มีอาการท้องเดินทุกครั้งที่ดื่มนม และจะเป็นอย่างถาวรไปชั่วชีวิต ภาวะนี้พบว่าสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม
      
อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการผิดปกติทางลำไส้เกิดขึ้นหลังดื่ม นมหรือกินผลิตภัณฑ์จากนม ประมาณ ๓๐ นาที ถึง ๒ ชั่วโมง อาการมากน้อยขึ้นกับความรุนแรงของภาวะพร่องแล็กเทสและปริมาณแล็กโทสที่ดื่มหรือกินเข้าไป ในรายที่เป็นไม่มาก มักมีอาการมีลมในลำไส้มาก ท้องอืด คลื่นไส้ และปวดบิดท้อง โดยไม่มีอาการท้องเดิน ในรายที่เป็นมาก มักมีอาการท้องเดิน (ถ่ายเป็นน้ำ หรือถ่ายเหลว) ร่วมด้วย ส่วนปริมาณนมที่ดื่มจนทำให้เกิดอาการท้องเดินนั้นแปรผันไปตามผู้ป่วยแต่ละราย บางรายดื่มนมได้วันละ ๑-๒ แก้วก็ไม่เกิดอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่บางรายเพียงดื่มนมปริมาณเล็กน้อยก็เกิดอาการท้องเดิน
      
การแยกโรค 
อาการท้องเดินแบบเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น

- แพ้อาหาร มักมีอาการจากการกินอาหารที่แพ้ เช่น นม ไข่ ปลา กุ้ง หอย ปู ถั่วลิสง เป็นต้น มักเริ่มเป็นตั้งแต่วัยทารก จะมีอาการลมพิษ ผื่นคัน ร่วมกับอาการปวดท้อง ท้องเดิน ถ้าเป็นมากอาจมีอาการเป็นหวัด จาม หรือหอบหืดร่วมด้วย  เมื่อโตขึ้นอาการจะค่อยๆ เป็นห่างขึ้น และอาจหายจากการแพ้อาหารพวกนม ไข่ ปลา

ข้อแตกต่างจากภาวะพร่องเอนไซม์ย่อยนม คือ โรคแพ้อาหาร จะมีอาการของโรคภูมิแพ้ (ลมพิษ ผื่นคัน หวัด จาม หอบหืด) ร่วมด้วย และกินอาหารเพียงเล็กน้อยก็ทำให้เกิดอาการ ในขณะที่ภาวะพร่องเอนไซม์ย่อยนมจะมีอาการเมื่อดื่มนมในปริมาณมาก และไม่มีอาการของโรคภูมิแพ้ร่วมด้วย

- ลำไส้แปรปรวน หรือ ไอบีเอส (IBS ซึ่งย่อจาก irritable bowel syndrome) มักมีสาเหตุจากความเครียดเป็นส่วนใหญ่ ส่วนน้อยอาจเกิดจากอาหาร (เช่น นม ผลิตภัณฑ์จากนม แอลกอฮอล์ กาเฟอีน) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง ท้องเดิน หลังกินอาหาร ๑๕-๓๐ นาที เป็นๆ หายๆ อยู่เรื่อยๆ บางคนอาจมีอาการท้องผูกสลับท้องเดินเป็นช่วงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีความเครียด ผู้ป่วยมักจะมีสุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี น้ำหนักไม่ลด ทำงาน เรียนหนังสือได้ตามปกติ จัดเป็นภาวะที่ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด

- สาเหตุร้ายแรง เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคบิดเรื้อรัง เบาหวาน คอพอกเป็นพิษ เอดส์ เป็นต้น นอกจากมีอาการท้องเดินเรื้อรังแล้ว มักมีอาการอ่อนเพลีย น้ำหนักลด หรือมีไข้เรื้องรัง

การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการแสดงเป็นหลัก และอาจทดลองให้ผู้ป่วยงดดื่มนมและงดกินผลิตภัณฑ์จากนมเป็นเวลา ๒ สัปดาห์ ถ้าหายเป็นปกติ ก็มักจะเป็นภาวะนี้จริง
ในกรณีที่ไม่แน่ใจ อาจทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม ส่วนใหญ่จะทำการตรวจระดับไฮโดรเจนในลมหายใจ (hydrogen breath test) ซึ่งพบว่ามีค่าสูงกว่าปกติ ส่วนทารกและเด็กเล็กอาจทำการตรวจหาระดับความเป็นกรดในอุจจาระ (stool acidity test) ซึ่งพบว่าสูงกว่าปกติ
หากสงสัยมีสาเหตุจากโรคอื่นๆ ก็อาจต้องทำการตรวจเลือด ปัสสาวะ ส่องกล้อง เอกซเรย์ เป็นต้น
      
การดูแลตนเอง
เมื่อมีอาการปวดท้อง ท้องเดิน ภายใน ๓๐ นาที ถึง ๒ ชั่วโมง หลังดื่มนมหรือกินผลิตภัณฑ์จากนม ให้ลองงดอาหารพวกนี้สัก ๒ สัปดาห์ ถ้าหายดีก็น่าจะเป็นภาวะนี้ แต่ถ้าไม่แน่ใจ หรือพบในทารกหรือเด็กเล็ก หรือมีอาการเป็นไข้ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด หรือถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือด ลมพิษ ผื่นคัน หอบหืด ก็ควรจะปรึกษาแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัด เมื่อพบว่าเป็นภาวะพร่องเอนไซม์ย่อยนม ก็ควรปฏิบัติตัว ดังนี้

  • สำหรับทารก ควรให้ดื่มนมถั่วเหลืองแทนนมมารดา และนมวัว
  • สำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่ ควรดื่มนมครั้งละน้อย (น้อยกว่า ๒๐๐ มล. หรือสังเกตว่าดื่มปริมาณเท่าใดจึงจะไม่เกิดอาการ) หรือดื่มพร้อมกับอาหารมื้อหลัก หรือกินโยเกิร์ต (ซึ่งผ่านการย่อยโดยแบคทีเรียมาระดับหนึ่งแล้ว) ก็อาจไม่ทำให้เกิดอาการ หรือลดอาการให้น้อยลงได้ ถ้าไม่ได้ผลควรดื่มนมถั่วเหลือง  เต้าหู้ น้ำเต้าหู แทน
  • ถ้าจำเป็นต้องงดดื่มนมโดยเด็ดขาด ควรกินโปรตีน แคลเซียมและสารอาหารอื่นๆ (ที่มีอยู่ในนม) จากแหล่งอาหารอื่น เช่น ไข่ ปลา เนื้อสัตว์ งา ถั่วต่างๆ เต้าหู้ ปลาเล็กปลาน้อย ปลากระป๋อง ผักใบเขียว หากไม่แน่ใจว่าจะได้รับปริมาณแคลเซียมพอ ก็ควรขอคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรในการกินยาเม็ดแคลเซียม เสริม
  • ถ้าต้องการดื่มนมและกินผลิตภัณฑ์นมต่อไป (ทั้งๆ ที่ทำให้มีอาการไม่สบายท้อง) ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรในการกินเอนไซม์แล็กเทส (ในรูปของยาเม็ด) ควบคู่ไปด้วย ซึ่งอาจช่วยให้ไม่เกิดอาการได้    
     

การรักษา
ถ้าวินิจฉัยว่าเป็นภาวะพร่องเอนไซม์แล็กเทส แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัวดังกล่าว โดยไม่ต้องให้ยารักษา
      
ภาวะแทรกซ้อน
โดยทั่วไปมักไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง นอกจากสร้างความรำคาญ ส่วนทารกและเด็กเล็กที่อาศัยนมเป็นอาหารหลัก หากเกิดอาการท้องเดินเรื้อรัง ก็อาจทำให้น้ำหนักตัวไม่ขึ้นได้ โอกาสที่จะเป็นรุนแรงถึงขั้นขัดขวางการดูดซึมจนน้ำหนักลด และขาดสารอาหารนั้นมีน้อยมาก ถ้าพบมักจะเกิดจากการดูดซึมผิดปกติด้วยสาเหตุอื่น
      
การดำเนินโรค
หากเป็นภาวะพร่องแล็กเทสที่เกิดหลังจากเป็นโรคอุจจาระร่วงจากการติดเชื้อ อาการมักจะเป็นเพียงชั่วคราวและหายได้เองภายใน ๓-๔ สัปดาห์ ส่วนในรายที่เป็นแบบเรื้อรังก็ควรดูแลตนเองอย่างจริงจัง ซึ่งจะช่วยให้ทุเลาและดำเนินชีวิตเป็นปกติสุขได้
      
การป้องกัน
ควรงดนมและผลิตภัณฑ์จากนม หรือดื่มในปริมาณที่ไม่ทำให้เกิดอาการ (ควรทดลองและสังเกตด้วยตนเองหลายๆ ครั้ง)
      
ความชุก
ภาวะนี้พบได้บ่อยในคนทุกวัย มักเริ่มพบตั้งแต่ในช่วงวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว พบได้น้อยในทารก (ยกเว้นเมื่อมีโรคอุจจาระร่วงจากการติดเชื้อ) 

ข้อมูลสื่อ

329-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 329
กันยายน 2549
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ