• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาน้ำลดไข้สำหรับเด็ก

ยาน้ำลดไข้สำหรับเด็ก


"ขอซื้อยาแก้เด็กตัวร้อนให้ลูกหน่อยค่ะ"
"คุณหมอครับ...ช่วยจัดยาลดไข้ตัวร้อนให้เด็กด้วยครับ"

คำพูดเหล่านี้ เป็นคำคุ้นเคยที่เภสัชกรชุมชนในร้านยาได้ยินเป็นประจำ แทบจะเรียกว่าทุกวันก็ว่าได้ โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ไม่ว่าจะเป็นจากหน้าฝนเป็นหน้าหนาวที่อุณหภูมิลดต่ำลงมากๆ หรือแม้แต่ช่วงเดือนมีนาคม ต้นฤดูร้อนที่มีฝนตกลงมาอย่างหนักจนร่างกายปรับตัวไม่ทัน หรือแม้แต่ในช่วงเทศกาล สงกรานต์ที่เด็กๆ และวัยรุ่นพากันสาดน้ำท่ามกลางแดดจัดๆ ตลอดวันหยุดสงกรานต์ที่ยาวนานจากการกระทบกับอุณหภูมิที่ต่างกันมาก อาจเป็นเหตุให้เด็กๆ หลายคนมีอาการเป็นไข้ตัวร้อนได้ง่ายขึ้น เป็นเหตุให้คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครอง ต้องรีบมาซื้อยาลดไข้ตัวร้อนด้วยความเป็นกังวลในอาการไม่สบายของเด็ก

ใช้ยาตัวไหนดี
คำถามอันแสนคุ้นเคยที่ผู้ปกครองมักจะสอบถามกับเภสัชกร ก็คือ จะเลือกใช้ยาตัวไหนดี...ยาน้ำลดไข้สำหรับเด็กที่มีในท้องตลาดและสามารถหาซื้อได้ทั่วไป คือ ยาน้ำพาราเซตามอล (paracetamol) ยานี้จัดว่าเป็นยาสามัญประจำบ้าน มีความปลอดภัยค่อนข้างสูงหากใช้ตามปริมาณที่กำหนด คุณพ่อคุณแม่จึงสามารถหาซื้อได้จากร้านขายยาแผนปัจจุบันทั่วไป ตามร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน หรือแม้กระทั่งร้านขายของชำในหมู่บ้านหรือละแวกบ้าน

ขนาดของยาที่ควรใช้
ปัญหาต่อมาก็คือ จะต้องเลือกยาตัวไหน และป้อนยาให้เด็กในปริมาณเท่าไรในแต่ละครั้ง โดยทั่วไปแล้ว คุณพ่อคุณแม่มักจะพิจารณาปริมาณการให้ยาลูกโดยดูจากคำแนะนำข้างกล่อง หรือจากฉลากของยา ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วมักจะบอกโดยคร่าวๆ ว่าเด็กอายุต่ำกว่า ๒ ปี ควรกินครั้งละ... ช้อนชา เด็กอายุประมาณ...ปีควรกินครั้งละ...ช้อนชา จากคำแนะนำดังกล่าว เป็นเพียงปริมาณการให้ยาโดยเฉลี่ยกับเด็กส่วนใหญ่ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เด็กแต่ละคนย่อมมีน้ำหนักที่แตกต่างกันไป แม้ว่าจะอยู่ในวัยไล่เลี่ยกันก็ตาม เช่น เด็กบางคนอายุเพียงขวบกว่าๆ แต่อาจมีน้ำหนักมากถึง ๑๖ กิโลกรัม ในขณะที่เด็กบางรายแม้จะอายุ ๗-๘ ขวบไปแล้ว ก็ยังตัวเล็กและค่อนข้างผอม อาจหนักเพียง ๑๖- ๑๗ กิโลกรัมเท่านั้นก็เป็นได้

ดังนั้นเภสัชกรจึงมักสอบถามถึงน้ำหนักตัวของลูกๆ ของคุณพ่อคุณแม่เป็นหลัก เพื่อสามารถคำนวณปริมาณของตัวยาที่จะให้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยปริมาณหรือขนาดยาที่จะให้แต่ละครั้งก็คือ ตัวยาพาราเซตามอลปริมาณ ๑๐-๑๕ มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวเด็ก ๑ กิโลกรัม ดังนั้นไม่ว่าเด็กจะมีอายุเท่าใด หากน้ำหนักตัวเท่าๆ กัน คือ ประมาณ ๑๖ กิโลกรัม ก็ควรจะกินยาเท่ากันคือ ประมาณ ๑๖๐-๒๔๐ มิลลิกรัมต่อครั้ง ปัญหาถัดมาคือ แล้วจะเลือกยาน้ำลดไข้ในรูปแบบใด น้ำใส น้ำข้น หรือแบบหยดดี ปัจจุบันยาน้ำลดไข้แก้ตัวร้อนสำหรับเด็ก ที่มีตัวยาหลักคือ พาราเซตามอลนั้น มีให้เลือกมากมายหลายแบบ ตั้งแต่ยาน้ำเชื่อมใสที่ใช้หยอดใส่ปากเด็ก ยาน้ำเชื่อมใสที่กินเป็นช้อนชา และยาน้ำเชื่อมชนิดข้นที่เภสัชกรเรียกว่ายาน้ำแขวนตะกอน ยาเหล่านี้ยังมีความแรงหรือความเข้มข้นของตัวยาพาราเซตามอลแตกต่างกันออกไป

โดยทั่วไปแล้ว ยาน้ำที่กินเป็นช้อน (ช้อนชา) จะมีความเข้มข้นแตกต่างกัน ๓ ระดับ คือ ในตัวยาน้ำเชื่อม ๑ ช้อนชา หรือ ๕ มิลลิลิตร (ซีซี) จะมีปริมาณตัวยาพาราเซตามอล ๑๒๐, ๑๖๐ และ ๒๕๐ มิลลิกรัม ผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณตัวยาพาราเซตามอล ๑๒๐ มิลลิกรัมต่อ ๑ ช้อนชา (๕ มิลลิลิตร) มีหลายยี่ห้อ เช่น ยาน้ำเชื่อมน้ำใส ในผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อทางการค้าว่า Tempra หรือ Sara หรือยาน้ำเชื่อมแขวนตะกอนในผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อทางการค้าว่า Calpol รสสตรอเบอร์รี่ หรือ Sara รสสตรอเบอร์รี่

ผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณตัวยาพาราเซตามอล ๑๖๐ มิลลิกรัม ต่อ ๑ ช้อนชา เช่น ยาน้ำเชื่อมแขวนตะกอนในผลิตภัณฑ์ ที่มีชื่อทางการค้าว่า Tylenol และผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณ  ตัวยาพาราเซตามอล ๒๕๐ มิลลิกรัมต่อ ๑ ช้อนชา ก็มีหลายยี่ห้อเช่นกัน เช่น ยาน้ำเชื่อม Tempra Forte ยาน้ำเชื่อมแขวนตะกอน Calpol รสส้ม ในการเลือกใช้ ก็ให้เลือกใช้ตามขนาดน้ำหนักตัวของเด็ก และเลือกรสชาติตามความชอบของเด็กแต่ละคน ซึ่งตรงนี้คุณพ่อคุณแม่คงต้องเป็นคนบอกเภสัชกรที่ร้านยาให้ทราบ จะได้หยิบยาได้ถูกใจ

ยาน้ำเชื่อมลดไข้แก้เด็กตัวร้อนอีกรูปแบบหนึ่งที่มีจำหน่ายทั่วไป และคุณพ่อคุณแม่มักจะมาสอบถามเกี่ยวกับคำแนะนำในการให้ยากับลูกอยู่เสมอ ก็คือ ยาน้ำเชื่อมชนิดหยดสำหรับเด็ก โดยเฉพาะเด็กทารกและเด็กเล็ก ซึ่งหากจะพิจารณากันอย่างละเอียดแล้วก็จะพบว่า ยาน้ำลดไข้แก้ตัวร้อนประเภทนี้มีลักษณะที่แตกต่างจากยาน้ำเชื่อมชนิดกินด้วยช้อนชาอยู่ ๒-๓ ประการก็คือ ขณะที่ยาน้ำเชื่อมชนิดใส หรือชนิดแขวนตะกอน ที่กินเป็นช้อนชา มีขนาดบรรจุอยู่ที่ ๖๐ มิลลิลิตร แต่ยาน้ำเชื่อมลดไข้ชนิดหยดจะมีขนาดบรรจุเพียง ๑๕ มิลลิลิตรเท่านั้น และภายในกล่องจะมีหลอดหยดยาแถมมาให้ด้วย

การที่ยาน้ำลดไข้แก้ตัวร้อนชนิดหยดมีขนาดบรรจุที่เล็กกว่า ก็เนื่องจากตัวยามีความแรงหรือความเข้มข้นสูงกว่า นั่นคือ ภายในยาน้ำเชื่อมเพียงแค่ ๑ มิลลิลิตร จะมีตัวยา พาราเซตามอลละลายอยู่ถึง ๑๐๐ มิลลิกรัม ดังนั้น ยานี้เพียง ๑.๒ มิลลิลิตร ก็จะมีปริมาณยาพาราเซตามอลอยู่ถึง ๑๒๐ มิลลิกรัม ซึ่งเทียบได้เท่ากับปริมาณยาพาราเซตามอล ในยาน้ำเชื่อมลดไข้ชนิดกินด้วยช้อนชา (ความแรง ๑๒๐ มิลลิกรัมต่อ ๕ มิลลิลิตร) ถึง ๑ ช้อนชา หรือ ๕ มิลลิลิตร เลยทีเดียว พูดง่ายๆ ก็คือ ยาน้ำชนิดหยดแรงกว่า หรือเข้มข้นกว่ายาน้ำกินด้วยช้อนชาถึง ๔ เท่าตัวเลยทีเดียว

คุณพ่อคุณแม่อาจสงสัยว่าทำไมจึงต้องทำยาหยดให้แรงกว่ายากินตั้งหลายเท่า เหตุผลก็คือ รูปแบบยาหยดใส่ปากเด็กนี้ใช้สำหรับเด็กทารก ซึ่งต้องการยาในปริมาตรต่ำมากๆ เช่น เด็กทารกหนัก ๖ กิโลกรัม เมื่อมีไข้ก็ต้องการยาพาราเซตามอลครั้งละ ๖๐-๙๐ มิลลิกรัม หากจะใช้ยาชนิดกิน ก็ต้องป้อนยาพาราเซตามอลชนิด ๑๒๐ มิลลิกรัม ต่อ ๕ มิลลิลิตร ครั้งละ ๑ ช้อน ถึง ๓ ช้อน ซึ่งจะยุ่งยากมากในการป้อนยาใส่ปากเด็กทารก ดังนั้นจึงทำรูปแบบยาหยดขึ้นมาเพื่อให้ง่ายและสะดวกในการป้อนยาแก่เด็กเล็กๆ โดยเฉพาะเด็กทารก เนื่องจากใช้ปริมาตรน้อยๆ เช่น ๐.๖ มิลลิลิตร หยดใส่ปากเด็ก แต่การให้ยาในรูปแบบยาหยด คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องระวังในการใช้ด้วยนะคะ ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วว่า ยารูปแบบยาหยดมีความแรงหรือความเข้มข้นสูงกว่ายาในรูปแบบกินด้วยช้อนมาก ดังนั้นเพื่อป้องกันความผิดพลาดอัน อาจเกิดจากการนำเอาช้อนชาที่มีปริมาตรบรรจุ ๕ มิลลิลิตร มาตวงยาแทนการใช้หลอดหยดป้อนยาให้กับเด็ก คุณพ่อ คุณแม่หรือพี่เลี้ยงที่จะป้อนยาเด็ก จึงควรนำฝาที่มีหลอด หยดติดอยู่มาสวมแทนฝาขวดเมื่อเปิดฝาขวดในครั้งแรกแล้วทันที และทิ้งฝาขวดที่เปิดนั้นไปเลย เพื่อที่ครั้งต่อๆ ไปที่เปิดขวดจะได้ใช้หลอดหยดที่ติดอยู่กับฝาขวดในการดูดยาจากขวดเพื่อให้กับเด็กได้ทันที และไม่ไปมองหาช้อนมาตวงยาอีก

สำหรับหลอดหยดยาที่แถมมากับยาน้ำเชื่อมลดไข้ชนิด หยดแต่ละยี่ห้อยังมีขนาดที่แตกต่างกันไป เช่น หลอดหยดของยาน้ำเชื่อมลดไข้ในผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อทางการค้าว่า Tempra drop จะมีปริมาตรบรรจุเต็มหลอด (ไม่รวมกระเปาะที่ใช้บีบเพิ่มแรงดูดยา) อยู่ที่ ๐.๘ มิลลิลิตร โดยมีขีดแบ่งครึ่งหลอดที่ ๐.๔ มิลลิลิตร ในขณะที่หลอดหยดของยาน้ำเชื่อมลดไข้ในผลิตภัณฑ์ที่มี ชื่อทางการค้าว่า Kit Syrup จะมีปริมาตรบรรจุเพียง ๐.๖ มิลลิลิตร เมื่อเต็มหลอดเท่านั้น ดังนั้นหากแต่ละครั้งที่เด็กป่วยเป็นไข้ตัวร้อน คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองซื้อยาลดไข้ชนิดหยดให้ต่างยี่ห้อกันไป ก็จำเป็นที่จะต้องพิจารณาปริมาตรหรือขนาดบรรจุของหลอดหยดอย่างละเอียดรอบคอบด้วย เพื่อให้เด็กได้รับยาในปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละมื้อ

สิ่งสำคัญที่จะลืมเสียมิได้อีกประการในการป้อนยาเด็ก ก็คือ เรื่องของช้อนยา หรือที่เรียกว่าช้อนชา ในที่นี้ ๑ ช้อนชา (teaspoonful) หมายถึงปริมาตรการตวง ๕ มิลลิลิตร หรือ ๕ ซีซี  ซึ่งช้อนชาดังกล่าวมักจะแถมติดมากับยาน้ำแทบทุกชนิด ซึ่งรวมถึงยาน้ำลดไข้แก้ตัวร้อนสำหรับเด็กด้วย และในช้อนชาก็จะมีขีดบอกปริมาตรที่ตวงสำหรับครึ่งช้อนชาไว้ด้วย คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ป้อนยาจำนวนไม่น้อยยังเข้าใจผิดว่า ช้อนชาป้อนยานั้น มีปริมาตรเท่ากับช้อนชาที่ใช้คนกาแฟ หรือตักของหวาน จึงมักนำช้อนชาที่ใช้ในบ้านดังกล่าวไปใช้ในการตวงยาและป้อนยาให้กับลูก ซึ่งที่จริงแล้วช้อนชา (ตักขนม) ดังกล่าวจะมีปริมาตรน้อยมาก (ประมาณ ๒-๓ ซีซี) เมื่อเทียบกับช้อนชาที่ใช้ตวงยาน้ำสำหรับเด็ก (๕ ซีซี)  ดังนั้น หากต้องการตวงยาน้ำเพื่อป้อนให้กับเด็ก ควรใช้ช้อนชาพลาสติกที่ติดมากับกล่องบรรจุยา หรือหากต้องการป้อนยาเด็กด้วย ปริมาตรที่แม่นยำก็อาจเลือกใช้หลอดฉีดยาขนาด ๕ ซีซี (ที่ไม่มีเข็ม) แทนก็ได้

ข้อควรระวังอีกประการหนึ่งในการให้ยาน้ำลดไข้กับเด็กก็คือ ในกรณีของยาน้ำเชื่อมส่วนใหญ่ที่มีลักษณะแขวนตะกอน (หรือที่ขุ่นข้น) ทุกครั้งที่จะป้อนยา ควรเขย่าขวดทุกครั้ง เพื่อให้ได้ยาที่มีความเข้มข้นเท่ากันทุกครั้ง ส่วนจะให้ยาหรือป้อนยาให้เด็กบ่อยแค่ไหนในแต่ละวันนั้น ส่วนใหญ่เภสัชกรจะแนะนำว่าควรให้ยาทุกๆ ๔-๖ ชั่วโมง ซึ่งอาจเป็นเรื่องลำบากสำหรับผู้ป้อนยาในการจดจำว่า เมื่อมื้อที่แล้วให้ยาไปเวลาเท่าใด แล้วตกลงจะให้อีกภายใน ๔, ๕ หรือ ๖ ชั่วโมงถัดมากันแน่ วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ แบ่งเวลาการให้เป็น เช้า กลางวัน เย็น และ ก่อนนอนไปเลย โดยไม่จำเป็นต้องให้แต่ละครั้งห่างกัน ๔-๖ ชั่วโมงพอดีเปี๊ยบ และควรบอกให้พ่อแม่หรือผู้ป้อนยา แน่ใจว่า สามารถให้หรือป้อนยาน้ำลดไข้ แก้ตัวร้อนให้เด็กได้ทั้งก่อนหรือ หลังจากการกินอาหารหรือให้นม เพราะตัวยาสามารถละลายและดูดซึมได้ดี โดยไม่ต้องกังวลว่าอาหารหรือนมจะรบกวนการออกฤทธิ์ลดไข้ของยา นอกจากนั้นตัวยาก็ไม่มีผลระคายเคืองท้อง หรือกัดกระเพาะ จึงไม่จำเป็นต้องกินยาหลังอาหารหรือหลังให้นมในทันที

วิธีลดไข้ให้ได้ผล
สิ่งสำคัญที่สุดในการลดไข้ตัวร้อนให้กับเด็กที่ให้ผลดีพอๆ กับยาลดไข้ โดยสามารถลดหรือระบายความร้อนออกจากตัวเด็กได้อย่างรวดเร็ว ก็คือ การเช็ดตัวลดไข้ และ การให้เด็กจิบน้ำบ่อยๆ เพื่อให้น้ำช่วยพาความร้อนที่สะสมอยู่ภายในร่างกายขับออกมาพร้อมกับเหงื่อและปัสสาวะ การเช็ดตัวลดไข้นั้น สามารถทำได้ง่ายๆ โดยใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำที่อุณหภูมิธรรมดา (ไม่จำเป็นต้องชุบน้ำเย็น) จากนั้นบิดผ้าให้แห้งสนิท ค่อยๆ เช็ดตัวไล่ลงมาตั้งแต่หน้า ลำคอ ลงมาจนถึงหน้าอกและแผ่นหลัง รวมทั้งซอกข้อพับ ตามรักแร้ แขนและขา ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นที่สะสมของความร้อนในร่างกาย โดยวิธีดังกล่าวจัดว่าเป็นวิธีการลดไข้ คลายความร้อนจากร่างกายของเด็กได้อย่างรวดเร็วยิ่งกว่าการใช้ยาลดไข้ ที่กว่าจะให้ผลในการลดไข้ตัวร้อนต้องใช้เวลานานถึง ๑๕-๒๐ นาที และยังสามารถทำได้ตลอดเวลาอีกด้วย และด้วยผลจากการใช้ยาลดไข้ ร่วมกับการเช็ดตัวลดไข้บ่อยๆ และการจิบน้ำบ่อยๆ ย่อมส่งผลป้องกันไม่ให้ความร้อนในร่างกายสะสมไว้จนสูงมากเกินไป จนเสี่ยงต่อการชักในเด็กได้

ข้อมูลสื่อ

291-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 291
กรกฎาคม 2546
อื่น ๆ
ภกญ.มนทยา สุนันทิวัฒน์