• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

คางทูม

คางทูมเป็นโรคที่พบบ่อยในเด็ก ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสของต่อมน้ำลายที่อยู่บริเวณข้างหู  และอาจรวมทั้งต่อมน้ำลายที่อยู่ใต้ลิ้นและใต้คาง ทำให้เกิดอาการอักเสบบวมของบริเวณคาง ดูคล้ายคางทูม  โรคนี้มักจะหายได้เองเป็นส่วนใหญ่ การรักษาแบบพื้นบ้าน เช่น เขียนเสือที่ข้างแก้ม เสกปูนแดงป้ายหรือใช้ครามป้ายแล้วได้ผล ก็เพราะธรรมชาติของโรคนี้ที่สามารถหายได้เองนั่นเอง อย่างไรก็ตาม บางครั้งก็อาจเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้  จึงควรเรียนรู้วิธีการรักษาและการป้องกัน

ชื่อภาษาไทย  คางทูม

ชื่อภาษาอังกฤษ  Mumps, Epidemic parotitis

สาเหตุ เกิดจากการติดเชื้อคางทูม ซึ่งเป็นไวรัสในกลุ่มไวรัสพารามิกโซ (paramyxovirus)
เชื้อจะอยู่ในน้ำลายของผู้ป่วย ติดต่อโดยการไอหรือจามใส่กัน หรือโดยการสัมผัสถูกสิ่งของเครื่องใช้ (เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ จาน ชาม ฯลฯ) ที่ปนเปื้อนเชื้อจากน้ำลายของผู้ป่วย เมื่อเชื้อติดเข้าไปที่จมูกและลำคอก็จะมีการแบ่งตัว แล้วเข้าสู่กระแสโลหิตแพร่ไปยังอวัยวะต่างๆรวมทั้งต่อมน้ำลาย  ทำให้เกิดการอักเสบของต่อมน้ำลายและอวัยวะต่างๆ

ระยะฟักตัวของโรค (นับตั้งแต่เริ่มติดเชื้อจนมีอาการแสดง) ๑๒ - ๒๕ วัน (ส่วนใหญ่ ๑๖-๑๘ วัน)

ระยะติดต่อ (ระยะที่ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อติดต่อให้คนอื่น) ตั้งแต่ ๗ วันก่อนมีอาการจนถึง ๙ วัน หลังมีอาการคางทูม
โรคนี้บางครั้งพบมีการระบาดได้
    
อาการ ผู้ป่วยจะมีอาการเป็นไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร  บางคนอาจมีอาการปวดในช่องหูหรือหลังหูขณะเคี้ยวหรือกลืน ๑-๓ วันต่อมา พบว่าบริเวณข้างหูหรือขากรรไกร มีอาการบวมและปวด อาการปวดจะเป็นมากขึ้นเมื่อกินของเปรี้ยว น้ำส้มคั้น น้ำมะนาว ผู้ป่วยมักจะรู้สึกปวดร้าวไปที่หู ขณะอ้าปากเคี้ยวหรือกลืนอาหาร บางคนอาจมีอาการบวมที่ใต้คางร่วมด้วย (ถ้ามีการอักเสบของต่อมน้ำลายใต้คาง)
ประมาณ ๒ ใน ๓ ของผู้ที่เป็นคางทูม จะเกิดอาการคางบวมทั้ง ๒ ข้าง โดยเริ่มขึ้นข้างหนึ่งก่อนแล้วอีก ๔-๕ วัน ต่อมาค่อยขึ้นตามมาอีกข้าง
อาการคางบวมจะเป็นมากในช่วง ๓ วันแรกแล้วจะค่อยๆ ยุบหายไปใน ๔-๘ วัน ในช่วงที่บวมมาก ผู้ป่วยจะมีอาการพูดและกลืนลำบาก
บางคนอาจมีอาการคางบวม โดยไม่มีอาการอื่นๆ นำมาก่อน หรือมีเพียงอาการไข้ โดยไม่มีอาการคางบวมให้เห็นก็ได้
นอกจากนี้ พบว่าประมาณร้อยละ ๓๐ ของผู้ที่ติดเชื้อคางทูม อาจไม่มีอาการแสดงของโรคคางทูมก็ได้

การแยกโรค อาการคางบวม อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น 
     การบาดเจ็บ  เช่น ถูกต่อย
     ต่อมทอนซิลอักเสบ  ผู้ป่วยจะมีไข้ เจ็บคอ ต่อมทอนซิลบวมแดง และอาจพบมีต่อมน้ำเหลืองใต้คางบวมร่วมด้วยข้างหนึ่ง
     เหงือกอักเสบหรือรากฟันอักเสบ  ผู้ป่วยจะมีอาการปวดฟัน  หรือเหงือกบวม  และอาจมีอาการคางบวมร่วมด้วยข้างหนึ่ง
     ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ  ผู้ป่วยจะมีอาการต่อมน้ำเหลืองที่ข้างคอหรือใต้คางบวมและปวด และอาจมีไข้ร่วมด้วย
     เนื้องอกต่อมน้ำลายหรือท่อน้ำลายอุดตัน (จากการตีบหรือมีก้อนนิ่วน้ำลาย) ผู้ป่วยจะมีก้อนบวมที่คางข้างหนึ่ง ซึ่งมักจะเป็นเรื้อรัง
     ต่อมน้ำลายอักเสบเป็นหนอง จากการติดเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยมีอาการคล้ายคางทูม แต่ผิวหนังบริเวณคางทูมจะมีลักษณะแดงและเจ็บมาก
     มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (อาจเกิดที่ต่อมน้ำเหลืองโดยตรง หรือลุกลามจากกล่องเสียงหรือโพรงหลังจมูก) ผู้ป่วยจะมีก้อนบวมที่ข้างคอ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า ๑ เซนติเมตร และไม่มีอาการเจ็บปวด อาจมีอาการเสียงแหบ (ถ้าเป็นมะเร็งกล่องเสียง) หรือคัดจมูกหรือเลือดกำเดาไหล (ถ้าเป็นมะเร็งโพรงหลังจมูก)
    
การวินิจฉัย ส่วนใหญ่จะวินิจฉัยจากอาการของโรคเป็นสำคัญ ได้แก่ อาการไข้  และคางบวม ซึ่งจะบวมอยู่ประมาณ ๔-๘ วัน ถ้ามีประวัติการระบาดของโรคในพื้นที่ที่ผู้ป่วยอยู่อาศัยหรือการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นคางทูม ก็จะช่วยในการวินิจฉัยได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ในรายที่ไม่แน่ใจ  อาจทำการตรวจหาเชื้อจากน้ำลาย หรือตรวจหาระดับแอนติบอดี(ภูมิคุ้มกัน) ในเลือด ซึ่งน้อยครั้งมากที่จะต้องวินิจฉัยโดยวิธีเหล่านี้

การดูแลตนเอง เนื่องจากโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส และส่วนใหญ่จะไม่มีโรคแทรกซ้อนร้ายแรง เพียงแต่ให้การรักษาตามอาการก็หายได้เอง
เมื่อมีไข้และคางบวม ควรให้การดูแลรักษาตนเอง ดังนี้
๑. พักผ่อน อย่าตรากตรำงานหนัก
๒. ดื่มน้ำมากๆ
๓. เช็ดตัวเวลามีไข้
ให้ยาลดไข้ – พาราเซตามอล ผู้ใหญ่ ๑ - ๒ เม็ด เด็ก ?  - ๑ เม็ด หรือ ๑ - ๒ ช้อนชา) ซ้ำได้ทุก ๖ ชั่วโมงเฉพาะเวลามีไข้สูง
ห้ามใช้แอสไพริน  สำหรับคนอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี เพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรย์ซินโดรม (Reye’s syndrome) ซึ่งมีการอักเสบของสมองและตับอย่างรุนแรง               เป็นอันตรายได้
๔. ใช้น้ำอุ่นจัดๆ ประคบตรงบริเวณที่เป็นคางทูมวันละ ๒ ครั้ง แต่ถ้าปวด ให้ใช้ความเย็น (เช่น น้ำเย็น น้ำแข็ง) ประคบบรรเทาปวด
๕. หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่เคี้ยวยาก ในระยะแรกๆ ควรกินอาหารอ่อน เช่น ข้าวต้ม ซุป
๖. หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสเปรี้ยว น้ำส้มคั้น น้ำมะนาวคั้น เพราะอาจทำให้ปวดมากขึ้น
๗. ควรหยุดเรียนหรือหยุดงาน พักรักษาตัวที่บ้านจนกว่าจะหาย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้คนอื่น
    
ควรไปพบแพทย์  ถ้ามีอาการข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
๑. ปวดศีรษะมาก อาเจียนมากหรือชัก
๒. อัณฑะบวม
๓. ปวดท้องมาก
๔. หูตึงหรือได้ยินไม่ชัดเจน
๕. เจ็บในคอมากหรือต่อมทอนซิลบวมแดง
๖. ปวดฟันหรือเหงือกบวม
๗. อ้าปากลำบากกินไม่ได้
๘. ก้อนที่บวมมีลักษณะบวมแดงมากหรือปวดมาก
๙. ดูแลตัวเอง ๗ วันแล้ว ก้อนยังไม่ยุบบวมหรือไข้ยังไม่ลด หรือมีอาการกำเริบซ้ำหลังจากหายแล้ว
๑๐. มีความวิตกกังวลหรือไม่มั่นใจที่จะดูแลตนเอง

การรักษา  แพทย์จะทำการวินิจฉัย โดยแยกออกจากสาเหตุอื่น ถ้าไม่แน่ใจว่าเป็นคางทูม อาจต้องทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น  ตรวจเลือด เอกซเรย์
ถ้าแน่ใจว่าเป็นคางทูม ก็จะให้การรักษาตามอาการและแนะนำการปฏิบัติในการดูแลตนเองดังกล่าว 
ถ้าตรวจพบว่ามีโรคแทรกซ้อน ก็จะให้การรักษา เช่น   
ถ้าเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบหรือตับอ่อนอักเสบ ก็จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล
ถ้าเป็นอัณฑะอักเสบ ก็จะให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ (เช่น ไอบูโพรเฟน) ประคบด้วยความเย็น บางครั้งอาจพิจารณาให้สตีรอยด์ (เช่น เพร็ดนิโซโลน) เพื่อลดการอักเสบที่รุนแรง
    
ภาวะแทรกซ้อน  เนื่องจากเชื้อสามารถเข้าสู่กระแสโลหิตแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย  อาจทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะอื่นๆ แทรกซ้อนได้
ที่พบบ่อยคือ  อัณฑะอักเสบ จะพบในเด็กวัยรุ่นหรือวัยหนุ่ม (ไม่พบในเด็กเล็ก) ได้ประมาณร้อยละ ๒๐ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง อัณฑะบวมและปวดมาก ซึ่งมักจะเป็นหลังอาการคางทูมประมาณ  ๗- ๑๐ วัน ส่วนใหญ่มักเป็นเพียงข้างเดียว ส่วนน้อยเป็น ๒ ข้าง บางครั้งอาจทำให้เกิดภาวะอัณฑะฝ่อตามมา แต่อย่างไรก็ตาม มีโอกาสเป็นหมันน้อยมาก  
นอกจากนี้ อาจพบภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ประสาทหูอักเสบ (พบได้ประมาณ ร้อยละ ๔-๕ ส่วนใหญ่มักจะอยู่เพียงชั่วคราวแล้วหายไปได้เอง ส่วนน้อยอาจเป็นหูหนวกถาวร

ตับอ่อนอักเสบ  พบได้ประมาณร้อยละ  ๒-๓ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดท้องมากบริเวณเหนือสะดือ อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย
    * รังไข่อักเสบ ผู้ป่วยจะมีไข้ ปวดท้องน้อย
    * เยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือสมองอักเสบ ซึ่งพบได้น้อย (ประมาณ ๑ ใน ๕,๐๐๐ คน ถึง ๑ ใน  ๒๐๐ คน ) ผู้ป่วยจะไข้ ปวดศีรษะ อาเจียน ซึมหรือชัก ซึ่งอาจเกิดก่อนหรือหลังอาการคางบวมก็ได้
    * แท้งบุตร  ถ้าติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์ ระยะ ๓ เดือนแรก ซึ่งก็พบได้น้อย
    * ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจพบได้แต่น้อย เช่น ข้ออักเสบ ต่อมไทรอยด์อักเสบ  กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ไตอักเสบ ตับอักเสบ เป็นต้น

การดำเนินโรค  ส่วนใหญ่จะไม่มีภาวะแทรกซ้อนและหายได้เองตามธรรมชาติ อาการไข้จะเป็นอยู่เพียง ๑-๖ วัน ส่วนอาการคางทูมจะยุบได้เองใน ๔-๘ วัน (ไม่เกิน ๑๐ วัน) และอาการโดยรวมจะหายสนิทภายใน ๒ สัปดาห์
ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่เกิดกับอวัยวะต่างๆ ส่วนใหญ่ก็มักจะหายได้เป็นปกติ
ส่วนน้อยมากที่อาจมีภาวะเป็นหมัน (จากรังไข่อักเสบและอัณฑะอักเสบ) หูหนวก (จากประสาทหูอักเสบ)

การป้องกัน
สามารถป้องกันโรคนี้ได้ด้วยการฉีดวัคซีนรวมป้องกันหัด คางทูม หัดเยอรมัน (MMR) ตั้งแต่อายุ ๙-๑๒ เดือน และฉีดซ้ำอีก ๑ ครั้ง ตอนอายุ ๔-๖ ขวบ
    
ความชุก  พบมากในเด็กอายุ ๖-๑๐ ขวบ  มักไม่พบในเด็กอายุต่ำกว่า ๓ ขวบ และผู้ใหญ่อายุมากกว่า ๔๐ ปี 
สมัยก่อนจัดว่าเป็นโรคติดต่อที่พบได้บ่อยในเด็ก ปัจจุบันมีแนวโน้มลดลง หลังจากมีผู้ที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้กันมากขึ้น

 

ข้อมูลสื่อ

321-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 321
มกราคม 2549
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ