• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เลี้ยงลูกให้ดี...มีวัคซีนทางใจ

ปัจจุบันพ่อแม่จำนวนมากเลี้ยงลูกด้วยความรัก
แต่ไม่ได้ฝึกฝนให้เด็กมีภูมิต้านทานต่อความทุกข์
เพราะไม่เคยเปิดโอกาสให้ลูกเผชิญต่อปัญหา
ในระดับที่เหมาะสมต่อวัยวุฒิของเขา
เมื่อโตขึ้นจึงขาดทักษะในการจัดการกับ
ปัญหาของชีวิต

วัคซีนทางใจ ๓ ประการ ที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นในการเลี้ยงดูของพ่อแม่และการศึกษาจากครูอาจารย์ เป็นไปเพื่อให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความพร้อมในการดำเนินชีวิต ได้แก่
๑. ความนับถือตนเอง
๒. วุฒิภาวะ
๓. การแสวงหาความสุขในชีวิต

ความนับถือตนเอง
ความนับถือตนเอง (self-esteem) คือการตระหนักรู้ในคุณค่าที่มีในตนเอง นำไปสู่ความภาคภูมิใจ
พูดภาษาชาวบ้านง่ายๆ ก็คือ ความรักในตนเองŽ รักตัวเองให้เป็น ก็ต้องเห็นตัวเองให้ชัด
วิธีการเลี้ยงลูกให้พัฒนาความนับถือตนเองมี ๓ ขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้
๑. รู้ศักยภาพของตนเอง ว่าเรามีความสามารถอะไรเป็นพิเศษ เรียนวิชาไหนแล้วชอบหรือมีความสุข ซึ่งเด็กแต่ละคนจะมีลักษณะนิสัยหรือศักยภาพไม่เหมือนกัน การเลี้ยงดูหรือการศึกษาจึงต้องพัฒนาความสามารถให้ตรงกับตัวเด็กมากที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องเรียนหนังสือหรือเลือกคณะวิชาไปตามกระแสค่านิยมของสังคม ซึ่งอาจไม่ตรงกับใจตัวเอง
๒. กำหนดจุดมุ่งหมายของชีวิต คุณสมบัติของจุดมุ่งหมายนั้นต้องมีคุณสมบัติ ๒ อย่างคือ
- มีความทัดเทียมกับศักยภาพของตนเอง ไม่สูงหรือต่ำเกินไป ถ้าสูงเกินไปก็เป็นฝันกลางวัน ถ้าต่ำเกินไปก็เป็นการดูถูกตัวเอง 
- ต้องสามารถกำหนดเป็นมโนภาพ (visualization) ในใจว่าในอนาคตโตขึ้นเราอยากเป็นอะไร บังเกิดเป็นแรงดลบันดาลใจและมีพลัง
๓. ขยัน มุมานะ พากเพียรพยายาม (effort) เพื่อเป็นพลังหรือแรงขับดันให้ชีวิตมุ่งมั่นสู่จุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ ตรงข้ามกับความขี้เกียจหรือรักสนุก ชอบสบาย (comfort)

การพัฒนาทั้ง ๓ ขั้นตอน จะนำไปสู่ความสำเร็จ เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงความภูมิใจในตนเอง นำไปสู่สภาวะจิตที่ สูงส่ง และไม่ดึงชีวิตตัวเองไปสู่ความเสื่อม เช่น เที่ยวกลางคืน เล่นการพนัน ติดยาเสพติด มีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน ฯลฯ
อุปสรรคอย่างหนึ่งของการพัฒนาความนับถือตนเอง คือระบบการศึกษาที่เน้นคนเรียนเก่ง เช่น สอบได้ที่ ๑ ถึงที่ ๓ หรืออย่างน้อยก็ต้องได้เลขตัวเดียว จึงจะเป็นที่ชื่นชมของพ่อแม่และครูอาจารย์
ในขณะที่นักเรียนอีก ๓๐-๔๐ คนที่เหลือในห้องก็ไม่สามารถเกิดความปีติสุขจากการเรียนรู้
ผลที่สุดคือ การรวมกลุ่มของเด็กที่ไม่ประสบความสำเร็จในการศึกษา จึงไปแสวงหาความสุขจากทางอื่น เช่น ขับรถซิ่งแข่งกัน มีเซ็กซ์เก็บแต้ม คุยโม้โอ้อวดเรื่องการใช้สินค้าแบรนด์เนม หาแฟนรวย ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างความรู้สึกว่าตนยังมีคุณค่าอยู่ อย่างน้อยก็ได้รับการยกย่องจากสมาชิกใน "สังคมเล็กๆ"Ž ของตนเอง
เพราะฉะนั้น ถ้าลูกเรียนหนังสือไม่เก่ง แทนที่จะถูกซ้ำเติมจากพ่อแม่ด้วยคำพูดในทางลบ ผู้ปกครองควรให้กำลังใจและมีความคิดในทางบวกต่อตนเอง เช่น

ถึงแม้ว่าลูกจะสอบได้คะแนนน้อย แต่ลูกยังมีความสามารถอีกหลายอย่างที่การสอบไม่ได้วัดผลŽ
ความสามารถอีกหลายอย่างนั้น ถ้าเขายังไม่เห็น พ่อแม่ต้องเห็นได้จากการสังเกต และเราจะสังเกตรู้ได้ว่าลูกมีศักยภาพอะไร ก็ต่อเมื่อเราได้มีเวลาใกล้ชิดและรับฟังสิ่งที่เขาเปิดเผย แทนที่จะคิดว่าลูกจะต้องรับฟังและเชื่อฟังเราฝ่ายเดียว

วุฒิภาวะ
วุฒิภาวะ (maturity
) คือความสามารถในการยับยั้งชั่งใจหรือควบคุมอารมณ์ความต้องการของตนเอง
พูดภาษาวัยรุ่น วุฒิภาวะ แปลว่า ความสามารถที่สมองส่วนคิดทำงานมากกว่าสมองส่วนอยาก เพราะฉะนั้นต้องฝึกตอนที่สมองส่วนอยากทำงาน
๑. เมื่อลูกอยากได้อะไร ต้องพูดคุยกันว่าจำเป็นหรือไม่
ถ้าสิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ก็ต้องยอมรับว่าไม่ควรได้ ไม่ควรมี
๒. หากจำเป็นแต่มีข้อจำกัด ก็หาทางออกอย่างอื่นเพื่อตอบสนองเท่าที่ทำได้
ถ้าไม่มีเงินก็ไม่จำเป็นต้องซื้อหามาเป็นเจ้าของเสมอไป เราสามารถเช่าหรือใช้บริการจากแหล่งบริการมากมายที่มีในสาธารณะ
๓. ถ้าจำเป็นต้องมีต้องได้ ก็อย่าเพิ่งรีบซื้อให้ทันที
ต้องฝึกให้เด็กรู้จักการรอ (delay immediate gratification) หรือตั้งเงื่อนไขให้เป็นรางวัล ถือเป็นการฝึกวินัยในตนเอง (self discipline)

ถ้าหากลูกอยากได้อะไร แล้วพ่อแม่ตอบสนองหามาให้ในทันที เด็กจะไม่รู้จักเรียนรู้ที่จะรอ เขาจะเคยชินต่อการตอบสนองความต้องการของตนเอง ในที่สุดเมื่อเด็กควบคุมความต้องการของตนไม่ได้ แล้วจะคาดหวังให้เขายับยั้งชั่งใจในเรื่องทางเพศได้อย่างไร
พ่อแม่หลายคนปรนเปรอลูกด้วยวัตถุหรือการเสพ
สาเหตุ ๒ ประการที่พบบ่อย ได้แก่
-ไม่ต้องการให้ลูกเผชิญความผิดหวัง ซึ่งเคยเกิดกับตัวพ่อแม่ในวัยเด็ก อยากได้อะไรก็ไม่เคยได้
-ชดเชยความรู้สึกผิดที่เรามีเวลาใกล้ชิดเขาน้อยเกินไป จึงตอบแทนเด็กด้วยของเล่นหรือเงินทอง
ผู้ใหญ่จำเป็นต้องเป็นตัวอย่างของการดำเนินชีวิตอย่างมีสติ ไม่ถูกครอบงำด้วยกระแสบริโภคนิยมเสียก่อน ไม่ถูกชักจูงง่ายจากสื่อโฆษณา เด็กจึงจะ "เลียนและรู้"Ž     รูปแบบของการใช้ชีวิตที่ไม่เน้นการแสวงหาวัตถุเพื่อสร้างความสุขให้แก่จิตใจ

การแสวงหาความสุขในชีวิต
ความสุขมีรูปแบบที่หลากหลาย แบ่งเป็น ๔ ระดับ เรียกว่า "๔ ระดับของความสุข จากสนุกสู่สงบ"Ž

๑. มีกิจกรรมสนุกสนานจากกิจกรรมบันเทิง
ได้รับความเอร็ดอร่อยจากการเสพทางตา หู จมูก ลิ้น และผิวหนัง มักจำเป็นต้องซื้อหาด้วยเงิน หากไม่รู้จักควบคุมการเสพ ก็นำไปสู่ความทุกข์ร้อนเรื่องหนี้สิน

๒. การเสพสุนทรียภาพของงานศิลปะ
โดยไม่จำเป็นต้องซื้อหามาเป็นเจ้าของ แต่ชื่นชมจนนำไปสู่ความปีติ อิ่มเอิบ เบิกบาน และเกิดแรงดลบันดาลใจในชีวิต

๓. ความสงบสบายจากการใกล้ชิดธรรมชาติ
ท่ามกลางธรรมชาติ ย่อมโน้มนำใจให้ผ่อนคลายสดชื่น และเย็นใจ พร้อมความรู้สึกสำนึกในบุญคุณอันยิ่งใหญ่ของ ธรรมชาติ จนมิอาจคิดถึงเรื่องการทำลายหรือความโลภ

๔. การดำเนินชีวิตอย่างพิจารณา
มีสติในกิจวัตรประจำวันและการทำงาน ในที่สุดเราจะบังเกิดความเข้าใจในสัจธรรมของชีวิต จนในที่สุดจิตของเราที่พัฒนาจนผ่อนคลายจากการยึดติดในสิ่งต่างๆ นำไปสู่การดำเนินชีวิตไม่เป็นทุกข์
 

ข้อมูลสื่อ

319-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 319
พฤศจิกายน 2548
นพ.สุกมล วิภาวีพลกุล