• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาลดไข้ในเด็ก

ยาลดไข้ในเด็ก

จาก "กิจกรรมสัปดาห์เภสัช' ๔๖" ที่ผ่านมา ในส่วนของ "ล้านคำถามเรื่องยา ปรึกษาเภสัชกร" มีประชาชนสอบถามและส่งไปที่สภาเภสัชกรรม รวมทั้งสิ้นกว่า ๕๐,๐๐๐ ฉบับ เรื่อง "ยาลดไข้ในเด็ก" เป็นเรื่องหนึ่งที่ถามกันมาก ทางคณะทำงานจึงได้รวบรวมคำถามที่ใกล้เคียงและสืบเนื่องกัน เพื่อนำมาตอบเผยแพร่เป็นประโยชน์ในวงกว้างให้กับประชาชนและผู้อ่านนิตยสาร "หมอชาวบ้าน" ดังนี้

ถาม : ควรใช้ยาลดไข้ในเด็กอย่างไร

ยาลดไข้ แก้ตัวร้อนในเด็ก ที่นิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบัน มี ๓ ชนิด คือ

๑. ยาพาราเซตามอล (paracetamol)

๒. ยาแอสไพริน (aspirin)

๓. ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)

ยาทั้ง ๓ ชนิดนอกจากจะมีฤทธิ์ลดไข้ แก้ตัวร้อนแล้ว ยังมีฤทธิ์แก้ปวดได้ดีอีกด้วย 
 

  • ยาพาราเซตามอล (paracetamol)

ยาพาราเซตามอล หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า ยา "พารา" หรือ "พาราเซต" เป็นยาที่ใช้ลดไข้ แก้ปวด และแก้ตัวร้อนได้ผลดี และปลอดภัยเมื่อใช้ติดต่อกันเป็นช่วงระยะเวลาสั้นไม่เกิน ๗ วัน มีทั้งชนิดน้ำสำหรับเด็ก และชนิดเม็ดสำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่ (ในที่นี้ขอกล่าวเฉพาะชนิดน้ำสำหรับเด็กเท่านั้น) ดังแสดงในตารางที่ ๑



ยาพาราเซตามอลชนิดน้ำ มีการออกแบบเป็นชนิดหยดสำหรับเด็กแรกเกิด-๑ ขวบ และชนิดน้ำของเด็กตั้งแต่ ๑ ขวบขึ้นไป

๑.ยาพาราเซตามอลชนิดหยด
เหมาะสำหรับเด็กแรกเกิดจนถึง ๑ ขวบ ยานี้ถูกออกแบบมาให้มีความเข้มข้นสูง เมื่อใช้ปริมาณน้อยๆ ก็สามารถลดไข้ แก้ตัวร้อนได้ผลดี ขนาดที่ใช้กันทั่วไป อยู่ระหว่าง ๐.๓-๑.๐ มิลลิลิตร ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของเด็ก ผู้ผลิตจะแนบหลอดหยดยา (dropper) มาให้พร้อมในกล่องยา จึงช่วยให้สะดวกในการใช้ยานี้กับเด็กเล็กๆ ยาชนิดนี้ ๕ มิลลิลิตร (๑ ช้อนชา) จะประกอบด้วยตัวยาพาราเซตามอล ๕๐๐ มิลลิกรัม หรือ ใน ๑ มิลลิลิตร จะมีด้วยตัวยาพาราเซตามอล ๑๐๐ มิลลิกรัม ในการใช้ยานี้ในเด็กเล็กจะคำนวณตามน้ำหนักตัวของเด็ก โดยพิจารณาให้ยานี้ ๐.๑ มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว ๑ กิโลกรัม เช่น ถ้าเด็กมีน้ำหนักตัว ๓ กิโลกรัม จะใช้ยาพาราเซตามอลชนิดหยดนี้ ๐.๓ มิลลิลิตร หรือถ้าเด็กมีน้ำหนักตัว ๖ กิโลกรัม จะใช้ยาพาราเซตามอลชนิดหยดนี้ ๐.๖ มิลลิลิตร เป็นต้น และควรให้ยานี้ ทุก ๔-๖ ชั่วโมง เวลาที่เด็กตัวร้อนและเป็นไข้ ดังแสดงในตารางที่ ๒



๒. ยาพาราเซตามอลชนิดน้ำ
เหมาะสำหรับเด็กตั้งแต่ ๑ ขวบขึ้นไป มีทั้งชนิดน้ำเชื่อม (syrup) และชนิดแขวนตะกอน (suspension) ซึ่งมีจำหน่ายในท้องตลาดแบ่งได้เป็น ๒ ชนิดตามความเข้มข้นของตัวยา ดังนี้ คือ

  • ชนิดที่ ๑ (ชนิดปกติ)   จะประกอบด้วยตัวยาพาราเซตามอล ๑๒๐ มิลลิกรัมต่อ ๑ ช้อนชา
  • ชนิดที่ ๒ (ชนิดเข้มข้น) จะประกอบด้วยตัวยาพาราเซตามอล ๒๕๐ มิลลิกรัมต่อ ๑ ช้อนชา

(อนึ่งในท้องตลาดจะมีผู้ผลิตอีก ๑ รายที่ผลิตยาพารเซตามอลชนิดน้ำที่ประกอบด้วยตัวยาพาราเซตามอล ๑๖๐ มิลลิกรัมต่อ ๑ ช้อนชา)

ในการใช้ยาทั้งสองชนิดนี้จะคำนวณตามน้ำหนักตัวของเด็กเป็นสำคัญเช่นกัน ดังแสดงในตารางที่ ๒ แต่ในบางกรณีที่ไม่รู้น้ำหนักตัวของเด็กแน่ชัด ก็อนุโลมให้ใช้อายุมาช่วยในการคำนวณหาปริมาณยาที่เหมาะสมแทนได้ แต่ก็ไม่เที่ยงตรงเท่าน้ำหนักตัวของเด็ก ยาพาราเซตามอลนี้ ถือว่าเป็นยาที่ปลอดภัยที่สุด แนะนำให้ใช้ยาพาราเซตามอลเป็นตัวยาแรกในการเลือกใช้ เนื่องจากเป็นยาที่ประวัติการใช้มายาวนานว่าปลอดภัย แต่ก็ควรระวังไม่ควรใช้ยานี้เกินขนาด ซึ่งจะทำให้เกิดพิษต่อตับและไตได้ ขนาดของยาพาราเซตามอลที่เกินขนาดที่ทำให้เกิดพิษ จะมีขนาดสูงเป็น ๑๐-๒๐ เท่าของขนาดปกติที่ใช้แก้ปวด ลดไข้

  • ยาแอสไพริน (aspirin)

ยาแอสไพริน เป็นยาที่ใช้ลดไข้ แก้ตัวร้อน ที่ได้ผลดี และเคยเป็นที่นิยมในอดีต แต่เนื่องจากเกิดผลข้างเคียงที่ไม่ต้องการได้บ่อย เช่น ระคายเคืองกระเพาะอาหาร ทำให้เป็นแผลในกระเพาะอาหาร และยับยั้งการแข็งตัวของเกล็ดเลือด ทำให้เมื่อเป็นแผลแล้ว เลือดจะไหลไม่หยุด เป็นต้น ทำให้ความนิยมในยาชนิดนี้ลดลงเรื่อยๆ และหันไปนิยมใช้ยาพาราเซตามอลมากขึ้น ทั้งนี้เพราะยาพาราเซตามอลไม่มีผลข้างเคียงทั้งสองนี้ แต่อย่างไรก็ตามยาแอสไพรินนี้ก็ยังมีใช้อยู่บ้าง เพราะออกฤทธิ์เร็วกว่า ทั้งยังมีฤทธิ์ช่วยการขับเหงื่อได้ดีอีกด้วย

ในท้องตลาดยาแอสไพรินมีทั้งในรูปแบบเม็ดและผงบรรจุซอง โดยในรูปแบบเม็ด ที่นิยมใช้ในเด็ก มี ๒ ขนาด คือ ขนาด ๖๐-๖๕ มิลลิกรัมต่อเม็ด และขนาด ๓๐๐-๓๒๕ มิลลิกรัมต่อเม็ด โดยแนะนำให้ใช้กับเด็กที่อายุมากกว่า ๑ ขวบขึ้นไป (ในที่นี้ขอกล่าวเฉพาะชนิดเม็ดสำหรับเด็กเท่านั้น เพราะในแบบซองมีขนาดบรรจุหลากหลายมาก) ขนาดยาเแอสไพรินที่ใช้ในเด็กตั้งแต่ ๑-๕ ขวบ จะใช้ในขนาด ๖๐-๖๕ มิลลิกรัมต่ออายุ ๑ ขวบ เช่น เด็กอายุ ๑ ขวบ จะใช้ยาขนาด ๖๐-๖๕ มิลลิกรัม จำนวน ๑ เม็ด ถ้าอายุ ๓ ขวบ จะใช้ยาขนาด ๖๐-๖๕ มิลลิกรัม จำนวน ๓ เม็ด เป็นต้น ในกรณีที่เด็กอายุ ๕-๑๐ ขวบ ให้ใช้ ๓๐๐-๖๐๐ มิลลิกรัม  โดยให้ยานี้ ทุก ๔-๖ ชั่วโมง เวลาที่เด็กตัวร้อนและเป็นไข้

  • ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)

ยาไอบูโพรเฟน เป็นยาที่ใช้ลดไข้ แก้ตัวร้อน อีกชนิดหนึ่งที่ได้ผลดีและเป็นที่นิยมมากขึ้นๆในปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะนอกจากจะช่วยลดไข้ แก้ตัวร้อน และแก้ปวดได้ผลดีแล้ว ในรูปแบบของน้ำเชื่อมที่ใช้ในเด็กยังสามารถออกฤทธิ์ได้นานถึง ๘ ชั่วโมง การที่มีระยะเวลาการออกฤทธิ์อยู่นานนี้ จึงมีประโยชน์มากในกรณีที่ต้องการควบคุมระดับไข้ของเด็กในระหว่างตอนกลางคืน ทำให้ไม่จำเป็นต้องปลุกเด็กลุกขึ้นมากินยาอีกครั้งในกลางดึก จึงสะดวกและทำให้เป็นที่นิยมมากขึ้นๆ เรื่อยๆ ในปัจจุบัน
อนึ่งเนื่องจากยาไอบูโพรเฟนได้ถูกจัดเป็นยาในกลุ่มเดียวกับยาแอสไพริน จึงมีข้อสงสัยว่า จะมีฤทธิ์ลดการเกาะตัวของเกล็ดเลือดเช่นเดียวกับยาแอสไพรินหรือไม่ จากการค้นคว้างานวิจัยทางการแพทย์พบว่า ยาไอบูโพรเฟนนี้มีฤทธิ์ลดการเกาะตัวของเกล็ดเลือดนี้เช่นกัน แต่น้อยมากและเป็นแบบชั่วคราวไม่เกิดขึ้นอย่างถาวรเหมือนยาแอสไพริน ดังนั้นถ้ามีการใช้ติดต่อกันในช่วงระยะเวลาสั้นๆ จึงถือว่าปลอดภัย และไม่แนะนำให้ใช้ติดต่อกันนานๆ เพราะยังไม่มีรายงานการใช้ยานี้ติดต่อกันนานๆว่าเกิดผลปลอดภัยในเด็ก และในกรณีที่ต้องการลดผลเสียเหล่านี้ของยาไอบูโพรเฟน ก็แนะนำให้ใช้หลังอาหารทันที และไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน ๗ วัน

ในท้องตลาดยาไอบูโพรเฟนมีทั้งในรูปแบบน้ำเชื่อมและแบบเม็ด ซึ่งในเด็กส่วนใหญ่จะใช้ชนิดน้ำเชื่อม โดยใน ๑ ช้อนชาของยาไอบูโพรเฟน จะประกอบด้วยตัวยา ๑๐๐ มิลลิกรัม ขนาดยาไอบูโพรเฟนที่ใช้ในเด็กตั้งแต่ ๖ เดือน-๕ ขวบ จะใช้ในขนาด ๕-๑๐ มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว ๑ กิโลกรัม ทุก ๖-๘ ชั่วโมง เช่น เด็กที่มีน้ำหนักตัว ๑๒ กิโลกรัม จะใช้ยาขนาดประมาณ ๑๐๐ มิลลิกรัม หรือ จำนวน ๑ ช้อนชา แต่ถ้าเด็กที่มีน้ำหนักตัว ๒๔ กิโลกรัม จะใช้ยาขนาดประมาณ ๒๐๐ มิลลิกรัม หรือจำนวน ๒ ช้อนชา เป็นต้น โดยให้ยานี้ ทุก ๖-๘ ชั่วโมง เวลาที่เด็กตัวร้อนและเป็นไข้

ยาทั้ง ๓ ชนิดนี้ ถือว่าเป็นยาที่ปลอดภัยเมื่อใช้ในเด็ก ในจำนวน ๓ ชนิดนี้ แนะนำให้ใช้ยาพาราเซตามอลเป็นตัวยาแรกในการเลือกใช้ เนื่องจากเป็นยาที่ประวัติการใช้มายาวนานว่าปลอดภัย แต่ก็ควรระวังในการใช้ยานี้เกินขนาด ซึ่งในขนาดที่เกินขนาดนี้มีขนาดสูงเป็น๑๐-๒๐ เท่าของขนาดปกติ ซึ่งจะทำให้เกิดพิษได้ดังได้กล่าวไปแล้ว ส่วนยาไอบูโพรเฟนนั้น แนะนำให้เป็นตัวเลือกที่ ๒ ในกรณีที่ผู้ป่วยใช้ยาพาราเซตามอลไม่ได้ หรือ ต้องการระยะเวลาการออกฤทธิ์นาน ๖-๘ ชั่วโมง แต่ก็ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกินกว่า ๑ สัปดาห์ เพราะไม่มีข้อมูลยืนยันความปลอดภัยในกรณีที่ต้องใช้ยานี้นานกว่า ๑ สัปดาห์ ส่วนยาแอสไพริน ควรเป็นตัวเลือกที่ ๓ เมื่อไม่สามารถใช้ยาทั้ง ๒ ชนิดแรกได้แล้ว เพราะเกิดผลข้างเคียงที่พบบ่อย และสูงกว่า ๒ ชนิดแรก

นอกจากการใช้ยาเพื่อช่วยลดไข้ แก้ตัวร้อนให้แก่เด็กแล้ว ขอแนะนำเพิ่มเติมในการดูแลเด็ก ควรให้เด็กได้พักผ่อนมากๆ ดื่มน้ำบ่อยๆ และมากๆ และกินอาหารที่มีประโยชน์ และในกรณีที่มีไข้สูง (มากกว่า ๓๙ องศาเซลเซียส) ควรเช็ดตัวให้เด็กอย่างสม่ำเสมอ ในกรณีที่เด็กเคยมีประวัติของโรคลมชักเมื่อไข้สูง ควรได้รับยากันชักตลอดเวลาที่เด็กมีไข้ และในกรณีที่เด็กเคยมีประวัติของโรคหืด เมื่อเป็นไข้ โดยเฉพาะไข้หวัด อาจชักนำให้เด็กมีอาการจับหอบได้ จึงควรระวังในสองกรณีดังกล่าวนี้ด้วย ถ้าเด็กเป็นไข้ติดต่อกันเกินมา ๓-๕ วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรแนะนำให้พาเด็กไปพบแพทย์ หรือเภสัชกรชุมชน 

ข้อมูลสื่อ

295-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 295
พฤศจิกายน 2547
ภก.พุทธิพันธ์ รอดสุวรรณ