• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

จมน้ำ...สาเหตุการตายอันดับหนึ่งของเด็กไทย

จมน้ำ...สาเหตุการตายอันดับหนึ่งของเด็กไทย


จมน้ำเป็นสาเหตุนำการตายในเด็กไทย จากการวิจัยในปี พ.ศ.๒๕๔๒ มีเด็กอายุ ๑-๑๔ ปี เสียชีวิตจากการจมน้ำ ๑,๓๘๗ คน คิดเป็นอัตราการตาย ๑๐.๙ ต่อเด็ก ๑๐๐,๐๐๐ คน และคิดเป็นร้อยละ ๔๖.๘ ของการตายจากอุบัติเหตุทั้งหมด คิดเป็นอันดับหนึ่งของการตายทั้งหมด ไม่มีดรคใดทำให้เด็กไทยตามมากเท่ากับการจมน้ำ ตัวเลขนี้คล้านกับที่พบในประเทศรอบบ้านเรา เช่น เวียดนาม จีน เป็นต้น

สำหรับเด็กในกรุงเทพมหานคร แม้ว่าจะเสี่ยงน้อยกว่า แต่การจมน้ำก็ยังคงคร่าชีวิตเด็กในกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเด็กที่อยู่เขตชานเมือง เช่น หนองจอก ลาดกระบัง อัตราการตายของเด็กจมน้ำในกรุงเทพฯ คิดเป็น ๖.๖ ต่อเด็ก ๑๐๐,๐๐๐ คนหรือร้อยละ ๔๒.๔ ของการตายจากอุบัติเหตุทั้งหมด

เด็กเล็ก เด็กวัยเรียน มีความเสี่ยงสูงต่อการจมน้ำ!
เด็กจมน้ำส่วนใหญ่อายุ ๑-๔ ขวบ และ ๕- ๙ ขวบ ในปี ๒๕๔๒ พบว่า เด็กอายุ ๑-๔ ขวบ เสียชีวิตจากการจมน้ำ ๕๔๘ คน (อัตราการตาย ๑๕ ต่อ ๑๐๐,๐๐๐ คน) คิดเป็นร้อยละ ๑๔ ของการตายทั้งหมด และคิดเป็นร้อยละ ๕๖ ของการตายจากอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ เด็กอายุ ๕- ๙ ขวบ เสียชีวิตจากการจมน้ำ ๖๐๒ คน (อัตราการตาย ๒๑ ต่อ ๑๐๐,๐๐๐ คน) คิดเป็นร้อยละ ๒๑ ของการตายทั้งหมด และคิดเป็นร้อยละ ๕๗ ของการตายจากอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ

สาเหตุของการจมน้ำ
การจมน้ำเป็นปรากฏการณ์ที่มีเหตุปัจจัยนำ หากเราวิเคราะห์กันแล้วจะพบว่า สามารถป้องกันได้เช่นเดียวกับอุบัติเหตุอื่นๆ เด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำในต่างประเทศลดลงอย่างรวดเร็ว เช่น ในประเทศอังกฤษ สวีเดน สหรัฐอเมริกา อุบัติการณ์การจมน้ำเสียชีวิตในปัจจุบันต่ำกว่าเมื่อ ๔๐ ปีที่แล้วเกือบ ๒๐ เท่า ทั้งๆที่วิธีการรักษาพยาบาลเด็กที่จมน้ำไม่ได้มีการพัฒนากันมากนัก ผลที่ลดลงนี้เกิดจากการป้องกันเบื้องต้นเป็นสำคัญ

การวิเคราะห์สาเหตุต้องคำนึงถึงปัจจัยทั้งด้านบุคคลและสิ่งแวดล้อม
ปัจจัยด้านบุคคล คือ ตัวเด็กเอง มีความเสี่ยงตามสภาพร่างกาย พัฒนาการ พฤติกรรม และโรคประจำตัว เช่น เด็กอายุ ๙ เดือนขึ้นไปที่เริ่มคืบคลานได้เร็วจะเริ่มมีความเสี่ยงต่อการจมน้ำจากแหล่งน้ำในบ้าน หรือรอบๆบ้าน เด็กอายุ ๑ ขวบจะเริ่มเดินได้ แต่การทรงตัวมักไม่ดี เนื่องจากมวลสารของศีรษะยังมีสัดส่วนสูง จุดศูนย์ถ่วงอยู่สูง จึงทำให้ล้มง่ายในท่าที่ศีรษะทิ่มลงและไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ดังนั้นจึงสามารถจมน้ำในถังน้ำ อ่างน้ำ สระว่ายน้ำตื้นๆได้

ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม แบ่งออกเป็น สิ่งแวดล้อมด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อมทางสังคม

- สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ การมีแหล่งน้ำใกล้ตัวเด็ก เด็กสามารถเข้าถึงได้ง่าย (มีถังน้ำ สระว่ายน้ำ หนอง คลอง บึงใกล้บ้าน) ไม่ได้มีรั้วรอบขอบชิดแบ่งแยกเด็กออกจากแหล่งน้ำนั้นอย่างชัดเจน

- สิ่งแวดล้อมทางสังคม คือ การดูแลเด็ก เช่น ผู้ดูแลที่ไม่ใช่ผู้ดูแลหลัก (ฝากผู้อื่นช่วยดูแลในเวลากลางวัน ผู้สูงอายุ เช่น ปู่ย่าตายาย หรืออายุน้อยกว่า ๒๐ ปี ผู้ดูแลขาดการรับรู้เรื่องความเสี่ยง ผู้ดูแลต้องดูแลเด็กหลายคนในเวลาเดียวกัน เป็นต้น

การศึกษาวิจัยการจมน้ำในเด็กกรุงเทพฯ
การศึกษาเด็กจมน้ำในแต่ละที่จะพบปัจจัยที่แตกต่างกันขึ้นกับโครงสร้างสิ่งแวดล้อม การดูแลวัฒนธรรมของแต่ละท้องที่ ความแตกต่างนี้อาจทำให้การป้องกันที่เหมาะสมมีความแตกต่างกันไปด้วย ในบทความนี้จะนำเสนอผลการศึกษาในเด็กกรุงเทพฯ ซึ่งผู้อ่านที่อยู่จังหวัดอื่นต้องประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสม

เกือบทั้งหมดจมน้ำ...ใกล้บ้าน
ร้อยละ ๙๔ ของการจมน้ำตายในเด็กอายุน้อยกว่า ๑๕ ปี เกิดขึ้นในบ้าน รอบบ้าน และละแวกบ้าน ร้อยละ ๔๗ เป็นการจมน้ำในแหล่งน้ำนิ่ง (ร่องน้ำ คูน้ำ บ่อน้ำ) ร้อยละ ๔๔ เป็นแหล่งน้ำไหล (การจมน้ำในคลอง แม่น้ำ) ร้อยละ ๘ เป็นการจมน้ำในแหล่งน้ำในบ้าน (ถังน้ำ อ่างอาบน้ำ กะละมัง และสระว่ายน้ำ)

รูปแบบของเหตุการณ์การตายจากการจมน้ำ
เหตุการณ์จมน้ำตายในเด็ก สามารถจัดกลุ่มได้เป็น ๓ ชนิด คือ

ชนิดที่ ๑ “เผลอเรอชั่วขณะ”
พบเหตุการณ์จมน้ำชนิดนี้ ร้อยละ ๓๘ อายุเฉลี่ยของเด็ก ร้อยละ ๓๘ อายุเฉลี่ยของเด็กที่เสียชีวิต ๑.๔ ขวบ (อยู่ระหว่าง ๖ เดือน – ๓ ขวบ) ผู้ตายเป็นเด็กเล็ก มีผู้ดูแลใกล้ชิด ผู้ดูแลทำกิจกรรมบางอย่างเพียงระยะเวลาสั้นๆ ก่อนเกิดเหตุการณ์จมน้ำ ตัวอย่างเหตุการณ์

- เด็ก ๒ ขวบ ๑ เดือน นั่งเล่นอยู่กับแม่หน้าบ้าน แม่เดินเข้าไปเก็บผ้าในบ้าน ออกมาพบว่าเด็กหายไป ตามหาพบว่า จมน้ำในคูข้างบ้าน

- เด็ก ๒ ขวบ ๑ เดือน นั่งกินข้าวอยู่หน้าบ้านกับแม่ สักครู่แม่เข้าไปดูโทรทัศน์ มองหาอีกทีไม่พบลูก ยายซึ่งนอนตื่นขึ้นมาชะโงกออกมาทางหน้าต่างเห็นหลานจมน้ำคว่ำหน้าตัวติดกับกะละมังล้างจาน

- เด็ก ๑ ขวบ ๑๐ เดือน ยายจะเดินไปตลาดจึงเอาผ้าขาวม้าผูกขาเด็กไว้กับเสาบ้าน ซึ่งขณะนั้นเด็กนอนหลับอยู่ที่พื้นบ้าน แล้วฝากน้า (นักเรียน ม.๓) ไว้ น้าทำการบ้านสักพักเดินมาดูไม่เห็นหลาน เดินตามหาพบว่า ลอยอยู่ในบ่อน้ำ (เป็นบ่อขุดขึ้นเอง สำหรับรองน้ำไว้ใช้ เพราะน้ำประปายังมาไม่ถึง บ่อไม่มีฝาปิด ปากบ่อเสมอพื้นดิน มีไม้พาดปากบ่อกว้างประมาณ ๑ เมตร เอาไว้ยืนตักน้ำ)

- เด็ก ๑ ขวบ ๕ เดือน น้าเดินเข้าไปรับโทรศัพท์ในบ้าน โดยปล่อยให้หลานเล่นอยู่ที่หน้าบ้าน เมื่อออกมาไม่พบหลายจึงเดินหา พบหลานลอยอยู่ในบ่อน้ำท่าคว่ำ (เป็นบ่อขุดสำหรับเลี้ยงปลาซึ่งบริเวณรอบๆ มีพงหญ้ารกมาก)

- เด็ก ๓ ขวบ ๑ เดือน มารดานั่งเล่นกับลูก สักพักเดินเข้าห้องน้ำ เมื่อกลับออกมาไม่พบเด็กแล้ว แต่เห็นสบู่ ยาสระผม ลอยอยู่ในบ่อน้ำหน้าบ้าน จึงงม พบเด็กในน้ำ

- เด็กอายุ ๖ เดือน แม่เด็กเปิดประตูหลังบ้านไว้ แล้วนอนอยู่กับลูก (หลังบ้านเป็นคลอง บ้านชั้นเดียว) ตื่นขึ้นมาไม่เห็นลูกจึงวิ่งตามหา พอเปิดประตูหน้าบ้านเห็นลูกนอนคว่ำหน้าลอยอยู่ในน้ำ

- เด็ก ๑ ขวบ ๑ เดือน น้าและเด็กนอนกลางวัน เมื่อตื่นขึ้นมาไม่พบเด็กนอนอยู่ จึงเดินไปหา พบหลานอยู่ในห้องน้ำศีรษะทิ่มลงกับถังน้ำ ขาทั้ง ๒ ข้างชี้ขึ้นเพดาน

- เด็ก ๒ ขวบ ๒ เดือน หลังแม่ป้อนข้าวแล้ว เอาจานเข้าไปล้าง เมื่อออกมาไม่พบเด็ก เห็นประตูหลังบ้านเปิดจึงชะโงกดู เห็นพายน้ำขึ้น เป็นวงที่ผิวน้ำจึงร้องขอความช่วยเหลือ คนในบ้านลงงมและคว้าเด็กขึ้นมาทันที

ชนิดที่ ๒ “ไม่คิดว่าละแวกบ้านจะอันตรายสำหรับเด็ก”
พบเหตุการณ์จมน้ำชนิดนี้ ร้อยละ ๔๗ อายุเฉลี่ยของเด็กที่เสียชีวิต ๕.๕ ขวบ อยู่ระหว่าง ๒-๑๐ ขวบ มีผู้ดูแลแต่ไม่ตลอดเวลา ผู้ดูแลเด็กไม่คิดว่าสิ่งแวดล้อมในบ้าน รอบบ้าน หรือละแวกบ้านนั้นจะเป็นอันตราย จึงอนุญาตให้เด็กเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ ตัวอย่างเหตุการณ์

- เด็ก ๔ ขวบ ๑๑ เดือน จะออกไปหาแม่ที่ขายของอยู่ ป้าจึงให้เด็กเดินออกไปก่อน บนทางเดินยาวเลียบริมแม่น้ำ สักพักป้าเดินตามหลังมาไม่เห็นเด็ก พอมาถึงที่เกิดเหตุเห็นรองเท้าของหลานตกอยู่ที่สะพานซึ่งมีตะไคร่น้ำเกาะอยู่ ต่อมาพบศพเด็กห่างจากจุดที่ตกไกลมาก

- เด็ก ๔ ขวบ ออกไปวิ่งเล่น พอกลับมาบ้านไม่ได้ใส่รองเท้ากลับมา คนเลี้ยงจึงให้เด็กกลับไปเอารองเท้ามา เด็กหายไปนาน คนเลี้ยงจึงออกไปหา และพบว่าเด็กจมน้ำในบ่อปลา

- เด็ก ๓ ขวบ ๑๐ เดือน ออกไปวิ่งเล่นที่สวนในบ้านโดยผู้ปกครองอยู่ในบ้าน หลังจากนั้นไม่กลับมา จึงตามพบเด็กตกลงไปในบ่อน้ำในสวน

- เด็ก ๔ ขวบ ๑๐ เดือน เด็กขอแม่ลงไปเล่นข้างล่าง แล้วเดินไปที่คลองกับพี่ๆ (หลาน) สักพักหลานวิ่งมาบอกว่าเด็กหายไป จึงแจ้งมูลนิธิช่วยงมหาเด็ก

- เด็ก ๑๐ ขวบ ๖ เดือน เด็กเดินตามปู่ไป แต่ปู่ไม่ได้ยิน เพราะหูตึง ไม่ทราบว่าเด็กตกน้ำได้อย่างไร ย่าเดินออกมาเห็นรองเท้าฟองน้ำซึ่งจำได้ว่าเป็นของเด็ก เนื่องจากเด็กจะเขียนวันเดือนปีที่ซื้อไว้ที่รองเท้าเสมอ จึงไปตามปู่มางม พบเด็ก

- เด็ก ๔ ขวบ ๖ เดือน เดินตามป้าไปที่บ้านเพื่อนของป้า ซึ่งห่างจากบ้านประมาณ ๑๐ เมตร ประมาณ ๔ โมงเย็นป้าให้เด็กเดินกลับบ้านไปก่อน จนเวลา ๖ โมงเย็ย ป้ากลับเข้าบ้าน ไม่พบเด็ก สงสัยเด็กจมน้ำ แจ้งตำรวจ และนักประดาน้ำงมเด็กขึ้นมาได้

ชนิดที่ ๓ “สาเหตุจากการเล่นในน้ำหรือว่ายน้ำ”
พบเหตุการณ์จมน้ำชนิดนี้ร้อยละ ๑๕ อายุเฉลี่ยของเด็กที่เสียชีวิต ๙.๔ ขวบ อยู่ระหว่าง ๕-๑๔ ปี ตัวอย่างเหตุการณ์

- เด็ก ๑๔ ปี ไปว่ายน้ำกับเพื่อนแล้วแกล้งทำเป็นจมน้ำให้เพื่อนช่วย เพื่อนรู้ว่าแกล้งจึงไม่เข้าไปช่วย จนในที่สุดก็เห็นศีรษะของเด็กลอยนิ่งๆ จึงเข้าไปช่วย

- เด็ก ๗ ขวบ ว่ายน้ำไม่เป็น หลังเลิกเรียนไปเล่นน้ำกับเพื่อนในคลอง โดยเอามือจับสะพานไว้แล้วว่ายน้ำเล่น แต่น้ำแรงซัดเด็กมือหลุดจากสะพาน เพื่อนจึงวิ่งไปบอกครู

- เด็ก ๙ ขวบ หนีแม่ไปเล่นน้ำกับเพื่อน โดยเกาะเชือกที่ผูกติดระหว่างเรือกับตลิ่ง พอน้ำขึ้น เชือกหย่อน ทำให้เด็กจมลงไปในน้ำ (ว่ายน้ำเป็นแต่ไม่แข็ง)

การป้องกันการจมน้ำ
จากความเข้าใจในความเสี่ยงนี้นำไปสู่การป้องกันตามวัยได้ ดังนี้

๑. การป้องกันในเด็กเล็ก : เข้าใจพัฒนาการเด็ก...เฝ้าดูใกล้ชิด...จัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัย

การจมน้ำมีความสัมพันธ์กับพัฒนาการของเด็กในระดับต่างๆ การจมน้ำในเด็กเล็กมักเกิดจากความเผลอเรอของผู้ดูแลเพียงชั่วขณะ เช่น งีบหลับ ไปเข้าห้องน้ำ ไปเก็บจานหรือล้างชามหลังป้อนข้าวแล้ว ไปตากผ้า ไปรับโทรศัพท์ เป็นต้น เด็กอายุน้อยกว่า ๕ ขวบทุกรายจึงควรอยู่ภายใต้สายตาของผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ควรไว้วางใจเด็กว่าจะสามารถหลีกเลี่ยงอันตรายที่อยู่รอบตัวได้ เด็กที่ว่ายน้ำได้ก่อนอายุ ๕ ขวบทุกรายให้ถือว่าเด็กนั้นยังว่ายน้ำไม่เป็น ยังต้องดูแลใกล้ชิดเหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม ผู้ดูแลไม่สามารถเฝ้าดูเด็กได้ตลอดเวลา ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการป้องกันการจมน้ำในเด็กวัยนี้ คือ การจัดสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กไม่ให้มีแหล่งน้ำที่เด็กสามารถเข้าถึงได้

- ไม่ปล่อยให้เด็กเล่นน้ำในอ่างอาบน้ำ กะละมังโดยลำพัง

- เทน้ำในถังทิ้ง หรือปิดฝาถังน้ำ ตุ่มน้ำตลอดเวลา

- สร้างรั้วกั้นให้เด็กมีพื้นที่เล่นอย่างปลอดภัย ไม่สามารถคลานหรือเดินเข้าไปใกล้แหล่งน้ำได้ เป็นต้น

๒. เด็กวัยเรียน : สอนว่ายน้ำ...สอนให้หลีกเลี่ยงความเสี่ยงและจัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัย
ผู้ดูแลเด็กที่อายุมากกว่า ๕ ขวบ มักคิดว่าเด็กจะสามารถต่อสู้กับสิ่งแวดล้อมรอบด้านได้ ผู้ดูแลเด็กมักไม่ได้เฝ้าดูเด็กตลอดเวลา เด็กได้รับอนุญาตให้เดินหรือเล่นในบ้าน-ละแวกบ้านได้ ผู้ดูแลเด็กไม่คิดว่าแหล่งน้ำในบ้านจะเป็นอันตราย ดังนั้นการเดินสำรวจแหล่งน้ำในบ้าน ละแวกบ้านเป็นระยะๆ และดัดแปลงไม่ให้เด็กที่ว่ายน้ำไม่เข้าใกล้แหล่งน้ำตามลำพัง

ในความจริงแล้วเด็กอายุ ๕-๙ ขวบ เป็นเด็กที่เริ่มฝึกการดูแลตนเองได้ ฝึกระเบียบวินัยได้ ออกกฎข้อห้ามต่างๆให้แก่เด็กได้ ดังนั้นการชี้จุดอันตราย ยกตัวอย่างเหตุการณ์อันตราย เพื่อห้ามปรามเด็กในการเล่นน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ หรือเล่นปีนป่าย การฝึกการใช้ชูชีพในการเล่นน้ำจะป้องกันอันตรายจากการจมน้ำในเด็กวัยนี้ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามการจัดโครงสร้างทางกายภาพของสิ่งแวดล้อมให้แยกเด็กออกจากแหล่งน้ำ ยังคงมีความจำเป็นโดยเฉพาะเด็กที่ว่ายน้ำไม่ได้

๓. วัยรุ่น : ไม่เมาแล้วว่าย...เดินทางปลอดภัย
สำหรับเด็กโต ๑๐-๑๔ ปี มักเกิดการจมน้ำขณะเล่นน้ำ เดินทางท่องเที่ยวทางน้ำ ดังนั้นการสอนให้เด็กว่ายน้ำเป็น เล่นน้ำโดยมีชูชีพในกรณีว่ายน้ำไม่เป็นหรือเล่นน้ำในแหล่งน้ำที่อาจมีอันตราย เช่น ทะเล แม่น้ำ หรือ แหล่งน้ำที่ไม่เคยชิน เด็กวัยรุ่นอาจเมามายกับเพื่อนขณะไปท่องเที่ยวทัศนาจรหรือเล่นโลดโผนจนเกินขอบเขต ดังนั้นผู้ดูแลเด็กต้องสอนให้เด็กรับรู้ความเสี่ยง ต้องไม่ดื่มสุรา ขณะเล่นน้ำ ไม่กระโดดน้ำถ้าไม่แน่ใจในความลึกของน้ำ ไม่สูดลมหายใจเข้าออกถี่ๆ และตามด้วยการดำน้ำกลั้นหายใจนานๆตาม หลังเพราะอาจจะทำให้หมดสติในน้ำได้ง่าย สอนให้เลิกเล่นน้ำ หากมีอาการตะคริวเกิดขึ้น เป็นต้น เด็กหญิง ๑๐-๑๔ ปี มีความสามารถว่ายน้ำน้อยกว่าเด็กชาย ผู้ดูแลจึงควรให้ความสนใจในพัฒนาการความสามารถในการว่ายน้ำของเด็กหญิงด้วย

การช่วยเหลือและรักษาพยาบาลฉุกเฉินหลังเหตุการณ์
ร้อยละ ๒๙ ของเด็กที่ตายจากการจมน้ำ จะตายในที่เกิดเหตุ ร้อยละ ๗๑ จะถูกช่วยเหลือ และนำส่งโรงพยาบาล ในจำนวนนี้พบว่า ร้อยละ ๙๗ ได้รับการช่วยเหลือที่ผิดวิธี กล่าวคือ เป็นการจับอุ้มพาดบ่ากระโดด วิ่งรอบสนาม หรือวางบนกระทะแล้วรีดน้ำออก หากผู้พบเห็นเหตุการณ์สามารถช่วยเหลือเด็กได้อย่างถูกวิธี จะสามารถลดการตายจากการจมน้ำได้  การช่วยเหลือเด็กจมน้ำที่ไม่หายใจ ต้องทำทันที หากสมองขาดออกซิเจนเพียง ๔-๕ นาที จะสูญเสียสภาพอย่างมาก ดังนั้นการฝึกการช่วยเหลือกู้ชีพเด็กจมน้ำ จึงเป็นทักษะที่ประชาชนทุกคนต้องทำได้ทันที ไม่สามารถรอพึ่งพิงหน่อยกู้ชีพได้

ขั้นตอนการปฐมพยาบาลเด็กจมน้ำ
เด็กจมน้ำ จะทำให้ขาดอากาศหายใจและหมดสติ น้ำที่สำลักจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่วินาที ควรพยายามที่จะเอาน้ำออก เช่น การอุ้มพาดบ่าเพื่อกระทุ้งเอาน้ำออก หรือวางบนกระทะคว่ำแล้วรีดน้ำออก ไม่มีความจำเป็น และอาจก่อให้เกิดผลเสียได้ น้ำที่เห็นไหลออกมาเป็นน้ำจากระเพาะอาหาร ไม่ใช่น้ำจากปอด

การปฐมพยาบาลหากเด็กหายใจได้เอง เพียงเปลี่ยนเสื้อผ้าแห้งให้แก่เด็ก เช็ดตัว และนำส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจสอบอาการ แต่หากไม่หายใจและหัวใจไม่เต้นหรือไม่รู้สึกตัว ให้ดำเนินการ ดังนี้ 


 

ข้อมูลสื่อ

294-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 294
ตุลาคม 2547
ผศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์