• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เรียนรู้เรื่องเพศ...ไปทำไม

เรียนรู้เรื่องเพศ...ไปทำไม


สุขอนามัยทางเพศ หรือ sexual health นั้นนับเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสุขภาพ ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ตั้งความหวังไว้ว่าในปี ค.ศ. ๒๐๐๐ นั้นจะพยายามให้ทุกคนที่อยู่ในโลกใบนี้มีสุขภาพดีโดยถ้วนหน้า

เวลาที่พูดถึงเรื่องเพศนั้น ผู้ที่ฟังส่วนใหญ่มักจะนึกถึงไปในทางการมีเพศสัมพันธ์ ทั้งที่การมีเพศสัมพันธ์นั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องเพศเท่านั้น การเรียนรู้เรื่องเพศอย่างถูกต้องจะทำให้เราเข้าใจว่า

  • เรื่องเพศเป็นเรื่องของธรรมชาติ...การเปลี่ยนแปลงของร่างกายในวัยต่างๆ ตั้งแต่วัยเด็ก วัยเจริญพันธุ์ วัยสูงอายุ ฯลฯ
     
  • กามารมณ์เป็นความต้องการพื้นฐานที่สามารถจะควบคุมให้มีการเสนอและสนองที่ถูกต้องตามครรลอง ประเพณี และวัฒนธรรมที่เหมาะสม ในการแสดงออกของพฤติกรรมทางเพศได้
     
  • เพศศึกษานั้นเป็นความรู้ที่ครอบคลุมถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆของร่างกาย ระบบการเจริญพันธุ์ ระดับของฮอร์โมนเพศ อารมณ์เพศ ความรัก กามารมณ์ การครองชีวิตคู่ การวางแผนครอบครัว การคุมกำเนิด การตั้งครรภ์และมีบุตร การดูแลสุขอนามัยของอวัยวะเพศและส่วนที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมกับวัย
     
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์นั้นเป็นโรคที่ควบคุมได้ ถ้ามีความเข้าใจการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย
     
  • เมื่อเกิดความต้องการทางเพศแล้ว การตอบสนองต่ออารมณ์และสื่อเร้าทางเพศนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องมีเพศสัมพันธ์เสมอไป การหาทางเบี่ยงเบนไปสนใจเรื่องอื่นเมื่อยังไม่สมควรจะมีเพศสัมพันธ์เป็นทางออกที่บุคคลผู้มีการศึกษาสมควรกระทำ
     
  • ทั้งชายและหญิงมีสิทธิทางเพศเสมอภาคกัน ซึ่งมีสิทธิในการดูแลตนเอง รวมทั้งตอบสนองต่อความต้องการทางเพศไปในทางที่ถูกที่ควร
     
  • ความเข้าใจและความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับเรื่องเพศนั้นเกิดเพราะเรามองว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องน่าอาย ต้องปกปิด การได้ความรู้เรื่องเพศที่ถูกต้องจะแก้ไขความกังวลใจเกี่ยวกับเรื่องเพศไปได้

ดังนั้นการให้ความรู้ทางเพศศึกษาที่ถูกต้อง จะเป็นการปิดกั้นโอกาสในการเบี่ยงเบนทางเพศ และพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งป้องกันปัญหาที่จะเกิดจากความไม่สมดุลของความต้องการทางเพศในชีวิตคู่อีกด้วย ซึ่งจะทำให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข และเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน

ข้อมูลสื่อ

241-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 241
พฤษภาคม 2542
นพ.พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์