• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สิทธิทางเพศ

สิทธิทางเพศ


การเรียนรู้เรื่องเพศที่ถูกต้อง ก่อนอื่นจะต้องทราบถึงสิทธิทางเพศก่อน

สิทธิทางเพศเป็นสิทธิมูลฐานและเป็นรากฐานของสิทธิมนุษยชน ซึ่งสมาคมเพศศาสตร์ศึกษานานาชาติได้แถลง ณ การประชุมครั้งที่ ๑๓ ที่กรุงวาเลนเซีย ประเทศสเปน ว่า เพศเป็นมิติหนึ่งของมนุษย์ที่มีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพศเกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างภายในของสังคมเอง และของแต่ละบุคคลในเวลาเดียวกัน โดยปรากฏให้เห็นทางวงจรชีวิตของบุคคลที่ประสานความเป็นตัวของตัวเอง และสร้างเสริมความผูกพันซึ่งกันและกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

สิทธิทางเพศได้แก่สิทธิดังต่อไปนี้

  • สิทธิที่จะมีเสรีภาพทางเพศ ต้องขจัดการบังคับข่มขู่ทางเพศ การแสวงหาผลประโยชน์ และการล่วงเกินทางเพศทุกรูปแบบ
     
  • สิทธิที่จะมีความเป็นอิสระ ความเป็นตัวของตัวเอง และความปลอดภัยในร่างกาย รวมถึงการควบคุมและการหาความสุขจากร่างกายของตนเอง โดยปราศจากการทารุณกรรมและความรุนแรงในทุกรูปแบบ
     
  • สิทธิเท่าเทียมกันทางเพศ รวมทั้งความเคารพในความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง และไม่ว่าจะมีอายุ เชื้อชาติ ศาสนา ชนชั้น หรือมีรสนิยมทางเพศแบบใด
     
  • สิทธิที่จะมีสุขอนามัยทางเพศที่ดี รวมทั้งได้รับการรักษาพยาบาล โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างถูกต้องและเหมาะสม
     
  • สิทธิที่จะได้รับความรู้เรื่องเพศที่กว้างขวางและเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่เบี่ยงเบน ซึ่งครอบคลุมความรู้ด้านเพศศึกษาตั้งแต่เกิดจนตลอดชีวิต
     
  • สิทธิที่จะดำเนินชีวิตร่วมอย่างอิสระ จะแต่งงานหรือไม่ก็ได้ รวมทั้งสิทธิในการใช้ชีวิตร่วมทางเพศแบบอื่นๆ ที่ตนประสงค์
     
  • สิทธิที่จะตัดสินใจโดยเสรีและรับผิดชอบในการเจริญพันธุ์ สามารถเลือกการวางแผนครอบครัวที่เหมาะสม
     
  • สิทธิในความเป็นส่วนตัว สามารถตัดสินใจในการดำเนินชีวิตทางเพศโดยอิสระ ภายใต้จริยธรรมทางสังคมและบุคคล
     

สุขภาพทางเพศเป็นสิทธิมูลฐานและรากฐานของสิทธิมนุษยชน เรื่องเพศเป็นตันกำเนิดความผูกพันที่ลึกซึ้งที่สุดของมนุษย์ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความสุขในชีวิตของบุคคล คู่สมรส ครอบครัว และสังคม ดังนั้นการเคารพในสิทธิทางเพศจึงเป็นสิ่งที่ควรสนับสนุนในทุกวิถีทาง

ข้อมูลสื่อ

242-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 242
มิถุนายน 2542
นพ.พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์