• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กปัสสาวะรดที่นอน

เด็กปัสสาวะรดที่นอน


คุณแม่พาลูกชายวัย ๑๐ ขวบมาพบแพทย์
คุณแม่ : "คุณหมอคะ ดิฉันมีปัญหาอยากจะปรึกษาค่ะ คือ ลูกชายดิฉัน อายุ ๑๐ ขวบแล้ว ยังปัสสาวะรดที่นอนทุกคืน ไม่รู้จะทำอย่างไรดี"
คุณหมอ : "ปัสสาวะรดที่นอนคืนละกี่ครั้งครับ"
คุณแม่ : "ประมาณ ๑-๒ ครั้งค่ะ"
คุณหมอ : "เป็นมาตั้งแต่เมื่อไรแล้ว"
คุณแม่ : "เป็นมาตั้งแต่เล็กไม่เคยหยุด ตอนเด็กๆ ก็คิดว่ายังเล็กเป็นธรรมดา แต่ตอนนี้โตมากแล้วยังฉี่รดที่นอน เลยต้องมาปรึกษาหมอ"
คุณหมอ : "เคยตรวจรักษามาก่อนหรือเปล่า"
คุณแม่ : "เคยตรวจปัสสาวะ และเอกซเรย์มาแล้ว แพทย์บอกว่าไม่พบความผิดปกติอะไร"

เด็กปัสสาวะรดที่นอน ในแพทย์แผนปัจจุบันต้องทำการตรวจดูสาเหตุทางร่างกาย เช่น ตรวจปัสสาวะว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ มีความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะผิดรูปร่าง หรือความผิดปกติของกระดูกไขสันหลังหรือไม่ รวมทั้งเชื่อว่า มีสาเหตุสำคัญจากการทำงานของสมองขาดความสมดุล เนื่องจากภาวะความไวต่อการกระตุ้น, ตกใจง่าย, ภูมิแพ้หรือ การนอนหลับลึกเกินไป ในกรณีที่ตรวจพบสาเหตุผิดปกติก็ทำการรักษาตามสาเหตุไป

คราวนี้ลอง มาดูแพทย์แผนจีนตรวจวินิจฉัยคนไข้ดูบ้าง
หมอจีน : "หน้าของเด็กค่อนข้างซีดนะ"
คุณแม่ : "ใช่ค่ะ เลือดสักนิดก็ไม่มี"

หมอจีนเอามือ ๒ ข้าง ไปสัมผัสกับฝ่ามือของเด็ก
หมอจีน : "มือของหนูเย็นอย่างนี้ตลอดเลยหรือ"
คุณแม่ : "ใช่ค่ะ มือของลูกดิฉันเย็นตลอด ไม่เว้นกระทั่งหน้าร้อน ที่ขาก็เย็นเหมือนที่มือค่ะ"
หมอจีน : "เธอกลัวหนาวไหม"
เด็กชาย : "ผมไม่ชอบอากาศเย็นครับ"
หมอจีน : "หนูเมื่อยเอวไหม"
เด็กชาย : "ครับ เมื่อยบ้างเล็กน้อย"
หมอจีน : "เธอเคยสังเกตสีปัสสาวะหรือเปล่า มีลักษณะอย่างไร"
เด็กชาย : "สีใสคล้ายกับน้ำธรรมดาๆ"
หมอจีน : "เธอถ่ายอุจจาระบ่อยไหม ถ่ายเหลวหรือแข็ง"
เด็กชาย : "ถ่ายบ่อยครับ ถ่ายเหลวครับ"
หมอจีน : "ลองแลบลิ้นให้หมอดูหน่อยซิ ลิ้นเธอค่อนข้างซีด, มีฝ้าขาวด้วย"

หลังจากตรวจโรคด้วยการดู(สีหน้า), ดูลิ้น การซักประวัติ การสัมผัสแล้ว หมอจีนก็จับชีพจร (แมะ) ที่ข้อมือของผู้ป่วย ๒ ข้าง พบว่า ชีพจร คลำได้ลึก, เต้นช้า, และอ่อน แล้วสรุปให้คุณแม่ฟังว่า ปัญหาของเด็กคนนี้มาจากไตหยางพร่อง ทำให้ปัสสาวะรดที่นอน การปัสสาวะรดที่นอน มีความหมายถึง ภาวะที่เด็กอายุมากกว่า ๓ ขวบ (โดยเฉพาะอายุ ๕ ขวบขึ้นไป) ไม่สามารถควบคุมการถ่ายปัสสาวะได้ด้วยตัวเอง ทำให้ขณะหลับสนิทจะมีการปัสสาวะออกมาอย่างไม่ตั้งใจ ในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า ๓ ขวบ การควบคุมการถ่ายปัสสาวะยังไม่ดี เนื่องจากการพัฒนาการของสมองยังไม่เต็มที่ อุปนิสัยการปัสสาวะยังขึ้นอยู่กับการฝึกฝน เด็กในวัยนี้มักจะซนและเพลิดเพลิน ทำให้เหนื่อยมาก อ่อนเพลีย หลับสนิท ก่อนนอนบางครั้งยังต้องดูดนมบ่อยๆ ทำให้ปัสสาวะรดที่นอนได้ง่าย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่ภาวะของการเป็นโรค ภาวะปัสสาวะรดที่นอนในเด็กโต เป็นภาวะที่ต้องแก้ไขและรักษา เพราะถ้าปล่อยไว้นานจะมีผลกระทบต่อภาวะจิตใจและอารมณ์ของผู้ป่วย จะต้องเข้าใจว่า อาการเช่นนี้เป็นโรคอย่างหนึ่งที่ต้องการการให้กำลังใจ, ความช่วยเหลือ การดุด่าและตำหนิเพียงอย่างเดียวจะไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น



การรักษา

แพทย์แผนจีน ใช้การรักษาโดยการฝังเข็มและใช้สมุนไพร ร่วมกับการปฏิบัติตัวเป็นหลัก แต่สามารถประยุกต์ด้วยการนวดได้

  • ถูนวดบริเวณจุดกวนหยวน ทุกวันตอนเย็นประ-มาณ ๒๐๐ ครั้ง (หรือใช้ฝ่ามือถูบริเวณท้องใต้สะดือ ประมาณ ๒๐ นาที)
  • ถูนวดบริเวณเอวระดับจุดเสิ่นซู ไปถึงบริเวณกระเบนเหน็บ ให้เกิดความรู้สึกร้อน
  • ใช้แท่งสมุนไพรโกฐจุฬาลัมพามารมให้เกิดความร้อนบริเวณจุดมิ่งเหมินประมาณวันละ ๑๐ นาที (หรือผ้าชุบน้ำอุ่นประคบ) ระวังอย่าให้เกิดรอยไหม้

ข้อแนะนำ

๑. ฝึกหัดอุปนิสัยการถ่ายปัสสาวะในวัยเด็ก โดยฝึกให้ปัสสาวะก่อนเข้านอน ปัสสาวะในห้องน้ำหรือกระโถน เมื่อรู้สึกปวดปัสสาวะให้รู้จักบอกและรับผิดชอบ (กรณีห้องน้ำอยู่ไกล หรือเด็กเล็ก)

๒. ระวังอย่าให้เด็กเล่นจนเหนื่อยเกินไป (จะหลับสนิทจนไม่ยอมลุกขึ้นปัสสาวะ) หรืออย่าให้เด็กถูกกระตุ้นโดยภาวะตกใจมากเกินไป (ตกใจกระทบไต, กระเพาะปัสสาวะ)

๓. ห้ามให้อาหารที่เป็นน้ำหรืองดการดื่มน้ำหลังอาหารเย็นหรือก่อนเข้านอนเป็นปริมาณมากๆ

๔. ไม่ควรตำหนิหรือดุด่าเด็ก ควรให้กำลังใจและช่วยเหลือเพราะว่าเป็นความผิดปกติของร่างกาย ไม่ใช่ความตั้งใจของเด็ก

ปัสสาวะรดที่นอนมีหลายสาเหตุ แต่ที่แนะนำมาเป็นเรื่องของพลังหยางพร่อง บางครั้งเมื่อนำมาปฏิบัติ แล้วยังไม่ได้ผล อาจต้องพิจารณาสาเหตุที่แท้จริง และให้การรักษาอย่างเต็มที่ ซึ่งในบางกรณีอาจต้องใช้ยาสมุนไพรและโภชนาบำบัด ประกอบกันจึงจะได้ผล ปัสสาวะรดที่นอนในความหมายแพทย์จีน เป็นเพียงอาการที่สะท้อนความเสียสมดุลของธาตุหรือระบบอวัยวะภายใน เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาองค์รวมของสุขภาพ การรักษาให้ระบบพลังของไตดี หรือการปรับระบบพลังของปอดและม้ามดี จะทำให้ร่างกายโดยรวมดีขึ้น และอาการปัสสาวะรดที่นอนก็จะดีขึ้นด้วย เป็นการตอกย้ำว่า แพทย์แผนจีนรักษาโรคโดยการแยกแยะกลุ่มอาการ แต่ไม่ได้เน้นไปที่ว่าเป็นโรคของอวัยวะใดๆ อวัยวะหนึ่ง

ข้อมูลสื่อ

245-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 245
กันยายน 2542
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล