• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

คุณรู้วิธีสร้างภูมิคุ้มกันให้กับครอบครัวหรือยัง ?

คุณรู้วิธีสร้างภูมิคุ้มกันให้กับครอบครัวหรือยัง ?


ข่าวคราวนักศึกษาขายตัว อาจทำให้พ่อแม่หลายคนที่มีลูกโตเป็นหนุ่มสาวหันกลับมาดูแลลูกตัวเองมากขึ้น หรืออาจมีพ่อแม่บางท่านรู้สึกว่า ลูกเราไม่เกี่ยว เพราะเรามีเงินมีทองให้ลูกมากพอที่จะ ไม่ไปทำอย่างนั้น แต่พอมีข่าวนักศึกษามั่วยา มั่วเซ็กส์ พ่อแม่ที่มีเงินทองก็คง เริ่มกังวลว่า ลูกเราจะไปทำอย่างนั้นบ้างหรือไม่ ปัจจุบัน ค่านิยมฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย บริโภคนิยมได้ระบาดไปทั่วโลก ทำให้คนส่วนหนึ่งขายตัว ส่วนหนึ่งขายวิญญาณให้แก่ความไม่ถูกต้อง ไม่ซื่อสัตย์ คอรัปชัน ทำร้ายผู้อื่นและทำลายสิ่งแวดล้อมเพียงเพื่อแสวงหาให้ได้มาซึ่งเงิน

ลูกหลานของเราและของทุกคนเป็นทรัพยากรที่มีค่า ไม่เพียงแต่ครอบครัวของเรา แต่ต่อสังคมด้วย พ่อแม่ทุกคนต้องตระหนักถึงภัยร้ายแรงที่เรามองไม่เห็น ที่กำลังคืบคลานเข้ามาทำร้ายลูกและเด็กของเรา การที่พ่อแม่มุ่งแต่ลงทุนหาเงิน โดยไม่คำนึงถึงภัยร้ายแรงที่กำลังคืบคลานเข้ามาทำร้ายลูกคุณนั้น คือ การไม่มีเวลาและขาดความสัมพันธ์ที่คุณควรมีให้แก่ลูก ถึงเวลาที่ทุกครอบครัวต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ครอบครัวตนเอง เพื่อไม่ให้ลูกหลานของเรากลายเป็นผู้ใหญ่ที่เติบโตไปในทางที่ผิดต่อไปในอนาคต หมอชาวบ้านเห็นความสำคัญของปัญหาเหล่านี้ จึงได้ขอคำแนะนำเกี่ยวกับการสร้างภูมิคุ้มกันในครอบครัว จาก พญ.วราภรณ์ ตั้งตรงไพโรจน์ เจ้าของพ็อกเก็ตบุ๊ก "คลินิกจิตแพทย์" หรือที่ชาวหมอชาวบ้านรู้จักกันในนามปากกาว่า "ป้าหมอ" หรือ "กานต์หทัย วงศ์อริยะ" แห่งสถาบันประสาทวิทยา พญาไท

พ่อแม่คือคนที่จะพิมพ์ทุกอย่าง ลงไปในชีวิตของลูก
เด็กทุกคนที่เกิดมาในโลกนั้นไม่แตกต่างกัน อยู่ที่ว่าพ่อแม่เลี้ยงให้เขาต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นลูกของคนจนหรือคนรวย เพราะฉะนั้นในสังคมจะเห็นได้ว่าคนดีมีมาจากทุกระดับฐานะ คนจนเป็นคนดีได้ คนรวยก็เป็นคนดีได้เช่นกัน พ่อแม่ถือว่าเป็นผู้ชายและผู้หญิงคนแรกของลูก คือ คนที่จะพิมพ์ทุกอย่างลงไปในชีวิตของลูก ถ้าพ่อเป็นคนที่ซื่อสัตย์ เป็นคนที่รับผิดชอบ เป็นคนที่มีอารมณ์ขัน เป็นคนที่มีเหตุผล เป็นคนที่รักลูก ให้ความอบอุ่น รับฟังลูก แล้วเห็นอกเห็นใจคนอื่น เด็กทั้งหญิงและชายจะเติบโตมาเป็นแบบนั้น   

ปัจจุบันนี้พ่อแม่กลัวลูก  เพราะพ่อแม่มีครอบครัวเร็ว ขาดประสบการณ์ ขาดคนช่วยแนะนำ แล้วไม่เชื่อคนที่แนะนำ บางทีหาว่าคนที่แนะนำเป็นไดโนเสาร์ เพราะฉะนั้นเวลาเลี้ยง เลี้ยงด้วยความหวาดกลัวเกินความจำเป็น กลัวลูกไม่รัก กลัวลูกไม่เก่ง กลัวลูกไม่สวย กลัวลูกไม่ดัง แต่ที่จริงไม่ต้องกลัว เราต้องสอนว่าอะไรผิดอะไรถูก เราต้องเป็นตัวอย่างของลูกทั้งต่อหน้าและลับหลังต้องเหมือนกัน เมื่อเราสอนอย่างนี้ได้แล้ว เด็กอยู่ที่ไหน เด็กจะสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง แล้วอีกอย่างเราให้ความรู้ในการเลี้ยงเด็กเยอะ แต่เราไม่ได้ให้ความรู้เรื่องการเป็นพ่อแม่ที่ดี เพราะฉะนั้นอีกหน่อยปัญหาที่จะเกิดขึ้น คือ เด็กพวกนี้จะเป็นเด็กหลงตัวเอง การเลี้ยงลูกเป็นของยาก  พ่อแม่จะต้องเข้าใจว่า เด็กนั้นแต่ละขั้นตอนของชีวิตเขาเป็นอย่างไร อันนี้เป็นเพียงการเข้าใจทางทฤษฎี ส่วนภาคปฏิบัตินั้น จะเห็นว่าต้องเพิ่มความอดทน ความยืดหยุ่นลงไปในชีวิตตลอดเวลา เด็กถึงจะเกิดมาอย่างมีคุณภาพ เพราะฉะนั้นที่เราเห็นในปัจจุบันนี้คือว่า มีเด็กที่เติบโตขึ้นมาอย่างไม่มีทิศทางเมื่อเป็นผู้ใหญ่ ก็เป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีทิศทางปัญหาประเทศของเราจึงมากมาย

ถ้ารักลูกอย่าช่วยลูกในทางที่ผิด 
สังคมของเด็กที่ออกมาจากครอบครัว คือ โรงเรียน โรงเรียนอนุบาลหลายแห่งจะมีการรับเด็กก่อนอนุบาล คือ ยังไม่เข้าอนุบาลแต่เป็นเตรียมเข้าอนุบาล คือ เขาเริ่มสร้างระเบียบ นิสัย กฎ กติกามารยาท เช่น ต้องไปถึงโรงเรียนก่อน ๘ โมงครึ่ง ๙ โมงต้องเข้าห้องเรียน เพราะฉะนั้นสิ่งที่โรงเรียนทำให้ลูกเรา เขาทำให้เด็กทุกคนรู้จักระเบียบวินัย ลูกเราควรจะทำได้ อย่าพาลูกไปโรงเรียนสายบ่อยๆ เพราะโตขึ้นลูกจะเป็นคนไม่รับผิดชอบ อย่าไปช่วยลูกในทางที่ไม่เหมาะสม สมมติพอคุณครูถามว่าทำไมเด็กคนนี้ไม่ชอบกินกล้วย เราจะไปบอกว่าลูกไม่ชอบ ลูกชอบกินแอปเปิ้ล ซึ่งความจริงเด็กทุกคนน่าจะกินกล้วยได้ แล้วกล้วยเป็นของที่มีประโยชน์และเป็นผลไม้ที่มีพิษน้อยที่สุด เราควรพยายามโน้มน้าวเด็กให้กินในสิ่งที่มีประโยชน์ กฎ กติกา มารยาทสากลเช่นกัน เมื่อเด็กคนอื่นทำได้ ลูกเราควรจะทำได้ ถ้าลูกเราทำไม่ได้ เราอาจจะต้องพิจารณาว่าเราเลี้ยงลูกให้มีจุดอ่อนหรือไม่ เป็นหน้าที่ของเราที่จะไปช่วยเสริมสิ่งเหล่านี้เพื่อให้ลูกเดินไปกับกฎ กติกา มารยาทของสังคม

ความอบอุ่นในครอบครัวซื้อด้วยเงินไม่ได้
ลูกของเราเรารักมากที่สุด เพราะฉะนั้นเราจะต้องรู้จักเขาให้มากที่สุด การรู้จักกันที่ดีที่สุด คือ การที่เขากับเราต้องมีความรักกัน คือ การที่พ่อแม่ลูกได้พูดคุยกัน เมื่อลูกโตขึ้นเราควรให้ลูกเข้ามาช่วยแก้ปัญหาครอบครัวในบางเรื่อง เช่น ตอนนี้แม่รายได้ลดลงนะ หรือค่าใช้จ่ายในบ้านเพิ่มมากขึ้นนะ เด็กๆ จะช่วยประหยัดอะไรได้บ้าง ใคร อยากจะลดเงินอาทิตย์ลงบ้าง เด็กๆ เขาจะออกมาแสดงความคิดกัน คือ พูดง่ายๆว่า ความอบอุ่นในครอบครัวนั้น ซื้อด้วยเงินไม่ได้ ถ้าเรามีปัญหาเรื่องเงิน หรือมีความจำกัดว่าเราต้องใช้เท่านั้นเท่านี้ เราต้องกล้าบอกกับลูกว่า ลูกอยากกินอะไร เราจะทำให้ลูกกิน แต่ว่าเราคงไม่ได้ซื้อทุกอย่างที่อยากได้ เราต้องบอกลูก ในบ้านเรานั้น เศรษฐีพันล้านยังไม่มีความรักเท่ากับเราเลย แล้วเราคอยสัมผัสเขา แตะตัวเขา ชมเชยเขา เด็กนั้นต้องการให้สัมผัสเขา ต้องการการชมเชย และต้องการกำลังใจอยู่ตลอดเวลา

ฝากลูกไว้กับผู้ใหญ่ที่บ้าน ต้องให้ผู้ใหญ่เป็นพวกเราก่อน
ในกรณีที่มีปู่ย่าตายายหรือญาติผู้ใหญ่อยู่ในบ้าน มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ ท่านรักแน่ ข้อเสียคือ ท่านอาจจะกลัวหลานจะไม่รัก กลัวหลานรักคนอื่นมากกว่าปู่ย่า ตายาย กลัวหลานจะไม่ปลอดภัย เราจะต้องพบกันครึ่งทาง วิธีการนี้ คือ เราจะต้องให้ปู่ย่าตายายเป็นพวกเรา ง่ายที่สุดเลย คือ ต้องบอกท่านว่าท่านเลี้ยงเราเป็นคนดี แต่ที่เราเป็นคนดีได้ทุกวันนี้เพราะท่านห้ามไม่ให้เราทำอย่างโน้นอย่างนี้ที่ไม่ถูกต้อง ไม่ตามใจกินของที่ไม่มีประโยชน์ ไม่ตามใจเอาโน่น เอานี่ ท่านจะได้ไปห้ามหลานต่อ ไม่อย่างนั้นท่านไม่กล้าที่จะห้ามหลาน เด็กทำไม่ถูกต้องก็ปล่อย เด็กซนก็ไม่กล้าห้าม ซนจนมีอันตรายก็มี เรื่องอันตรายเราอาจบอกว่าผมไม่เคยขาหักเลย ผิดกับเพื่อนที่ขาหักบ่อย เพราะคุณพ่อคอยห้ามผมเวลาที่ผมจะกระโดดอะไรสูงๆ คุณพ่อช่วยดูแลลูกเรา เราสบายใจมากๆเลย คือ เราต้องให้ท่านเข้าใจ ขณะเดียวกันเราสามารถให้ข้อมูลท่าน แต่ต้องให้ข้อมูลในทางที่ไม่สอน เป็นข้อมูลแบบยกตัวอย่าง เช่น "คุณพ่อครับ วันนี้ผมไปพบเพื่อนคุณพ่อ แหม! เขาแข็งแรงดีเชียว พาหลานออกมาเที่ยวด้วย คุณพ่อจะไปไหม ผมจะไปส่ง" ท่านจะได้อยากจะพาหลานไปเที่ยวที่สวนสัตว์บ้าง คือ หาทางให้ท่านอยากทำตามโดยท่านไม่รู้ตัว เพราะบางทีผู้สูงอายุไม่พร้อมที่จะรับคำติและไม่พร้อมที่จะรับคำแนะนำ เพราะถือว่าท่านมีประสบการณ์เยอะ

อย่างไหนถึงจะเรียกว่าตามใจลูกมากเกินไป
คือเวลาที่เรากำลังคิดว่าเราตามใจลูกเกินไปหรือเปล่า ให้พยายามสมมติว่า ถ้าเด็กคนนี้ไม่ใช่ลูกเรา ถึงแม้ว่าเรามีลูกสุดที่รักอยู่คนเดียว ยกตัวอย่างในบางกรณี เช่น ปัจจุบันนี้ลูกที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ส่วนหนึ่งร้องจะเอาโทรศัพท์มือถือ พ่อแม่ต้องมานั่งคิดดูก่อน ไม่ใช่ให้ตามใจ ต้องคิดว่าลูกบ้านอื่นที่เขาเอนทรานซ์ติด แล้วถ้าเขาขอโทรศัพท์มือถือกันหมด พ่อแม่เขาจะให้ไหม บางคนให้ได้ บางคนให้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องดูว่า ลูกเราอยู่ในข่ายไหน หรือเรารวยเราให้ได้ แต่ต้องมองให้ออกว่า ลูกเรารับผิดชอบตัวเองได้หรือยัง มีความจำเป็นแค่ไหน หรือถ้าเราไม่รวย เรามีภาระ ไม่สามารถให้ได้ เราต้องพูดกับลูกได้ เราอาจจะบอกลูกว่าแม่อยากให้จังเลยลูก แต่มันเป็นความฝันของแม่ เพราะฉะนั้นตอนนี้เอา อย่างนี้นะ แม่ให้สิ่งที่มีประโยชน์กับหนูในระยะยาวดีกว่า คือเก็บเงินไว้ให้หนูเรียน เมื่อหนูเรียนจบแล้ว หนูอยากซื้อโทรศัพท์มือถือ อยากซื้อรถยนต์ ซื้อเสื้อผ้าสวยๆ แม่จะพลอยดีใจกับหนู 

คือพ่อแม่ต้องไม่อายที่จะพูดความจริง ทุกวันนี้เราอายที่จะบอกความจริงกับลูก เช่น อายที่จะบอกว่าเราจน อายที่จะบอกว่าเราซื้อ อันนี้ไม่ได้ ไม่มีสตางค์ หรือถ้าเราเห็นว่าไม่สมควรจะให้ ถึงเราจะมีเงิน แต่เราเห็นว่าเด็กคนนี้ยังรับผิดชอบตัวเองไม่ค่อยได้ เราต้องใช้วิธีต่อรอง เช่น บอกว่าลูกลองเรียนไปสักระยะหนึ่งนะ แล้วดูว่าเรามีความจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์มือถือมากแค่ไหน แม่จะมาจัดสรรเงินเพื่อซื้อโทรศัพท์มือถือให้ลูกอีกที เป็นการประวิงเวลาไปก่อน หรือแลกเปลี่ยนกับลูกให้เห็นถึงความจำเป็น และคุณค่าของสิ่งนั้นว่าเป็นความฟุ่มเฟือยอย่างไร

ค่านิยมฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือยของเด็ก มาจากการขาดความสัมพันธ์ของครอบครัว
เมื่อพ่อแม่ไม่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวให้ดี ตามใจลูก ไม่ให้ลูกรู้จักเรียนรู้ แยกแยะว่าอะไรควร อะไรไม่ควร เราจะเห็นว่าสังคมยุคนี้ เด็กไม่มีเป้าหมาย เด็กแก้ปัญหาแบบวันต่อวัน สังคมยุคนี้เป็นสังคมที่เรานิยมความสวยงามข้างนอกเป็นเครื่องนำ เช่น นิยมคนที่ผมสวย ใช้แชมพูยี่ห้อไหน  ถึงจะสะบัดได้สวย นิยมสบู่ นิยมเครื่องประทินโฉม เสื้อผ้ายี่ห้อดังๆ มีรถราคาแพงๆ มีโทรศัพท์มือถือ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สวยข้างนอก แต่ว่าจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยเสริม คือ กำลังทรัพย์ ต้องมีเงินด้วย นอกจากนี้เด็กยังขาดผู้แนะนำที่ดี เด็กไม่เข้าใจว่าตรงไหนคือความฟุ่มเฟือยเกินเลย ตรงไหนมันเสี่ยง มันจะมีปัญหาตามมาทีหลัง เพราะฉะนั้นเด็กพวกนี้เลยมุ่งหาแต่สิ่งภายนอก อาจจะเป็นเพราะว่าเราไม่มีกฎหมายที่จะคุ้มครองผู้บริโภคว่า การโฆษณาอย่างนี้มันโอเวอร์ มันโกหก เพราะฉะนั้นเราคงจะต้องออกมาร่วมกันในการที่จะควบคุมทั้งสื่อคุ้มครองผู้บริโภค แล้วสร้างสังคมที่ไม่มุ่งแต่บริโภคนิยมอย่างเดียว

ถือโอกาสฝึกให้ลูกหาข้อมูล
พ่อแม่หลายคนที่มีปัญหา ไม่รู้ว่าจะให้ลูกไปเข้าค่ายกับโรงเรียนดีหรือไม่นั้น ก่อนอื่นพ่อแม่ต้องมาดูก่อนว่า ที่ให้นั้นสมควรไหม คือทั้งห้องไป แต่ลูกไม่ได้ไป นี่ก็ จะกลายเป็นตัวประหลาด แล้วถ้าไปในฐานะที่มีครูบาอาจารย์ไป เราถือว่าเป็นเรื่องปกติ เราต้องสนับสนุนเลย ไปเลยลูกเดี๋ยวแม่ไปส่ง เอาอะไรไปกินบ้าง แม่จะไปช่วยซื้อ แต่ถ้าเผื่อว่าไปในลักษณะที่ล่อแหลม หรือว่าเราไม่แน่ใจว่าไปแล้วมีปัญหาหรือเปล่า เราต้องพยายามพูดให้ลูกไม่อยากไปโดยลูกเต็มใจ อย่างเช่นลูกอยากจะไปเที่ยวต่างจังหวัด แม่ว่าดีนะ แล้วไปกันกี่คนล่ะ ใครไปบ้าง เด็กจะเล่าว่าไปกันกี่คน แล้วทำไมคนนั้นไม่ไป ทำไมคนนี้ไม่ไป เขาจะบอกเองว่า แม่เขาไม่ให้ไปเพราะว่าแม่เขาว่ามันอันตราย เขาจะมีเหตุผล พ่อเขาไม่ให้ไปเพราะกลัวว่ากลับมาเดี๋ยวจะดูหนังสือไม่ทันสอบ เราคุยกับลูกว่า แปลกนะ แม่เห็นว่าพ่อแม่ของ ๒ คนนี้เขารักลูกเขาดี แล้วเหตุผลเขาฟังขึ้นนะลูกนะ แล้วลูกเขาว่าอย่างไร ไปหรือไม่ไป มีคนไม่ไปเหมือนกันเหรอลูก แม่ว่าบางครั้งเราต้องคิดขึ้นตราชั่งนะว่า ได้กับเสียมันเท่ากันหรือเปล่า  คราวหน้าค่อยไปที่อื่นยังได้

อันนี้เป็นการทำโจทย์ในชีวิตนะลูก อีกหน่อยลูกยังต้องตัดสินใจอีกเยอะ อย่างเช่น เพื่อนอาจจะมาขอยืมเงินลูก ๒๐,๐๐๐ บาท ไปซื้อโทรศัพท์มือถือ ในขณะที่ลูกยังไม่มี ลูกต้องคิดแล้วว่าจะเอาเพื่อน หรือว่าจะรักษาเงินไว้ แม่กับพ่อเหมือนกันเราต้องคิดว่าลูกไปคุ้มกันไหม ลูกลองช่วยแม่คิดสิว่าจริงไหม ข้อสำคัญต้องอย่าบังคับเด็ก พยายามหาข้อมูลให้เด็กตัดสินใจตาม ในกรณีที่เราห้ามไม่ได้ ยืนยันจะไปให้ได้ เราบอกว่าไปได้นะ แต่ให้ระวังตัว ระวังสุขภาพหน่อย ดูแลความปลอดภัย เมื่อถึงที่นั้นแล้วโทรศัพท์มาบอกแม่ด้วยว่าถึงแล้ว หรือเราต้องเช็กเป็นระยะ ขณะเดียวกันเราต้องรู้จักเพื่อนของลูก จะได้รู้ว่าคุณ ก. นี้นิสัยชอบเที่ยว คุณ ข. เป็นหนอนหนังสือ คุณ ค. เป็นคนมีจริยธรรมสูง ถ้าเราอยากให้ลูกเราเป็นแบบไหน เราต้องพูดถึงเพื่อนคนไหนที่เพื่อนควรเลียนแบบสิ่งที่ดีของเขา คนนี้เขาพูดจาน่าสนใจ ใครคบเขาคงได้กำไรนะ มีข้อคิดดีนะ ขนาดแก่ขนาดนี้แม่ฟังแล้วยังรู้จักตัวเลย เขาจะได้เพื่อนแล้วยังได้แบบอย่างด้วย

ต้องสร้างให้ลูกกล้าเล่าความจริงให้พ่อแม่ฟัง
ถ้าเด็กสาวมีความสัมพันธ์กับเพื่อนชาย แสดงว่าความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวกับเด็กไม่ดี เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องพิเศษ ซึ่งครอบครัวควรจะได้รับรู้ก่อนคนอื่น แสดงว่าเด็กไว้ใจคนอื่นมากกว่าพ่อแม่ เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่พ่อแม่ต้องสร้างคือว่า พ่อแม่ลูกต้องมาสร้างความสัมพันธ์กันใหม่ เพราะว่าความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครอบครัวจะทำให้ลูกกล้าเล่า  ยกตัวอย่างเช่น ถ้าลูกมีแฟนแล้วมาเล่าให้พ่อแม่ฟัง แล้วพ่อแม่ตี หรือว่าเล่าแล้วพ่อแม่ดุ เด็กจะไม่เล่า เพราะฉะนั้นสิ่งอื่นที่มากกว่าความเป็นแฟน เด็กจะยิ่งไม่กล้าเล่า เพราะฉะนั้นถ้าเราได้คุยกันว่า ลูกมีแฟนเหรอ พามากินข้าวที่บ้านเราบ้างนะ เราจะได้ดูแฟนลูกด้วยว่าเป็นอย่างไร แล้วอีกอย่างลูกเราจะได้อยู่บ้าน แทนที่จะไปพบกันที่อื่น และเด็กไปมีความสัมพันธ์กันพิเศษ เพราะโดยมากเด็กที่เป็นแฟนกันแล้วมีความสัมพันธ์กันพิเศษนั้น มักเกิดจากเด็กมีปัญหาที่บ้าน 

เพราะฉะนั้นถึงได้บอกว่า อันนั้นเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสังคม แล้วเรามีส่วนที่จะทำให้ปัญหานี้ลดลงได้ แต่วิธีการลดปัญหา คือ ไม่ใช่วิธีการที่ไปดุด่าสั่งสอน เพราะสิ่งเหล่านี้เด็กได้มาเป็นร้อยๆครั้ง เป็นของปกติ แต่การเข้าไปหาเด็กโดยการพูดคุย โดยการสร้างความรู้สึกที่เป็นมิตร คือ สิ่งที่ต้องทำเพื่อให้เด็กกล้าเล่า เมื่อเด็กเล่าแล้วเราจะได้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในชีวิตเขา มีส่วนไหนที่เราน่าจะเข้าไปช่วยได้ แล้ววิธีการช่วยเด็ก การใช้คำสั่งสอนหรือการให้คำแนะนำนั้นไม่มีประโยชน์ เราต้องพยายามยกตัวอย่างไกลๆตัว ถ้าเรายกตัวอย่างใกล้ๆตัว อย่างเช่น เธอทำไมไม่อ่านหนังสือเหมือนพี่ อย่างนี้ทำให้พี่น้องโกรธกันได้ แต่เราควรไปยกตัวอย่างไกลๆตัวดีกว่า เช่น เล่าประวัติบุคคลที่เขาประสบความสำเร็จที่ลูกสนใจ ว่าเขาเป็นนักอ่านหนังสือตัวยงอย่างไร อย่างนี้จะสร้างแรงจูงใจให้ลูกรักการอ่านมากกว่า เราต้องมีเทคนิคในการพูดกับเด็ก ไม่ทำให้เด็กรู้สึกว่าถูกตำหนิ เพราะเด็กกลัวจะเสียหน้าแล้วเด็กก็จะไม่เล่าให้ฟัง

เปลี่ยนเรื่องร้ายให้กลายเป็นร่วมกันแก้ปัญหา
หากเรารู้ว่าลูกเราก้าวไปผิดทางแล้ว ต้องดูที่ว่าตอนที่รู้นั้น เรารู้เองหรือว่าเขามาบอก ถ้าเขามาบอกเองหมายความว่าเขาอยากจะเปลี่ยน เพราะฉะนั้นคงเป็นโอกาสอันดีที่เขาอาจจะต้องการความรู้สึกที่ดีๆ คือ ๑ ไม่ซ้ำเติม อันที่ ๒  คือบอกเขาว่าอาจจะมีทางอื่นที่เขาเลือกได้ ยกตัวอย่างเช่น เด็กบอกว่า ไปลอกข้อสอบเพื่อน แล้วครูจะให้ตก ตอนแรกเรารู้สึกเสียหน้ามาก ว่าลูกฉันทำไมไปลอกข้อสอบเพื่อน เราอาจจะบอกลูกได้ว่าครูเขาให้ตกนับว่าโชคดี เพราะบางแห่งเขาไม่ให้เรียนเลย ไม่เป็นไรหรอกลูก ใครๆก็ทำผิดได้ แล้วถามลูกว่าทำไมถึงต้องไปลอกเพื่อน เด็กอาจจะเล่าว่า เขาไม่อ่านหนังสือ ไม่ได้เตรียมตัว อันนี้แหละ คือทางออก เพราะคราวต่อไปลูกต้องเตรียมพร้อมกว่านี้ เพราะว่ายิ่งไปซ้ำเติมเด็กอาจจะไปทำลายตัวเองได้ หรือว่าบังเอิญเราไปรู้มาจากคนอื่น โดยที่ตัวเขาไม่ได้บอกเอง คือ เด็กยังไม่มีความพร้อมที่จะบอก อาจเพราะกลัวเราจะดุ ด่า ว่า กล่าว หรือตี และอาจกลัวว่าเราจะซ้ำเติม เราต้องหาทางทำให้เด็กรู้สึกว่าเรารู้ โดยการที่อาจจะให้ความสนิทสนม แล้วพูดเปรียบเปรยถึงคนอื่นว่า บางครั้งคนเราทำผิดกันได้ แล้วความผิดนั้นบางครั้งดูเหมือนกับว่าจนมุมแล้ว แต่ที่จริงทุกปัญหามีทางออก ถ้าเรารู้จักแก้ไข หรือถ้าเราปรึกษาคนนี้อาจจะไม่ได้คำตอบ หรือได้คำตอบที่ไม่ชอบ คนโน้นอาจจะช่วยเราได้ แล้วสร้างความรู้สึกที่ดีว่า ถ้าแม่มีปัญหา แม่จะปรึกษาลูกนะ ลูกต้องช่วยแม่คิดนะ เราอาจจะถามย้อนว่า แล้วลูกมีปัญหาอะไรแม่พร้อมเสมอที่จะให้คำปรึกษา

ลักษณะที่ลูกอยากให้พ่อแม่เป็น

  • ใจดี อบอุ่น ยิ้มแย้ม
  • รักใคร่ อ่อนโยน นุ่มนวล
  • เข้าใจลูก สนใจ เอาใจใส่
  • ช่วยเหลือในเรื่องที่ยากเกินไป
  • ช่วยสอน ชี้แนะให้เขาทำได้
  • พูดเพราะ ฟังแล้วไม่เสียความรู้สึก (ไม่ต้องถึงกับพูดหวาน)
  • ดูแลเมื่อเขาเจ็บป่วย
  • ปกป้อง คุ้มครอง
  • เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ
  • เห็นลูกสำคัญ รับฟังปัญหา
  • เป็นพ่อแม่ที่ลูกสามารถรู้สึกภูมิใจในตัวพ่อแม่ได้


หัวใจในการเลี้ยงลูก

  • รัก
  • เข้าใจ
  • อบอุ่น
  • ใส่ใจ
  • ให้เวลา
  • ยุติธรรม
  • ให้อิสระ
  • มีขอบเขต

เลี้ยงลูกถูกวิธี ชีวีเป็นสุข โดย ศ.พญ.นงพงา ลิ้มสุวรรณ

อย่าทำกับลูกแบบนี้

  • อย่า เอาแต่ตำหนิติเตียน
  • อย่า ใช้คำรุนแรงบาดใจ
  • อย่า ระบายอารมณ์กับลูกเมื่อมีอารมณ์โกรธ
  • อย่า ทำให้ลูกอับอายต่อหน้าคนอื่น
  • อย่า ตามใจลูกไร้ขอบเขตจนเสียคน
  • อย่า ควบคุมลูกจนไม่สามารถเป็นตัวของตัวเอง
  • อย่า  ประจานลูก หรือจงใจทำให้ลูกอับอาย
  • อย่า  บ่น (การบ่น คือ การพูดในแง่ลบของทุกๆเรื่อง)
  • อย่า  พาล
  • อย่า  ออกคำสั่งโดยไม่มีเหตุผล
  • อย่า  ลงโทษโดยไม่ได้สอบถาม
  • อย่า  ขู่เด็ก
  • อย่า  ไล่เด็กออกจากบ้าน
  • อย่า  เปรียบเทียบกับเด็กอื่น
  • อย่า  เลี้ยงลูกแข่งกับใคร
  • อย่า  ใช้อารมณ์โดยไม่ใช้เหตุผล
  • อย่า  มองลูกในแง่ร้าย
  • อย่า  คาดหวังลูกมากเกินความสามารถของลูก

เลี้ยงลูกถูกวิธี ชีวีเป็นสุข โดย ศ.พญ.นงพงา ลิ้มสุวรรณ

คุณสมบัติที่ควรปลูกฝังให้กับเด็ก

  • มีอารมณ์ร่าเริง แจ่มใส
  • มีความรักตัวเองและคนอื่นได้
  • รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า
  • สามารถพึ่งตนเองได้
  • มีความรับผิดชอบ
  • สามารถแสดงออก ไม่เก็บกด
  • มีความมั่นใจในตนเอง
  • มีค่านิยมที่ถูกต้อง
  • มีจิตใจมั่นคง
  • มีความคิดสร้างสรรค์
  • มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
  • มีความยืดหยุ่น ปรับตัวได้ดี
  • สามารถแก้ปัญหาเป็น
  • มีอารมณ์ขัน
  • อยากมีส่วนช่วยเหลือสังคม
  • มีความเป็นผู้นำ
  • รู้สึกอยากเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เช่น รักการอ่าน
  • รู้จักคิดแยกแยะเรื่องต่างๆ
  • คิดไตร่ตรองเป็น ไม่ใช่จดจำเพียงอย่างเดียว
  • รู้จักรักษาสิทธิของตน
  • ดูคนเป็น รู้เท่าทันคน
  • สามารถเข้าถึงจิตใจผู้อื่น (เข้าใจ เห็นใจผู้อื่น)
  • ใจกว้าง สามารถรับฟังคำติชม
  • มีความสนใจในกีฬา ดนตรี ศิลปวัฒนธรรม

เลี้ยงลูกถูกวิธี ชีวีเป็นสุข โดย ศ.พญ.นงพงา ลิ้มสุวรรณ

ข้อมูลสื่อ

246-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 246
ตุลาคม 2542
พญ.วราภรณ์ ตั้งตรงไพโรจน์