• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

จะป้องกันการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้อย่างไร

จะป้องกันการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้อย่างไร


ระยะหลังมานี้ จะเห็นสื่อต่างๆ ออกมามากขึ้นเรื่อยๆ มียานั้นบ้าง ยานี้บ้างที่จะสามารถรักษาภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศของท่านชาย บางสื่อก็ออกมาในลักษณะแอบแฝงในการโฆษณาสินค้าโดยอ้างผู้เชี่ยวชาญบ้าง อ้างประสบการณ์ผู้ใช้บ้าง สุดท้ายก็เลี่ยงผลประโยชน์ทางธุรกิจไปไม่พ้น ฟังไปฟังมาคนที่ไม่มีปัญหาก็พลอยรู้สึกว่ามีปัญหากับเขาไปด้วย แถมยาที่ขายๆ กันราคาก็แพงยิบเลยครับ เรียกว่า ชาวไร่ชาวนาหรือกรรมกรต้องทำงาน หลายวันถึงจะได้ค่ายามาซัก ๑ เม็ด ลำพังเงินทองที่ใช้ในปัจจัยที่ยังฝืดฝืดเคืองเต็มทน เจอแรงยุส่งเรื่องปัจจัยที่ห้าเข้าอีก แล้วจะมีอะไรเหลือครับ

บทความนี้จะไม่พูดถึงวิธีรักษาด้วยยา หรือการผ่าตัดใดๆ ซึ่งมีให้อ่านกันมากมาย แต่จะมุ่งไปที่วิธีการป้องกันและรักษาที่ต้นเหตุเป็นหลักใหญ่ จนท่านสามารถหายขาดได้ เรียกว่า ดับที่เหตุแห่งทุกข์กันเลย เริ่มจากง่ายสุดครับ ความเครียด ความวิตกกังวล สังเกตดูว่าเครียดกับชีวิตประจำวันมากไหม วิตกกังวลไหม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างในการดำรง ชีวิตช่วยให้บางคนมีสมรรถภาพทางเพศกลับคืนมาเป็นปกติได้เลย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุจะพบมากในผู้มีภาวะซึมเศร้า การไปพบจิตแพทย์อาจรักษาได้ทั้งโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และซึมเศร้าไปพร้อมกัน ในบางราย ความผิดปกติอาจเนื่องมาจากความเชื่อ และความเข้าใจผิดบางอย่างเกี่ยวกับทางเพศ การศึกษาความรู้ทางเพศศึกษาอาจจะช่วยให้อาการดีขึ้นได้ เดี๋ยวนี้ก็มีตำรามากมายวางขายกันทั่วไปสามารถศึกษาได้ด้วยตนเองครับ

โรคประจำตัวบางอย่างทำให้เกิดภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศชายได้ เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง ตอนนี้หากท่านมีโรคเหล่านี้ ก็พึงระวังว่าอนาคตหากท่านไม่ดูแลรักษาโรคเบาหวาน ความดันเลือดสูงดีๆ ปัญหาก็จะเกิดกับท่านได้ จึงพึงป้องกันไว้ โดยการควบคุมเบาหวาน ความดันเลือดสูงไว้ให้ดี เหล้า บุหรี่ ก็เป็นมหันตภัยร้ายเช่นกัน การติดเหล้าและบุหรี่อย่างหนัก พอนานๆ เข้าการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศจะตามมา แล้วแถมด้วยตับแข็ง และมะเร็งปอด อุบัติเหตุ ก็เป็นสาเหตุที่ป้องกันได้โดยการไม่ประมาท การกระทบกระแทกฉีกขาดบริเวณอวัยวะเพศ หรือเนื้อเยื่อข้างเคียง ทำให้อวัยวะเพศไม่แข็งตัวได้ อุบัติเหตุต่อสมอง และไขสันหลัง ก็พึงระวังไว้เช่นกัน ที่สำคัญคืออย่าประมาทครับ เพราะถ้าเกิดแล้วการแก้ไขนั้นยาก

สาเหตุจากยาบางตัวก็มีผลแทรกซ้อนจากยาได้ โดยเฉพาะยาที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศ และยาที่กดการทำงานของสมองที่ทางการแพทย์ เรียกว่า Minor และ Major Tranquilizers หากไม่แน่ใจว่า ยาที่ท่านกินอยู่เป็นประจำมีผลต่อภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศหรือไม่ คงต้องลองหยุดยาดูหากไม่มีปัญหา หรือปรึกษาแพทย์ก่อนว่าเป็นอย่างไร ก็ได้ครับ

นอกจากนี้ยังพบในผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษ และพบภายหลังการผ่าตัดในช่องเชิงกราน ฉะนั้นก่อนผ่าตัดอะไรที่ต่ำกว่าสะดือ ก็ควรถามก่อนว่าจะมีผลต่อสมรรถภาพทางเพศไหม จะได้เข้าใจกันก่อน และแพทย์จะได้ระวังมากขึ้นโดยหลีกเลี่ยงไม่ให้มีผลกระทบกระเทือนมากนัก ทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่าปัญหาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศชายนั้น ส่วนใหญ่ป้องกันได้จริงๆ การศึกษาและวิเคราะห์ถึงสาเหตุ ท่านสามารถทำได้ด้วยตัวเอง ความเข้าใจในสมมติฐานของโรค การป้องกันจะทำได้ง่ายกว่าการแก้ปัญหาภายหลัง ถึงแม้ว่าเกิดปัญหาขึ้นแล้วก็ตาม การพยายามศึกษา และรักษาที่ต้นเหตุ เป็นการรักษาที่ถูกต้องและคุ้มค่าที่สุด การรักษาที่ปลายเหตุ โดยการกินยา ฉีดยา ผ่าตัด หลายๆ วิธี เป็นการรักษาที่ต้นทุนสูงมากครับ ยิ่งในระยะยาวด้วยแล้ว ยิ่งหมดเปลืองมากขึ้นไปเรื่อยๆ นอกจากจะไม่ดับทุกข์ที่เหตุแล้ว บางครั้งยังไปทำให้เกิดทุกข์ด้านอื่นๆ ตามมา


สรรหามาฝาก
ความผิดปกติทางพันธุกรรมมีส่วนเพิ่มแนวโน้มฆ่าตัวตาย สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า คณะแพทย์แห่งโรงพยาบาลรอยัล  ออตตาวา ประเทศแคนาดา พบว่า การผ่าเหล่าของยีนมีส่วนเพิ่มแนวโน้มการฆ่าตัวตายและคาดว่าจะมีการทดลองเพื่อพิสูจน์ในเรื่องนี้ภายในปี ๒๕๔๕ ผลการศึกษา ซึ่งใช้เวลาถึง ๑๐ ปี โดยจะศึกษาสาเหตุที่ทำให้คนเราปลิดชีวิตตัวเอง แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การฆ่าตัวตายมีเรื่องของความผิดปกติทางพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ได้เกี่ยวกับการมีบุคลิกภาพที่อ่อนแออย่างที่หลายคนคิด

คณะนักวิจัยพบว่า ผู้ที่มีความผิดปกติในยีนที่เป็นตัวเปลี่ยนรหัสของสารเคมีที่มีส่วนสัมพันธ์กับอารมณ์ มีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตายมากกว่าคนปกติถึง ๒ เท่า อย่างไรก็ตาม หากการทดลองประสบผลสำเร็จ อาจทำให้การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการซึมเศร้าและมีความผิดปกติของยีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน นักวิจัยได้เตือนว่า การศึกษายังอยู่ในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น ยังจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษากันต่อไป

ข้อมูล : หนังสือพิมพ์มติชน, ฉบับวันเสาร์ ๑ มกราคม ๒๕๔๓

ข้อมูลสื่อ

251-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 251
มีนาคม 2543
เรื่องน่ารู้
นพ.สมชาญ เจียรนัยศิลป์