• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กระชาย ผักพื้นบ้านพลังโสม

กระชาย ผักพื้นบ้านพลังโสม

ผู้อ่านคอลัมน์ “ต้นไม้ใบหญ้า” ส่วนใหญ่คงรู้จักสมุนไพรที่ชื่อ “โสม” หรือ ginseng ในภาษาอังกฤษ โสมเป็นสมุนไพรพื้นบ้านของจีนและเกาหลีซึ่งมีชื่อเสียงได้รับความนิยมไปทั่วโลก

  •  คุณสมบัติด้านสมุนไพรที่เด่นของโสมก็คือ เชื่อว่าสามารถเพิ่มพลังงานในร่างกายของผู้บริโภคได้ ดังที่ชาวไทยเรียกทีมนักกีฬาเกาหลีว่าทีมพลังโสม เป็นต้น นอกจากนี้ยังเชื่อกันอีกว่าโสมสามารถเพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้อีกด้วยโดยเฉพาะสำหรับท่านชาย

ในประเทศไทยของเราก็มีพืชพื้นบ้าน ซึ่งชาวไทยเชื่อมาตั้งแต่โบราณแล้วว่ามีคุณสมบัติบำรุงกำลังและเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ โดยเฉพาะสำหรับผู้ชาย ชาวไทยใช้พืชชนิดนี้เป็นทั้งอาหาร(ผัก)และสมุนไพร(ยา)ควบคู่กันมาตั้งแต่คนไทยยังไม่รู้จักโสม ต่อมาเมื่อรู้ถึงคุณสมบัติของโสมว่าคล้ายคลึงกับคุณสมบัติของพืชพื้นบ้านดังกล่าว จึงให้สมญาพืชชนิดนี้ว่า “โสมไทย” นั่นคือพืชที่คนไทยเรียกว่า “กระชาย” นั่นเอง

 รู้จักหัวนอนปลายเท้าของกระชาย
กระชายเป็นพืชในวงศ์ Zingiberaceae เช่นเดียวกับขมิ้น ขิง และข่า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Boesenbergia pandurata(Roxb.) Holtt. มีลำต้นใต้ดิน(หัวหรือเหง้า) เช่นเดียวกับขมิ้นหรือขิง แต่ลำต้นใต้ดินของกระชายมีขนาดเล็ก เนื่องจากมีรากสะสมอาหารขนาดใหญ่ ยาวประมาณ ๖ เซนติเมตร แยกออกจากลำต้นใต้ดินหลายราก เรียกว่า “นมกระชาย” ใบกระชายโผล่พ้นผิวดินสูงประมาณ ๕o เซนติเมตร ใบคล้ายพุทธรักษา สีเขียวอ่อน กลางใบมีเส้นสีแดง

กระชายมีถิ่นกำเนิดในแถบร้อนบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบขึ้นอยู่ในป่าดิบร้อนชื้น จึงนับเป็นพืชพื้นบ้านดั้งเดิมของไทยอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งคนไทยคุ้นเคยและนำมาใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ มาตั้งแต่ครั้งโบราณจนปัจจุบัน จนอาจกล่าวได้ว่าคนไทยรู้จักใช้ประโยชน์จากกระชายได้มากกว่าชนชาติอื่นทั่วโลก

หนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอปรัดเล พ.ศ.๒๔๑๖ อธิบายเกี่ยวกับกระชายว่า : “ผักอย่างหนึ่ง ต้นแดงๆ สูงค่าศอก มีหัวอยู่ใต้ดิน กลิ่นหอม แกงกินดี ทำยาก็ได้”

จากข้อความดังกล่าวจะเห็นได้ว่าเมื่อ ๑๒๓ ปีก่อนโน้นชาวไทยรู้จักและใช้ประโยชน์จากกระชายอย่างดีแล้ว ทั้งด้านอาหาร(ผัก) และยา(สมุนไพร)
กระชายเป็นพืชที่ปลูกง่ายมาก สามารถขึ้นในร่มเงาต้นไม้ได้ แต่เราก็อาจปลูกกระชายและใช้แทนกันได้ดี

อาหาร
ส่วนของกระชายที่นำมาใช้ประกอบอาหารมากที่สุดคือ รากสะสมอาหาร หรือที่ชาวไทยในอดีตนิยมเรียกว่า “นมกระชาย” นั่นเอง รากกระชายมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว สามารถใช้เป็นผักจิ้มได้โดยตรง แต่ชาวไทยส่วนใหญ่นิยมนำมาใช้เป็นเครื่องแกงมากกว่า เพราะมีคุณสมบัติดับกลิ่นคาวของเนื้อหรือปลาได้ดี โดยเฉพาะปลาที่มีกลิ่นคาวจัด เช่น ปลาไหล ปลาดุก หรือปลากุเลา เป็นต้น นอกจากนี้รากกระชายยังมีกลิ่นเฉพาะตัวใช้ปรุงอาหารบางชนิดให้มีกลิ่นรสที่เป็นเอกลักษณ์ได้อีกด้วย

ตัวอย่าง ตำรับอาหารที่ใช้กระชายเป็นเครื่องปรุงซึ่งชาวไทยรู้จักกันดีอย่างหนึ่งคือ น้ำยาที่ใช้กินกับขนมจีน(ตามสำนวน ขนมพอสมน้ำยา) นั่นเอง น้ำยาสำหรับราดขนมจีนนั้นนิยมใช้เนื้อปลาเป็นส่วนใหญ่ แต่บางครั้งก็ใช้เนื้อวัวบ้าง อาจกล่าวได้ว่า กลิ่นและรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ของน้ำยานั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้กระชายเป็นส่วนประกอบหลักของเครื่องปรุงสำคัญ ทั้งน้ำยาของภาคกลาง ภาคใต้ และภาคอีสาน(ซึ่งบางครั้งใส่ปลาร้าลงไปด้วย)

แกงบางชนิดที่คนไทยรู้จักกันดีเพราะมีกลิ่นและรสชาติเฉพาะตัวเช่น แกงบอน และแกงขี้เหล็ก ก็ใช้กระชายเป็นเครื่องปรุงที่สำคัญด้วยกันทั้งคู่

แกงชนิดหนึ่งซึ่งรู้จักกันดีจนถูกนำมาใช้เป็นคำพังเพยคือ แกงปลาไหล (สำนวนนั้นคือ “เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง”) เนื่องจากแกงปลาไหลมีรสชาติเอร็ดอร่อยจนแม้บางคนจะเกลียดปลาไหลจนไม่กล้ากินปลาไหลแต่ก็อดตักน้ำแกงปลาไหลไปกินไม่ได้ ซึ่งน้ำแกงปลาไหลก็มีกระชายเป็นส่วนประกอบเหมือนกันเช่นเดียวกับแกงปลาดุก และปลาอื่นๆ ซึ่งมีกลิ่นคาวจัด รวมทั้งผัดเผ็ดปลาไหล ผัดเผ็ดปลาดุก ฯลฯ

อาหารไทยเลิศรสอีกชนิดหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมชมชอบในอดีตแต่ปัจจุบันรู้จักกันน้อยคือ ต้มยำโฮกฮือ อันเป็นแกงสำหรับซดน้ำขณะกำลังร้อนๆ ช่วยให้กินข้าวและกับข้าวอื่นๆได้คล่องคอ สำหรับรสชาตินั้น ชื่อของต้มยำนี้ที่ต่อด้วยคำว่า “โฮกฮือ” นั้นคงบรรยายสรรพคุณได้อย่างเห็นภาพพจน์ชัดเจนแล้ว ซึ่งต้มยำตำรับนี้ก็มีกระชายเป็นเครื่องปรุงสำคัญชนิดหนึ่งด้วย

แกงป่าซึ่งเป็นแกงไทยดั้งเดิม(ไม่ใส่กะทิ) ก็นิยมใช้กระชายปรุงเครื่องแกงด้วย โดยเฉพาะแกงป่าที่ใช้ปลาไหล ปลาดุก ลูกชิ้น เพราะมีกลิ่นคาวจัด แต่บางแห่งนิยมใส่กระชายในเครื่องแกงป่าเสมอ เพราะชอบกลิ่นและรสชาติของกระชาย นอกเหนือจากคุณสมบัติในการดับกลิ่นคาว

นอกจากอาหารชนิดต่างๆที่กล่าวมาแล้ว กระชายยังใช้ปรุงอาหารอื่นๆอีกมากมาย เช่น หลนต่างๆ งบปลา แกงส้มเนื้อ แกงต้มเปอะ แกงเขียวหวานมรกต แกงคั่วหัวตาล แกงหน่อไม้ใส่หญ้านาง กะปิคั่ว ห่อหมกปลาดุก ผัดขี้เมาปลาดุก ข้าวแช่ และแกงไตปลาของภาคกลาง เป็นต้น


สมุนไพร
คนไทยรู้จักใช้กระชายในการรักษาโรคมานานแล้ว ดังตัวอย่างในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ ปี ๒๔๑๖ ว่า “แกงกินดี ทำยาก็ได้” นั่นเอง

แพทย์แผนไทยยุคหลังๆ ตั้งสมญากระชายว่า “โสมไทย” เนื่องจากมีความคล้ายคลึงกันหลายประการ นอกจากสรรพคุณด้านบำรุงกำลังและสมรรถภาพทางเพศ อันเป็นลักษณะเด่นของสมุนไพรทั้งสองชนิดแล้ว ทั้งกระชายและโสมยังเป็นพืชที่มีส่วนสะสมอาหารที่ใช้เป็นยาอยู่ใต้ดินเหมือนกัน ความเชื่อในสรรพคุณของโสมและกระชายเกี่ยวข้องกับรูปร่างของส่วนที่นำมาใช้เป็นยา นั่นคือรากของโสมมีลักษณะคล้ายรูปร่างมนุษย์ (บางครั้งเรียกโสมที่ใช้ทำยาว่า โสมคน)

ส่วนรากของกระชายก็มีลักษณะคล้ายนมผู้หญิง(จึงเรียกว่านมกระชาย) หรือบางครั้งดูคล้ายเครื่องเพศชาย จึงมีความเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับสรรพคุณด้านเพศ
นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าต้นโสมจะเรืองแสงในความมืดคล้ายหิ่งห้อย และกระชายเมื่อขุดเอารากขึ้นมาในคืนเดือนมืดก็จะเรืองแสงได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะหากปลูกในพื้นที่ใกล้ทะเล

ตำราสรรพคุณยาฉบับหลวงวงษาธิราชสนิท กล่าวถึงสรรพคุณของกระชายว่า “มีรสอันเผ็ดขมร้อน รู้แก้ไข้อันบังเกิดในปาก แลแก้พุตตกิต” ส่วนคัมภีร์สรรพคุณยาโบราณกล่าวเพิ่มเติมต่อตอนท้ายว่า “แก้ลมในดวงหทัย” นอกจากนี้ ตำราฉบับอื่นๆ ยังกล่าวถึงสรรพคุณด้านแก้บิด ปากเปื่อย แก้ใจสั่น ขับลม ขับระดูขาว ขับปัสสาวะ บำรุงหัวใจ ทาภายนอกรักษากลากเกลื้อน และงูสวัด ช่วยย่อยอาหาร ฯลฯ

สรรพคุณของกระชายที่ได้รับความสนใจมากกว่าด้านอื่นคงได้แก่

  • ด้านบำรุงกำลัง
  • อายุวัฒนะ
  • เจริญอาหาร
  •  และเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ(ตำราเดิมใช้คำว่า บำรุงความกำหนัด)

ซึ่งคล้ายกับคุณสมบัติของโสมนั่นเอง ตำราแพทย์แผนไทยที่ตกทอดมาจากอดีต มีตำรับยาที่ประกอบด้วยกระชายเป็นอาหารตำรับต่างๆ (เช่น ต้มยำโฮกฮือ น้ำยา ฯลฯ) ก็คงให้ผลเช่นเดียวกันบ้าง

 

                                               *******************************************
 

ข้อมูลสื่อ

205-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 205
พฤษภาคม 2539
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร