• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กเล็กนอนอย่างไร...ปลอดภัย

เด็กทารกใช้เวลาส่วนใหญ่ในการนอน
การนอนหลับให้เพียงพอเป็นสิ่งจำเป็นต่อ
การเจริญเติบโตของเด็กทารกทั้งร่างกายและสมอง

อีกครั้งหนึ่งที่เราได้อ่านข่าวการตายของเด็กทารกจากการนอน คราวนี้เป็นการตายจากการนอนคว่ำหน้า จมูกปากกดทับบนหมอนที่นอนจนหายใจไม่ออกเสียชีวิต ก่อนหน้านี้มีข่าวเด็กตกเตียงโรงพยาบาลถูกราวข้างเตียงหนีบคอและศีรษะ เห็นข่าวแม่กินยาแก้หวัดแล้วหลับสนิทนอนทับทารก และเห็นข่าวทารกนอนดิ้นเอาหัวมุดเข้าไปในเชือกรูดหมอนข้างจนพันรัดคอขาดอากาศเสียชีวิตมาแล้ว

เด็กทารกใช้เวลาส่วนใหญ่ในการนอน การนอนหลับให้เพียงพอเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเด็กทารกทั้งร่างกายและสมอง คุณพ่อคุณแม่อาจคิดไม่ถึงเลยนะครับ ว่าการนอนก็เป็นอีกกิจวัตรหนึ่งที่ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน

นอนคว่ำหรือนอนหงายดี
ท่านอนที่อันตรายมากที่สุดสำหรับเด็กทารกคือการนอนคว่ำ จากการวิจัยพบว่าการนอนคว่ำเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อโรคการตายฉับพลันของเด็กทารกโดยไม่ทราบสาเหตุหรือที่เรียกกันว่าโรค SIDS (sudden infant death syndrome)

ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีโครงการ "ให้เด็กนอนหงาย" (back to sleep) โดยแนะนำให้จัดท่านอนเด็กเป็นท่านอนหงายเสมอตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ พบว่าการตายจากโรค SIDS ลดลงอย่างชัดเจน

จากการวิจัยหลายแหล่งพบว่าการนอนคว่ำมีความเสี่ยงต่อการกดทับจมูกปากจนขาดอากาศหายใจมากกว่า
การนอนหงาย ๒-๗ เท่าตัว ดังนั้น เด็กอายุน้อยกว่า ๖ เดือนควรจัดท่าให้นอนหงายเท่านั้น การนอนคว่ำอาจเป็นอันตรายได้ เพราะเด็กทารกแรกเกิดยังตะแคงหน้า ยกศีรษะไม่เป็น 
  
                       

อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรจับเด็กนอนคว่ำบ้าง แต่ทำได้เฉพาะในเวลาเด็กตื่นและมีผู้ดูแลเด็กเฝ้าดูอยู่ใกล้ชิด เพื่อให้เด็กได้ลดโอกาสการเกิดภาวะหัวแบน และได้ออกกำลังต้นแขนและหัวไหล่ให้เกิดความแข็งแรงด้วย

เครื่องนอน หมอน มุ้ง
เบาะ ที่นอน หมอน ฟูก ผ้าห่ม มุ้งที่อยู่บนเตียงเป็นปัจจัยร่วมที่ก่อให้เกิดการขาดอากาศหายใจได้ เบาะสำหรับเด็กต้องเป็นเบาะที่มีความแข็งกำลังดี  เบาะ ฟูก หมอน หรือผ้าห่มนุ่มๆ หนาๆขนาดใหญ่ๆ หน้าเด็กอาจจุ่มลงไปแล้วกดจมูกและปากเป็นเหตุให้ขาดอากาศหายใจ เสียชีวิตได้

ต้องไม่ให้เครื่องนอน ของเล่น เสื้อผ้า อุปกรณ์อื่นๆ มีลักษณะเส้นสายที่มีความยาวเกินกว่า ๑๕ เซนติเมตร เพราะอาจเป็นเหตุให้เกิดการรัดคอเด็กได้ เมื่อไม่นานมานี้ก็ยังมีอีกกรณีที่น่าเศร้าคือคุณพ่อกลับจากที่ทำงานมาดึกดื่น หลังเข้ามาในห้องนอนมืดๆ ก็พบลูกชายวัย ๗ เดือนกำลังนอนกับมารดา จึงเข้าหอมแก้มลูกด้วยความ  เอ็นดู พบว่าใบหน้าลูกเย็นเฉียบ จับดูมือเท้าก็พบว่ามือเท้าเย็นเฉียบเช่นกัน จึงเปิดไฟดูพบว่าศีรษะลูกมุดรอดสายหูรูดหมอนข้าง สายรัดคอจนหน้าซีดเขียว เสียชีวิตแล้ว

นอกจากนั้น ต้องไม่นำของเล่นชิ้นเล็กๆ หรือของเล่นประเภทอ่อนนิ่มตัวใหญ่ๆ เช่น ตุ๊กตา ที่มีขนาดใหญ่   ซึ่งอาจตกทับกดการหายใจได้ หรือเด็กใช้เป็นฐานในการปีนป่ายจนตกเตียงได้เช่นกัน
 

                              

เตียงผู้ใหญ่... เหมาะหรือไม่สำหรับเด็ก

เมื่อไม่นานมานี้เราได้เห็นข่าวสองข่าวเกี่ยวกับอันตรายจากการนอนของเด็ก ข่าวแรกเป็นข่าวคุณแม่ที่ทำงานก่อสร้าง กลับบ้านด้วยความอ่อนเพลียแล้วกินยาแก้หวัดเข้าไปอีกก่อนล้มตัวลงนอนข้างๆ ลูกน้อยวัยหนึ่งเดือนเศษ พอตื่นขึ้นมาก็พบว่าได้นอนทับลูกน้อยเอาไว้ เมื่อยกตัวขึ้นมาพบว่าลูกหน้าตาเขียวคล้ำ หยุดหายใจ แน่นิ่ง เนื้อตัวซีดเย็น เสียชีวิตไปแล้ว

อีกรายเป็นเด็ก ๑ ขวบเศษที่ไปนอนในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง โดยนอนกับพี่เลี้ยงบนเตียงเดียวกัน ตี ๑ กว่าพยาบาลเข้าไปพบว่าเด็กตกจากเตียง แต่ศีรษะไปติดค้างที่ราวกันตกเป็นเรื่องน่าเศร้ามากหาก "ที่นอน" ได้กลายเป็น "ผลิตภัณฑ์อันตราย" สำหรับเด็กๆ

ทั้ง ๒ ตัวอย่างนี้ แสดงให้เห็นถึงอันตรายของการ   ให้เด็กเล็กและเด็กทารกนอนเตียงที่ถูกออกแบบมาสำหรับผู้ใหญ่จริงๆ

ดังนั้น ไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า ๒ ขวบนอนบนเตียง ของผู้ใหญ่  ควรนอนเตียงเด็ก (ที่ได้มาตรฐาน) หรือนอนเบาะที่นอนเด็ก (ไม่ใช้เตียง) แยกจากเบาะที่นอนผู้ใหญ่    เด็กเล็กนอนเตียงผู้ใหญ่อาจมีอันตรายจากช่องว่างที่เกิดขึ้นจากการจัดเตียง ช่องว่างที่มีขนาดกว้างกว่า ๖ เซนติเมตรในเด็กทารก (หรือขนาด ๙ เซนติเมตร ในเด็กอายุมากกว่า  ๙ เดือนขึ้นไป) จะมีโอกาสที่ลำตัวเด็กจะตกลงไปและศีรษะติดค้างในท่าแขวนคอได้ ช่องว่างดังกล่าวที่พบบ่อย   คือ ช่องว่างระหว่างเตียงกับกำแพงซึ่งเกิดจากการจัดวางเตียงไม่ชิดกำแพงจริง ช่องว่างที่เกิดจากการจัดวางเตียงกับเฟอร์นิเจอร์อื่น

วัฒนธรรมไทย พ่อแม่มักนอนเตียงเดียวกับลูกจนโต การปฏิบัติดังกล่าวมีความเสี่ยงในการนอนทับเด็กเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กทารกอายุน้อยกว่า ๖ เดือน คนที่มีความเสี่ยงในการนอนทับเด็กทารกคือคนอ้วนมากๆ คนที่กินยานอนหลับ ยาทำให้ง่วง เช่น ยาแก้หวัด ยากล่อมประสาท คนเมาเหล้า และเด็กโต เพราะคนเหล่านี้มักหลับสนิทเกินไป นอนทับแล้วไม่ยอมรู้สึกตัว

เตียงเด็กเล็ก
เตียงเด็กเล็กเหมาะอย่างยิ่งที่จะใช้กับเด็กอายุน้อยกว่า ๒ ขวบ อย่างไรก็ตาม ก็ต้องเลือกใช้เตียงที่มีมาตรฐานความปลอดภัย สำนักงานคุ้มครองความปลอดภัย ในผลิตภัณฑ์ของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รายงานการบาดเจ็บจากการใช้เตียงเด็ก ในประเทศสหรัฐอเมริกาถึงปีละกว่า ๑๐,๒๔๐ ราย เป็นการตายประมาณปีละ ๓๕    ราย อย่างไรก็ตาม ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ซึ่งเป็นยุคที่ไม่มีการควบคุมมาตรฐานของเตียงเด็กเลยพบว่ามีการตายถึงปีละ ๑๕๐-๒๐๐ ราย

สาเหตุที่สำคัญของการตายคือการติดค้างของศีรษะที่ลอดผ่านซี่ราว หรือลอดผ่านช่องรูบนผนังศีรษะและเท้าของเตียง การกดทับใบหน้าจมูกเมื่อหน้าคว่ำในช่องระหว่างเบาะที่นอนกับราวกันตก การแขวนคอซึ่งเกิดจากเสื้อผ้า สร้อยคอ หรือสายคล้องหัวนมดูดเล่นเกี่ยวกับส่วนยื่นของมุมเสา ๔ ด้าน ดังนั้นมาตรฐานความปลอดภัย
ของเตียงเด็กเล็ก ต้องมีคุณลักษณะดังนี้
- ราวกันตกมีซี่ราวห่างกันไม่เกิน ๖ เซนติเมตร
- ราวกันตกจะต้องมีตัวยึดที่ดี เด็กไม่สามารถเหนี่ยวรั้งให้ตกได้เอง 
- จากขอบบนของเบาะที่นอนถึงราวกันตกด้านบนต้องมีความสูงไม่ต่ำกว่า ๖๕ เซนติเมตร หรือ ๓ ใน ๔ ของความสูงเด็ก
- เบาะที่นอนต้องพอดีกับเตียง และไม่มีช่องว่างระหว่างเบาะกับราวกันตกเกินกว่าด้านละ  ๓ เซนติเมตร
- ผนังเตียงด้านศีรษะและเท้าต้องไม่มีการตัดตกแต่งให้เกิดช่องว่าง หรือหากเป็นลักษณะซี่ราวต้องมีระยะห่างไม่เกิน ๖ เซนติเมตร
- พื้นรองเบาะที่นอนต้องทึบและแข็ง
- มุมเสาทั้ง ๔ มุมต้องเรียบ มีส่วนนูนได้ไม่เกิน ๑.๕ มิลลิเมตร 

            

ประเทศไทยมีมาตรฐานเตียงเด็กเล็กแล้ว แต่ไม่เป็นมาตรฐานบังคับ ที่มีขายในห้างชื่อดังร้อยละ ๘๐ ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานต่างประเทศ เช่นยังมีซี่ราวห่างกันมากกว่า  ๖ เซนติเมตร เป็นต้น หลายยี่ห้อที่ส่งออกแล้วถูกตีกลับเพราะไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย แต่ยังวางขายเกลื่อนที่ห้างบ้านเรา
                       
                              
                             
เตียงสองชั้น
เตียงสองชั้นได้รับความนิยมในบ้านเราไม่มากนัก แต่ก็มีบริษัทเฟอร์นิเจอร์มีชื่อหลายแห่งผลิตกัน อันตรายนอกจากเด็กๆ ขึ้นไปปีนป่ายชั้นบน กระโดดโลดเต้นแล้วตกลงมากัน แล้วก็พบในเด็กเล็กที่เสียชีวิตจากการนอนแล้วตกลงมาตามช่องว่างต่างๆ ลำตัวรอดได้แต่ศีรษะติดค้างเกิดการตายในท่าคล้ายแขวนคอ คล้ายการนอนในเตียงผู้ใหญ่ขวบ

ดังนั้น คำแนะนำการใช้เตียงสองชั้นที่พ่อแม่ต้องรู้ คือ ไม่ให้เด็กอายุน้อยกว่า ๖ ขวบ นอนชั้นบน

อย่าเลือกเตียงที่มีช่องว่างระหว่างขอบล่างของราวกัน ตกกับขอบบนของที่นอนเกินกว่า ๙ เซนติเมตร ข้อนี้สำคัญมาก ก่อนเลือกซื้อเตียงต้องตรวจสอบให้ดี เพราะกระทรวงอุตสาหกรรมยังไม่มีมาตรฐานตรวจสอบ หลายบริษัทที่มีชื่อเสียงก็ยังออกแบบเตียงผิดๆ มาวางขายกันทั่วไปหมด

ความปลอดภัยของเด็กยังต้องอาศัยให้พ่อแม่ศึกษาหาความรู้มากๆ สิ่งแวดล้อมและผลิตภัณฑ์รอบๆ ตัวเด็กยังอันตรายอยู่มาก

หน่วยงานและผู้ผลิตที่เกี่ยวข้องยังให้ความสนใจในเรื่องความปลอดภัยในเด็กอยู่น้อย 

 

  

ข้อมูลสื่อ

322-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 322
กุมภาพันธ์ 2549
บทความพิเศษ
ผศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์