• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แม่ พลังแห่งความรัก

แม่ พลังแห่งความรัก


คนที่รักแม่มากๆ เป็นคนเลวไม่ได้

เพราะไม่มีความรักใดๆ ในโลกที่ยิ่งใหญ่กว่าความรักของแม่ที่มีต่อลูก ในยามที่โลกแล้งรัก เพราะความอักเสบที่เกิดจากวัตถุนิยม บริโภคนิยมที่เกินเลย จิตใจมนุษย์ก็จะระส่ำระส่าย เพราะธรรมชาติของจิตใจมนุษย์ขาดความรักไม่ได้ ถ้าไม่รักใครและไม่มีใครรัก มนุษย์จะกลายเป็นคนเจ็บป่วย เมื่อเจ็บป่วยแล้วหันไปรักษาด้วยวิธีผิดๆ เช่น ยาเสพติด ยาบ้า ยาอี มั่วทางเพศ ติดเอดส์ เสพของแพงๆ ฟุ่มเฟือย เหล่านี้ล้วนเป็นอาการของจิตที่บกพร่อง ขาดความสมบูรณ์ในตัวเอง อ่อนแอ ขาดภูมิคุ้มกัน โรคจิตบกพร่องนี้แพร่หลายเต็มสังคม ต้องการการเยียวยา การเยียวยาคือการสร้างสนามพลังความรักในสังคม ถ้าสังคมมีสนามพลังความรักอ่อน ผู้คนก็จะเจ็บป่วย ถ้าบุคคลอยู่ในสังคมที่มีสนามพลังความรักแรงก็จะมีความสุขและมีภูมิคุ้มกันทางจิตใจ

ก็แล้วในโลกที่ไร้รักและสับสนนี้ จะสร้างสนามพลังความรักได้อย่างไร

ในสังคมที่สับสนวุ่นวาย เครียด ไม่มีเวลาที่ใครจะคิดถึงใคร และอะไรๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปหมดนี้ สิ่งที่คงทนต่อความเปลี่ยนแปลงมากที่สุด คือ ความรักที่แม่มีต่อลูก ทุกคนมีแม่ ทุกคนมีคนที่รักเรามากที่สุดในโลก ความรักของแม่เป็นความรักที่บริสุทธิ์ เป็นความรักที่ปราศจากเงื่อนไข เป็นความรักที่เหนือกาลเวลา แม้ตายไปแล้ววิญญาณของแม่ก็ยังตามรักลูกอยู่ตลอดไป แม่กลายเป็นมิติทางจิตวิญญาณที่อยู่กับลูก ถ้าลูกมีเครื่องรับมิติทางจิตวิญญาณของแม่ ลองนึกถึงแม่ดูสิครับ จะเกิดความรู้สึกสัมผัสอะไรที่ล้ำลึก บางทีขนลุก บางทีน้ำตาไหล เพราะท่านกำลังสัมผัสพลังอะไรสักอย่าง ก็สนามพลังความรักของแม่ที่มีต่อท่านและที่ท่านมีต่อแม่นั่นเอง ถึงแม้ความรักของลูกที่มีต่อแม่จะไม่เท่ากับความรักของแม่ที่มีต่อลูกและยังถูกบั่นทอนไปด้วยชีวิตยุ่งๆ หนักๆ ในสังคมปัจจุบัน ก็เป็นสิ่งที่ปลุกไม่ยาก เพราะเป็นร่องรอยที่ฝังลึกอยู่ในจิตใจในสายสัมพันธ์ที่ล้ำลึกระหว่างแม่กับลูก

ลูกก่อกำเนิดมาจากเซลล์และดีเอ็นเอของแม่ อยู่ในร่างกายของแม่ ได้อาหารและพลังงานมาจากกระแสเลือดของแม่ ความรักทุกๆ อณูของแม่ที่มีต่อลูกในครรภ์จะสัมผัสสัมพันธ์กับชีวิตที่ค่อยๆ เติบโตขึ้น การเต้นตึ้กๆๆ ของหัวใจของแม่กระตุ้นสมองของลูกให้งอกงามขึ้น มนุษย์เป็นสัตว์ที่อยู่รอดด้วยตนเองเมื่อแรกคลอดไม่ได้ แต่อยู่รอดมาได้เพราะการประคบประหงมของแม่ น้ำนมของแม่มีสารที่ช่วยให้ภูมิคุ้มกันของลูกเข้มแข็งไม่เจ็บป่วยง่ายๆ สายตาแม่ลูกที่ประสานกันขณะลูกดูดนมแม่ด้วยความสุขคือสายใยของความรัก การโอบกอดของแม่ รอยยิ้มและการพูดคุยกระหนุงกระหนิง กระตุ้นโครงสร้างสมองของลูกให้แตกกิ่งก้านสาขา โครงสร้างในสมองของลูกที่กำหนดจิตใจต่อไปในอนาคตได้มาจากสัมผัสและการเลี้ยงดูของแม่ สายสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลุกทั้งรูปธรรมและนามธรรมจึงล้ำลึกสุดพรรณนา คำแรกที่เด็กทุกคนทั่วโลกพูดได้ คือ “แม่” ไม่ว่าในภาษาใดๆ เพราะแม่คือปฐมฐานของลูก ความสุขของลูก คือ การได้อยู่ใกล้แม่ ได้ช่วยแม่ทำอะไรๆ ไม่ว่าจะทำกับข้าว หรือทำงานอื่นๆ ครอบครัวอบอุ่นเป็นฐานการพัฒนามนุษย์ที่สำคัญ มนุษย์เมื่อโตขึ้นแล้วเจริญไปได้แม้เพียงใด ก็เพราะฐานที่มาจากแม่และพ่อ ดังที่บรรยายมาดังนี้

ชีวิตของท่านแม้ยุ่งด้วยประการใดๆ ลองหยุดแล้วคิดถึงแม่ ดังที่อธิบายมานี้ เมื่อคิดถึงแม่จะมีกระแสพลังเข้ามาสู่ตัวท่าน เพราะความรักของแม่ที่มีต่อตัวท่านนั้นเป็นมิติทางจิตวิญญาณ ถ้าท่านมีจิตใจที่มีเครื่องรับความรักของแม่ ความรักของท่านก็แล่นเข้าสู่ตัวท่านได้เหมือนเคย ตัวท่านถูกโปรแกรมมาด้วยความถนอมรักของแม่ ความสุข ความอบอุ่นที่ได้รับในอ้อมอกของแม่ได้ฝังร่องรอยอยู่ในตัวท่าน ยามที่ท่านยุ่งจนไม่มีเวลานึกถึงแม่ ความรักความอบอุ่นก็ดูจะเหือดแห้งไป แต่ยามใดที่คิดถึงแม่ร่องรอยหรือโปรแกรมเก่าในตัวท่านก็จะส่งความรู้สึกอบอุ่นเหมือนเคยเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก


ความรักแม่เป็นมงคลชีวิต

ถ้าเราไม่รักแม้คนที่รักเราอย่างยิ่งใหญ่ที่สุดและบริสุทธิ์ที่สุดอย่างแม่ของเราแล้วเราจะมีมงคลในชีวิตได้อย่างไร คนที่รักแม่จะเป็นคนดี เป็นคนโชคดี เป็นคนผ่องใส เป็นคนมีราศี ไม่เศร้าหมอง เพราะมีความเป็นมงคลชีวิต คนที่รักแม่มากๆ เป็นคนเลวไม่ได้ ถ้าคำนึงถึงความรักอันบริสุทธิ์และยิ่งใหญ่ที่แม่มีต่อเรา เราจะทำร้ายคนอื่นได้อย่างไร เพราะคนๆ นั้นก็เป็นที่รักสุดจิตสุดใจของแม่ของเขา แม่เขาก็รักเขาเช่นเดียวกับที่แม่เรารักเรา ถ้าคิดได้อย่างนี้ เราก็จะทำร้ายคนอื่นไม่ได้


แม่เป็นสัญลักษณ์ของความดีงาม

แม่เป็นสัญลักษณ์ของความดี ความงาม ความยิ่งใหญ่ อะไรที่ดีงาม ยิ่งใหญ่ จึงใช้คำว่า “แม่” เช่น แม่ธรณี แม่คงคา แม่น้ำพระแม่ธรรมชาติ (Mother Nature) หรือแม้แต่เป็นเพศชาย เช่น แม่ทัพ ก็ยังเอาคำว่าแม่ไปใช้ เมื่อ “แม่” หมายถึงความดี ความงาม ความยิ่งใหญ่ และเราทุกคนก็มีแม่ คือ มีความดี ความงาม ความยิ่งใหญ่อยู่กับเราแล้ว เราจึงควรเอาจิตของเราเชื่อมกับความดี ความงาม ความยิ่งใหญ่นั้น จนเป็นกระแสที่เชื่อมกับความดี ความงามเป็นวิสัย ทำให้เราทำความชั่วไม่ได้ ถ้าเราทำความไม่ดี คนที่เสียใจมากที่สุดคือแม่ของเรา แม้วิญญาณแม่ก็ไม่มีความสุข ถ้าเรารักแม่ เราต้องไม่ทำความไม่ดี ไม่ทำร้ายคนอื่นๆ และไม่ทำร้ายตัวเอง เช่น ติดยาเสพติดหรืออื่นๆ


สนามพลังความรัก

เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก ความเมตตา ความเป็นมิตร ความรัก เป็นพลังสมานสังคมไว้ด้วยกัน ปัญหาใหญ่ของโลกทุกวันนี้คือความแตกสลายทางสังคม (social disintegration) เช่น ความแตกสลายของครอบครัว ความแตกสลายของชุมชน ความแตกสลายของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในที่ทำงานและในสังคมที่ใหญ่ออกไป ความแตกสลายทางสังคมทำให้มนุษย์ขาดความอบอุ่นและขาดภูมิคุ้มกัน ทั้งทางจิตใจ ทางเศรษฐกิจ และทางศีลธรรม เป็นต้นเหตุให้เกิดความเครียด การติดยาเสพติด ความรุนแรง และความไร้ศีลธรรมต่างๆ การส่งเสริมให้มีความเป็นปึกแผ่นทางสังคม (social integration) จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ควรทำความเข้าใจ

ที่แล้วมาทิศทางของสังคม คือ มุ่งที่การหาเงิน หรือหาความร่ำรวยอย่างเดียว ถ้ารวยโดยไม่ต้องรู้ และรวยโดยไม่ต้องรัก สังคมก็แตก ธรรมชาติก็แตก สังคมระงมไปด้วยโลภจริตจนไม่รู้จักว่าความรักเป็นอย่างไร สังคมที่เหือดแห้งความรักก็วิกฤติอย่างที่กำลังวิกฤติอยู่นี้ฉะนั้นการส่งเสริมให้เกิดความรัก ความเอื้ออาทรต่อกันจึงเป็นยุทธศาสตร์ใหญ่ของประเทศ สิ่งนี้เราอาจจะไม่เคยได้ยิน ได้ฟัง เราเคยได้ยินแต่ยุทธศาสตร์หารพัฒนาเศรษฐกิจที่นั่นที่นี่ สามเหลี่ยมนั้นสามเหลี่ยมนี้ ในยามที่เศรษฐกิจกำลังวิกฤติอยู่อย่างในขณะนี้ ซึ่งจะนำไปสู่ความปั่นป่วนทางสังคมอย่างหนัก


ควรต้องแก้ไขด้วยวัฒนธรรม

วัฒนธรรมอย่างหนึ่ง คือ การมีความเอื้ออาทรหรือมีความรักความเมตตาต่อกัน ยามที่กำลังหน้ามืดด้วยความโลภ พูดถึงเรื่องความรักความเอื้ออาทรก็ไม่มีใครฟัง แต่ยามนี้อาจะเข้าใจได้ง่ายขึ้น หากสังคมเต็มไปด้วยความรักความเอื้ออาทรต่อกันแล้วก็อยู่ได้ ฟื้นตัวได้ และจะดีกว่าเดิม ในสังคมที่อาจจะลืมไปแล้วว่าความรักความเอื้ออาทรต่อกันนั้นคืออย่างไร แม่คือคำตอบ เพราะแม่คือสัญลักษณ์ของความรักอันยิ่งใหญ่อย่างที่มนุษย์ทั้งหมดไม่มีใครปฏิเสธได้ และแม่ยังฝังลึกอยู่ในจิตใจของมนุษย์ทุกคนที่ล้วงเอาออกมาใช้ได้ง่ายที่สุด ถ้าถูกกระตุ้นให้คิดถึงแม่ก็เหมือนกับไปเปิดโปรแกรมแห่งความรักในเบื้องลึกของจิตใจของคนทุกคน

ควรจะมีการกระตุ้นให้สังคมสร้างความรักให้เต็มสังคม เป็นสังคมที่มีสนามพลังความรัก แทนที่สนามพลังความโลภ นำเอาความรักที่แม่มีต่อลูกและลูกมีต่อแม่ แผ่ไปให้เป็นความรักสากล คือความรักต่อเพื่อนมนุษย์และต่อสรรพสิ่งทั้งหมด ให้เมตตาธรรมหรือมิตรภาพธรรมแผ่เป็นรังสีปกคลุมสังคมไทย รัฐบาลควรจะมีนโยบายที่จะส่งเสริมการสร้างพลังความรักในสังคม สื่อมวลชน โดยเฉพาะโทรทัศน์ซึ่งมีส่วนสร้างค่านิยมทางวัตถุนิยม บริโภคนิยมอย่างมาก ควรจะหันมาสร้างสนามพลังความรักในสังคมให้มากที่สุด คณะนิเทศศาสตร์ต่างๆ ควรจะติดตาม ประเมินและให้คะแนน (rating) ว่าสถานีใดมีสถานภาพในการสื่อวัฒนธรรมความรักความเอื้ออาทรในสังคมเท่าใด สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) ควรสนับสนุนคณะนิเทศศาสตร์ ให้ทำหน้าที่เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมดังกล่าว และนำผลมารายงานต่อสาธารณะเป็นระยะๆ นักสร้างสรรค์(ครีเอทีฟ) แทนที่จะไปสร้างสรรค์เฉพาะที่จะทำให้ประชาชนอยากบริโภคนั่นบริโภคนี่ทำนอง “ความสุขที่คุณดื่มได้” หรือ “ไอ้ฤทธิ์มันอยากกินแบ็ลก” ก็หันมาสร้างสรรค์ความรักความเอื้ออาทรโดยได้รับค่าตอบแทน เพราะสถานีต่าง ๆ ต้องแข่งกันและได้รับการตรวจสอบในการสื่อความรัก การโฆษณาสินค้าต่างๆ ก็สามารถสอดแทรกวัฒนธรรมความรักความเอื้ออาทรเข้าไปได้ใช่ว่าจะต้องทำแต่การกระตุ้นกิเลสตัณหาเท่านั้น ที่พูดมานี้คือการถักทอความดี ตั้งแต่นโยบายมาถึงสื่อ มาถึงวิชาการ มาถึงองค์กรทางวัฒนธรรม มาถึงนักครีเอทีฟ มาถึงธุรกิจการค้า ความดีไม่ถักทอกันจึงไม่มีพลัง แต่ความชั่วนั้นถักทอกันอย่างเหนียวแน่นจึงมีพลังมาก สังคมใดที่ความชั่วมีพลังมาก แต่ความดีมีพลังน้อย ย่อมวิ่งไปสู่ความเสื่อมเป็นนิตย์ อย่าลืมว่าความดีไม่ใช่ลอยละล่องไปคนละทางสองทาง แต่ต้องมาถักทอกันให้เป็นโครงสร้างความดีจึงจะมีพลัง


ครอบครัวอบอุ่น

เมื่อเป็นเด็กผมอยู่กับพ่อแม่ที่บ้านริมภูเขา แม่น้ำแควน้อย จังหวัดกาญจนบุรี มีความสุขมาก เมื่อผมมาเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาที่กรุงเทพฯ ก็รอวันปิดเทอม จะได้กลับไปอยู่กับพ่อแม่ที่บ้านในป่ากาญจนบุรี ถึงเวลาโรงเรียนเปิดเทอมก็ไม่อยากจะกลับมา เพราะอยู่กับพ่อแม่เป็นความสุข การพลัดพรากหรือการจากกันเป็นความทุกข์ สิ่งนี้ฝังอยู่ในจิตใจผมเป็นร่องลึก เพราะนานๆ ก็ยังฝันว่ากลับบ้าน แล้วพอโรงเรียนเปิดเทอมก็ไม่อยากจากบ้านมา ที่โรงพยาบาลศิริราชผมเคยรักษาเด็กผู้หญิงคนหนึ่งอายุประมาณ ๑๗ ปี แกเป็นลิวคีเมียหรือมะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งเป็นโรคร้าย รักษากันจนโทรมหมด วันหนึ่งผมเห็นแกอาการหนักก็บอกว่าควรจะอยู่รักษาตัวในโรงพยาบาล

“คุณหมออย่าให้หนูอยู่โรงพยาบาลเลย” เด็กผู้หญิงคนนี้พูด

“อยู่โรงพยาบาล เวลาหนูไม่สบายมากไม่มีใครช่วย อยู่บ้านเวลาไม่สบายยังมีแม่คอยกอดหนูไว้”

เด็กคนนี้ตายไปนานแล้ว แต่ผมไม่ลืมคำพูดของแกเลย “เวลาไม่สบายยังมีแม่คอยกอดหนูไว้” การกอดของแม่มีค่าสูงสุด ไม่ใช่สิ่งอื่น

เมื่อพูดถึงตอนนี้ทำให้นึกถึงคนไข้ผู้ชายอีกคนหนึ่งที่ตึกอัษฎางค์โรงพยาบาลศิริราช แกเป็นโรคตับมาจากชัยภูมิ แกจนมาก ภรรยามาส่งแล้วก็กลับไป ก่อนกลับภรรยาพูดว่า

“ถ้าแกตาย เราก็จากกันแค่นี้ ถ้าแกหาย แกก็หาทางกลับบ้านเอาเองแล้วกัน”

หลายปีมาแล้วผมไปเยี่ยมชาวบ้านที่อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ชาวบ้านที่นั่นถูกอพยพมาเมื่อตอนสร้างเขื่อนอุบลรัตน์ ตามปกติชาวบ้านจะตั้งบ้านเรือนอยู่ตามริมน้ำเพราะสะดวกในการทำมาหากิน อยู่มาเป็นร้อยๆ พันๆ ปี เพราะความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ แต่เมื่อสร้างเขื่อนบริเวณที่บรรพบุรุษเคยอยู่กันมา ไร่นาสาโท ต้นหมากรากไม้ถูกน้ำท่วม ต้องอพยพไปอยู่ที่สูง บนที่สูงกันดาร แห้งแล้ง ทำมาหากินไมได้ผล จึงยากจนลง ไปเจอเด็กอยู่ครอบครัวหนึ่งอยู่กันตามลำพัง พ่อแม่ไปรับจ้างตัดอ้อยที่เมืองกาญจนบุรี ไปหลายเดือนแล้วไม่รู้เมื่อไรจะกลับ พี่ชายคนโตชื่อ “บุญน้อม” อายุประมาณ ๑๒-๑๓ ขวบ ไม่ได้ไปโรงเรียนเพราะต้องไปหาจับปลาเลี้ยงน้องหลายคน

“บุญน้อมอยากไปโรงเรียนไหม” พวกเราคนหนึ่งถามขึ้น

ไม่มีเสียงตอบจากบุญน้อม มีแต่น้ำตาร่วงเผาะๆ

เวลานี้เด็กชนบทที่น้ำตาร่วงนั้นมีเต็มแผ่นดิน รอว่าเมื่อไรพ่อแม่จะกลับมา ความจากความพรากเป็นทุกข์อย่างยิ่ง การพัฒนาเศรษฐกิจไม่ใช่นึกถึงแต่ “เงิน” อย่างเดียว เศรษฐกิจไม่ใช่เงินอย่างเดียว เศรษฐกิจหมายถึงความดี ความเจริญ ความดีความเจริญของมนุษย์อย่างหนึ่งคือการได้อยู่เดียวกันเป็นครอบครัว พ่อแม่ลูกปู่ย่าตายาย การพัฒนาอาชีพไม่ใช่นึกถึงแต่เรื่องเงินอย่างเดียว แต่ต้องคิดถึงความอบอุ่นของครอบครัวด้วย อาชีพที่ทำอยู่กับบ้านหรือทำใกล้บ้านที่ครอบครัวได้อยู่ด้วยกันด้วยความอบอุ่นมีค่ามากกว่างานที่ต้องพลัดพรากจากกัน การพรากจากกันเป็นต้นทุนทางจิตใจและสังคมที่สูงมาก เงินบาทต่อบาทในสภาพต่างๆ มีค่าไม่เท่ากัน

ทุกวันนี้เราพัฒนาเศรษฐกิจที่ทำให้ครอบครัวพลัดพรากจากกัน ที่พดว่าความแตกสลายทางสังคม (social disintegration) นั้นเกิดจากวิธีการทางการพัฒนาเศรษฐกิจ เมื่อพูดถึงความรักระหว่างพ่อแม่ลูก ความเอื้ออาทร ความเป็นครอบครัวอบอุ่น ไม่ใช่พูดเป็นนามธรรมอย่างเดียว แต่รูปธรรมทางการพัฒนาเศรษฐกิจกระแทกอยู่โครมๆ ที่จะทำให้สิ่งเหล่านั้นแตกแยกจากกันไป ก็ไม่เกิดความสำเร็จ การพัฒนาเศรษฐกิจมีพลังสูงยิ่ง ถ้าเศรษฐกิจเป็นเศรษฐกิจที่ไร้ศีลธรรม (amoral economy) ความไร้ศีลธรรมก็จะบังเกิดขึ้น แต่ถ้าเศรษฐกิจเป็นเศรษฐกิจศีลธรรม (moral economy) จะเป็นพลังอย่างแรงในการทำนุบำรุงศีลธรรม ในการคิดถึงเศรษฐกิจและศีลธรรมไม่ควรจะคิดแบบแยกส่วนว่า เศรษฐกิจเป็นเรื่องของนักธุรกิจ ส่วนศีลธรรมเป็นเรื่องของพระ อย่างนี้ไม่มีวันสำเร็จ ต้องคิดอย่างบูรณาการเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับศีลธรรมเข้าด้วยกันเป็นเศรษฐกิจศีลธรรม

จึงใช้คำว่า ถักทอ ต้องถักทอเรื่องต่างๆ และสิ่งต่างๆ ในสังคมเข้ามาด้วยกัน ไม่ใช่เป็นสังคมเครื่องหลุดที่ส่วนต่างๆ หลุดออกจากกันเป็นส่วนๆ เราพูดเรื่องความรักที่แม่มีต่อลูกและลูกมีต่อแม่ อันเป็นพลังความรักที่แรงที่สุดของมนุษย์ชาติ แต่เราไม่คิดแค่นามธรรมเท่านั้น ต้องเชื่อมโยงไปสู่เศรษฐกิจชนิดที่สนับสนุนให้ครอบครัวอบอุ่น อันเป็นรูปธรรมในการสร้างฐานความรักความเอื้ออาทรในสถาบันทางสังคมที่เป็นพื้นฐานที่สุดและสำคัญที่สุด คือ สถาบันครอบครัว

จะต้องนำความเป็นปึกแผ่นของครอบครัวมาเป็นเครื่องชี้วัดหรือดรรชนีของการพัฒนา เราวัดอย่างไรสังคมก็จะมีพฤติกรรมไปตามนั้น ถ้าเราวัดเฉพาะความเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคมก็จะพัฒนาแต่เศรษฐกิจที่วัดได้ด้วยเงิน แต่ไม่สนใจเรื่องความอบอุ่นของครอบครัว ถ้าอยากให้ครอบครัวอบอุ่นก็ต้องสร้างเครื่องชี้วัดความอบอุ่นของครอบครัวว่าครอบครัวมีความเป็นปึกแผ่นและอบอุ่นวัดได้อย่างไร และนำมาวัดกัน สังคมก็จะดำเนินไปตามการวัดนั้น


ชุมชนเข้มแข็ง

ในหมู่บ้านเมื่อมีโจร ๓-๔ คน มีปืน คอยขโมยควายของชาวบ้าน ถ้าชาวบ้านคอยพึ่งแต่ตำรวจ ควายก็คงจะหายเรื่อยๆ หรือเจ้าของควายอาจถูกโจรยิงตาย เพราะตำรวจอยู่ห่างไกล ไม่รู้จะมีจิตใจอยากช่วยชาวบ้านแค่ไหน นี้เรียกว่าชุมชนไม่เข้มแข็ง ซึ่งจะมีปัญหาต่างๆ เรื่อยไป แต่ถ้าชาวบ้านรวมตัวกันให้เข้มแข็งและจัดระบบการอยู่ร่วมกัน ขโมยก็จะขโมยควายไม่ได้ ถ้าชาวบ้านจัดระบบเวรยามตีเกราะเคาะไม้หรือให้สัญญาณด้วยวิธีที่ทันสมัย ชาวบ้านทั้งหมู่บ้านตื่นขึ้นมาช่วยกันไล่โจร ๓-๔ คน นั้นก็จะทำอะไรไม่ได้

ขณะนี้ป่าไม้ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่าอย่างยิ่ง เป็นมรดกตกทอดมาแต่บรรพบุรุษ และคนรุ่นปัจจุบันจะต้องอนุรักษ์ไว้ เพื่อส่งมอบให้ลูกหลานที่จะเกิดมาในอนาคต มนุษย์กับธรรมชาติจะต้องอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลจึงจะมีความผาสุก แต่ป่าไม้ของเราถูกทำลายอย่างยับเยินและรุนแรง พลังที่จะทำลายป่านั้นรุนแรงมาก เจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่ดีๆ ถูกฆ่าตายหรือฆ่าตัวตายไปเท่าไรแล้ว เพราะเราไปใช้ความคิดที่ว่ารัฐเท่านั้นที่จะรักษาทรัพยากรไว้ได้ มีตัวอย่าง เป็นอเนกอนันต์ที่แสดงว่าเมื่อชุมชนเข้มแข็งเท่านั้นจึงจะรักษาทรัพยากรธรรมชาติไว้ได้ ที่ดอยสามหมื่น จังหวัดเชียงใหม่ คนที่จะทำลายป่า มีรถ มีเลื่อย มีปืน มีเครื่องมือติดต่อ มีเงิน แต่เมื่อพลังที่จะทำลายป่านี้ไปเจอชาวบ้านรวมตัวกันอยู่นับพันคน พลังความไม่ดีก็ต้องยุติลง


ความเข้มแข็งของชุมชนเป็นเครื่องยุติความชั่ว

ที่อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง การทำลายป่าชายเลนเพราะการให้สัมปทานผู้มีอิทธิพลไปตัดไม้ทำถ่าน และการที่เรือประมงขนาดใหญ่มาลากอวนประชิดชายฝั่ง ครูดเอาหญ้าทะเลไปด้วย เมื่อทั้งป่าชายเลนและหญ้าทะเลร่อยหรอไป ปูปลาไม่มีที่จะอนุบาลตัวอ่อน ชาวประมงมุสลิมที่ยากจนชายฝั่งก็จนลงไปอีกไม่มีอะไรจะกิน รัฐไม่สามารถรักษาสิ่งแวดล้อมที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้าน แต่มาบัดนี้ชาวบ้านรวมตัวกันเป็นชุมชนที่เข้มแข็งป้องกันเรือประมงขนาดใหญ่ไม่ให้มาลากอวนชายฝั่ง ใส่ปะการังเทียม นำหญ้าทะเลมาเพาะเลี้ยง จนธรรมชาติใต้ทะเลกลับคืนมา ปูปลามาอยู่ชุกชุม แม้แต่ตัวพะยูนที่ชาวบ้านให้ชื่อว่า “โทน” ก็มา ชาวบ้านมีอยู่มีกินมีความสุข และสามารถอนุรักษ์ชายฝั่งทะเลขยายตัวออกไปทั้งทางทิศเหนือและทางทิศใต้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ชุมชนเข้มแข็งเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และการเมืองพร้อมกันอย่างเป็นบูรณาการ ชุมชนเข้มแข็งเป็นเหตุให้ครอบครัวเข้มแข็งและบุคคลเข้มแข็ง ทำให้สังคมเป็นปึกแผ่น (social integration) ฉะนั้นจึงต้องเชื่อมโยงทุกๆ มิติในสังคมเข้ามาถักทอให้ชุมชนเข้มแข็ง อันได้แก่

- มิติทางจิตวิญญาณ

- หลักธรรม

- รัฐธรรมนูญ

- กฎหมายอื่นๆ

- การพัฒนาเศรษฐกิจ

- การศึกษา

- การสาธารณสุข

- การสื่อสารมวลชน และนิเทศศาสตร์

- ศิลปะการกีฬา

- การวิจัยติดตามประเมินผล

เหล่านี้ควรถักทอกันเข้ามาส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมและการเมืองพร้อมกันไปอย่างเป็นบูรณาการ ทำให้ความรักความเอื้ออาทรต่อกันเป็นไปได้และยั่งยืน

ทุกวันนี้สิ่งต่างๆ ได้หลุดแยกแตกจากกันไป ประดุจเป็นสังคมเครื่องหลุด ทำให้สังคมไทยถลำเข้าไปสู่วิกฤตการณ์ทั้งทางเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และการเมือง ทำให้สังคมไทยขาดแคลนความรักความเอื้ออาทรต่อกัน ลูกก็ดูเหมือนไม่รักพ่อแม่แล้ว เพราะเหนื่อย ยุ่ง และโลภเกิน อันเป็นความวิปริตและวิบัติแห่งความเป็นมนุษย์ เราไม่สามารถพัฒนาโดยเอา “เงิน” เป็นตัวตั้งอีกต่อไป แต่ควรจะเอาวัฒนธรรมแห่งความรักความเอื้ออาทรเป็นตัวตั้ง เริ่มจากความรักของแม่ที่มีต่อลูกและความรักของลูกที่มีต่อแม่ แผ่ไปเป็นความรักอันไพศาล เชื่อมโยงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเข้ามาถักทอให้ครอบครัวและชุมชนเป็นปึกแผ่น ความเป็นปึกแผ่นของครอบครัวและชุมชนเป็นรูปธรรมของสังคมที่มีความรักความเอื้ออาทร


สปิริตแห่งการเป็นอาสาสมัครสังคม

สปิริตแห่งการเป็นอาสาสมัครเพื่อสังคมเป็นรูปธรรมของความรักความเอื้ออาทร ควรมีการเป็นอาสาสมัครไปช่วยทำงานเพื่อสังคมในรูปต่างๆ เช่น ไปช่วยคนจน ไปช่วยเด็กกำพร้า ไปช่วยเด็กเร่ร่อน ไปช่วยคนเป็นเอดส์ คนเป็นมะเร็ง คนไข้ในโรงพยาบาล คนติดคุกหรือทำงานทางสังคมในรูปแบบอื่นๆ รัฐบาลควรมีนโยบายให้นักเรียน นิสิต นักศึกษาเป็นอาสาสมัครเพื่อสังคม ให้ข้าราชการเป็นอาสาสมัครเพื่อสังคม ภาคธุรกิจควรให้พนักงานลางานไปเป็นอาสาสมัครเพื่อสังคม การมีสปิริตแห่งการเป็นอาสาสมัครเพื่อสังคมนี้ทำให้สังคมเย็นลง ถึงมีความทุกข์เท่าใด ถ้ามีคนมาร่วมทุกข์ก็ทำให้ทุกข์ลดน้อยลงหรือหายไปได้ การร่วมทุกข์จะทำให้สัมผัสความจริงและเกิดปัญญารู้ความจริง ทำให้ทำได้ถูกต้อง ถ้าสังคมเราเป็นสังคมแห่งความเป็นแม่ หรือสังคมแห่งความรักความเอื้ออาทรแล้ว ควรมีการส่งเสริมสปิริตแห่งการเป็นอาสาสมัครเพื่อสังคม เพื่อให้เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก

บทความนี้เขียนขึ้นเนื่องในงานวันแม่แห่งชาติ ซึ่งถือเอาวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระยางเจ้าพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชินีทรงเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นแม่ แม่เป็นสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่ สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันทางจิตวิญญาณ สังคมไทยจะต้องรู้จักถักทอมิติทางจิตวิญญาณ หลักธรรมและรัฐธรรมนูญกฎหมายอื่นๆ นโยบายของรัฐบาล การพัฒนาเศรษฐกิจ การสื่อสารมวลชนและนิเทศศาสตร์ การศึกษา การสาธารณสุข ศิลปะและการกีฬา สปิริตแห่งการเป็นอาสาสมัครเพื่อสังคม ตลอดจนการวิจัยและประเมินผลเข้าไป ส่งเสริมให้เกิดความเป็นปึกแผ่นทางสังคม อันได้แก่ ครอบครัวอบอุ่นและชุมชนเข้มแข็ง ครอบครัวอบอุ่นและชุมชนเข้มแข็งเป็นรูปธรรมของสังคมที่มีความรักความเอื้ออาทรต่อกัน

ทุกคนมีแม่ แม้แม่ตายไปแล้วแม่ก็ยังอยู่ เพราะแม่เป็นมิติทางจิตวิญญาณของความรักและความดีอันสูงสุด ถ้าเรานึกถึงแม่แม่ก็ยังอยู่ ในวันแม่แห่งชาติ ขอให้ทุกคนคิดถึงแม่ของตน และคิดถึงต่อๆ ไปทุกวัน การคิดถึงแม่นั้นเป็นมงคล และให้พลัง เพราะแม่คือจิตวิญญาณของความรักและความดีอันสูงสุด ถ้าคิดถึงแม่ทุกวันจิตวิญญาณแห่งความรักและความดีอันสูงสุด ก็จะเข้ามาอยู่ในตัวเรา และถ้าเราทุกๆ คนทำเช่นนั้น สังคมก็จะมีจิตวิญญาณ แห่งความรักและความดีอันสูงสุด สนามพลังแห่งความรักและความดีในสังคมจะช่วยให้สังคมมีปัญญาที่จะถักทอทุกสิ่งทุกอย่างเข้ามาเชื่อมโยงกัน เกิดเป็นสังคมที่เข้มแข็ง อันมีความรักและความดีแผ่สร้านอยู่ทั่วไปเป็นปกติ

แม่ จึงเป็นพลังความรัก ความดี และความสร้างสรรค์ ด้วยประการฉะนี้

ข้อมูลสื่อ

220-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 220
สิงหาคม 2540
ศ.นพ.ประเวศ วะสี