• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

รักต้องลุ้น

รักต้องลุ้น
 

มีคนถามข้าพเจ้าบ่อยๆว่า “สตรีที่ทำหมันแล้ว หากมีรักใหม่ จะสามารถแก้หมันได้ไหม?” ข้าพเจ้ามักจะตอบว่า “ได้อย่างแน่นอน แต่ต้องลุ้นสักหน่อยนะ เพระเมื่อตั้งครรภ์ขึ้นมาแล้วต้องระวังอันตราย”

"อันตรายจากอะไร” คือ คำถามที่มักจะตามมา จากนั้น ข้าพเจ้าจึงจำเป็นต้องร่ายยาวความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับการทำหมันให้ฟังว่า “การทำหมันของสตรี หมายถึง การผูกและตัดส่วนกลางๆของท่อนำไข่ เพื่อตัดทางคมนาคมของ “ตัวอสุจิ” ไม่ให้ผ่านไปทางส่วนปลายของท่อนำไข่ รวมทั้งสกัดกั้นไม่ให้ “ไข่” ผ่านเข้ามาในส่วนต้นของท่อนำไข่ด้วย พูดง่ายๆ คือ ทำให้ “ไข่” และ “อสุจิ” ไม่มีโอกาสได้พบกันอันจะนำไปสู่การปฏิสนธินั่นเอง (ปกติการปฏิสนธิของไข่และอสุจิจะเกิดขึ้นครั้งแรก ภายในท่อนำไข่)

ส่วนการแก้หมันของสตรี ก็คือ การตัดต่อเชื่อมปลายทั้ง ๒ ของท่อนำไข่ที่ขาดจากกันภายหลังทำหมัน ให้ส่วนภายในของท่อนำไข่สามารถติดต่อคมนาคมถึงกันได้ โดยที่ความสำเร็จจะขึ้นอยู่กับเทคนิค วิธีการ และสภาพของท่อนำขี่เหลืออยู่ในตอนนั้น ปัญหายุ่งยากที่อาจเกิดตามมามักเป็นผลมาจากส่วนภายในท่อบริเวณที่ทำการผ่าตัดต่อนั้นไม่เรียบ และรูติดต่อแคบกว่าส่วนอื่นของท่อนำไข่ “อสุจิ” ซึ่งมีขนาดเล็กมาก สามารถผ่านออกไปได้ แต่ “ตัวอ่อน” ที่เกิดจากการปฏิสนธิมีขนาดใหญ่กว่า ไม่สามารถผ่านกลับเข้ามาได้และฝังตัวในบริเวณนั้น เกิดเป็น “การตั้งครรภ์ภายในท่อนำไข่” หรือที่เรียกว่า “ท้องนอกมดลูก” ตามที่คนทั่วๆไปได้ยินกันอยู่บ่อยๆ

การตั้งครรภ์ภายใน “ท่อนำไข่” ไม่สามารถเจริญเติบโตได้นานเพราเนื้อที่มีน้อย ตั้งครรภ์ได้ประมาณ ๖-๘ สัปดาห์ ท่อนำไข่จะแตกและมีการตกเลือดเข้าไปในช่องท้องนี่เองที่เรียกว่า “อันตราย” คนไข้อาจตายได้จากการเสียเลือดมาก หากช่วยเหลือไม่ทัน

คืนหนึ่ง ข้าพเจ้าได้รับเรียกให้ติดต่อกลบไปห้องฉุกเฉิน เมื่อติดต่อกลับไป แพทย์ฝึกหัดได้รายงานอย่างตื่นเต้นว่า

“มีคนไข้สงสัยท้องนอกมดลูกและช็อกด้วยมาห้องฉุกเฉิน ถูกส่งตัวมาจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง”

“ค่อยๆเล่าประวัติคนไข้ให้ฟังอย่างละเอียดก่อนได้ไหม ใจเย็นๆ” ข้าพเจ้าพูดปลอบโยนกลับไป

“ผู้หญิงไทยอายุ ๓๐ ปี เคยต่อหมันที่โรงพยาบาลตำรวจ เมื่อ ๑ ปีก่อน ผลการรักษาสามารถต่อท่อนำไข่ได้ทั้ง ๒ ข้าง แต่การพยากรณ์โรคไม่ดี เนื่องจากทดสอบโดยการฉีดเข้าในโพรงมดลูก สีสามารถผ่านรอบท่อของท่อนำไข่ออกไปสู่ส่วนปลายได้น้อยมาก”

“ขณะนี้คนไข้ตั้งครรภ์ได้ประมาณ ๑๖ สัปดาห์ มาโรงพยาบาลด้วยเรื่องปวดท้องน้อยมาก ปวดตลอดเวลา ปวดร้าวมาบริเวณที่ลิ้นปี่ หน้าตา เนื้อตัว ซีดเซียว ลุกขึ้นนั่งจะหน้ามืด มีคลื่นไส้อาเจียนด้วย ก่อนหน้านี้ ๒ ชั่วโมง ได้ไปที่โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท หมอวินิจฉัยเป็นท้องนอกมดลูก และคนไข้บอกว่า จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดด่วนมิฉะนั้นอาจตายได้ แต่เนื่องจากคนไข้มีปัญหาด้านการเงิน ทางโรงพยาบาลจึงส่งต่อมารักษาที่เรา”

“ไม่ว่าที่อื่นจะตรวจวินิจฉัยมาอย่างไร เราต้องตรวจใหม่ทุกครั้ง และต้องเชื่อถือผลการตรวจร่างกายของเรามากกว่าเสียด้วย” ข้าพเจ้าสอนแพทย์ฝึกหัดไม่ให้เชื่อถืออะไรง่ายๆ แพทย์จะต้องเชื่อถือและมั่นใจในผลการตรวจของตัวเอง

"เดือนที่แล้วคนไข้เคยมาตรวจครรภ์ที่โรงพยาบาลตำรวจครั้งหนึ่ง มีการตรวจอัลตราซาวนด์ทางช่องคลอดด้วย ผลพบว่า ทารกมีขนาดประมาณ ๙ สัปดาห์ และหัวใจเต้นปกติดี” แพทย์ฝึกหัดรายงานประวัติตามที่บันทึกไว้

พูดมาถึงตรงนี้ ข้าพเจ้าขัดจังหวะขึ้นว่า “นั่นแสดงว่าน่าจะตรวจพบทารกอยู่ในโพรงมดลูก จึงไม่ได้ให้ข้อสังเกตไว้ แล้วเธอจะยังนึกถึงว่า เป็นท้องนอกมดลูกอีกหรือ”

“แต่ว่าตรวจหน้าท้องของคนไข้เป็นลักษณะเหมือนมีการตกเลือดภายในช่องท้อง ผลการตรวจภายในก็สอดคล้องกัน คล้ายกับบริเวณปีกมดลูกมีการฉีกขาดและเลือดออกอย่างนั้น” แพทย์ฝึกหัดพูดแย้งไปตามที่ได้ตรวจร่างกายคนไข้มา

“กรณีเช่นนี้ อาจเป็นไปได้ที่มีการตั้งครรภ์บริเวณมุมบนของโพรงมดลูกอันเป็นรอยต่อระหว่างมดลูกกับท่อนำไข่ (Cornual Pregnancy) ซึ่งสามารถตั้งครรภ์ได้ถึง ๑๔-๑๖ สัปดาห์ แล้วจึงจะเกิดปัญหาการฉีกขาดของผนังกล้ามเนื้อมดลูกบริเวณนั้นและตกเลือดออกมา คนไข้จะเสียเลือดอย่างมากๆ เลย” ข้าพเจ้าอธิบายเพิ่มเติมถึงคามเป็นไปได้และพูดเสริมว่า “

อย่างไรก็ตาม คนไข้รายนี้เป็นกรณีที่ต้องผ่าตัดแน่นอน เพราะมีเลือดออกในท้องช่อง แต่ต้องฟื้นฟูจากสภาพช็อกเสียก่อน ด้วยการระดมให้น้ำเกลือและเลือดอย่างเพียงพอ แล้วรีบนำส่งห้องผ่าตัดทันที”

พอพูดจบ ข้าพเจ้าไม่รอช้าเพราะรู้ว่าอาการของคนไข้อยู่ในขั้นวิกฤติ รีบขับรถมายังโรงพยาบาลตำรวจ แล้วตรงไปที่ห้องผ่าตัด

เมื่อผ่าตัดเปิดหน้าท้องออกมาปรากฏว่ามีเลือดเต็มท้อง มดลูกโตกว่าปกติเล็กน้อย ไม่มีร่องรอยฉีกขาด เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่ท้องนอกมดลูกบริเวณมุมบนของโพรงมดลูก แต่ยังไง...ยังไงก็ต้องเป็นท้องนอกมดลูกชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถรองรับทารกขนาด ๑๖ สัปดาห์ได้เช่นกัน เมื่อสำรวจดูทางด้านข้างของมดลูก พบว่า ท่อนำไข่และรังไข่ทางด้านผิดปกติ แต่แปลกที่ทางด้านขวามีเฉพาะถุงน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งแน่นอน...ภายในจะต้องเป็นทารกน้อยและรกห่อหุ้มด้วยถุงน้ำคร่ำ เพราะทราบก่อนล่วงหน้าจากการดูอัตราซาวนด์แล้วว่ามีทารกอยู่ภายในอุ้งเชิงกราน ก้อนถุงน้ำนี้มีท่อนำไข่วางพาดอยู่ด้วย แต่บริเวณนั้นไม่มีรังไข่อยู่เลย ก้อนนี้มีขนาดประมาณลูกเทนนิส บริเวณผิวมีรอบแตกเล็กน้อยเลือดไหลรินออกมาแต่มีตลอดเวลา ข้าพเจ้าบอกเตือนผู้ช่วยและพยาบาลห้องผ่าตัดว่า ข้าพเจ้ากำลังจะผ่าตัดเอาก้อนนี้ออกมาโดยไม่ทำให้ก้อนถุงน้ำแตกเสียหายและห้ามใครผ่าซีกออกดูข้างใน เพราะอยากให้ทางพยาธิแพทย์เป็นคนตรวจดูชิ้นเนื้ออย่างละเอียด ตั้งแต่ยังไม่ได้ผ่าส่วนใดส่วนหนึ่งเลย เผื่อว่าจะโชคดีเป็นกรณีตั้งครรภ์นอกมดลูกที่แปลกประหลาด

“ตั้งครรภ์นอกมดลูกที่มีแปลกประหลาดด้วยหรือ” พยาบาลห้องผ่าตัดถาม

“รอดูผลตรวจทางพยาธิวิทยาก่อนแล้วจึงจะบอกว่า แปลกประหลาดยังไง” ข้าพเจ้าตอบอย่างนั้น เพราะไม่แน่ใจว่าจะเป็นดั่งที่คาดไว้หรือเปล่า

ถ้ามาอีก ๒ สัปดาห์ รายงานทางผลพยาธิวิทยาตามหมายเลข S-๔๐-๒๑๑๔ ออกมาว่า “ชิ้นเนื้อเป็นก้อนถุงน้ำขนาดกว้าง ๙ เซนติเมตร ยาว ๑๑ เซนติเมตร และหนา ๕.๕ เซนติเมตร ภายในมีก้อนเลือดและทารกเล็ก ๆอยู่ เมื่อตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศ์ส่องขยาย พบว่า น่าจะเข้าได้กับการตั้งครรภ์ภายในรังไข่ (Ovarian Pregnancy)”

เมื่อข้าพเจ้าทราบผลการตรวจทางพยาธิวิทยาแล้ว ได้เดินมาบอกพยาบาลห้องผ่าตัดให้รู้ว่า คนไข้ดังกล่าวมี “การตั้งครรภภายในรังไข่” ซึ่งหายากมากและนี่แหละ...ที่บอกว่าเป็นท้องนอกมดลูกที่แปลกประหลาด พบน้อยมาก เพียง ๑ ใน ๓๐,๐๐๐ รายของการตั้งครรภ์เท่านั้น

วันหนึ่ง ข้าพเจ้าได้เล่าเรื่องราวนี้ให้กลุ่มแผนหญิงแผนกสูตินรีเวชฟัง แพทย์ท่านหนึ่งบอกว่า “เมื่อ ๕ ปีก่อน ขณะที่เป็นแพทย์ฝึกหัดด้านสูตินรีเวชโรงพยาบาลศิริราช ได้พบเจอกรณีท้องนอกมดลูกภายในรังไข่ ประหลาดกว่านี้อีก”

“ที่ข้าพเจ้าพบมา นับว่าประหลาดมากอยู่แล้ว ยังมีที่ประหลาดมากกว่านี้อีกหรือ...” ข้าพเจ้ารำพึงอยู่ในใจ แล้วจึงย้อนถามว่า “ประหลาดยังไงนะ...”

“กรณีดังกล่าวข้างต้น พบทารกขนาดเพียง ๑๖ สัปดาห์ อยู่ภายในเท่านั้น แต่กรณีเมื่อ ๕ ปีก่อน เป็นท้องนอกมดลูกภายในรังไข่ (Ovarian Pregnancy) ที่มีทารกครบกำหนดขนาดน้ำหนักถึง ๓ กิโลกรัม อยู่ภายในเลยทีเดียว” สูติแพทย์ผู้นั้นตอบ

“อืม!...ประหลาดจริงๆ กรณีแบบนี้อาจเป็นรายแรกหรือรายเดียวในประเทศไทยก็ได้ น่าจะรายงานในการประชุมระดับประเทศให้รู้โดยทั่วกัน” ข้าพเจ้าแสดงความคิดเห็นโดยใจหนึ่งยังคลางแคลงอยู่

“เสียดายที่ไม่ได้ถ่ายรูปและทำบันทึกเป็นขั้นตอนอย่างมีระบบไว้ อาจารย์หลายท่านได้ซักถามแบบไม่ค่อยเชื่อตามที่เรารายงาน ทำให้เราไม่มั่นใจและกลัวว่า การรายงานโดยไม่มีหลักฐานเอกสารรองรับที่เพียงพอ อาจถูกกล่าวหาว่าหลอกลวงประเทศ เหมือนดังกรณีแท็กซี่สมพงศ์ก็เป็นได้” แพทย์ผู้นั้นตอบ พร้อมกับมีเสียงหัวเราะอย่างสนุกสนานของเหล่าบรรดาสูติแพทย์ที่นั่งคุยกัน

ข้อมูลสื่อ

224-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 224
ธันวาคม 2540
คัมภีร์ชีวิต
พ.ต.ท.นพ.เสรี ธีรพงษ์