• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการ “หลับไม่ปกติ” (ตอนที่ 16)

การตรวจรักษาอาการ “หลับไม่ปกติ” (ตอนที่ 16)


โรคภัยไข้เจ็บบางอย่างก็อาจจะเป็นอุปสรรคทำให้ช่วงเวลาแห่งการนอนหลับพักผ่อนของคุณไม่ราบรื่นนัก ซึ่งจะเป็นผลให้เช้าวันต่อมาของคุณไม่สดชื่นเท่าที่ควร เกิดอาการง่วงเหงาหาวนอนขณะทำงาน ถ้าเป็นเช่นนี้อาจจะถูกเพ่งเล็งจากเจ้านายได้เหมือนกัน เชื่อว่าคุณคงอยากรู้ว่าสาเหตุของอาการเหล่านี้คืออะไร เพื่อจะได้หาทางแก้ไขต่อไป อาการที่ว่านั้น ได้แก่


11. องคชาตแข็งตัวขณะหลับ (sleep-related penile erection, nocturnal penile tumescence)
: คือ การแข็งตัวขององคชาต (ลึงค์) ขณะหลับ เกือบทั้งหมดจะเกิดในช่วงการหลับแบบตากระตุก จึงมักร่วมกับการฝันที่จำได้ แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นความฝันในเรื่องเพศ ถ้าเป็นความฝันในเรื่องเพศ ก็อาจจะทำให้เกิดการฝันเปียก (การเคลื่อนของน้ำอสุจิขณะหลับ) ได้ โดยเฉพาะในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ที่ไม่ได้ร่วมเพศ หรือไม่ได้มีการขับเคลื่อนน้ำอสุจิออกเป็นเวลาหลายวันติดต่อกัน ทำให้น้ำอสุจิคั่งเต็มในถุงเก็บ และจะถูกขับออกมาในขณะหลับ โดยเฉพาะถ้าเกิดความกำหนัดหรือความต้องการทางเพศก่อนเข้านอน

แต่การแข็งตัวขององคชาตขณะหลับเป็นปรากฏการณ์ปกติที่ไม่ได้เกี่ยวกับความรู้สึกทางเพศ เพราะในเด็กชายที่มีอายุตั้งแต่ 2-4 เดือนขึ้นไป ส่วนใหญ่จะมีการแข็งตัวขององคชาตเป็นพักๆในขณะหลับแบบตากระตุก และในชายวัยกลางคนโดยทั่วไปก็มักจะมีการแข็งตัวเต็มที่ขององคชาตประมาณ 2-3 ครั้ง ๆ ละ 15-30 นาทีในแต่ละคืน โดยที่ไม่ได้ฝันหรือมีความต้องการทางเพศ หลายคนมักสังเกตเห็นว่าองคชาตแข็งตัวตอนตื่น จึงเข้าใจว่าองคชาตแข็งตัวเพราะปวดปัสสาวะ แต่อันที่จริงแล้ว องคชาตไม่ได้แข็งตัวเพราะปวดปัสสาวะ แต่เพราะคนเราส่วนใหญ่จะตื่นในช่วงการหลับแบบตากระตุก ซึ่งเป็นช่วงการหลับที่องคชาตชอบแข็งตัว และเวลาที่ตื่นขึ้นหลังจากหลับมาหลายชั่วโมง ก็มักจะปวดปัสสาวะได้เป็นธรรมดา

การรักษา : ไม่ต้องรักษาเพราะเป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ ยกเว้นแต่ในกรณีที่องคชาตแข็งตัวนาน (priapism) ทำให้เจ็บปวดมาก ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้อาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้สาเหตุ แต่ส่วนใหญ่แล้วมักเกิดในคนที่เป็นโรคเลือด (เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดมากผิดปกติ) ผู้ป่วยไตวายที่ได้รับการฟอกเลือดบ่อยๆ โรคมะเร็งที่แพร่กระจายแล้ว และโรคอื่นๆที่ทำให้เลือดแข็งตัวง่าย ถ้าองคชาตแข็งตัวนานจนทำให้เกิดการเจ็บปวด ต้องรีบไปโรงพยาบาลแต่เนิ่นๆเพื่อหาสาเหตุ รักษาสาเหตุได้ถ้ารักษา มิฉะนั้นก็ต้องรีบผ่าตัดเพื่อให้องคชาติอ่อนตัวลง เพราะถ้าองคชาตแข็งตัวจนเกิดความเจ็บปวดนานเกิน 24 ชั่วโมงแล้ว จะทำให้หมดสมรรถภาพทางเพศได้


12. ปวดศีรษะขณะหลับ (headache in sleep)
คือ อาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นในขณะหลับ จนทำให้ผู้ป่วยต้องตื่นขึ้น ที่พบบ่อย คือ โรคลมตะกัง (ไมเกรน - migraine) หรือการปวดศีรษะจากหลอดเลือดอื่นๆ เช่น โรคปวดศีรษะกลุ่ม (cluster headache) ปวดศีรษะซีกเดียวเรื้อรัง (chronic paroxysmal hemicrania) เป็นต้น (ดูรายละเอียดในคอลัมน์มาเป็นหมอกันเถิด ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 70)

นอกจากนั้นอาการปวดศีรษะขณะหลับยังเกิดในโรคหยุดหายใจขณะหลับ (ดูในมาเป็นหมอกันเถิด ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 150) หรือในกรณีอื่นๆที่หายใจไม่พอในขณะหลับ (ดูในคอลัมน์มาเป็นหมอกันเถิด ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 150-151) เนื่องจากจะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คั่งในเลือดจากการหยุดหายใจหรือหายใจไม่พอ ทำให้เกิดการปวดศีรษะขึ้น

การรักษา : คือ การหาสาเหตุที่ทำให้ปวดศีรษะ และแก้ไขสาเหตุนั้น ก็จะทำให้หายปวดศีรษะขณะหลับได้


13. อาการปวดอื่นๆ ขณะหลับ มักเกิดจากโรคที่เป็นอยู่
เช่น

13.1 โรคปวดข้อหลายชนิด เช่น รูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis) เกาต์ (gouty arthritis) เป็นต้น จะมีอาการปวดในเวลากลางคืนได้บ่อย เมื่อรักษาโรคให้ดีขึ้นแล้ว อาการปวดในขณะหลับก็จะลดลง

13.2 โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (coronary heart disease) ก็อาจจะทำให้เกิดอาการเจ็บแน่นกลางอกหรือหอบเหนื่อยแน่นในขณะหลับจนต้องตื่นขึ้นนั่งกลางดึก ควรไปหาหมอเพื่อรักษาโรคที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้น แล้วอาการปวดขณะหลับจะหายไป

13.3 โรคกระเพาะลำไส้ โดยเฉพาะโรคกระเพาะลำไส้เป็นแผล (peptic ulcer disease) ก็ทำให้เกิดอาการปวดท้องในกลางดึกจนต้องลุกขึ้นมากินข้าว ดื่มนม หรือกินยาลดกรด แล้วอาการจึงดีขึ้น ควรรักษาโรคกระเพาะลำไส้ให้ดี แล้วอาการปวดท้องกลางดึกจะหายไป


14. อาการหอบเหนื่อยขณะหลับ
อาจเกิดขึ้นในกรณีต่างๆ เช่น

14.1 การฝันร้ายหรือฝันผวา (ดูในเรื่องฝัน และฝันผวา คอลัมน์มาเป็นหมอกันเถิด ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 158-159)

14.2 โรคปอดและหลอดลม เช่น

ก. โรคหอบหืด คนที่เป็นโรคหอบหืดจำนวนไม่น้อยชอบจับหืด (เกิดอาการหอบ) ในเวลากลางคืน ในขณะหลับแบบตากระตุก หรือไม่กระตุกก็ได้ แต่มักจะไม่จับหืดในขณะหลับสนิท (ระยะที่ 3-4 ของการหลับแบบตาไม่กระตุก) แม้จะไม่เกิดอาการหอบหืดในขณะหลับ แต่คนที่เป็นโรคหอบหืดส่วนใหญ่ (ร้อยละ 60-70) จะมีหลอดลมตีบเล็กลงในเวลาหลับ และหลับไม่สนิท (ตื่นบ่อย ระยะเวลาหลับรวม และระยะเวลาหลับสนิทจะน้อยกว่าคนปกติ)

การรักษาโรคหืดให้ดีขึ้น อาจกินยาขยายหลอดลมที่ออกฤทธิ์นานก่อนนอน หรือกินยาขยายหลอดลมอีกสักเม็ดตอนตื่นขึ้นมาปัสสาวะกลางดึก เป็นต้น

ข. โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังหรือปอดโป่งพอง อาจทำให้หอบเหนื่อยขณะหลับ เพราะเสมหะที่ค้างอยู่ในหลอดลมปิดกั้นหลอดลมมากขึ้น ทำให้ต้องไอและตื่นขึ้นหอบ นอกจากนั้นการหลับทำให้การหายใจลดลง ทำให้ออกซิเจนในเลือดลดลง และคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงการหลับแบบตากระตุก จนต้องตื่นขึ้นมาหอบ นอกจากนั้นผู้ป่วยเหล่านี้มักจะหลับยาก ตื่นบ่อย ระยะเวลาหลับรวม และระยะเวลาหลับสนิทจะน้อยกว่าคนปกติ

ควรรักษาโรคที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้น และการดมออกซิเจนในขนาดต่ำๆ (1-2 ลิตร/นาที) ตลอดเวลาที่หลับอยู่ มักจะช่วยให้หลับได้ดีขึ้น ถ้ายังไม่หลับดี อาจให้ยาไดอะซีแพม (ขนาดเม็ดละ 5 มิลลิกรัม) 1 เม็ดก่อนนอน ก็มักจะช่วยให้หลับได้ดีขึ้น แต่ไม่ควรใช้ยานอนหลับโดยเฉพาะถ้าผู้ป่วยเซียว ซึม หรือกระสับกระส่าย และไม่ควรดื่มสุรา เพราะจะทำให้ออกซิเจนในเลือดต่ำลงมากขึ้นในขณะหลับ และทำให้คุณภาพของการหลับแย่ลง

14.3 โรคหัวใจ คนที่เป็นโรคหัวใจอยู่อาจเกิดอาการหอบเหนื่อยในขณะหลับได้ เช่น

ก. เกิดภาวะหัวใจล้ม โดยทั่วไปผู้ป่วยมักมีอาการเหนื่อยง่ายและเท้าอาจบวมอยู่แล้วในเวลากลางวัน เมื่อเข้านอนและหลับไปประมาณ 3-4 ชั่วโมง เลือดจะไหลกลับจากเท้าและขาไปคั่งอยู่ในปอด เกิดภาวะปอดคั่งเลือด (pulmonary congestion) หรือปอดบวมน้ำ (pulmonary edema) ทำให้หายใจไม่ออก (อาจฝันว่าจมน้ำหรือถูกบีบคอ) และตกใจตื่น ต้องลุกขึ้นนั่งหรือเดินไปเปิดประตูหน้าต่างหรือเปิดพัดลมให้ลมโกรกหน้าสักพัก (15-30 นาที) แล้วอาการหอบเหนื่อยหรือแน่นจะลดลง แล้วเข้านอนต่อ

การรักษา : ต้องลดอาหารเค็มลงอีก ต้องเพิ่มยาขับปัสสาวะในตอนเช้า และ/หรือตอนเที่ยงด้วย และควรปรึกษาหมอเพื่อเพิ่มยาหัวใจ หรืออื่นๆ

ข. เกิดภาวะหัวใจขาดเลือด ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งจะมีความเครียดจากงาน ครอบครัว ฯลฯ จึงทำให้หลับยาก หลับไม่สนิท ตื่นง่าย และเกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด เจ็บหัวใจหรือจากการเกิดภาวะหัวใจล้มได้ง่ายจนทำให้ตื่นและลุกขึ้นมานั่งหอบได้ การเจ็บหัวใจจากการขาดเลือดมักเกิดในช่วงการหลับแบบตากระตุก

การรักษา : ในขณะที่มีอาการให้ลุกขึ้นนั่งและอมยาใต้ลิ้นที่แพทย์สั่งให้สำหรับแก้อาการเจ็บหัวใจ ถ้าอาการเจ็บอกเกิดจากหัวใจขาดเลือด อาการเจ็บแน่นอกและหอบเหนื่อยมักจะหายใน 5 นาทีและเข้านอนต่อได้ ถ้าอม 2-3 เม็ดแล้วยังไม่ดีขึ้น อาจเกิดจากภาวะหัวใจล้ม หรือหัวใจขาดเลือดอย่างรุนแรง ควรไปโรงพยาบาล

ข้อมูลสื่อ

163-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 163
พฤศจิกายน 2535
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์