• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เลี้ยงลูกพิการ

เลี้ยงลูกพิการ


“เอ... ทำไมเราไม่เคยนึกถึงคนพิการเลย”

ดิฉันถามตัวเองเมื่อมีโอกาสร่วมทำสารคดีข่าวเรื่องคนพิการกับนักข่าวชาวญี่ปุ่น ดิฉันมั่นใจว่าคนไทยส่วนใหญ่ก็ไม่ได้คิดถึงคนพิการมากนัก นอกจากคนที่มีญาติพี่น้องเป็นคนพิการ หรือคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับคนพิการโดยตรง คนพิการในสายตาของคนไทยโดยทั่วไป คือ คนตาบอดที่เดินเร่ขายลอตเตอรี่ หรือตั้งวงดนตรีเล่นอยู่ข้างถนน และขอทานพิการที่นั่งอยู่ตามสะพานลอยในกรุงเทพฯ หรือตามหน้าวัดและสถานที่ท่องเที่ยว คนไทยมีใจเมตตาเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เมื่อเห็นคนพิการก็สงเคราะห์โดยช่วยซื้อลอตเตอรี่บ้าง ให้เศษเงินเป็นการทำบุญทำทานบ้าง แล้วก็รู้สึกอิ่มบุญด้วยความปลื้มใจที่ได้ทำความดี “ผมทราบมาว่า คนไทยที่มีลูกพิการจะคิดว่าเป็นกรรมจากชาติปางก่อน จึงรู้สึกอับอายและไม่ยอมให้ลูกพิการออกนอกบ้าน ต้องอยู่แต่ในบ้านไปตลอดชีวิต คุณว่าจริงหรือเปล่า”

เมื่อนักข่าวชาวญี่ปุ่นป้อนคำถามแรกมาแบบนี้ ดิฉันรีบปฏิเสธทันทีว่า “ไม่ใช่หรอก คนไทยเป็นชนชาติใจดี มีเมตตา ที่ไม่ให้ลูกพิการออกนอกบ้านนั้นไม่ใช่เพราะความอับอาย แต่เพราะกลัวลูกลำบากมากกว่า พ่อแม่ที่มีลูกพิการมักจะรักและสงสารลูกยิ่งกว่าเด็กปกติเสียอีก จึงช่วยปกป้องและทำทุกอย่างให้ การออกนอกบ้านเป็นเรื่องลำบากสำหรับคนพิการ ถ้าไม่จำเป็นพ่อแม่พี่น้องก็ไม่อยากให้ออกไปเสี่ยงอันตราย”

ตอบคำถามเขาไปแล้ว ดิฉันก็รู้สึกสงสัยขึ้นมาว่าที่ตนเองตอบไปนั้นเป็นคำตอบแบบรักชาติหรือตอบไปตามความจริงกันแน่ นึกดูแล้วตัวเองก็ไม่เคยรู้จักคนพิการเลย โดยเฉพาะคนพิการครึ่งตัวประเภทเดินไม่ได้ซึ่งนักข่าวชาวญี่ปุ่นตั้งใจจะมาทำสารคดีข่าวนั้น นอกจากขอทานแล้วก็ไม่เคยเห็นที่ไหนเลย ดิฉันติดต่อสอบถาม พ.ท.ต่อพงษ์ กุลครรชิต นายกสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย เพื่อย้ำความมั่นใจว่าตอบเขาไปไม่ผิด คุณต่อพงษ์ก็เลือดทหารรักชาติแรงกล้า ย้ำอย่างหนักแน่นว่า ปัญหาของคนพิการไทย คือ “over protection” กล่าวคือ พ่อแม่ดูแลลูกพิการมากเกินไปจนกลายเป็นคนพิการที่ช่วยตัวเองไม่ได้

แต่เมื่อถามต่อไปว่า “แล้วเด็กพิการที่พ่อแม่ยากจน ไม่มีกำลังทางเศรษฐกิจพอที่จะดูแลลูกพิการล่ะ” คำตอบของคุณต่อพงษ์ คือ “ตายลูกเดียว! เพราะสังคมไทยไม่มีระบบช่วยเหลือคนพิการเหล่านี้” อาจารย์อนันต์ เลรามัญ แห่งองค์การคริสเตียนเพื่อคนพิการ ยืนยันเช่นเดียวกันว่า สำหรับครอบครัวที่มีฐานะพอดูแลเด็กพิการได้ พ่อแม่ไทยมีแนวโน้มที่คิดจะเลี้ยงลูกพิการไปตลอดชีวิต

เมื่อถามว่า “ถ้าพ่อแม่ตายก่อนแล้วลูกจะทำอย่างไร” ก็ได้คำตอบว่า พี่น้องของเขาก็ดูแลกันต่อไป คนพิการไทยส่วนใหญ่จึงได้แต่อยู่กับบ้าน ไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่มีอาชีพ นอกจากคนพิการยากจน ซึ่งจำเป็นต้องขวนขวายช่วยตัวเองเพราะญาติพี่น้องก็ไม่มีกำลังช่วย

สรุปแล้วในหมู่คนพิการก็มีชนชั้น ใครเกิดมาในครอบครัวฐานะดี ก็จะมีผู้ดูแลไปตลอดชีวิต ส่วนเด็กพิการยากจนนั้นหนทางข้างหน้า คือ ขอทาน หรือวณิพก หรือคนขายลอตเตอรี่ โอกาสที่จะไต่เต้าขึ้นไปสูงกว่านี้แทบไม่มี นอกจากจะโชคดีได้รับความสนับสนุนทางใดทางหนึ่งให้ได้รับการศึกษาและฝึกอาชีพเพื่อการดำรงชีพด้วยตนเองในอนาคต ปัญหาเรื่องความยากจนเป็นปัญหาเดียวกันทั้งสำหรับคนพิการและคนปกติ แต่คนพิการต้องเผชิญกับการยากลำบากมากกว่า เพราะความบกพร่องของร่างกายเป็นปมด้อย และทำให้เกิดการเสียเปรียบทั้งด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพ

การแก้ปัญหาความยากจนเป็นเรื่องใหญ่ของสังคมกำลังพัฒนาอย่างสังคมไทย นักเศรษฐศาสตร์หลายคนคิดว่าเรามีงบประมาณจำกัด ไม่ร่ำรวยพอที่จะเอาเงินไปสงเคราะห์ช่วยเหลือคนพิการซึ่งเป็นภาระหนักของสังคมตลอดไป สู้เอาเงินไปช่วยเด็กหรือเยาวชนและคนที่มีโอกาสเป็นพลังผลิตทางเศรษฐกิจจะดีกว่า ส่วนงานด้านคนพิการนี้ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักสังคมสงเคราะห์ทั้งหลายช่วยกันรณรงค์หาเงินจุนเจือช่วยเหลือไปพลางก่อน เอาไว้เมืองไทยเป็นเศรษฐีเมื่อใด ค่อยแบ่งงบประมาณมาสร้างเมืองไทยให้เป็นสวรรค์ของคนพิการ ดังเช่นที่ประเทศเจริญแล้วเขาเป็นอยู่ในปัจจุบัน ความจริงแล้วคนพิการมิได้ต้องการการ “สงเคราะห์” เลย คนพิการต้องการเพียง “โอกาส” เยี่ยงคนปกติทั้งหลาย โอกาสที่จะได้รับการศึกษาอย่างคนปกติ โอกาสประกอบอาชีพเหมือนคนปกติ และโอกาสอยู่ในสังคมดังเช่นคนปกติ

คุณต่อพงษ์ นายกสมาคมคนพิการซึ่งประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จนร่างกายเป็นอัมพาตตั้งแต่คอลงมายืนยันอย่างหนักแน่นว่า “ผมเป็นคนปกตินะครับ ไม่ใช่คนผิดปกติ” หากคนไทยส่วนใหญ่นึกถึงคนพิการอยู่เสมอ สังคมไทยจะน่าอยู่สำหรับคนพิการ โดยแทบจะไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่มขึ้นเลย และสังคมที่น่าอยู่สำหรับคนพิการนั้นก็เป็นสังคมอันน่าอยู่สำหรับทุกคนด้วย เริ่มตั้งแต่ครอบครัว พ่อแม่ทุกคนก่อนมีลูกก็ฝันหวานว่า ถ้าเป็นลูกผู้หญิงขอให้สวยและฉลาดเป็นเลิศ หากเป็นลูกผู้ชายต้องเข้มแข็ง หล่อและหลักแหลม แต่พอใกล้วันคลอด คำอธิษฐานจะลดเหลือเพียงขอให้อาการครบ 32 ก็พอใจแล้ว พ่อแม่ส่วนใหญ่มักสมหวัง แต่มีพ่อแม่จำนวนหนึ่งซึ่งผิดหวังเมื่อลูกที่เกิดมาเป็นเด็กพิการ อาจเนื่องจากสาเหตุระหว่างตั้งครรภ์ หรือสาเหตุระหว่างคลอด และหลังคลอด เด็กบางคนพิการหลังจากหลังจากชักเพราะไข้สูง เป็นโปลิโอหรือขาดสารอาหารบางอย่าง บางคนพิการเพราะอุบัติเหตุ

พ่อแม่ที่มีลูกพิการมักสงสารลูก และคิดว่าจะพยายามเลี้ยงดูลูกผู้น่าสงสารให้ดีที่สุดไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ พ่อแม่ทุกคนรู้ตัวว่าตนคงตายก่อนลูกผู้พิการ จึงพยายามฝากฝังลูกพิการไว้กับบรรดาลูกหลาน จนมั่นใจว่าลูกพิการจะได้รับการดูแลตลอดไป พ่อแม่ลืมนึกไปว่า คนเรานั้นมีอวัยวะถึง 32 อย่าง การที่อวัยวะพิการไปเพียง 1 หรือ 2 อย่างนั้น เป็นเพียงส่วนน้อยนิด ลูกยังมีอวัยวะอีกตั้ง 20-30 อย่างที่เป็นปกติ โดยเฉพาะสำหรับเด็กที่มิได้พิการทางสมองนั้น มีความปกติอยู่เกือบสมบูรณ์ทีเดียว เพียงแต่ช่วยเสริมส่วนที่เขาบกพร่องไป 1 หรือ 2 อย่างนั้นให้เป็นปกติหรือเกือบปกติ เขาก็จะเป็นคนปกติธรรมดาทั่วไปที่สามารถเรียนรู้ ประกอบอาชีพ และดำรงชีพอยู่ในสังคมได้เหมือนคนธรรมดาทั้งหลาย ขอเพียงแต่พ่อแม่คิดว่า “คนพิการคือคนปกติ” ลูกผู้พิการก็จะไม่เป็นภาระของครอบครัวตลอดไปตลอดชีวิต เพราะเขาจะดูแลตัวเองได้ในอนาคต

เด็กที่พิการทางตา หากเราช่วยให้เขามองเห็นได้ด้วยหูและมือ เขาก็คือ คนปกติ สามารถช่วยตัวเองและประสบความสำเร็จในชีวิตได้เหนือกว่าคนที่มีอวัยวะครบ 32 เสียด้วยซ้ำ เพราะความพิการทางตาทำให้เขามีปรีชาญาณ (ญาณหยั่งรู้) เป็นเลิศ เด็กที่หูพิการและพูดไม่ได้ เราก็ช่วยให้เขาพูดและฟังได้ด้วยมือและเรียนรู้หนังสือ เขาก็จะสื่อสารและเรียนรู้ทุกอย่างได้ตามความสามารถของเขา พ่อค้าขายของเร่หูพิการซึ่งขายของอยู่ริมทางเท้าแถวโรงแรมแอมบาสซาเดอร์และพัฒนพงษ์นั้น มีรายได้สูงกว่าคนทำงานคนทำงานระดับผู้จัดการบริษัทเสียอีก เด็กที่พิการแขนขา เราก็ช่วยให้เขามีมือมีขาเทียม หรือบางรายที่ยืนไม่ได้เลยต้องใช้รถช่วย ก็ขอให้เป็น “รถขา” ซึ่งเขาสามารถใช้ได้คนเดียว เปรียบเสมือนขาของตนเอง มิใช่ “รถเข็น” ที่ต้องมีคนช่วยเข็นอยู่ตลอดเวลา เพราะคนพิการทุกคนต้องการต้องการพึ่งตนเองทั้งนั้น ไม่มีใครอยากพึ่งคนอื่นไปตลอดชีวิต

เด็กที่พิการทางปัญญา หากได้รับการกระตุ้นและการฝึกตั้งแต่เล็กเขาก็จะช่วยตนเองได้ระดับหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องพึ่งคนอื่นไปเสียทุกด้าน ระหว่างที่ทำข่าวสารคดีเกี่ยวกับคนพิการ ดิฉันมีโอกาสอ่านหนังสือซึ่งเขียนโดยทนายความชาวญี่ปุ่นซึ่งเรียกตนเองว่า “ช้าง” และมีลูกสมองพิการระดับสูง เนื่องจากสมองขาดออกซิเจนระหว่างคลอด เพราะหมอผู้ทำคลอดขาดความชำนาญ คุณช้างมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยลูกสาวซึ่งหมอบอกว่าไม่มีโอกาสเดินได้ไปตลอดชีวิต คุณช้างและครอบครัวทุ่มเทฝึกลูกอย่างหนักอยู่ปีเศษ ลูกสาววัยประถมก็เดินได้และสามารถแบกเป้หนัก 4 กิโลกรัม เดินทางไกลได้ถึง 11 กิโลเมตรทีเดียว

นอกจากฝึกลูกจนช่วยตัวเองได้แล้ว คุณช้างยังประกาศอย่างแน่วแน่ว่าจะต้องทำให้เมืองที่อยู่เป็นสวรรค์สำหรับคนพิการ และเป้าหมายสุดท้ายคือทำให้โลกเป็นสวรรค์สำหรับคนพิการด้วย ครอบครัว คือ พลังหลักสำหรับเด็กพิการ หากครอบครัวสามารถเลี้ยงลูกและส่งเสริมให้เด็กพิการช่วยตนเองได้เหมือนคนปกติ เขาก็จะเป็นคนพิการที่เลี้ยงดูตนเองและช่วยคนอื่นได้ในอนาคต เพียงชั่วระยะเวลาอันสั้นที่ดิฉันได้รู้จักกับคนพิการกลุ่มหนึ่งนั้น สิ่งที่ประทับใจที่สุดคือความเห็นอกเห็นใจและความเอื้ออาทรที่คนพิการมีให้ผู้อื่นยิ่งกว่าคนปกติธรรมดา ดิฉันมั่นใจว่าหากสังคมเปิดทางให้คนพิการได้มีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตแล้ว คนพิการจะตอบแทนสังคมมากกว่าโอกาสที่เขาได้รับเสียอีก

หากสังคมไทยมีคนพิการอยู่ในใจเสมอ เวลาสร้างถนน สร้างทางเท้า สร้างตึกรามบ้านช่องและสวนสาธารณะ ย่อมนึกถึงคนพิการซึ่งอยู่ร่วมในสังคม การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการโดยเริ่มงานตั้งแต่ระดับวางแผน เช่น สร้างทางลาดสำหรับทางเท้า สร้างห้องน้ำที่กว้างพอสำหรับคนพิการใช้ “รถขา” ทำปุ่มนูนและสัญญาณเสียงตามถนนสำหรับคนพิการนั้น หากเราทำตั้งแต่ต้นย่อมลงทุนต่ำกว่าการรือทำใหม่ในภายหลัง หรือบางครั้งแทบจะไม่ต้องลงทุนเพิ่มขึ้นเลย เพียงแค่เปลี่ยนแปลงรูปแบบของสิ่งก่อสร้างให้คนพิการร่วมใช้ด้วยได้เท่านั้น

เมื่อบ้านเมืองไทยสะดวกสบายขึ้นสำหรับคนพิการทุกประเภท คนพิการจำนวนมากที่หมกตัวอย่างไร้ประโยชน์อยู่กับบ้าน ก็จะมีโอกาสออกสู่สังคม สามารถพึ่งตนเองและทำประโยชน์ให้แก่สังคมได้บ้าง กรมประชาสงเคราะห์ก็ไม่ต้องทำหน้าที่ “สงเคราะห์” คนพิการตลอดไป เพราะประชาชนคนพิการนั้นความจริงมิได้ต้องการการ “สงเคราะห์”

หากเป็นไปได้ คนพิการคงต้องการอยู่ภายใต้สังกัดของ “กรมประชาสร้างสรรค์” มากกว่ากระมัง

ข้อมูลสื่อ

164-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 164
ธันวาคม 2535
พ่อ-แม่-ลูก
พรอนงค์ นิยมค้า