• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ฟังเสียงลูก

ฟังเสียงลูก


เวลาแต่ละปีผ่านไปอย่างรวดเร็วเหลือเกิน สมัยยังเป็นเด็ก บางครั้งเรามีความรู้สึกว่าเวลาแต่ละวันแต่ละเดือนช่างผ่านไปอย่างเชื่องช้า อยากโตเร็วๆ อยากเรียนจบเร็วๆ มาบัดนี้ เมื่อเข้าสู่วัยกลางคนความรู้สึกนั้นกลับตรงกันข้าม ยิ่งมองเห็นลูกหลานโตขึ้นเป็นหนุ่มเป็นสาว ทั้งๆ ที่เรายังจดจำวันที่ลูกๆ ยังเป็นทารกแบเบาะได้เหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานซืน เรายิ่งอยากถ่วงเวลาให้ผ่านไปอย่างช้าๆ อยากให้ลูกเป็นเด็กน้อยน่ารักของเราอยู่นานๆ แต่วันเวลาก็ซื่อสัตย์ต่อความจริงยิ่งกว่าสิ่งใดในโลกนี้ ไม่มีใครสามารถทำให้มันผันแปรไปได้ เราจึงจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับความจริงที่อยู่ตรงหน้า

ลูกน้อยซึ่งเคยเดินตามแรงจูงของพ่อแม่อยู่ต้อยๆ ในวัยอนุบาลและประถม เมื่อขึ้นชั้นมัธยม ลูกอยากเดินแยกห่างจากพ่อแม่ และยินดีที่จะไปเที่ยวกับเพื่อนฝูงมากกว่าพ่อแม่ ลูกกล้าตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ด้วยตนเอง กล้าแสดงความคิดเห็น และกล้าคัดค้านความคิดของพ่อแม่ แสดงว่าลูกโตแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ พ่อแม่ก็จำต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้ชี้นำแนวทางให้ลูกและตัดสินใจแทนลูก มาเป็นเพียงที่ปรึกษาและช่วยเหลือเมื่อลูกตัดสินใจเลือกทางเดินของตนเอง การฟังเสียงลูกจึงเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งสำหรับพ่อแม่ที่มีลูกย่างเข้าสู่วัยรุ่น

ดิฉันถือโอกาสดีในวาระสิ้นปีขอฟังเสียงสะท้อนจากลูกเพื่อพ่อแม่จะได้นำไปพิจารณาปรับปรุงตัวในปีใหม่ ขอให้ลูกวิจารณ์สิ่งที่พ่อแม่ทำแล้วลูกๆไม่ชอบ รวมทั้งสิ่งที่ลูกเห็นพ่อแม่คนอื่นทำแล้วลูกไม่อยากให้พ่อแม่ของตนเองทำเช่นนี้ด้วย ปรากฏว่าลูกวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาถึงใจดีจริงๆ “ข้อแรกที่อยากจะขอร้องนะแม่ เวลารับโทรศัพท์ช่วยพูดว่า ‘ฮัลโหล’ อย่างที่คนไทยเขาพูดกันได้ไหม ไม่ต้องพูดว่า ‘ฮัลลโหลวว’ เพราะเพื่อนชอบถามว่าใครรับโทรศัพท์เวลาแม่รับ” ลูกสาวคนโตโพล่งเรื่องนี้ออกมาโดยที่ดิฉันไม่เคยนึกถึงมาก่อนเลย

“เอ...เพื่อนแม่ก็พูดกันแบบนี้ทุกคนนี่นา...น้าต้อยยังพูด ‘เฮลโหลว’ ซะด้วยซ้ำ” ดิฉันอดเถียงลูกไม่ได้

“เอางี้ดีกว่า ถ้าแม่พูด ‘ฮันโหล’ ไม่ได้ก็ไม่ต้องพูด เวลารับโทรศัพท์แม่ใช้ภาษาไทยว่า ‘สวัสดีค่ะ’ แทนก็แล้วกันนะ”

“ตกลง” ดิฉันยอมรับโดยดุษณี ดีเหมือนกันจะได้เลิกใช้ภาษาฝรั่งโดยไม่จำเป็น

“อีกอย่างหนึ่ง เลาประชุมผู้ปกครองกับรักเรียนแล้วมีเพื่อนๆ อยู่ด้วย แม่อย่ายกมือแสดงความเห็นสิ หนูอายเพื่อนจะตาย” ลูกสาวคนเล็กพูดบ้าง

“อ้าวแล้วกัน! การแสดงความคิดเห็นเป็นเรื่องดีนี่นา” ดิฉันค้านเต็มประตูและนึกไม่ถึงว่าจะได้ยินเรื่องเช่นนี้จากปากของลูก

“ดีน่ะมันดีอยู่หรอก แต่ต้องเป็นตอนที่เพื่อนๆ หนูไม่อยู่ด้วย หนูไม่อยากให้พ่อแม่ทำตัวเด่นต่อหน้าเพื่อน ถ้าประชุมพวกผู้ปกครองอย่างเดียว แม่จะพูดอะไรก็ว่าไปเถอะ” ลูกสาวคนโตสนับสนุนน้องสาว

“อ้อ พ่อแม่ห้ามทำตัวเด่นต่อหน้าเพื่อนเหรอ แล้วตัวลูกเองล่ะ” ดิฉันยังไม่หายสงสัย

“หนูเด่นด้วยตัวเองไม่เป็นไร แต่พ่อแม่ทำตัวเด่น หนูอาย” ลูกสาวทั้งสองสนับสนุนกันและกันเป็นปี่เป็นขลุ่ยทีเดียว

เป็นอันว่าเวลาประชุมผู้ปกครองและมีเพื่อนของลูกอยู่ด้วย พ่อแม่ต้องทำตัวสงบเสงี่ยมเอาไว้ หากมีความคิดเห็นอะไรคงต้องเก็บเอาไว้พูดกันทีหลัง ถ้าเด็กส่วนใหญ่เป็นอย่างนี้ ผู้ใหญ่ก็ไม่น่าจัดประชุมร่วมพ่อ-แม่-ลูก ทำให้ลูกอายเพื่อนเวลาพ่อแม่แสดงความคิดเห็น น่าจะแยกจัดประชุมไปเลยจะดีกว่า

“ห้ามทำตัวเด่น แล้วก็ห้ามทำเปิ่นด้วยนะ เวลาพ่อแม่ทำอะไรหน้าแตกต่อหน้าเพื่อนน่ะ หนูแทบจะแทรกแผ่นดินหนีเลยรู้รึเปล่า”

“แม่เคยทำเหรอ”

“เคยสิ ก็ตอนที่หนูต้องเข้าแถวส่งเอกสาร แล้วมันผิด ต้องออกจากแถวมาแก้ พอแก้เสร็จแม่จะให้หนูเข้าไปส่งเลยไม่ต่อแถวใหม่ ตอนนั้นหนูอายสุดสุดเลยนะแม่” ลูกสาวคนเล็กยืนยันความผิดอุกฉกรรจ์ของดิฉัน

“แล้วมีไรอีกมั้ย” ดิฉันถามต่อและชักรู้สึกสนุกที่มีคนวิจารณ์ความผิดที่ตนเองนึกไม่ถึงให้ฟัง

“ห้ามอวดลูก ห้ามดุลูกต่อหน้าเพื่อน” คราวนี้ลูกคนโตเสนอบ้าง

“ไหนยกตัวอย่างของจริงซิ”

“แม่ชอบพูดอวดใครต่อใครว่าหนูเก่งอย่างโน้นอย่างนี้ หนูอายเขาออก กับผู้ใหญ่ยังไม่เท่าไหร่ แต่ต่อหน้าเพื่อนห้ามเด็ดขาดนะ! ”

เฮ้อ... ดิฉันคิดว่าตนเองไม่ใช่คนขี้อวด และพยายามห้ามปากไม่ให้พูดเรื่องลูกต่อหน้าคนอื่น แต่บางครั้งก็อดไม่ได้เมื่อมีเรื่องภูมิใจ สงสัยว่าคงจะอดไม่ได้บ่อยไปหน่อย ลูกจึงร้องอุทธรณ์อย่างนี้ ต่อไปคงต้องระวังปากมากขึ้น

“แล้วที่ว่าแม่ดุลูกต่อหน้าเพื่อนล่ะ เคยเมื่อไหร่กัน” ดิฉันรู้ดีว่าการดุลูกต่อหน้าคนอื่นนั้นไม่ดีสำหรับเด็ก โดยเฉพาะต่อหน้าเพื่อนของลูก จึงระมัดระวังเรื่องนี้อยู่เสมอ

“วันที่พวกหนูนัดกันใส่รองเท้าแตะไปเรียนพิเศษแล้วแม่ไม่ยอมนั่นไง แม่เอาไปบ่นในรถตอนเพื่อนหนูอยู่ด้วย เพื่อนๆ เค้าเลยว่าแม่ดุรู้เปล่า” ลูกสาวคนโตสาธยาย

“แฟชั่นอะไรไม่รู้ แต่งตัวซะโก้ แต่สวมรองเท้าแตะ” ดิฉันยังติดใจบ่นต่อ

“นั่นแหละ เค้าฮิตกันอยู่ แม่ไม่รู้เอง”

นอกจากแฟชั่นรองเท้าแตะแล้วยังมีแฟชั่นกระเป๋าแฟบ คือ กระเป๋านักเรียนจะต้องแฟบแบนที่สุดเท่าที่จะแบนได้ โดยการเอาที่หนีบกระดาษมาหนีบเอาไว้ และไม่ใส่หนังสือเรียนในกระเป๋านักเรียน สมบัติทั้งหมดจะเอาใส่ไว้ในเป้สำหรับแบกแทน ก็ไม่รู้ว่าจะถือกระเป๋าเปล่าไปทำไม และกระเป๋าแฟบแบบนี้มันโก้เก๋ดีที่ตรงไหน แต่ในเมื่อไม่มีอะไรเสียหายก็ช่างเขาเถอะ

“อ้อ อาจารย์เคยชวนแม่ไปช่วยสอนภาษาญี่ปุ่นที่โรงเรียน ลูกจะว่ายังไง”

“โอ๊ย! หนูกราบล่ะแม่!” ลูกสาวทั้งสองร้องออกมาพร้อมกัน

“ขอให้พวกหนูเรียนจบซะก่อนนะ!”

“แหม...แม่เชยมากหรือไงถึงไม่อยากให้ไปที่โรงเรียนเลยหือ”

“อ๋อ...เชยน่ะเชยเป็นปกติอยู่แล้ว...แต่ถึงแม่จะโก้เก๋สักแค่ไหนหนูก็อายเพื่อนน่า” ลูกสาวคนเล็กว่า

“เพื่อนทุกคนก็เหมือนกัน ไม่ค่อยมีใครอยากให้พ่อแม่ไปโรงเรียนนักหรอก ยิ่งเพื่อนผู้ชายหรือพวกพี่ผู้ชายโตๆ ที่มีแม่ไปรับที่โรงเรียนนะน่าสงสารที่สุด เวลาเค้าเดินกับแม่ เค้าต้องก้มหน้างุดๆ ทำไมแม่เค้าไม่รู้ใจเค้าก็ไม่รู้นะ” ลูกสาวคนโตอธิบาย

“ใช่ หนูว่าเค้าอายสุดสุดเลยล่ะ” แม่น้องสาวสนับสนุนทันที

“อ้าว! แล้วเวลาแม่ไปรับลูกที่โรงเรียนล่ะ ไม่เห็นลูกว่าอะไรนี่”

“ผู้หญิงเดินกับแม่ไม่ค่อยเท่าไหร่หรอก แต่ถ้าจะให้ดีแม่รออยู่นอกโรงเรียนดีกว่านะ” ลูกสาวคนโตถือโอกาสประกาศความในใจ

“แล้วพ่อล่ะ มีอะไรที่อยากบอกให้พ่อปรับปรุงในปีใหม่นี้บ้างมั้ย”

“ไม่มีหรอกค่ะ ก็พ่อเค้าไม่ยุ่งกับลูกเหมือนแม่นี่”

เป็นงั้นไป

ข้อมูลสื่อ

165-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 165
มกราคม 2536
พ่อ-แม่-ลูก
พรอนงค์ นิยมค้า