• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

คุยกับลูกเรื่องเอดส์

คุยกับลูกเรื่องเอดส์


การเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นครั้งล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมานี้ มีข่าวซึ่งกระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรงในฐานะที่เป็นเลือดเนื้อไทยคนหนึ่งคือ ชาวญี่ปุ่นปัจจุบันนี้เห็นคนไทยกลายเป็น “ตัวเอดส์” ไปเสียแล้ว สมัยก่อนโน้นหากถามชาวญี่ปุ่นว่า “เมื่อเอ่ยถึงประเทศไทยคุณนึกถึงอะไร” คำตอบส่วนใหญ่ที่ได้ คือ ช้างไทย , kick boxing (มวยไทย) , แมวไทย และไก่ชน แต่มาบัดนี้ถ้าเราบอกให้เขาตอบโดยไม่ต้องเกรงใจ คำตอบก็กลายเป็น “เอดส์” และ “โสเภณีไทย”

ที่เป็นเช่นนี้เพราะสื่อมวลชนญี่ปุ่นนำเสนอข่าวเรื่องเอดส์และโสเภณีไทยในญี่ปุ่นอย่างถี่ยิบในช่วงระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ และที่น่าเสียใจยิ่ง คือ ข่าวทั้งหมดเป็นความจริง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงทั้งในประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย หลักฐานที่ตอกย้ำให้ชาวญี่ปุ่นทราบถึงความร้ายแรงของสถานการณ์โรคเอดส์ในประเทศไทย และหวาดหวั่นว่าจะนำเข้าไปแพร่ในประเทศเขา คือ ตัวเลขของกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นซึ่งประกาศทุก 2 เดือน ให้สาธารณชนทราบถึงจำนวนผู้ถูกตรวจ พบว่า ติดเชื้อเอดส์ในประเทศญี่ปุ่น ปรากฏว่า สาวไทยครองอันดับสูงสุดเสมอ เช่น ตัวเลขของเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2534 ตรวจพบผู้ติดเชื้อเอดส์ 84 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวญี่ปุ่น 23 คน ชาวต่างประเทศ 61 คน และใน 61 คนนี้เป็นผู้หญิงไทยถึง 36 คน

ตัวเลขที่สูงมากนี้ทำให้สื่อมวลชนญี่ปุ่นแขนงต่างๆ ลงทุนมาเจาะหาความจริงในประเทศไทยและนำไปตีแผ่ เพราะปัจจุบันมีสาวไทยทำงานอย่างผิดกฎหมายอยู่ในประเทศญี่ปุ่นหลายหมื่นคน จนกระทั่งบางเมืองถึงกับมีเขตที่เรียกว่า “Little Bangkok” ซึ่งเป็นแหล่งเที่ยวกลางคืน และมีชาวไทยอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ในจำนวนผู้ติดเชื้อเอดส์ซึ่งตรวจพบในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมจำนวน 100 คน เป็นชาวญี่ปุ่น 30 คน ชาวต่างประเทศ 70 คน และมีวัยรุ่นรวมอยู่ด้วย 7 คน ด้วยเหตุนี้ประเทศญี่ปุ่นจึงเริ่มรณรงค์ให้วัยรุ่นรู้จักการป้องกันโรคเอดส์ กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายให้ครูสอนนักเรียนชั้นมัธยมต้นเรื่องประโยชน์ของถุงยางอนามัยในการป้องกันโรค และอธิบายวิธีใช้ถุงยางอนามัยสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมปลาย

เมื่อดิฉันพบคุณย่าชาวญี่ปุ่นของลูกสาว คุณย่าปรับทุกข์ว่ารู้สึกเป็นห่วงหลานสาวทั้งสองมาก เพราะดูรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับเมืองไทยแล้วไม่สบายใจเลย อยากให้กลับไปสอนลูกเรื่องโรคเอดส์ เพราะทั้งคู่เริ่มเข้าสู่วัยรุ่นแล้ว รับบัญชาจากคุณย่ามาแล้วก็กลับมาเล่าให้เด็กๆ ฟัง และถามย้ำเพื่อตรวจสอบความเข้าใจของลูก

“โรคเอดส์ติดต่อได้อย่างไร”

“ร่วมเลือด ร่วมเพศ” ลูกสาวทั้งสองตอบได้ทันควันตามโฆษณาของกระทรวงสาธารณสุขเป๊ะ

“ร่วมเลือดน่ะร่วมยังไง”

“ก็ร่วมเข็มฉีดยาไงแม่”

"สมมติเราเจอคนเกิดอุบัติเหตุ เลือดท่วมตัว แล้วเรามีแผลที่มือ เราไม่รู้ว่าคนที่กำลังจะตายอยู่ตรงหน้าเราเป็นโรคเอดส์หรือเปล่า ถ้าเราช่วย เลือดของเขามีโอกาสเข้าไปในแผลเราได้ เราจะเข้าไปช่วยเขาไหม” ดิฉันตั้งสมมติฐานที่ตัวเองสงสัยอยู่ในใจเหมือนกัน

“ก็โทรศัพท์แจ้งให้ตำรวจมาช่วยสิ” ลูกสาวคนเล็กออกความเห็น

“ถ้าแถวนั้นไม่มีโทรศัพท์ แล้วอาการเขาหนักมากล่ะ”"

"ก็สวมถุงมือยางซะสิ บางประเทศเขามีกฎให้มีถุงมือยางอยู่ในรถยนต์เป็นประจำนะ” พ่อของลูกพูดแทรกขึ้นมาบ้าง

“แหม...เมืองร้อนอย่างเมืองไทยขืนมีถุงมือยางติดรถ คงต้องซื้อใหม่บ่อยๆ ละมังคะ”

“แล้วจะทำไงคะแม่ ถ้าเขาเป็นเอดส์แล้วเลือดเข้าแผลเรา เราจะติดมั้ยคะ” ลูกสาวคนโตถาม

“แม่ก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่หมอยังมีโอกาสติดเอดส์จากเลือดคนไข้เลย เพราะฉะนั้นเราน่าจะกันไว้ก่อน อาจจะหาถุงพลาสติกสวมมือแทนถุงมือยางก็ได้มั้ง ถุงพลาสติกหาง่ายออก”

ดิฉันเองก็ไม่มั่นใจนักว่าตอบถูกหรือเปล่า ใจนึกถึงพวกอาสาสมัครของมูลนิธิปอเต็กตึ๊งและมูลนิธิร่วมกตัญญู ไม่รู้ว่าพวกเขามีโอกาสติดเอดส์จากการช่วยเหลือผู้อื่น และมีการป้องกันดีพอหรือไม่ เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อเอดส์มีเป็นแสนเป็นล้าน โอกาสที่พวกเขาจะคลุกคลีกับเลือดของผู้ติดเชื้อก็มีมากเหลือเกิน

“แล้วหมอฟันล่ะ เวลาไปทำฟันเลือดเต็มปากเลย คนรอคิวติดๆ กันอย่างนั้น หมอฟันฆ่าเชื้อที่เครื่องมือทำฟันทันเหรอแม่” ลูกสาวตนโตถามอีก

“นั่นสิ เรื่องนี้แม่ก็ยังหาคำตอบที่แน่ชัดไม่ได้ ว่าจะป้องกันอย่างไรไม่ให้ติดเอดส์จากการทำฟัน” มีใครให้ความมั่นใจได้บ้างไหมคะ

การสนทนาหันมาสู่เรื่อง “ร่วมเพศบ้าง”

ลูกๆ เรียนรู้ถึงความแตกต่างทางร่างกายระหว่างหญิงชายตามธรรมชาติมาตั้งแต่เล็ก เพราะประเพณีญี่ปุ่น เด็กๆ แก้ผ้าอาบน้ำร่วมกับผู้ใหญ่เป็นปกติวิสัย ไม่เหมือนคนไทย โดยเฉพาะคนไทยสมัยก่อนคงมีน้อยคนที่เคยเห็นพ่อแม่แก้ผ้าอาบน้ำ เมื่อถึงเวลาร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงจึงรู้สึกตกใจ อย่างไรก็ตาม เมื่อจะถามถึงความรู้ของลูกเกี่ยวกับเรื่อง “ร่วมเพศ” ก็รู้สึกว่าออกจะตั้งคำถามยากอยู่เหมือนกัน

“ป้องกันการติดเอดส์จากการร่วมเพศน่ะป้องกันยังไงรู้มั้ยลูก” ดิฉันถามแบบวิชาการ

“ใช้ถุงยางอนามัย!” ลูกสาวทั้งสองตอบได้ทันทีตามโฆษณาของกระทรวงสาธารณสุขทำให้รู้สึกว่าการรณรงค์ได้ผลดีจริงๆ ในแง่ของการให้ความรู้

“ถุงยางอนามัยเป็นยังไงรู้มั้ย” ดิฉันถามลูกสาวคนเล็ก

“รู้ตั้งแต่ ป.5 แล้ว เพื่อนผู้ชายเขาเอามาเป่าลูกโป่งเล่นที่โรงเรียน หนูเลยกลับมาถามพ่อว่าอะไร” ลูกตอบอย่างฉาดฉาน

“แล้วพ่อตอบว่าไงเหรอ”

“พ่อบอกว่าถุงใส่โอจิงจิง” โอจิงจิง เป็นภาษาญี่ปุ่นที่ใช้เรียกอวัยวะเพศของผู้ชาย และเป็นภาษาที่เด็กใช้ได้โดยไม่ขัดเขิน เด็กไทยสมัยนี้อ่านการ์ตูนญี่ปุ่นมากจนรู้ศัพท์คำนี้ เวลาครูพูดคำว่า “ครูชอบจริงๆ” ในห้องเรียน เด็กๆ จึงหัวเราะกันครืน

“แต่ลูกเป็นผู้หญิงจะใช้ถุงยางอนามัยป้องกันเอดส์ได้ไงล่ะ” ดิฉันถามต่อ

“ถุงยางอนามัยของผู้หญิงก็มี แม่ไม่รู้เหรอ หนูเคยอ่านเจอในหนังสือพิมพ์” ลูกสาวคนโตตอบ ทำให้ดิฉันชักจะทึ่งในความรู้ดีของเด็กสมัยนี้

“เอ...แล้วเรื่องเพศนี่ลูกรู้แค่ไหน” ดิฉันตัดสินใจถามลูกสาววัยมัธยมต้นทั้งคู่ตรงๆ

“หนูเรียนในวิชาวิทยาศาสตร์ ตอนอยู่ ม.2 เป็นวิชาการเรื่องสเปิร์มผสมกับไข่อะไรหยั่งเงี้ย” ลูกสาวคนโตซึ่งอยู่ ม.3 อธิบายให้ฟัง

“แล้วเรื่องไม่วิชาการล่ะ” ดิฉันลุกต่อ แต่เพื่อไม่ให้ลูกรู้สึกอึดอัดที่จะตอบจึงเล่าให้ฟังว่า การสนใจเรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมดาของเด็กวัยนี้

“จำได้ว่าสมัยแม่อยู่ ม.1 มีเพื่อนแอบเอาหนังสือของพี่สาวที่เพิ่งแต่งงานมาอ่านที่โรงเรียน พอเขาอ่านดังๆ ว่า “คืนวันแต่งงาน” เท่านั้นแหละ ทุกคนกระโจนพรวดไปมุงอ่านกันใหญ่เลย”

“เรื่องไม่วิชาการหนูก็ไม่รู้ชัดหรอก รู้พอเลาๆ มั้ง” ลูกสาวคนโตตอบอย่างสงวนท่าที

“แต่หนูรู้ชัดเลย!” ลูกสาวคนเล็กที่อยู่ ม.1 พูดอวดอย่างมั่นใจ เล่นเอาดิฉันสะดุ้ง

“ไอ้ขุนกับไอ้เข่งไง มันแสดงให้ดูทุก 6 เดือน จนถึงออกลูกเลย”

ขุนพลกับขนมเข่ง คือ สุนัขพันธุ์ไทยหลังอานพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ซึ่งลูกสาวทั้งสองเลี้ยงไว้หารายได้พิเศษ และได้ความรู้พิเศษอีกต่างหาก!

โรคเอดส์ คือ ปัญหาสังคม และเป็นปัญหาของเราทุกคน ร่วมมือรณรงค์ทั่วไทย ต้านภัยเอดส์

ข้อมูลสื่อ

167-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 167
มีนาคม 2536
พ่อ-แม่-ลูก
พรอนงค์ นิยมค้า