• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โฆษณาขนมกับเด็ก

โฆษณาขนมกับเด็ก


ทุกวันนี้โทรทัศน์ดูจะเป็นของใช้ประจำบ้านที่พบได้แทบทุกครอบครัว อาจเป็นเพราะว่าราคาของโทรทัศน์ไม่แพงนัก และเศรษฐฐานะของคนไทยดีขึ้น ดังนั้น โทรทัศน์จึงเป็นของสัญของบ้านที่ไม่ควรมองข้ามไปเลยที่เดียว โทรทัศน์ให้ทั้งข่าวสารและความบันเทิง ทั้งยังเป็นจุดรวมของครอบครัวไปด้วย ขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนใช้ประโยชน์ของโทรทัศน์เป็นสื่อในการสอน และให้ความรู้แก่ลูกหลาน อีกหลายครอบครัวกลับใช้โทรทัศน์เป็นพี่เลี้ยงเด็ก คือ ให้เด็กๆ อยู่หน้าจอโทรทัศน์ ในขณะที่พ่อแม่ยุ่งอยู่กับการหาเลี้ยงชีพ

จากการที่โทรทัศน์เข้าไปได้ในแทบจะทุกครัวเรือน บริษัทผู้ผลิตสินค้าจึงทุ่มเทงบประมาณให้กับการโฆษณาทางโทรทัศน์อย่างมากมาย แม้ว่าจะแพงสักขนาดไหนก็ตาม ในส่วนของสินค้าที่มีเด็กเป็นกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะขนมจำพวกของขบเคี้ยว ลูกอม ลูกกวาด จึงมีโฆษณามากมายสนับสนุนในรายการการ์ตูน

ทราบไหมคะว่า รายการการ์ตูนเรื่องหนึ่งๆ ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ที่มีความยาว 3 นาที นั้นมีโฆษณาขนมประมาณ 8-17 ครั้ง ทีเดียว ขึ้นกับว่าเรื่องนั้นๆ เป็นที่ชื่นชอบของเด็กมากแค่ไหน อย่างการ์ตูนชุดเจ้าป่าเมาคลีที่จบไปแล้วนั้น มีความถี่ในการโฆษณาสูงสุด คือ 17 ครั้ง

เมื่อเร็วๆ นี้ ทันตแพทย์กลุ่มหนึ่งได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับผลของโฆษณาขนมทางโทรทัศน์กับเด็กวัย 10-12 ปี ในเขตปริมณฑลจำนวน 900 คน พบว่า จากโฆษณาขนมจำนวน 39 ชนิด มีถึง 36 ชนิด ที่เด็กรู้จัก ประมาณ 1/3 ของเด็กที่พบว่า กินขนมเพราะโฆษณา ที่จริงแล้วขนมขบเคี้ยว ลูกอมลูกกวาดต่างๆ ที่โฆษณากันนั้น มิใช่ว่าจะเป็นของพิเศษมีประโยชน์หรือสำคัญต่อร่างกาย จัดได้ว่าเป็นอาหาร “ส่วนเกิน” เพราะส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล ซึ่งเด็กจะได้รับอยู่แล้วในอาหารมื้อหลัก ดูจะเป็นการยากอยู่สักหน่อยที่ห้ามเด็กไม่ให้กินขนมประเภทนี้เสียเลย เพราะเด็กๆ เห็นสิ่งที่ยั่วยุอยู่ทุกวัน ก็ควรให้เลือกหาให้เด็กกินในปริมาณและเวลาที่เหมาะสม

มีพ่อแม่หลายคนที่คิดว่าขนมลูกอมนั้น กินไปจะทำให้ฟันผุก็ห้ามเด็กกินโดยเด็ดขาด เด็กบางคนจึงให้ความสำคัญกับขนมที่พ่อแม่ห้ามโดยจะหาโอกาสเท่าที่มีเพื่อกินชดเชยหรือแอบกิน การที่เด็กจะกินขนมหวานต่างๆ นั้น สำหรับหมอไม่ถือเป็นข้อห้าม แต่จะต้องรู้จักกิน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรแถมยังทำให้รู้สึกว่าถูกบังคับหรือถูกห้ามด้วย

ก่อนอื่น พ่อแม่ต้องรู้และเข้าใจว่า ทำไมจึงต้องให้ความสำคัญกับการกินขนมหวานของลูกหลาน เวลาที่เด็กกินขนมหวานส่วนใหญ่ คือ เวลาหลังเลิกเรียน เพราะเด็กต้องใช้เวลาในการเดินทางค่อนข้างนาน กว่าจะถึงบ้าน และผู้ปกครองมักไม่ได้เตรียมอาหารเย็นไว้ ดังนั้น ในช่วงเย็นๆ เด็กจึงได้รับขนมขบเคี้ยวเป็นอาหารว่าง เด็กมีกระเพาะเล็กกว่าผู้ใหญ่ เมื่อกินขนมไปแล้วทำให้อิ่มทำให้ไมสามารถกินอาหารเย็นได้ พาลเบื่ออาหารไปเสียอีก ผลที่จะตามมาคือ เด็กจะขาดสารอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะวิตามินซึ่งเป็นอาหารสำคัญที่สร้างเสริมสติปัญญา

นอกจากนี้ทารกเด็กกินขนมหวานบ่อยๆ เพราะติดในรสชาติและอายุน้อยเกินกว่าจะยับยั้งตัวเองให้กินแต่พอสมควรได้ ก็จะมีผลให้เกิดฟันผุตามมา ทั้งเป็นการสร้างนิสัยการกินอาหารที่มีรสหวานไปตลอดอาจแก้ไขได้ยาก ตรงกันข้าม ผู้ปกครองควรหัดให้เด็กกินอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผลไม้ตามฤดูกาล ดื่มน้ำสะอาด นมหรือผลไม้แทนน้ำอัดลม ซึ่งจัดหาได้ไม่ยาก ราคาไม่แพงให้เป็นนิสัย เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ควรสอนและฝึกเด็กให้กินเป็นเวลาเป็นมื้อเป็นคราว ส่วนการกินขนมหวานจะอนุญาตให้เด็กกินได้หลังจากกินอาหารหลักเรียบร้อยและกินอาหารเสร็จภายในมื้อ ควรตกลงกับเด็กว่าจะอนุญาตให้กิน “รายการพิเศษ” ได้เป็นครั้งคราว เช่นจะมีของที่เด็กชื่นชอบสัปดาห์ละครั้งหากเด็กสามารถทำตามข้อตกลง

โดยวิธีที่เล่ามาเป็นวิธีที่กินแล้วค่อนข้างปลอดภัยต่อสุขภาพของช่องปากและเด็กๆ มักจะยอมรับได้ทั้งนี้เพราะถ้าเกิดกินขนมหวานในมื้ออาหาร และจำกัดความถี่ของการกินนอกมื้ออาหารแล้ว จากการศึกษาพบว่า สามารถควบคุมไม่ให้เกิดฟันผุได้ อย่างไรก็ตาม ที่ไม่ควรลืมก็คือ ดูแลให้เด็กแปรงฟันก่อนนอนค่อนข้างดึกก็ควรให้เด็กแปรงฟันหลังกินอาหารไม่นานนัก ควรตรวจดูว่า เด็กแปรงฟันไม่สะอาดทั่วทั้งปากหรือไม่ หากเป็นเด็กที่อายุต่ำกว่า 7 ขวบ ผู้ใหญ่ก็ควรแปรงฟันซ้ำให้อีกครั้งเพราะเด็กนั้นไม่มีทักษะในการใช้มือที่ดีพอ ประกาศครั้งสุดท้าย คือ ควรพาไปตรวจสุขภาพฟันอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ด้วยนะคะ

ข้อมูลสื่อ

169-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 169
พฤษภาคม 2536
อื่น ๆ
หมอปุ้ย