• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สิทธิการลาคลอด 90 วัน

สิทธิการลาคลอด 90 วัน


ขณะนี้ปัญหาเกี่ยวกับแรงงานหญิงที่ทุกคนให้ความสนใจเป็นพิเศษ ก็คือ เรื่องสิทธิการลาคลอด 90 วัน ซึ่งแต่เดิมนั้นลาได้ 30 วัน และได้รับค่าจ้างครบตามจำนวน แต่ทางรัฐวิสาหกิจเดิมมีสิทธิลาคลอดได้ถึง 60 วัน ซึ่งทางภาคเอกชนก็ควรมีสิทธิลาคลอดได้ในเวลาที่เท่ากัน

ปัญหานี้เริ่มดึงความสนใจต่อแรงงานหญิงเมื่อ 2 ปีที่แล้ว และมาปีนี้ปัญหานี้ได้นำมาแก้ไขกันใหม่อย่างจริงจังอีกครั้ง พร้อมกับการประท้วงของกลุ่มแรงงานและหญิงมีครรภ์เมื่อเร็วๆ นี้ แล้วปัญหาการลาคลอด 90 วันก็ถูกยอมรับ แต่มีปัญหาตรงที่การจ้างค่าจ้างที่ตกลงกันไม่ได้

ในที่สุดรัฐบาลก็ลงมติว่า “นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้าง 45 วัน และอีก 45 วันยกให้ประกันสังคมเป็นผู้จ่าย” ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้ดำเนินการแก้กฎกระทรวงอยู่ แล้วคาดว่าจะประกาศออกใช้ในวันที่ 1 กันยายน 2536 เป็นต้นไป

สาเหตุส่วนหนึ่งของการผลักดันให้กฎหมายลาคลอด 90 วันออกใช้เพื่อที่จะให้แม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับลูกนานๆ และเป็นการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นี้จะทำให้เด็กมีภูมิต้านทานโรค ร่างกายแข็งแรง และที่สำคัญ ความรัก ความใกล้ชิด ความผูกพัน ความอบอุ่นที่แม่ให้กับลูกนั้นมากมายพอที่จะทำให้ลูกเติบโตขึ้นมาแล้วไม่เป็นเด็กที่มีปัญหาของสังคมต่อไป สำหรับหญิงที่ต้องใช้แรงงานเป็นสิ่งสำคัญมากจากที่เคยอยู่กับลูกเพียง 30 วัน แล้วต้องกลับมาทำงานต่อนั้น เป็นสิ่งที่ทำร้ายจิตใจของผู้เป็นแม่มาก เพราะว่าต้องให้คนอื่นเลี้ยงลูกแทนตนเอง ทำให้ความรัก ความผูกพันของแม่กับลูกห่างเหินกันไป บางทีลูกยังจำหน้าพ่อและแม่ไม่ค่อยได้ บางครั้งหนึ่งสัปดาห์ได้เจอลูกเพียงครั้งเดียว หรือไม่ก็เจอกันเฉพาะตอนกลางคืน ซึ่งลูกก็หลับไปเสียแล้ว

ปัญหานี้สำหรับผู้หญิงที่แต่งงานและต้องการมีลูกได้ให้ความสำคัญมาก โดยเฉพาะหญิงที่ใช้แรงงานทั้งภาครัฐฯ และเอกชน สำหรับสิทธิการลาคลอดของลูกจ้างภาคเอกชนตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานนั้น มีสิทธิลาป่วยตามปกติ แต่ไม่เกิน 30 วัน โดยได้รับค่าจ้างเต็มและยังมีสิทธิลาคลอดได้อีก 60 วัน โดยได้รับค่าจ้าง แต่ต้องทำงานไม่น้อยกว่า 180 วัน ถ้าหากว่าลูกจ้างหญิงไม่สามารถทำงานได้หลังจากคลอดลูกแล้ว ยังมีสิทธิลาได้อีก 30 วัน แต่ไม่ได้รับค่าจ้าง แต่ที่มีค่าเหนือสิ่งอื่นใด ก็คือ ความรักความผูกพันที่แม่ได้ให้กับลูกเวลาที่ทั้งสองได้อยู่ใกล้ชิดกัน คุณว่าจริงมั้ย

ข้อมูลสื่อ

170-001-01
นิตยสารหมอชาวบ้าน 170
มิถุนายน 2536
โลกของเรา