• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ฝึกเด็กอย่างไรให้ได้ดังใจ

ฝึกเด็กอย่างไรให้ได้ดังใจ


คนเป็นพ่อเป็นแม่ต่างอยากให้ลูกมีพัฒนาการเทียบเท่าหรือเหนือกว่าเด็กอื่นๆ จึงพยายามที่จะฝึกลูกเพื่อให้เป็นคนเก่ง การฝึกเด็กให้ใช้ความสามารถเท่าที่มีอยู่ได้เต็มที่นั้น ต้องกระตุ้นและจูงในให้เด็กเกิดความพยายามและสนุกสนานกับการฝึกหัด จึงจะได้ผลเร็ว

1. ความพร้อม เด็กมีความพร้อมที่จะได้รับการฝึกตามพัฒนาการทางสมองและพ่อ-แม่ต้องพร้อมที่จะให้การฝึกแก่เด็กด้วยตนเอง เมื่อคุณเป็นผู้ฝึก สิ่งสำคัญ 3 ประการที่ผู้ฝึกเด็กจะต้องมี คือ

- ความอดทน

- ความมานะพยายาม

- ความรัก

คุณต้องทำตัวให้สบาย ผ่อนคลายไม่เคร่งเครียด มีความหนักแน่นมั่นคง แต่ก็นุ่มนวล

2. การฝึกเป็นกิจวัตร เพื่อช่วยให้เด็กมีความชำนาญและเกิดการเรียนรู้ ควรมีการฝึกหัดบ่อยๆ และซ้ำๆ จงทำให้สม่ำเสมอคงเส้นคงวา เมื่อท่านฝึกให้เด็กกินอาหารเอง ท่านก็จะต้องให้เขานั่งกินที่เดิม ในเวลาเดิม และวิธีสอนเหมือนเดิมทุกครั้งไป

3. ให้กำลังใจ เมื่อเด็กพยายามทำในสิ่งที่ท่านฝึกสอนให้ จงกล่าวชมเชยทุกครั้ง เช่น ดี ดีมาก เป็นคำกลางๆ ถ้าทำเฉพาะและทำได้สำเร็จแล้วก็ชม เช่น “หนูเก่งใส่รองเท้าได้เอง” หรือ “หนูกินข้าวเรียบร้อยดี” คำชมเชยใช้ได้เสมอและทุกเวลาเมื่อเด็กทำในสิ่งที่เรายอมรับ และต้องการให้เขาทำ นอกจากนี้รางวัลเล็กๆ น้อยๆ เช่น ขนมที่เด็กชอบ คะแนนหรือแต้มที่เด็กจะสะสมไว้เพื่อแลกเป็นสิ่งของได้ สิ่งเหล่านี้ช่วยในการฝึกสอนได้มาก เด็กจะเรียนรู้และจดใจได้เร็ว เมื่อได้รับคำชมเชยหรือรางวัลจากการกระทำนั้นๆ อย่าชมให้หรือให้รางวัลเมื่อเด็กยังไม่ได้ทำหรือยังทำไม่ดีกว่าเดิมแต่จงช่วยให้เขาพยายามให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป เช่น พูดว่า “เราจะทำให้ดีขึ้นในคราวหน้า”

4. จงทำแบบอย่าง เมื่อสอนอะไรก็ตาม จงทำให้เด็กดูเป็นตัวอย่างแล้วให้เขาทำตาม เด็กบางคนการสอนโดยการพูดแต่เพียงอย่างเดียวจะทำให้เขาไม่เข้าใจว่าเราต้องการให้เขาทำอะไร จึงเป็นการดีที่จะต้องให้เด็กเรียนรู้จากการเห็นตัวอย่างและจากการเลียนแบบ ในขณะสอนจงพูดชักจูงในสิ่งที่เด็กกำลังฝึกอยู่ เช่น เมื่อสอนให้ใส่รองเท้าก็พูดว่า “หนูใส่รองเท้า” ฯลฯ

5. สอนทีละขั้น การฝึกสอนให้กับเด็กควรสอนเพียงอย่างเดียวในแต่ละครั้งและต้องแน่ใจว่าขณะที่สอนนั้น เด็กกำลังตั้งใจฟังและกำลังสนใจมองอยู่ เมื่อเด็กสามารถทำสิ่งที่สอนนั้นได้แล้ว จึงจะสอนอย่างอื่นต่อไป งานบางอย่างก็ยากเกินไปที่เด็กจะเรียนรู้ได้ทั้งหมดเพื่อทำให้ง่ายขึ้น จึงควรแบ่งงานที่สอนนั้นออกเป็นขั้นย่อยๆ แล้วสอนทีละขั้นเหมือนการก้าวขึ้นบันได คือ เริ่มจากขั้นที่ง่ายที่สุดก่อน แล้วจึงก้าวขึ้นขั้นต่อไป

6. ความสนใจ การฝึกหัด ควรใช้เวลาสั้นๆ ที่อยู่ในช่วงความสนใจ ถ้าเด็กไม่สนใจ เกิดความเบื่อหน่ายการสอนก็ไม่เป็นประโยชน์ งานที่สอนควรสั้นพอที่เด็กจะให้ความสนใจได้ตลอดจนเสร็จ โดยไม่ทิ้งไปครึ่งๆ กลางๆ จงหลีกเลี่ยงการสอนในที่ซึ่งพลุกพล่าน เพราะเด็กจะวอกแวกได้ง่าย และต้องพิจารณาด้วยว่าขณะสอนนั้นเด็กอยู่ในสภาพที่ดีทั้งกายและอารมณ์ จงให้เวลาบ้าง อย่าเร่งรัด แต่ก็ไม่ปล่อยให้เด็กเถลไถล

7. ความรักเป็นเครื่องช่วยในการฝึกอบรมเด็ก เด็กจะสามารถเรียนรู้ได้ดีที่สุด ถ้าเขารู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ให้เขารู้สึกว่าเขาได้รับความรักและเป็นที่ต้องการของพ่อแม่พี่น้อง เด็กที่มีความสุขมักจะเป็นเด็กประพฤติดี ถ้าเราให้เขามีความสุขอยู่เสมอ ก็จะทำให้ควบคุมความประพฤติเขาง่ายขึ้น และทำให้การฝึกอบรมประสบความสำเร็จโดยราบรื่น

ข้อมูลสื่อ

170-001-02
นิตยสารหมอชาวบ้าน 170
มิถุนายน 2536
โลกของเรา