• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปฏิสนธิชีวิตใหม่ การเจริญเติบโตของตัวอ่อน

ปฏิสนธิชีวิตใหม่ การเจริญเติบโตของตัวอ่อน



 

หลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นในโลก บางครั้งผลของมันที่ออกมาก็ดูเหมือนง่ายดาย แต่แท้จริงแล้วกระบวนการเกิดของมันซับซ้อนยุ่งยาก เช่นเดียวกับกลไกการเกิดมนุษย์ที่ได้เคยกล่าวไว้บ้างแล้วในตอนก่อนๆ ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะนึกสงสัยอยู่ครามควัน เอ๊! เมื่อไหร่จะคลอดเสียทีนะ เดี๋ยวค่ะ...ใจเย็นๆ อดใจรออีกสักนิด คุณจะได้เห็นหน้าเจ้าตัวน้อยกันแล้วล่ะค่ะ

 

  • 4-5 สัปดาห์

ภายหลังจากไข่ได้ที่พักพิงอันอบอุ่นในมดลูกเรียบร้อยแล้ว เซลล์ชั้นนอกก็ได้กระจายตัวออกมา เพื่อรับการหล่อเลี้ยงจากเลือดของมารดา ส่วนเซลล์ชั้นในเริ่มแบ่งตัวออกเป็น...เนื้อเยื่อส่วนที่ 1 ซึ่งจะพัฒนามาเป็นสมอง ระบบประสาท ผิวหนัง ตา และหู ส่วนเนื้อเยื่อส่วนที่ 2 จะเป็นปอด กระเพาะอาหาร และลำไส้ และเนื้อเยื่อส่วนที่ 3 จะเป็นหัวใจ เลือด กล้ามเนื้อ และกระดูก

ระยะนี้เซลล์ด้านบนสุดจะม้วนตัวเป็นท่อกลวง เรียกว่า นิวราลทิวบ์ ซึ่งจะพัฒนามาเป็นระบบประสาทส่วนกลาง อันได้แก่ สมอง และไขสันหลัง พร้อมๆ กันนี้หัวใจก็กำลังก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาเช่นกัน และทารกเริ่มมีหลอดเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตของตนเองแล้ว เละหนึ่งในหลอดเลือด ก็คือ สายสะดือ (umbilical cord) ซึ่งเชื่อมต่อสายใยแห่งชีวิตระหว่างแม่-ลูกให้รัดรึงเป็นหนึ่งเดียว

 

  • 6-7 สัปดาห์

ในช่วงนี้จะสังเกตเห็นว่ามีรอยโป่งเกิดขึ้นที่ตำแหน่งของหัวใจ ซึ่งจะมาชนกับสมองที่ได้รับการพัฒนาให้เจริญเติบโตเช่นเดียวกัน ขณะนี้หัวใจเจ้าตัวเล็กเริ่มเต้นแล้ว ในช่วงสัปดาห์ที่ 7 ตัวอ่อนจะมีความยาวประมาณ 8 มิลลิเมตร

 

  • 8-9  สัปดาห์

เริ่มเห็นใบหน้าเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น สามารถสังเกตเห็นเป็นลูกตาได้ชัดเจนว่ามีสีอะไร พร้อมๆ กับที่ปากและลิ้นเริ่มพัฒนาขึ้นมา แขนขาเริ่มเห็นร่องนิ้วได้ชัดเจนขึ้น อวัยวะภายในหลักๆ อันได้แก่ หัวใจ สมอง ปอด ไต ตับ และลำไส้ก็กำลังพัฒนาไปพร้อมๆ กัน ช่วงสัปดาห์ที่ 9 นี้ ทารกมีความยาวเพียง 17 มิลลิเมตร เท่านั้น

 

 

 

 

  • 10-14 สัปดาห์

แค่เพียง 12 สัปดาห์ผ่านไปหลังจากที่มีการปฏิสนธิ ทารกในครรภ์ซึ่งช่วงนี้เราเรียกเขาว่า “ฟีทัส”  (fetus) ก็มีพร้อมสมบูรณ์ครบทุกอวัยวะแล้ว หรือแม้แต่อวัยวะเพศก็ค่อยๆ พัฒนามาด้วยเช่นกัน ประมาณช่วงสัปดาห์ที่ 14 ของการปฏิสนธิ จังหวะการเต้นของหัวใจเริ่มแรงขึ้น เมื่อเทียบแล้วจะมีความเร็วมากกว่าการเต้นของหัวใจผู้ใหญ่ถึง 2 เท่าทีเดียว ช่วงสัปดาห์ที่ 14 ทารกมีความยาวประมาณ 56 มิลลิเมตร

 

  • สัปดาห์ที่ 15-22

ถึงระยะนี้ทารกในครรภ์จะเติบโตอย่างรวดเร็ว ลำตัวกับศีรษะมีความสมดุลกันมากขึ้น ทารกไม่เหมือนเด็กหัวโตอีกต่อไป อีกทั้งใบหน้าก็เริ่มปรากฏเค้าแห่งความเป็นมนุษย์มากขึ้น ผมเริ่มงอกยาวออกมาในช่วงเวลาเดียวกับคิ้วและขนตา และเริ่มเห็นเปลือกตาปิดดวงตาได้ชัดเจนขึ้น มาบัดนี้ได้เริ่มปรากฏเป็นลักษณะนิ้วอย่างชัดเจนแล้ว และพร้อมกันนี้ทารกก็มีลายนิ้วมือเฉพาะของตนเองด้วย ขณะเดียวกันเล็บมือเล็บเท้าก็เริ่มงอกแล้ว

ขนอ่อนนุ่มที่เรียกกันว่า ลานูโก (lanugo) เริ่มมาปกคลุมทารกน้อยเอาไว้ อาจจะเพื่อควบคุมอุณหภูมิร่างกายของทารกให้คงที่ก็ได้ ครั้นพอใกล้คลอดขนอ่อนนุ่มเหล่านี้ก็จะหลุดร่วงหายไป ช่วงนี้คุณแม่จะเริ่มรู้สึกถึงการดิ้นขยับตัวของทารกได้เป็นครั้งแรก ซึ่งการเคลื่อนไหวของลูกที่คุณรู้สึกได้ครั้งแรกนี้คุณแม่จำเป็นต้องลงบันทึกไว้เพื่อบอกหมอ เพราะตัวเลขนี้จะสามารถช่วยในการคาดหมายกำหนดการคลอดของลูกได้ ช่วงสัปดาห์ที่ 22 ทารกมีความยาวประมาณ 160 มิลลิเมตร

 

  • สัปดาห์ที่ 23-30

ขณะที่ทารกลอยตัวอยู่ในน้ำคร่ำในครรภ์ เขาจะดื่มกินน้ำคร่ำเข้าไปบ้างเล็กน้อย จากนั้นก็จะถ่ายปัสสาวะออกมาผสมกับน้ำคร่ำ เป็นกระบวนการต่อเนื่องเช่นนี้ตลอดไปจนกว่าจะคลอด ถึงอายุครรภ์ช่วงนี้แล้ว เจ้าตัวน้อยเริ่มเรียนรู้เวลาตื่น-หลับ บ่อยครั้งทีเดียวที่เวลาตื่น-หลับของทารกต่างจากเวลาของคุณแม่ อย่างเช่นเวลาที่คุณแม่เข้านอน ก็ถึงเวลาที่คุณลูกเริ่มซ้อมเตะท้อง อย่างนี้เป็นต้น

ในช่วงนี้ร่างกายทารกได้รับการห่อหุ้มด้วยสารเคลือบมันสีขาวที่เรียกกันว่า เวอร์นิกซ์ (Vernix) เข้าใจว่าจะเป็นสารที่ช่วยปกป้องผิวทารกในยามที่ต้องลอยตัวอยู่ในน้ำคร่ำและสารนี้จะหลุดลอกออกไปเกือบหมดก่อนที่ทารกจะคลอด ประมาณช่วงสัปดาห์ที่ 26 ทารกจะเริ่มลืมตาเป็นครั้งแรก พอถึงช่วงสัปดาห์ที่ 28 เราจะเรีกทารกช่วงนี้ว่า viable ซึ่งหมายถึงว่า ทารกที่อยู่มาได้จนถึงช่วงนี้ ถ้ามีเหตุทำให้ต้องคลอดก่อนกำหนดก็สามารถมีชีวิตรอดได้
 

  • สัปดาห์ที่ 31-40

ทารกในช่วงเริ่มอ้วนจ้ำม่ำ ผิวหนังที่เคยเหี่ยวย่นเริ่มเปลี่ยนเป็นนุ่นละไมขึ้น ทั้งเวอร์นิกช์และลานูโกที่เคลือบอยู่บนผิวเริ่มหลุดลอกออกหายไป ประมาณช่วงสัปดาห์ที่ 32 ทารกเริ่มเอาศีรษะลงไปทางช่องคลอดเพื่อเตรียมตัวลืมตาออกมาดูโลกเบี้ยวๆ ใบนี้ บางครั้งก่อนคลอดศีรษะของเด็กอาจจะเคลื่อนลงไปที่กระดูกเชิงกรานพร้อมที่จะคลอด แต่บางครั้งศีรษะเด็กจะไม่เคลื่อนลงจนกว่าจะเจ็บท้องคลอด

เฮ้อ! อ่านจบแล้วรู้สึกเหนื่อยบ้างไหมคะ ถ้าใคร (ยังไม่เคยเป็นคุณแม่) อ่านหรือลุ้นจนเหนื่อน ก็ขอให้ลองจับความรู้สึกของผู้ที่จะเป็นแม่มาใส่ดูบ้างสิคะว่า เธอนั้นจะเหน็ดเหนื่อยสักเพียงใดกับการที่ต้องอุ้ม ‘แตงโม’ ลูกนี้อยู่ตลอดระยะเวลา 9 เดือน เมื่อรู้อย่างนี้กลับถึงบ้านแล้ว ลองทำความดีให้คุณแม่ชื่นใจสักวันละอย่างสิคะ

ข้อมูลสื่อ

170-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 170
มิถุนายน 2536
สุกาญจน์ เลิศบุศย์