• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ส่าไข้

ส่าไข้


ข้อน่ารู้

1. ส่าไข้ เป็นไข้ออกผื่นชนิดหนึ่งที่พบในทารกวัย 6 เดือนถึง 3 ขวบ ไม่พบในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ติดต่อโดยการไอ จาม หรือหายใจรดกัน ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 7-17 วัน เมื่อเป็นแล้ว มักจะไม่เป็นซ้ำอีก โรคนี้ฝรั่งเรียกว่า “reseolar infantum” แปลว่า “ไข้ผื่นกุหลาบในทารก” คนไทยเรียกว่า “ล่าไข้” บางครั้งก็เรียกว่า “หัดเทียม” เพราะมีอาการคล้ายการออกหัดมาก จนบางครั้งทำให้สับสนนึกว่าเป็นหัด

2. โรคนี้ไม่มีอันตรายใดๆ ทั้งสิ้น ยกเว้นอาจมีไข้สูงจัดจนทำให้เกิดอาการชักชั่วขณะได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่เคยมีประวัติชักเนื่องจากไข้สูงมาก่อน หรือมีพี่น้องเคยมีอาการชักเนื่องจากไข้สูงร่วมด้วย

3. โรคนี้จัดว่าเป็นโรคที่เป็นเองหายเอง เนื่องจากเกิดจากเชื้อไวรัส จึงไม่มียาที่ใช้รักษาโดยตรง เพียงแต่ให้การรักษาอาการไข้ แล้วรอให้หายเองภายใน 3-5 วัน

รู้ได้อย่างไรว่าไม่ได้เป็นโรคอื่น

เด็กที่เป็นส่าไข้ จู่ๆ จะมีอาการตัวร้อนจัดเกิดขึ้นฉับพลันทันที โดยไม่มีอาการเป็นหวัด ไอ หรือท้องเดินให้เห็น เด็กอาจมีอาการซึมเล็กน้อย เบื่ออาหารเล็กน้อย หรืองอแง ไข้อาจสูงถึง 40 องศาเซลเซียส และอาจเป็นไข้ (ตัวร้อน) อยู่ตลอดเวลาก็ได้ไข้จะเป็นอยู่นาน 1-5 วัน (โดยเฉลี่ยประมาณ 3 วัน) แล้วอยู่ดีๆ ไข้จะลดลงเป็นปกติ หลังจากไข้ลงเพียงไม่กี่ชั่วโมง จะปรากฏมีผื่นแดงเล็กๆ ขึ้นตามตัว คล้ายผื่นออกหัด ไม่คันเด็กจะกลับสดชื่น แข็งแรงเล่นซนเหมือนปกติทุกอย่าง ในช่วงนี้ถือว่าเด็กหายดีแล้ว ผื่นจะเป็นอยู่ประมาณ 1-3 วัน ก็จะจางหายไปเอง

ในช่วงที่มีไข้สูง ถ้าไปหาหมออาจตรวจแล้วไม่ทราบว่าเป็นอะไร จนกว่าจะรอให้ไข้ลดแล้วมีผื่นแดงขึ้นจึงจะบอกได้แน่ชัดว่าเป็นส่าไข้ อย่างไรก็ตาม ถ้าพบเด็กเล็กมีไข้สูง โดยไม่มีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย และยังไม่เคยเป็นส่าไข้มาก่อนก็พึงสงสัยว่าอาจเป็นโรคนี้ เด็กเล็กที่มีไข้สูง (ในระยะก่อนออกผื่น) อาจมีสาเหตุจากโรคอื่นๆ เช่น

1. ปอดอักเสบ จะมีไข้สูง ซึม ไอ หายใจหอบเร็ว (มากกว่านาทีละ 40 ครั้ง)

2. ไข้เลือดออกหรือโรคเลือด จะมีไข้สูง มีจ้ำเขียวขึ้นตามตัว หรือมีเลือดออก (เช่น อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด เลือดกำเดาไหล)

3. เยื่อหุ้มสมองหรือไข้สมองอักเสบ จะมีไข้สูง อาเจียน ซึม เพ้อ ไม่ค่อยรู้ตัว ชักติดๆ กันนาน

4. หูชั้นกลางอักเสบ จะมีไข้สูงหวัดนำมาก่อน แล้วไข้สูง ร้องกวนตลอดเวลา อาจบอกว่าเจ็บในหู (เด็กเล็กอาจใช้นิ้วดึงที่ใบหูตัวเอง)

5. บิดชิเกลลา จะมีไข้สูง ร่วมกับอาการถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือด กะปริดกะปรอยบ่อยครั้ง

ถ้าหากสงสัยสาเหคุข้อใดข้อหนึ่งดังกล่าว ควรพาเด็กไปพบแพทย์โดยเร็ว

อาการไข้ออกผื่นแดง ในเด็กเล็กนั้น นอกจากส่าไข้แล้ว ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น

6. หัด พบในเด็ก 2-14 ปี มักไม่พบในทารกอายุต่ำกว่า 8 เดือน (ส่าไข้ อาจพบในเด็กต่ำกว่า 8 เดือน) จะมีไข้สูง ซึม หน้าแดง ตาแดง มีอาการเป็นหวัด น้ำมูกไหล ไอ (ส่าข้า ไม่มีอาการเป็นหวัด ไอ) แล้วในวันที่ 4 ของไข้ จะมีผื่นแดงขึ้นตามตัว ขณะที่ผื่นขึ้นจะมีไข้สูงต่อไปอีก 3-4 วัน (ส่าไข้ จะมีผื่นขึ้นหลังจากไข้ลดดีแล้ว) ผื่นจะค่อยๆ จางเป็นรอยแต้มสีน้ำตาล จะไม่จางหายทันที (ส่าไข้ผื่นจะจางหายทันที)

7. ผื่นจากยา เด็กเล็กที่กินยาปฏิชีวนะกลุ่ม แอมพิซิลลิน (ampicillin อาจเกิดผลข้างเคียง ทำให้มีผื่นแดงคล้ายหัดขึ้นตามตัวได้ ถ้าพบมีผื่นแดง อย่าลืมถามว่ากินยากลุ่มนี้อยู่หรือไม่

เมื่อไรควรไปพบแพทย์

เด็กเล็กที่มีไข้สูง ควรไปพบแพทย์เมื่อ

1. อาการซึมจัด ไม่ค่อยรู้สึกตัว กระสับกระส่าย ชัก หายใจหอบ เป็นจ้ำเขียวหรือเลือดออก เจ็บหู ถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือด อาเจียน หรือกินไม่ได้

2. มีไข้เกิน 4 วัน (ยกเว้นในรายที่ออกหัดชัดเจน)

3. ประวัติเคยชัก หรือมีพี่น้องเคยชักมาก่อน

4. มีผื่นแดงเกิดขึ้นหลังกินยาปฏิชีวนะ

5. มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะดูแลตนเอง

แพทย์จะทำอะไรให้

ในระยะที่มีไข้สูง ก่อนจะมีผื่นแดง แพทย์จะตรวจร่างกายอย่างละเอียดถี่ถ้วน ถ้าสงสัยว่ามีสาเหตุจากโรคที่ร้ายแรง อาจตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ เพื่อค้นหาสาเหตุให้แน่ชัด ในกรณีที่สงสัยว่าจะเป็นส่าไข้แพทย์จะแนะนำให้ปฏิบัติตัวดังกล่าว แล้วให้สังเกตดูอาการผื่นแดงซึ่งจะเกิดขึ้นหลังมีไข้ประมาณ 3-5 วัน ในรายที่เคยมีประวัติชักหรือมีพี่น้องเคยชัก แพทย์จะให้ยากันชักไปกินร่วมกับยาลดไข้ จนกว่าไข้จะลด

ในระยะที่มีผื่นขึ้นหลังจากไข้ลด และเด็กท่าทางแข็งแรงเป็นปกติทุกอย่าง (พ่อแม่บางคนอาจกังวลใจและพาเด็กไปปรึกษา) แพทย์จะให้ความมั่นใจว่าเด็กเป็นส่าไข้ ไม่ต้องการการรักษาอะไรอีกต่อไป

โดยสรุป ส่าไข้เป็นโรคติดเชื้อที่พบในเด็กเล็กได้ทุกคน เป็นโรคที่ไม่มีอันตรายร้ายแรง นอกจากอาจทำให้ชักเนื่องจากไข้สูง สามารถให้การดูแลรักษาด้วยตนเอง โดยการสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด โรคนี้มักจะหายได้เองภายใน 3-5 วัน

การดูแลรักษาตนเอง

เด็กเล็กที่มีไข้สูง โดยไม่มีอาการรุนแรง (เช่น ซึมจัด ไม่ค่อยรู้สึกตัว กระสับกระส่าย ชัก หายใจหอบ เป็นจ้ำเขียวหรือเลือดออก เจ็บหู ถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือด อาเจียน กินไม่ได้) สามารถให้การดูแลรักษาดังนี้

1. ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวบ่อยๆ อย่าสวมใส่เสื้อผ้าหนาๆ หรือห่มผ้าหนาๆ จนอบเกินไป

2. ให้ดื่มน้ำหวาน ดื่มนม หรือน้ำ ทีละน้อย แต่บ่อยๆ

3. ถ้ามีไข้สูง ให้กินยาลดไข้-พาราเซตามอล ถ้าไข้ไม่ลดให้ซ้ำได้ทุก 6 ชั่วโมง

4. เมื่อมีผื่นแดงขึ้นหลังตัวเย็น และเด็กสบายดี ก็ขอให้สบายใจได้ว่าเป็นอาการส่าไข้

ข้อมูลสื่อ

175-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 175
พฤศจิกายน 2536
แนะยา-แจงโรค
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ