• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อาหารเสริมสำหรับเด็กชนิดบรรจุขวด

อาหารเสริมสำหรับเด็กชนิดบรรจุขวด


แม่บ้านทันสมัยที่มีสตางค์แต่ไม่มีเวลาหลายท่านพร่ำถามว่า อาหารเด็กที่บรรจุขวดที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดขณะนี้มีคุณภาพดีไหม ดีกว่าอาหารสดไหม เพราะส่งจากนอก เด็กต้องกินวันละกี่ขวดถึงจะเพียงพอ เดือนนี้ก็เลยพาท่านผู้อ่านไปอ่านฉลากผลิตภัณฑ์ชนิดนี้กัน หลังจากที่สำรวจในท้องตลาดแล้วพบว่า อาหารเสริมสำหรับเด็กชนิดนี้มี 4 ประเภทในท้องตลาด คือ (1) ประเภทผลไม้บด (2) ประเภทผักบด (3) ประเภทเนื้อผสมกับข้าว/เส้นหมี่ (4) ประเภทน้ำผลไม้ โดยที่อาหารเหล่านี้บรรจุอยู่ในขวดแก้วทรงเตี้ยปากกว้าง ปิดด้วยฝาโลหะที่ล็อกปิดสนิท

เมื่อสังเกตดูทะเบียนอาหารจึงพบว่า อาหารเสริม 3 ประเภทแรกสั่งเข้าจากต่างประเทศ โดยขึ้นทะเบียนเป็น “อาหารเสริมสำหรับเด็ก” มีตัวย่อว่า “สด” ส่วนประเภทที่ 4 ผลิตในประเทศไทย โดยสั่งหัวน้ำเชื้อจากต่างประเทศมาผสมน้ำแล้วบรรจุในประเทศไทย และใช้ชื่อยี่ห้อเดียวกับของต่างประเทศที่ผลิตอาหาร 3 ประเภทแรก แต่อาหารเสริมประเภทนี้กลับขอจดทะเบียนเป็นเครื่องดื่ม ก็เลยมีอักษรย่อว่า “ด”

อย่างไรก็ตาม เพื่อสนองตอบตามการใช้งานของผู้บริโภค ทางซูเปอร์มาร์เก็ตจึงจัดอาหารทั้ง 4 ประเภท ไว้ในหมวดอาหารเสริมสำหรับเด็กเหมือนกัน

จะใช้ ก็ใช้ให้ถูกเรื่อง

อาหารเสริมสำหรับเด็กชนิดบรรจุขวดถูกผลิตขึ้นมา มิใช่เพื่อให้คุณค่าทางอาหารอย่างครบถ้วนแก่เด็ก แต่มุ่งเพื่อสอนให้เด็กรู้จักกินอาหารได้หลายชนิดมากขึ้น คุณค่าทางอาหารของอาหารเสริมชนิดขวดมีมากน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นกับชนิดของวัตถุดิบ และหลายชนิดก็มีคุณค่าไม่เพียงพอสำหรับความต้องการของเด็กใน 1 มื้อด้วยซ้ำไป ดังนั้น บนฉลากภาษาไทยของชนิดที่สั่งจากต่างประเทศ (ติดทับบนฉลากภาษอังกฤษ) ตามกฎหมายจึงให้ระบุว่า “อย่าใช้เลี้ยงทารกแทนนมแม่” ซึ่งฉลากดังกล่าวนี้ไม่ปรากฏบนประเภทที่เป็นน้ำผลไม้ เพราะจดทะเบียนเป็นอาหารคนละประเภท

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นข้อที่อยากจะติงทางคณะกรรมการอาหารและยา (อย) ว่า ควรตีความการขึ้นทะเบียนตามจุดประสงค์การใช้งานจริงและผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย หรือฉะนั้นก็ต้องห้ามวางจำหน่ายรวมกับอาหารเสริม สำหรับเด็กชนิดอื่นๆ เพราะถ้ามุ่งใช้ประโยชน์เป็นอาหารเสริมสำหรับเด็กแล้ว ก็ควรมีคำเตือนเหมือนกัน การหลีกเลี่ยงเช่นนี้อาจก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้บริโภคได้ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้

ฉลากที่ดีบ่งชี้คุณภาพ

เนื่องจากอาหารประเภทนี้ส่วนใหญ่สั่งเข้าจากต่างประเทศ จึงมีฉลากภาษาไทยกำกับ โดยปิดทับฉลากภาษาอังกฤษไว้ โดยฉลากภาษาไทยระบุถึงส่วนประกอบที่สำคัญของผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีตั้งแต่ผักหลายชนิดบดรวมกัน ผลไม้บดรวมกัน จนกระทั่งถึงเนื้อผสมกับเส้นบะหมี่ปนผักบดเละ พวกที่มีเฉพาะผักหรือผลไม้ก็คงแทบไม่เหลือคุณค่าทางอาหารมากนัก ยกเว้นคาร์โบไฮเดรตและเกลือแร่ เพราะกระบวนการบรรจุขวดต้องมีการให้ความร้อนสูง คุณค่าอาหารหลายอย่างจึงถูกทำลายไปบางชนิดจึงระบุว่า มีการเติมวิตามินซีลงไป ส่วนชนิดที่มีเนื้อสัตว์ผสมก็ช่วยเพิ่มโปรตีนและไขมัน

ข้อดีของฉลากอาหารเสริมสำหรับเด็กนั้น อยู่บนฉลากภาษาอังกฤษที่อยู่ภายใต้ฉลากภาษาไทยเพราะมีการแสดงตารางคุณค่าไว้ 2 ส่วน คือ

1. ข้อมูลคุณค่าทางอาหารที่เด็กได้รับจากการบริโภคอาหารเสริม 1 ขวด (Nutrition Information Per Serving)

2. ปริมาณของอาหารใน 1 ขวดนี้ ให้สารอาหารคิดเป็นร้อยละเท่าไรของความต้องการสารอาหารของทารกภายใน 1 วัน (Percentage of the U.S. Recommended Daily Allowances [U.S.RDA] for Infants)

ข้อมูลจาก 2 ตารางนี้ช่วยให้ผู้ปกครองสามารถตรวจสอบได้ว่าอาหารเสริมชนิดขวดที่ท่านได้ป้อนให้เด็กไปนั้น ให้คุณค่าทางอาหารเพียงพอกับความต้องการของเด็กในแต่ละวันมากน้อยเพียงใด สิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง คือ ฉลากภาษาไทยก็ควรมีข้อมูลประเภทเดียวกันแปลติดไว้ด้วยเนื่องจากเป็นประโยชน์อย่างมากต่อผู้ปกครองในการเลือกชนิดอาหารเสริมที่สะอาด

กินกี่ขวดจึงจะพอใน 1 วัน

คงจะไม่มีใครสามารถตอบคำถามนี้ได้ นอกจากผู้ปกครองที่ทราบว่าเด็กได้กินอาหารอะไรไปบ้างใน 1 วัน
ในเด็กอายุ 6-7 เดือนขึ้นไป เด็กเริ่มจะเคี้ยวอาหารได้เพราะส่วนใหญ่จะเริ่มมีฟัน และร่างกายเริ่มจะรับอาหารได้มากชนิดขึ้น ดังนั้นการให้อาหารเสริมจึงมีความสำคัญมาก

เมื่อเด็กโตขึ้นอายุ 1-2 ปี จะกินอาหารคล้ายผู้ใหญ่มากขึ้น ดังนั้น อาหารเสริมที่ให้กับเด็กจึงควรเน้นให้มีคุณค่าทางอาหารครบทั้ง 5 หมู่ เท่าที่สังเกตดูจากฉลากก็พบว่า อาหารเสริมชนิดขวดหลายชนิดมีคุณค่าทางอาหารใน 1 ขวด ยังไม่เพียงพอสำหรับความต้องการของเด็กใน 1 มื้อ โดยเฉพาะพวกที่เป็นผักและผลไม้สด

บางครั้งการป้อนอาหารประเภทผักและผลไม้บดมากเกินไปอาจทำให้เด็กอิ่มจนไม่สามารถกินอาหารอื่นที่มีคุณค่าอาหารตามต้องการได้ ผู้ปกครองจึงต้องเลือกชนิดของอาหารให้เหมาะสมเพื่อให้เด็กได้รับอาหารครบทั้ง 5 หมู่ และมีคุณค่าทางอาหารเพียงพอด้วย ซึ่งในเด็กอายุที่ต่างกันก็ต้องให้อาหารเสริมในปริมาณที่มากน้อยแตกต่างกันไปด้วย

สำหรับวัยนี้นมยังเป็นอาหารที่มีความสำคัญต่อเด็ก จึงควรที่จะให้ต่อไป แต่ปริมาณจะเริ่มลดน้อยลงการที่จะเสริมอาหารให้เด็กโดยใช้อาหารชนิดขวดเพียงชนิดเดียวอาจไม่ให้คุณค่าอาหารเพียงพอ และยังไม่เป็นการฝึกเด็กให้คุ้นเคยกับอาหารชนิดต่างๆ ด้วย เด็กจึงควรได้รับอาหารเสริมมากกว่า 1 ชนิด โดยที่ต้องมีคุณค่าในแง่โปรตีน พลังงานวิตามิน และเกลือแร่ครบถ้วน

ควรเลือกซื้ออย่างไร

ปัจจัยในการเลือกซื้อ คือ คุณค่าทางอาหารและความปลอดภัย ในแง่คุณค่าทางอาหารจะต้องเลือกให้มีความหลากหลายเพื่อให้เด็กได้รับสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ และเพียงพอรวมทั้งเป็นการฝึกความพร้อมให้เด็กกินอาหารได้หลายชนิดเมื่อโตขึ้น การอ่านฉลากจะช่วยได้มาก ส่วนในแง่ความปลอดภัย ต้องสังเกตวันที่หมดอายุ ซึ่งปรากฏอยู่บนฝาและปุ่มกลางฝา (safety bottom) ว่าไม่บวมขึ้นมา การบวมของปุ่มนี้แสดงว่า ขวดได้ถูกเปิดแล้วซึ่งอาจเกิดการปนเปื้อนและไม่ปลอดภัยต่อการบริโภค

คุ้มค่าหรือไม่

เมื่อพูดถึงความคุ้มค่าก็อยากให้ท่านผู้อ่านลองเปรียบเทียบปริมาณอาหารสดที่มีอยู่แสนจะหลากหลายในเมืองไทยอันอุดมสมบูรณ์ของเรากับราคาของผลิตภัณฑ์ประเภทนี้จะเห็นว่าการเตรียมจากของสดย่อมถูกกว่าและมีคุณค่าที่ดีกว่า ผู้ผลิตยังฉวยโอกาสนี้ตั้งราคาผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในรูปอาหารเสริมสำหรับเด็กไว้สูงเกินขนาด ดังเช่น น้ำผลไม้ที่บรรจุขวดคล้ายอาหารเสริมจำหน่ายในราคาสูงกว่าที่บรรจุไว้ในกระป๋องถึง 3-4 เท่า

ความคุ้มค่าของอาหารประเภทนี้จึงขึ้นอยู่กับเงิน และเวลาที่ท่านมีสมดุลหรือขาดดุลเพียงใด ข้อดีของอาหารเหล่านี้ คือ เตรียมง่ายและสะอาด จึงเหมาะกับผู้ปกครองที่ไม่มีเวลาและมีคนเด็กที่สามารถไว้ใจเรื่องความสะอาดได้ อย่างไรก็ตามผู้ปกครองต้องรู้จักเลือกชนิดของอาหารที่เหมาะสมและมีคุณค่าที่เพียงพอด้วย

ก่อนจบขอแก้ไขคำผิดในบทความเรื่อง “นม” ฉบับที่ 172 สิงหาคม 2536 หน้าแรกในบรรทัดที่ 2 ประโยคสมบูรณ์นั้น คือ “นมข้นหวานจึงไม่เหมาะสำหรับเลี้ยงทารก เพื่อประโยชน์ในการในการเสริมคุณค่า เช่นเดียวกับน้ำนมสดธรรมดา ผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรซ์ สำหรับนมสดพร้อมดื่มและนมข้นไม่หวาน เมื่อเปิดกระป๋องแล้ว ไม่ควรทิ้งไว้ข้างนอกนานกว่า 3 ชั่วโมง หรือมิฉะนั้นก็ควรถ่ายใส่ภาชนะอื่นแล้วเก็บไว้ในตู้เย็น ส่วนนมข้นหวานสามารถเก็บไว้ข้างได้เป็นเวลานาน” จึงเรียนมาเพื่อทราบและขออภัยในความผิดพลาดนี้

ข้อมูลสื่อ

175-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 175
พฤศจิกายน 2536