• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เจ็บแปลบหน้าอก-เยื่อหุ้มปอดอักเสบ

เจ็บแปลบหน้าอก-เยื่อหุ้มปอดอักเสบ




 

 

⇒ ข้อน่ารู้

1.ปกติผิวปอดทั้ง 2 ข้างของคนเราจะมีเยื่อหุ้มอยู่ 2 ชั้น ซึ่งมีความยืดหยุ่นเพื่อให้ปอดสามารถหดและขยายตามจังหวะการหายใจออก-เข้า และระหว่างเยื่อหุ้มปอด 2 ชั้นนั้น จะมีช่องว่างอยู่เรียกว่า “ช่องเยื่อหุ้มปอด”
เยื่อหุ้มปอดที่อยู่ชั้นนอกจะมีประสาทรับสัมผัสกระจายอยู่ทั่วไป เมื่อมีการอักเสบเกิดขึ้นที่เยื่อหุ้มปอด ก็ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดขึ้นได้หากมีการอักเสบรุนแรงเกิดขึ้น ก็อาจมีน้ำหรือหนองซึมออกมาขังอยู่ใน “ช่องเยื่อหุ้มปอด” ถ้ามีปริมาณมากก็จะดันให้เนื้อปอดแฟบลง สูญเสียเนื้อที่ที่ใช้ในการหายใจ ทำให้เกิดอาการหายใจหอบเหนื่อยได้
บางครั้งก็อาจมีการแตกของถุงลมปอด ทำให้มีลมรั่วเข้าไปขังอยู่ใน “ช่องเยื่อหุ้มปอด” ดันให้เนื้อปอดแฟบ เกิดอาการหอบเหนื่อยได้เช่นกัน

2.การอักเสบของเยื่อหุ้มปอดอาจเกิดจากสาเหตุได้หลายประการที่พบบ่อยก็คือ การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย บางครั้งเชื้ออาจลุกลามมาจากโรคที่เกิดในเนื้อปอดก็ได้ เช่น วัณโรคปอด ปอดอักเสบ (ปอดบวม) เป็นต้น ในภาวะที่มีน้ำหรือหนอง หรือลมรั่วออกมาขังอยู่ในช่องเยื่อหุ้มปอดก็อาจทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มปอด เกิดอาการเจ็บแปลบหน้าอกได้เช่นกัน
สาเหตุที่พบได้น้อย แต่ร้ายแรงก็คือ การแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งมาที่เยื่อหุ้มปอด ซึ่งมะเร็งต้นเหตุอาจอยู่ที่เนื้อปอด เต้านม หรือรังไข่ก็ได้ เยื่อหุ้มปอดอักเสบจึงมีความรุนแรงมากน้อยขึ้นกับสาเหตุที่พบ


รู้ได้อย่างไรว่าไม่ได้เป็นอื่น
คนที่เป็นเยื่อหุ้มปอดอักเสบจะมีอาการเจ็บหน้าอกที่มีลักษณะจำเพาะคือ จะมีอาการเจ็บแปลบที่หน้าอกเพียงจุดใดจุดหนึ่ง (ตรงกับตำแหน่งที่มีอาการอักเสบ) อาจเป็นซีกซ้ายหรือซีกขวาก็ได้ จะเจ็บเพียงชั่วขณะที่หายใจเข้าลึก ๆ ซึ่งปอดขยายตัวเต็มที่ ทำให้ส่วนที่อักเสบเกิดมีการเสียดสีขึ้นมา ขณะหายใจออกหรือหายใจแบบค่อย ๆ จะไม่มีอาการเจ็บหน้าอก
ถ้าเป็นเยื่อหุ้มปอดอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสชนิดที่ไม่รุนแรง ก็มักจะไม่มีอาการผิดปกติอื่นใดร่วมด้วย และค่อย ๆ หายไปได้เองภายใน 3-5 วัน

แต่ถ้าเป็นเยื่อหุ้มปอดอักเสบจากสาเหตุที่รุนแรง นอกจากอาการเจ็บแปลบหน้าอกดังกล่าวแล้ว ยังอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น
1. ปอดอักเสบ จะมีไข้สูง ไอมีเสลดเป็นหนอง หายใจหอบร่วมด้วย
2. วัณโรคปอด จะมีไข้เรื้อรัง ไอเรื้อรัง หรือไอเป็นเลือด เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดร่วมด้วย
3. ภาวะมีน้ำหรือหนองหรือลมขังอยู่ในช่องหุ้มปอดจะมีอาการแน่นอึดอัด หรือหายใจหอบเหนื่อยร่วมด้วย
4. มะเร็ง อาจมีอาการไอเรื้อรัง หรือไอเป็นเลือด เบื่ออาหาร น้ำหนักลดร่วมด้วย
สาเหตุดังกล่าวล้วนถือเป็นเรื่องร้ายแรง หากสงสัยควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

นอกจากนี้ยังมีอาการเจ็บหน้าอกในลักษณะอื่นที่ควรจะรู้จักไว้เพื่อการแยกแยะโรค ดังนี้
1.โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน จะมีอาการเจ็บแน่นตรงกลางลิ้นปี่ แล้วปวดร้าวขึ้นคอ ขากรรไกร หรือต้นแขน นานครั้งละ 2-3 นาที มักปวดเวลาออกแรง หรือมีอารมณ์เครียด หรือหลังกินอิ่ม หรือหลังถูกความเย็น เมื่อนั่งพักสักครู่จะหายปวดได้เอง มักพบในวัยกลางคนขึ้นไป อาจมีประวัติสูบบุหรี่จัด หรือเป็นเบาหวาน หรือความดันเลือดสูง

2.โรคหน้าอกยอก คนที่มีกระดูกหรือกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอกยอก เช่น ถูกกระทบกระแทก ชกต่อยหรือประสบอุบัติเหตุ จะมีอาการปวดยอกตรงจุดใดจุดหนึ่ง เมื่อเอานิ้วกดดูจะเจ็บมากขึ้น มักเป็นอยู่นาน1-2 สัปดาห์

3.โรคกังวลใจ คนที่มีความวิตกกังวลคิดมาก บางครั้งอาจมีความรู้สึกเจ็บหน้าอกอยู่ตลอดเวลา จะรู้สึกเจ็บเวลาอยู่ว่าง ๆ หรือขณะนั่งหรือนอนอยู่เฉย ๆ แต่เวลาทำอะไรเพลินหรือออกกำลังกายจะหายเจ็บ โดยที่อาการไม่รุนแรงและสุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี บางคนอาจมีอาการนอนไม่หลับร่วมด้วย


เมื่อไรควรไปพบแพทย์
ควรไปพบแพทย์โดยเร็วเมื่อ
1. มีอาการไข้ ไอมีเสลดเป็นหนอง ไอเป็นเลือด รู้สึกแน่นอึดอัดในอก หายใจหอบเหนื่อย หรือน้ำหนักลดร่วมด้วย
2. มีอาการเจ็บแน่นตรงกลางลิ้นปี่ และปวดร้าวขึ้นคอ ขากรรไกร หรือต้นแขน
3. อาการไม่ทุเลาใน 3 วัน
4. มีความวิตกกังวล


แพทย์จะทำอะไรให้
แพทย์จะซักถามลักษณะอาการปวดหน้าอก ตำแหน่งที่ปวด และสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดอาการ จะทำการตรวจร่างกาย ตรวจปอด และหัวใจ บางครั้งอาจต้องส่งตรวจเอกซเรย์ปอด คลื่นหัวใจ หรือทำการตรวจพิเศษอื่น ๆ
ถ้าพบว่าเป็นเพียงโรคเยื่อหุ้มปอดอักเสบจากไวรัส ซึ่งจะตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติอื่นใด ก็จะให้ยาบรรเทาปวดและนัดดูอาการใน 2-3 วันต่อมา ถ้าพบว่ามีสาเหตุร้ายแรง เช่น ปอดอักเสบ ภาวะมีลมหรือน้ำหรือหนองในช่องเยื่อหุ้มปอด ก็จำเป็น ต้องรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลจนกว่าจะปลอดภัย
ถ้าพบว่าเป็นวัณโรคปอดก็จะให้ยารักษาวัณโรคกินนาน 6-12 เดือน

โดยสรุป
อาการเจ็บแปลบหน้าอกเวลาหายใจเข้าลึกๆ เป็นอาการของเยื่อหุ้มปอดอักเสบ ซึ่งมีสาเหตุต่าง ๆ หากสังเกตว่ามีอาการผิดปกติอื่น ๆร่วมด้วย ก็ควรจะปรึกษาแพทย์ให้แน่ใจ ถ้าไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ และสุขภาพทั่วไปแข็งแรงดีก็สามารถดูแลตนเองได้ หากไม่ทุเลาใน 3 วัน ก็ควรจะพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุต่อไป
 

                                                          การดูแลรักษาตนเอง

เมื่อมีอาการเจ็บแปลบที่หน้าอกเฉพาะเวลาหายใจเข้าลึก ๆ เป็นบางครั้งบางคราว โดยที่ไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ควรปฏิบัติตัวดังนี้
1. พยายามหายใจเข้า-ออกตามปกติ อย่าเผลอหายใจเข้าลึก ๆ
2. ถ้าปวดมาก กินพาราเซตามอลบรรเทาปวด

 

ข้อมูลสื่อ

193-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 193
พฤษภาคม 2538
แนะยา-แจงโรค
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ