• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ซ่อนหา ของเล่น

ซ่อนหา ของเล่น

วันเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว วันนี้เป็นโอกาสดีของคุณพ่อคุณแม่ที่ได้พาลูก มาร้านขายของเล่นอีกครั้ง ของเล่นมีมากมายหลายชนิด บางอย่างถูกจัดเรียงเป็นระเบียบ อยู่ในตู้กระจก ในชั้น และอีกมากมายที่กองปนเปกันในกระบะใหญ่กลางร้าน ลูกค้าของร้านมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในวัยต่าง ๆ กัน ที่กำลังให้ความสนใจหรือเลือกซื้อของเล่นตามความต้องการ

ลูกวัย 10 เดือนของคุณพ่อคุณแม่คนนี้ ก็กำลังสนใจของเล่นในกระบะ โน้มตัวจากอกของคุณแม่ที่กำลังอุ้มเพื่อหยิบของเล่น ตัวลูกก็หนักขึ้นทุกวัน จนกระทั่งทำให้คุณแม่เมื่อยล้าแขน ต้องส่งลูกให้คุณพ่ออุ้มต่อ คุณพ่อมีกำลังแขนแข็งแรงพอที่จะผ่อนให้ลูกมาอยู่ใกล้ ๆ ของเล่นและจับของเล่นอย่างสนุก ลูกจับของเล่นชนิดนี้ชนิดนั้น ซึ่งถ้าจะซื้อของเล่นทุกอย่างตามที่ลูกจับคงไม่ได้แน่
ของเล่นที่ลูกจับ ลูกยังไม่รู้วิธีเล่น เพียงแต่มือของลูกมีความสามารถในการกำและปล่อย อีกทั้งสีสันชวนมองและน่าจับต้อง ลูกจึงคว้าทุกอย่างที่มีขนาดพอเหมาะกับมือ จึงเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่จะตัดสินใจว่าจะซื้ออะไรดี
ของเล่นในใจที่คุณแม่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องซื้อแน่ ๆ คือ หม้อข้าว หม้อแกง ชุดเครื่องครัว เพราะเห็นลูกชอบเล่นถ้วย ชามเครื่องครัวของคุณแม่
ชุดเครื่องครัวมีหลายแบบหลายชนิด ลูกคงยังไม่รู้จักนำมาใช้ประกอบกันแน่ ๆ เช่น ฝาปิดหม้อ หรือหม้อวางบนเตา แต่การที่ลูกได้ใช้สายตากับมือสัมผัสวัตถุที่มีรูปร่างเหมือนของจริง สมองจะเกิดการเรียนรู้ตามจินตนาการของลูกเอง
กำลังคิดเพลินๆ ก็ต้องตื่นจากภวงค์เมื่อได้ยินเสียงลูกหัวเราะเอิ๊กอ๊ากขณะกำลังสั่นกระดิ่ง แล้วลูกก็หยุดหัวเราะมองกระดิ่งที่สั่นอย่างจริงใจ ลูกเกิดทักษะแล้วว่าถ้าไม่สั่นกระดิ่งจะไม่เกิดเสียง ถ้าสั่นแรงกระดิ่งจะเกิดเสียงดัง การเกิดเสียงดัง-ค่อยต่างกันลูกชอบฟัง มือของลูกก็จะทำงานสัมพันธ์กับความต้องการของสมองได้

ใช่แล้ว วัย 10 เดือนนี้ลูกชอบฟังเสียงดนตรี ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็ได้สังเกตเห็นแล้วตั้งแต่วัย 9เดือน ที่ลูกชอบเล่นเครื่องครัวของคุณแม่แล้วเกิดเสียงดังป๋องแป๋งๆ
ลูกไม่ยอมปล่อยมือจากกระดิ่ง ถึงแม้คุณพ่อจะยื่นของเล่นชิ้นใหม่ให้ ลูกก็ใช้มืออีกข้างจับ ดูเหมือนลูกยังไม่สนใจอะไรอีกเป็นพิเศษ
ของเล่นที่บ้านของลูกก็มีเยอะแยะ แต่วันนี้คุณพ่อคุณแม่ก็ยังซื้อมาเพิ่มอีก เช่น ลูกบอลขนาดพอเหมาะกับมือของลูก ตุ๊กตาเด็กผู้หญิงนุ่งกระโปรงบาน นั่งเหยียดขาได้ มีผมยาวระดับต้นคอ และรถยนต์ขนาดเท่าฝ่ามือผู้ใหญ่ไม่มีเครื่องยนต์ใดๆ เพียงแต่ใช้มือไสไปก็วิ่งได้ตามความแรงของการไส
ลูกยังคงหลับอยู่ ลูกหลับอยู่กับบ่าของคุณพ่อตั้งแต่ออกจากร้านขายของเล่น การเดินทางทำให้ลูกเหนื่อยได้ สิ่งที่ลูกต้องการมากที่สุดนอกจากความอบอุ่นจากคุณพ่อคุณแม่ หรือทุกคนในครอบครัวแล้ว ลูกต้องการกินอิ่ม นอนหลับดี มีสถานที่เล่นที่ปลอดภัยและของเล่นที่จะช่วยเพิ่มทักษะและเสริมสร้างพัฒนาการ

เวลาที่ลูกหลับ เป็นเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ใช้ทำกิจวัตรประจำวันอื่นๆ นานกว่าปกติ คงเป็นเพราะเหนื่อยจากการเดินทาง คุณแม่วนเวียนเข้ามาดูตามเวลาที่คิดว่าลูกควรจะตื่น แต่ลูกยังหลับอยู่ คุณแม่ให้ลูกนอนบนเบาะที่วางอยู่กับพื้น จึงแน่ใจว่าปลอดภัยพอที่จะปล่อยให้ลูกนอนคนเดียวได้ขณะคุณแม่ ทำธุระ
เวลาล่วงเลยมานาน คราวนี้ลูก เริ่มเคลื่อนไหวตัว ลืมตาสักครู่ ลูกยังมองไม่เห็นคุณแม่ เพราะคุณแม่ย่องเข้ามานอนข้าง ๆ ลูก เมื่อลูกหันหน้ามามองพบคุณแม่ ๆ ก็ส่งเสียงจ๊ะเอ๋ สังเกตดูตาของลูกเป็นประกายขึ้นมา ลูกเอามือจับหน้าคุณแม่ คราวนี้คุณแม่เอาผ้าอ้อมคลุมศีรษะ แล้วเปิดหน้าจ๊ะเอ๋กับลูก ลูกดึงผ้าออกจากศีรษะอีกแล้วยิ้มอย่างสดชื่น
คุณแม่ใช้ผ้าคลุมศีรษะอีก ขณะลุกขึ้นนั่ง ใช้มือสอดเข้าไป เปิดผ้าเพื่อให้ลูกมองหน้าคุณแม่ ลูกยิ้มเต็มเสียงจ๊ะเอ๋ แล้วปิดผ้าลง ลูกลุกขึ้นเห็น พร้อมกับส่ง มือทั้ง 2 เปิดผ้าที่คลุมหน้าคุณแม่ ลูกยิ้มเต็มที่คุณเมื่อเห็นหน้าลูกก็ร้องจ๊ะเอ๋แล้วอุ้มลูกขึ้นมาเพื่อพาไปอาบน้ำ ล้างหน้าดูเหมือนลูกยังติดใจอยากเล่นต่อคุณแม่จึงเอาผ้าเช็ดตัวคลุมศีรษะทั้งแม่และลูกแล้วเปิดผ้าจ๊ะเอ๋ออกไปภายนอก

แม่และลูกได้การเล่นชนิดใหม่โดยไม่รู้ตัว คือการเล่นจ๊ะเอ๋
ลูกวัย 10 เดือนเป็นวัยที่ชอบเล่นจ๊ะเอ๋ หรือซ่อนหา หาสิ่งที่ลูกคิดว่าหายไปจากสายตา บ่อยครั้งที่เห็นลูก ยกที่นอนขึ้นดู เปิดผ้าคลุมโต๊ะ ดูตามซอกเบาะ ของเล่นที่ซื้อมา จึงถูกลูกนำไปซ่อนเสียเป็นส่วนใหญ่
คุณแม่เล่นกับลูกได้ โดยเอาตุ๊กตาไปซ่อนใต้เบาะที่รองนอนของลูก หรือใต้ผ้าห่ม ให้แขนหรืออขาโผล่มาเล็กน้อย แต่ขณะเอาไปซ่อนต้องให้ลูกมองตามตุ๊กตานั้นไปด้วย เช่นเดียวกับการไสรถยนต์หรือกลิ้งลูกบอลที่ซื้อมาให้วิ่งไปใต้เบาะ ลูกก็จะติดตามไปเปิดหา
การติดตามของที่เคลื่อนไหวได้ ลูกต้องใช้ความเร็วในการคลาน ลูกสามารถคลานโดยลงน้ำหนักบนมือและเข่าได้แล้ว หมุนตัวได้คล่อง เปลี่ยนจากท่าคลานมานั่ง และกลับจากนั่งมาสู่คลานได้ดี
คุณแม่จะต้องไปทำงานอีกที่ ค้างอยู่จึงให้ลูกนั่งในรถเข็น เอาชุดเครื่องครัวที่ซื้อมาใหม่วางไว้ให้ ลูกจับของชิ้นเล็กใส่ในชิ้นใหญ่ บางครั้งก็จับไสไปไสมา อย่างพินิจพิจารณา
สิ่งที่คุณแม่จะต้องระวังเป็นพิเศษคือ ลูกยันตัวเหยียดขา อาจเป็นอันตรายถ้าล้มตกจากรถเข็น กำลังขาของลูกยังไม่แข็งแรงพอที่จะควบคุมไม่ให้ตัวล้มลงได้ แน่นอนที่ว่า ขาของลูกแข็งแรงขึ้นเรื่อย ๆ ลูกเดินเกาะเครื่องเรือน หรือ จับมือทั้ง 2 ข้างจูงเดินได้ แต่ถ้าสะดุดจะล้มทันที พฤติกรรมของลูก เมื่อเริ่มทำอะไรได้ก็จะสนใจที่จะทำสิ่งนั้นเป็นพิเศษ เช่นเดียวกับการเกาะเดิน เมื่อเกาะเดินได้ก็เริ่มสนุกกับการเดิน

เมื่อถึงวัย 11 เดือน ดูเหมือนลูกจะไม่ค่อยสนใจเล่นของเล่น ลูกอยากจะเดินไปให้ทั่ว ก้าวขาเดินด้านข้าง เกาะไปตามโซฟา เก้าอี้ และเครื่องเรือนต่าง ๆ
การจูงลูกเดินจะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยทำให้การทรงตัวของลูกดีขึ้น เพราะมือของลูกยึดเหนี่ยวมือผู้อื่นที่เคลื่อนไหวได้ ไม่อยู่นิ่งเหมือนเครื่องเรือนที่ลูกเกาะ ลูกจึงต้องใช้ความพยายามในการบังคับกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายในการเดินเพื่อไม่ให้ล้มลง
ลูกน้อยคงอยากจะบอกให้ คุณพ่อคุณแม่พาเดิน เพราะนอกจากลูกจะมีพัฒนาการดีขึ้น คุณพ่อคุณแม่ยังได้ออกกำลังกายอีกด้วย
 

ข้อมูลสื่อ

194-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 194
มิถุนายน 2538
สุมนา ตัณฑเศรษฐี