• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคสมองพิการ

โรคสมองพิการ



โรคสมองพิการ ในที่นี้หมายถึง ความผิดปกติเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวและท่าทางของร่างกายที่เกิดจากรอยโรคในสมองใหญ่ (cerebrum) ซึ่งควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย

โรคนี้มักเป็นมาแต่กำเนิด หรือตั้งแต่เล็ก มีอาการ แสดงและความรุนแรงต่างๆ กันไป ทั้งนี้ขึ้นกับลักษณะและตำแหน่งของรอยโรคในสมอง บางคนอาจมีระดับสติปัญญาดีเช่นคนปกติทั่วไป แต่บางคนอาจมีความบกพร่องทางเชาวน์ปัญญามากน้อยแตกต่างกันไป

ความพิการที่เกิดขึ้นจะเป็นอยู่อย่างคงที่และต่อเนื่องตลอดไป และจะไม่เลวลงตามอายุที่มากขึ้น ส่วนใหญ่หากได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างจริงจัง ก็อาจช่วย ให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และบางส่วนสามารถเรียนหนังสือและทำงานได้เช่นคนทั่วไป
 
⇒ ชื่อภาษาไทย โรคสมองพิการ โรคพิการทางสมอง ซีรีบรัลพัลซี ซีพีn

⇒ ชื่อภาษาอังกฤษ Cerebral palsy, CPn

⇒สาเหตุ
ส่วนใหญ่เป็นความพิการที่เกิดขึ้นตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์มารดา โดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจน มักพบในทารกที่คลอดก่อนกำหนด หรือมีน้ำหนักตัวตอนแรกเกิด น้อยกว่า 1,500 กรัม
ส่วนน้อยที่ทราบสาเหตุ ซึ่งมีอยู่หลายประการ เช่น

o มีความผิดปกติเกิดขึ้นกับมารดาขณะตั้งครรภ์ เช่น มารดาเป็นโรคหัดเยอรมันหรือติดเชื้อไวรัสอื่นๆ หรือเป็นโรคเบาหวาน ความดันเลือดสูง โรคไทรอยด์ โรคลมชักชนิดรุนแรง หรือโรคขาดอาหารรุนแรง มารดาได้รับบาดเจ็บ ดื่มเหล้าจัด หรือสูบบุหรี่ หรือได้รับสารกัมมันตรังสี

o มีความผิดปกติของพัฒนาการของสมองตั้งแต่ อยู่ในครรภ์มารดา ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือภาวะหลอดเลือดสมองของทารกตีบหรืออุดตันl ทารกคลอดยาก สมองทารกได้รับบาดเจ็บ หรือมีเลือดออกในสมองขณะคลอด หรือทารกไม่หายใจหรือ ตัวเขียว (ขาดออกซิเจน) หลังคลอด

o ทารกมีภาวะดีซ่าน (ตาเหลือง ตัวเหลือง) รุนแรงหลังคลอดเพียงไม่กี่วัน

o ทารกหรือเด็กเล็ก (ภายใน 3-5 ขวบแรก) เป็นโรคติดเชื้อของสมอง (สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ) โรคพิษตะกั่ว (เช่น กินสีทาบ้านที่มีส่วนผสมของตะกั่ว) โรคขาดอาหารรุนแรง ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ (เช่น รถชน รถคว่ำ พลัดตกจากที่สูง ถูกจับเขย่าตัวแรงๆ) หรือสมอง ขาดออกซิเจน (เช่น สิ่งแปลกปลอมติดคอ จมน้ำ)


⇒ อาการ
 
อาการผิดปกติมักเกิดขึ้นตั้งแต่หลังคลอด ซึ่งจะเริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่อายุ 6 เดือน และชัดเจนเมื่อ อายุ 1-2 ขวบ
ส่วนเด็กที่มีสมองพิการเนื่องจากการเจ็บป่วยหรือ ได้รับอุบัติเหตุในภายหลัง ก็มักมีอาการภายหลังเกิดเหตุ
อาการแสดงมีลักษณะและความรุนแรงหลากหลาย แรกเริ่มทารกจะมีพัฒนาการช้ากว่าเด็กปกติ เช่น คลาน นั่ง ยืน เดิน และพูดได้ช้ากว่าวัยที่ควรต่อมาจะมีความผิดปกติ
ของความตึงของกล้ามเนื้อ อาจแข็งตัว หรืออ่อนตัวกว่าปกติ มีการเคลื่อนไหวและท่าทางผิดปกติ

ส่วนใหญ่เด็กจะมีอาการกล้ามเนื้อแข็งตึง ทำให้แขนขาเกร็ง เคลื่อนไหวลำบาก ข้อศอกงอ ข้อเข่างอ ตำแหน่งกล้ามเนื้อที่ผิดปกติอาจมีได้หลายลักษณะ บางคนเป็นที่ขา 2 ข้าง ทำให้มีลักษณะไขว้กันเหมือนกรรไกร บางคนเป็นที่แขนและขาซีกซ้ายหรือขวาเพียงซีกเดียว บางคนเป็นที่แขนและขาพร้อมกันทั้ง 4 ข้าง
ที่พบได้รองลงมาคือ เด็กจะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนตัวทั่วร่างกาย และมีการเคลื่อนไหวของใบหน้าและแขนขาอย่างช้าๆ และไม่เป็นจังหวะ (ยึกยือ) หรือกระตุก ซึ่งเกิดขึ้นเองโดยไม่ตั้งใจ และไม่สามารถควบคุม ได้ คล้ายเป็นเด็กอยู่ไม่สุข ทำให้ตั้งตัวตรงลำบาก หยิบจับสิ่งของ (เช่น แปรงสีฟัน ช้อน) ไม่ได้

ส่วนน้อยจะมีความผิดปกติของการประสานการทำงานของกล้ามเนื้อ ทำให้มีอาการมือสั่น เวลาเคลื่อน ไหว และเดินซวนเซ
บางคนอาจมีอาการแสดงหลายๆ ลักษณะร่วมกันนอกจากนี้ ยังอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น เดินตัวไม่ตรง เดินขาลากหรือเท้าลากข้างหนึ่ง ตัวสั่น น้ำลายไหลยืด กลืน ดูดหรือพูดลำบาก พูดไม่ชัด พูดฟังไม่รู้เรื่อง เขียนหนังสือหรือติดกระดุมลำบาก บางคนอาจมีอาการ ตาเหล่ สายตาไม่ดี หูตึง เป็นโรคลมชัก สติปัญญาพร่อง หรือปัญญาอ่อนร่วมด้วย

อาการเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว มักจะเป็นอย่างถาวรและคงที่ ไม่เป็นมากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น



⇒การแยกโรค

อาการผิดปกติของกล้ามเนื้อ อาจเกิดจากโรคของ สมองหรือไขสันหลังชนิดอื่นๆ หรือโรคของกล้ามเนื้อต่างๆ

ส่วนอาการปัญญาอ่อน อาจเกิดจากกลุ่มอาการดาวน์ (Down s syndrome) ซึ่งมักไม่มีความผิดปกติ ของกล้ามเนื้อร่วมด้วย

อาการชักอาจเกิดจากโรคลมชัก หรือลมบ้าหมู ซึ่งเวลาไม่ชักผู้ป่วยจะเป็นปกติดี

อาการสั่น อาจเกิดจากโรคพาร์กินสัน (โรคสันนิบาตสั่น) ซึ่งพบในผู้สูงอายุ


⇒ การวินิจฉัย
 
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการแสดงเป็นสำคัญ มักจะวินิจฉัยได้ชัดเจน เมื่ออายุ 1-2 ขวบ ซึ่งบางครั้งอาจต้องติดตามเฝ้าดูอาการเปลี่ยนแปลงสักระยะหนึ่ง จึงจะสรุปได้ชัดเจนในรายที่ไม่แน่ใจ อาจทำการตรวจสมอง เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ตรวจคลื่นสมอง เป็นต้น เพื่อค้นหาสาเหตุอื่นๆ ที่อาจมีอาการแสดงคล้ายโรคสมองพิการ
 
⇒การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น ทารกหรือเด็กเล็กมีพัฒนาการช้ากว่าปกติ มีกล้ามเนื้อแข็งหรืออ่อนตัวกว่าปกติ มีการเคลื่อนไหวของร่างกายผิดปกติ เป็นต้น ควรพาไปปรึกษา แพทย์โดยเร็ว
เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองพิการ พ่อแม่ หรือผู้ปกครองควรให้การดูแลตามคำแนะนำของแพทย์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อให้เด็กสามารถพึ่งตนเองให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้


⇒ การรักษา

แพทย์จะให้การรักษาตามลักษณะอาการที่พบ ส่วนมากจำเป็นต้องให้การรักษาทางกายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด การใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน ฝึกพูด แก้ไขความผิดปกติเกี่ยวกับสายตาและการได้ยิน
ส่วนยาที่ให้ จะเป็นยาที่ใช้ควบคุมอาการเกร็ง อาการสั่น อาการชัก ซึ่งมีให้เลือกอยู่หลายชนิด และจำเป็นต้องกินอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี
บางครั้งแพทย์อาจฉีดยาโบทูลิน (botulin) มีชื่อการค้า เช่น โบท็อกซ์ (Botox) เพื่อลดการแข็งตัวของกล้ามเนื้อ บางรายอาจต้องทำการผ่าตัดแก้ไขความพิการและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ


⇒ ภาวะแทรกซ้อน

ในรายที่เป็นรุนแรง อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น เด็กตัวเล็ก เนื่องจากกินอาหารลำบาก ฟันผุ ท้องผูก ปอดอักเสบ (เนื่องจากสำลักอาหาร) ตาบอด หูหนวก กระดูกพรุน ข้อยึดติด ข้อสะโพกหลุด กระดูกหลังคด ปัญญาอ่อน การเรียนรู้ช้า สมาธิสั้น เป็นต้น


⇒การดำเนินโรค

ในรายที่เป็นรุนแรง มักมีอายุสั้น
ถ้ามีอาการแขนขาเกร็งทั้ง 4 ข้าง มักมีอาการชักและปัญญาอ่อนร่วมด้วย อาจเดินไม่ได้หรือช่วยตัวเองได้น้อย
ในรายที่มีอาการเกร็งของขา 2 ข้าง หรือแขนและขาซีกหนึ่ง มักจะมีภาวะแทรกซ้อนไม่รุนแรงเท่ากับแขนขาเกร็งทั้ง 4 ข้าง การบำบัดและการใช้อุปกรณ์ช่วย มักจะได้ผลดี โดยทั่วไปถ้าเด็กสามารถนั่งได้เมื่ออายุ 2 ขวบ ผลการรักษาค่อนข้างดี ถ้าพ้น 4 ขวบแล้วยังนั่งไม่ได้ ผู้ป่วยมักจะเดินไม่ได้
ในรายที่เป็นไม่มาก และไม่มีความบกพร่องทางสติปัญญา มักจะสามารถเรียนหนังสือและประกอบอาชีพได้เหมือนคนปกติทั่วไป บางคนอาจมีความฉลาด และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานดีกว่าคนทั่วไป


⇒การป้องกัน

เนื่องจากส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ จึงหาทางป้องกันได้ค่อนข้างยาก

ส่วนที่ทราบสาเหตุแน่ชัด ก็อาจป้องกันได้โดยการปฏิบัติดังนี้

o ก่อนตั้งครรภ์ ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง บำรุงอาหารสุขภาพ ควบคุมโรคเรื้อรัง (เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง) ให้ได้ผล ควรฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมัน

o เมื่อตั้งครรภ์ ควรฝากครรภ์และดูแลครรภ์ตามคำแนะนำของแพทย์ หลีกเลี่ยงสิ่งอันตราย (เช่น เหล้า บุหรี่) และคลอดที่สถานพยาบาลที่มีความพร้อม

o เมื่อพบว่าทารกแรกเกิดมีอาการตาเหลือง ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

o ทารกและเด็กเล็ก ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามตารางกำหนด ควรระวังป้องกันอุบัติเหตุต่างๆ และเมื่อมีอาการเจ็บป่วยควรรีบดูแลรักษาอย่างถูกต้อง


⇒ความชุก

คาดว่ามีทารกที่ป่วยเป็นโรคสมองพิการประมาณ 1-3 คนต่อทารก 1,000 คนโรคนี้พบบ่อยในทารกที่คลอดก่อนกำหนด หรือมีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่า 1,500 กรัม

ข้อมูลสื่อ

333-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 333
มกราคม 2550
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ