• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การใช้ยาในเด็ก : ปัญหาและทางออก

ที่จำเป็นนั้นยังขาด
ที่ผิดพลาดกลับมากมี
เด็กน้อยร้อยหมื่นชีวี
หวังสิ่งดีมาทดแทน
--------------------------
อนาคตคือผู้เยาว์
สิทธิ์ของเขาต้องคุ้มครอง


ข้อความข้างบนเป็นคำขวัญชูเด่นสะดุดตาสะดุดความคิดของผู้คนที่เข้ามาร่วมในการสัมมนา “การใช้ยาในเด็ก” : ปัญหาและทางออก ของโครงการรณรงค์การใช้ยาที่เหมาะสมในเด็ก โดยคณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชนเพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน (คปอส.) และคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ศูนย์สารนิเทศ จุฬาฯ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ที่ผ่านไป

จุดประสงค์ใหญ่ของการสัมมนาครั้งนี้ ก็เพื่อประมวลปัญหาการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็ก ทั้งจากชุมชนในเมืองและชนบท และร่วมกันกำหนดแนวทางการแก้ปัญหา เช่น แนวทางการดูแลป้องกันและรักษาอาการเบื้องต้นในเด็ก โดยมีบุคลากรทางการแพทย์ เภสัชกร นักการสาธารณสุข นักวิชาการ นักศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้อง สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมกันอย่างหนาตา คึกคัก และผลการสัมมนาก็ประสบความสำเร็จอย่างน่าชื่นใจ

การสัมมนาในภาคเช้าเริ่มตั้งแต่ 9.00 น.ท่านคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ร.ศ.บุญอรรถ สายศร เป็นประธานเปิดงาน ต่อจากนั้น ร.ศ.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์ ได้กล่าวนำเสนอสภาพปัญหาการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมในเด็กว่า เป็นปัญหาที่สำคัญและเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายจะต้องให้ความใส่ใจอย่างยิ่ง เด็กเป็นทรัพยากรที่มีค่ายิ่งในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต ควรจะได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องด้วยยาที่เหมาะสมและปลอดภัยในยามเจ็บป่วย แต่จากสภาพที่ดำเนินมาตลอดนั้น ยังมียาจำนวนมากที่มีสูตรตำรับและตัวยาที่ไม่ปลอดภัยอันส่งผลต่อการพัฒนาการทางร่างกาย สติปัญญา และจิตใจของเด็ก ตลอดจนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ รายการยาที่ไม่เหมาะสมและยาอันตรายเหล่านี้ยังไม่เป็นที่รับรู้และเผยแพร่ในระดับกว้าง พ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กยังใช้ยาพวกนี้กันอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งเป็นปัญหาที่น่าวิตกอย่างยิ่ง

หลังจากนั้นก็เป็นการอภิปรายสภาพการณ์การใช้ยาในเด็ก นำทีมโดยศ.น.พ.ประสงค์ ตู้จินดา จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ภก.วิทยา กุลสมบูรณ์ ตัวแทนกลุ่มเภสัชกร โรงพยาบาลชุมชน ภก.ทอง บุญยศ เภสัชกรประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ วัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือ “ครูหยุย” จากมูลนิธิเด็กเข้าร่วม

ภก.วิทยา ซึ่งประจำอยู่ที่โรงพยาบาลสูงเนิน ได้เสนอผลการวิจัย “โครงการวิจัยพฤติกรรมของชาวบ้านเกี่ยวกับการใช้ยาในเด็กอายุ 0-12 ปี” โดยกลุ่มเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชนนครราชสีมา ซึ่งพบว่าพฤติกรรมที่ชาวบ้านซื้อยามาใช้เองและใช้ยาที่ไม่ถูกต้องนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นมีความรุนแรง เพราะเป็นการใช้ยาที่ไม่ถูกต้องกับเด็กเล็ก เช่น ผสมยาปฏิชีวนะชนิดซองคลุกปนกับยาลดไข้ชนิดซอง ผสมยาปฏิชีวนะกับน้ำผลไม้หรือนม และนำมาให้เด็กกินโดยการป้ายลิ้นเด็ก ยังมีการใช้ยาเตตราซัยคลีนและคลอแรมเฟนิคอล ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะที่เป็นอันตรายและไม่ควรใช้กับเด็กเล็ก นอกจากนี้ก็มีการใช้ยาลดไข้ที่เป็นยาอันตรายกับเด็กเล็ก คือ ยาไดไพโรน (เช่น ยาลดไข้เด็กตรางู ยาไพรานา) โดยเฉพาะในเขตชนบทที่ห่างไกลจากอำเภอ และขาดการสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนยาหรือการดำเนินงานกองทุนยาไม่ได้ผล พบว่าชาวบ้านมีการใช้ยาอันตรายเหล่านี้ในอัตราสูงอย่างน่าวิตก

นายวัลลภ หรือ “ครูหยุย” แห่งมูลนิธิเด็ก ให้ความเห็นอย่างน่าสนใจว่า ปัญหาต่างๆที่เกี่ยวกับยานั้น ไม่ควรมองกันโดดๆ แต่ให้มองในลักษณะที่เชื่อมโยงกัน อย่าไปโทษพ่อแม่หรือผู้ปกครองของเด็กว่าไม่มีความรู้ หรือแม้แต่การโทษโฆษณาว่าโอ้อวดเกินความจริง เพราะว่าถ้าหากจะให้การศึกษาแก่ประชาชน เราก็ต้องไปให้การศึกษาแก่รัฐเสียก่อนในเรื่องนี้

ครูหยุยขอกระทบกระเทียบรัฐบ้างสักนิดก็ยังดี...ก็อย่างที่เราได้รู้เห็นและเป็นมาตลอด ในปัญหาหลายๆเรื่อง บางทีก็มาจากตัวรัฐบาลนี่เอง แล้วการให้การศึกษาแก่รัฐใช่ว่าจะทำกันได้ง่ายๆ ที่ผ่านมาก็ไม่ค่อยได้ผลหรือประสบความสำเร็จเท่าไรนัก เพราะกลไกของระบบรัฐนั้นค่อนข้างจะซับซ้อนและล่าช้าเสมอ ฉะนั้น ฝ่ายเอกชนนั่นแหละที่จะต้องร่วมมือกันอย่างขันแข็งและเอาจริงเอาจัง เพื่อช่วยเสริมกลไกของรัฐให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาเหล่านี้

การสัมมนาในช่วงบ่ายเน้นการหาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งมีการระดมความคิดจากแพทย์ นักวิชาการ เภสัชกร และบุคลากรหลายฝ่าย อาทิเช่น ศ.พ.ญ.เสาวนีย์ จำเดิมเผด็จศึก จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ศักดิ์สิทธิ์ เชื้อกลาง จากมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม ภก.ตรี แสงธงทอง ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สุกัญญา เผ่าสันทัดพาณิชย์ จากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ภก.ฉันทนา จุติเทพารักษ์ คณะอนุกรมการพัฒนานโยบายแห่งชาติทางด้านยา ร.ศ.ดร.พรเพ็ญ เปรมโยธิน คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ และผศ.น.พ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ จากมูลนิธิหมอชาวบ้าน

ผศ.นพ.สุรเกียรติ ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า การดูแลรักษาตนเองเป็นธรรมชาติของคนที่จะเลือกทำก่อนเมื่อมีอาการเจ็บป่วย ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นชาวบ้าน ในเมืองหรือตามชนบทก็ตาม ซึ่งการดูแลรักษาตัวเองยังขาดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง บางทีก็เพียงอาศัยการบอกต่อๆกันมา อันเป็นตัวชี้ให้เห็นปัญหาอื่นๆ เช่น ชาวบ้านยังขาดแคลนความรู้ เศรษฐกิจของชาวบ้านไม่ดี เมื่อเจ็บป่วยก็เลือกการซื้อยากินเองมากกว่าจะไปหาหมอ และมักซื้อยาราคาถูก คุณภาพต่ำ รัฐขาดการควบคุมที่รัดกุมและถูกต้อง ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดคิดว่า ยาที่ยังขายได้อยู่ตามท้องตลาดไม่เป็นยาอันตราย รวมทั้งยังปล่อยให้มีการโฆษณาเกินความจริง ซึ่งปัญหานี้ น.พ.สุรเกียรติได้เสนอว่า วิธีการแก้ไขที่ง่ายที่สุดน่าจะเป็นวิธีการกวดขันในเรื่องการขึ้นทะเบียนยาเพื่อให้มีการพิทักษ์ผู้บริโภคเพิ่มขึ้น

รายการสัมมนาเสร็จสิ้นเอาเมื่อบ่ายคล้อยเลย 5 โมงเย็นไปแล้ว กลุ่มผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ร่วมกันสรุปข้อเสนอและแนวทางแก้ปัญหาในเรื่องนี้ คือ
1. ยาใหม่ที่จะออกมา ต้องมีการทดลองและยืนยันถึงประสิทธิผล ความปลอดภัย
2. ยาที่มิได้ผลิตสำหรับเด็ก ไม่ควรมีรูปแบบเหมือนกับยาเด็ก และควรมีข้อความระบุรายละเอียดในการใช้ยา ในเอกสารกำกับยา เช่น ประสิทธิผลในทางบำบัดของยา ราคายา สัดส่วนของตัวยาในสูตรตำรับยา เป็นต้น
3. ยกเลิกและจำกัดยาที่มีความเสี่ยงภัยค่อนข้างสูง ถ้าหากมียาที่มีประสิทธิภาพตัวอื่นใช้แทน
4. รูปแบบของยาควรใช้ให้เหมาะสม ยาผงต้องสามารถที่จะแบ่งสัดส่วนในการกินได้ถูกต้อง ยาเม็ดควรมีขีดแบ่ง ถ้วยตวงยาควรมีขนาดที่ถูกต้องได้มาตรฐาน

การสัมมนาได้เสร็จสิ้นลงไปแล้วแต่มิได้หมายความว่า การต่อสู้เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้จะยุติตามไปด้วย เรายังจะต้องดำเนินการต่อไป วันนี้อาจจะยังไปไม่ถึงปลายทางของความสำเร็จ แต่ตราบใดที่เราทุกคนมีเจตนารมณ์แน่วแน่ และมีสำนึกที่ถูกต้อง ร่วมมือกันอย่างกระชับแน่น... ความสำเร็จก็อยู่เพียงแค่เอื้อมมือคว้า

 

ข้อมูลสื่อ

98-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 98
มิถุนายน 2530
รายงานพิเศษ