• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

"พ่อ"

"พ่อ"

“ลูกที่พ่อดูแลเอาใจใส่มากจึงมีแรงผลักดันให้พยายามประสบความสำเร็จในชีวิต แต่ถ้าไม่มีแม่คอยเป็นกำลังใจลูกก็จะเกิดความเครียดมากเกินไป"

วันก่อนอยากรู้ว่าเด็กไทยสมัยนี้มีภาพพจน์ของ " พ่อ " อยู่ในใจเป็นอย่างไร จึงลองตั้งคำถามกับเด็กประถมและเด็กมัธยมจำนวนหนึ่ง

“ถ้าพูดถึง “พ่อ" หนูจะนึกถึงอะไร"

“นึกถึงคนผู้ชาย” เด็กชายวัยมัธยมต้นตอบอย่างยียวน จึงต้องตั้งคำถามใหม่

“เอางี้ พ่อกับแม่ต่างกันอย่างไร"

“โธ่ ถามได้ พ่อก็เป็นผู้ชายแม่ก็เป็นผู้หญิงนะซี้" เด็กชายคนเดิม ยวนตอบ

“อย่าถามเลยเด็กคนนี้น่ะ เขาก็ยียวนกวนประสาทอย่างนี้แหละ” อาจารย์ซึ่งนั่งอยู่ใกล้ๆ กระซิบบอกทำให้ดิฉันคิดถึงคำพูดที่ว่า “ลูกคือกระจกส่องให้เห็นพ่อแม่" แต่ความจริงเด็กคนนี้แกล้งพูดล้อเล่นสนุกๆเท่านั้นเอง

ดิฉันหันไปถามนักเรียนหญิงชั้นมัธยมปลายซึ่งเป็นเด็กเรียบร้อยดูบ้าง"  พ่อคือผู้ให้กำเนิดเราเป็นคนที่รักลูกและทำทุกอย่างเพื่อลูก”

ทราบจากอาจารย์ว่า พ่อของเธอเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งคงต้องดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี คำตอบจึงออกมาอย่างนี้

“พ่อหนูดุมากค่ะ" สาวน้อยอีกคนตอบทันทีทันควันเมื่อถูกถามถึงภาพพจน์ของพ่อที่อยู่ในใจ

“มีพ่อดุหนูว่าดีไหม"

"ไม่ดีค่ะ ทำให้หนูกลัว เวลาอยู่ต่อหน้า หนูก็ทำอย่างที่พ่ออยากให้ทำ แต่พอลับหลังหนูก็ไม่ทำ"

เด็กคนนี้เป็นเด็กดี แต่มีพ่อที่เคร่งครัดกับเธอมาก เวลาอยู่ลับหลังพ่อ เธอจึงจะผ่อนคลายความตึงเครียดโดยการทำอะไรตามใจตัวเองบ้าง เด็กวันรุ่นที่อยู่ภายใต้ระบบอย่างเข้มงวดเกินไป มักรู้สึกสะใจเมื่อแหกกฎได้สำเร็จ

ลูกเคยเล่าให้ฟังว่า วันหนึ่งเพื่อนชวนให้ติดรถของเพื่อนอีกคนหนึ่งไปออกปากซอยโรงเรียนซึ่งอยู่ในแก๊งเกเรที่สุดของโรงเรียน แต่ปรากฏว่าเวลาอยู่ในรถกับพ่อแม่เด็กซ่าคนนั้นกลับกลายเป็นเด็กสุภาพเรียบร้อย พูดจาไพเราะจนเพื่อนตกตะลึง

“คุณพ่อหนูกลับบ้านดึก หนูไม่ค่อยเจอคุณพ่อหรอกค่ะ" เด็กอีกคนเอ่ยขึ้น

“แล้วหนูมีปัญหาไหม"

"หนูไม่มีหรอกค่ะ แต่คุณแม่มี ชอบบ่นเวลาคุณพ่อกลับดึก กลัวคุณพ่อไปมีผู้หญิงอื่น หนูก็เลยกลุ้มไปด้วย แต่หนูก็รักคุณพ่อ"

ปัญหาครอบครัวระหว่างพ่อกับแม่ ส่งผลสะท้อนถึงลูกเสมอ ไม่มากก็น้อย

“พ่อหนูกลัวหัวล้านค่ะ เวลาอยู่บ้านชอบยืนเอาหัวส่องกระจกดูว่าล้านหรือยัง" สาวน้อยอีกคนหัวเราะ เอิ๊กอ๊ากเมื่อพูดถึงพ่อของตน

“เออ ใช่ พ่อหนูกลัวพุงยื่นชอบยืนหันข้างให้กระจก สำรวจความหนาของพุงอยู่เรื่อย"

วงสนทนาการเป็นวงนินทาพ่อไปเสียแล้ว

“หนูกลัวคุณพ่อที่สุด ตอนผลสอบออก เวลาคะแนนไม่ดี หนูไม่อยากให้ดูเลย คุณพ่อเค้าอยากให้หนูเรียนเก่งมากๆ"

ความจริงเด็กคนนี้เรียนเก่งมาก แต่เธอมิได้เก่งทุกวิชา วิชาที่ไม่ถนัดจึงทำคะแนนไม่ค่อยดี คะแนนเฉลี่ยจึงสู้เพื่อนที่เรียนพอไปได้ทุกวิชาไม่ได้ เมื่อโตขึ้นหากเธอไปเรียนวิชาที่ถนัดเธอคงไปโลดทีเดียว คุณพ่อน่าจะให้กำลังใจลูก แทนที่จะทำให้ลูกกลัวและเกิดความเสียใจ

มีผู้รู้กล่าวว่า “แม่รักลูกอย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่ว่าลูกดีหรือไม่ดีแม่ก็รัก แต่พ่อรักลูกอย่างมีเงื่อนไข พ่อรักลูกที่ทำให้พ่อพึงพอใจ"

ลูกที่พ่อดูแลเอาใจใส่มากจึงมีแรงผลักดันให้พยายามประสบผลสำเร็จในชีวิต แต่ถ้าไม่มีแม่คอยเป็นกำลังใจ ลูกก็จะเกิดความเครียดมากเกินไป ลูกที่มีแต่แม่ดูแลตลอดเวลาโดยพ่อไม่สนใจมักกลายเป็นลูกแหง่อ่อนแอ ไม่ค่อยประสบความสำเร็จในชีวิต ในกระบวนการเลี้ยงดูเด็กให้ประสบความสุขและความสำเร็จในอนาคต พ่อและแม่ควรมีบทบาททั้งคู่จึงจะเกิดความสมดุลทั้งในครอบครัวและในสังคม สังคมที่มีการหย่าร้างสูง เช่น สังคมอเมริกันมักมีปัญหายุ่งยากทางสังคมตามมา เพราะพ่อที่มีปัญหาจะก่อให้เกิดปัญหากับลูก ลูกที่มีปัญหาก็ก่อให้เกิดปัญหาสังคม เพราะครอบครัวเป็นแกนสำคัญของสังคมเมื่อแกนผุกร่อนสังคมก็พัง

สังคมที่พ่อมีบทบาทในการเลี้ยงดูลูกน้อยมากดังเช่นสังคมญี่ปุ่น ก็มีปัญหาเช่นกัน คนที่เคยไปญี่ปุ่นและได้ไปเดินแถวชินจูกุ โตเกียว คงรู้สึกแปลกใจที่เห็นมีชายญี่ปุ่นซึ่งส่วนใหญ่วัยกลางคนขึ้นไป นำกล่องกระดาษแข็งมาวางกั้นเป็นห้องพอนอนอยู่ตามทางเดินใต้ดิน บางคนนอนอ่านหนังสือ บางคนนั่งดื่มเหล้า เสื้อผ้าหน้าตาก็ดูดี และไม่ใช่ขอทาน คนเหล่านี้หนีออกจากบ้านมาอยู่ข้างถนน ทั้งๆที่บางคนเคยเป็นพนักงานของบริษัทใหญ่ เพราะทางบ้านไม่ต้อนรับ ภรรยาและลูกไม่สนใจ “ พ่อ "  อีกต่อไป เนื่องจากพ่อเคยสนใจแต่งาน บ้านเป็นเพียงที่พักผ่อนหลับนอนเท่านั้น เมื่อพ่อแม่ลูกไม่มีความผูกพันกัน วันใดที่พ่อไม่ประสบความสำเร็จในด้านการงาน พ่อก็ไม่มีที่ไป ไปบริษัทก็ไม่มีความสุข อยู่บ้านก็ไม่มีความสุข จึงต้องออกไปเร่ร่อนอยู่ข้างถนน

คำกล่าวซึ่งชาวญี่ปุ่นนิยมพูดเล่นกันอยู่เสมอว่า “ ในความรู้สึกของภรรยานั้น ขอให้สามีแข็งแรงดี แต่ไม่อยู่บ้านเป็นดี" เพราะสามีที่อยู่บ้านไม่ใช่ความสุขของภรรยาและลูก เป็นเพียงภาระที่ต้องคอยดูแลจึงไม่มีใครอยากให้พ่ออยู่บ้าน ขอเพียงให้พ่อแข็งแรงดี หาเงินส่งมาให้เท่านั้นก็พอ ผลจากการที่พ่อญี่ปุ่นเอาแต่ทำงานนอกบ้าน ปล่อยให้แม่เป็นผู้ดูแลลูกแต่ผู้เดียว ทำให้ลูกชายถูกแม่ครอบงำมากเกินไปโดยไม่รู้ตัว พอโตเป็นหนุ่มก็ถูกสาวเมิน เพราะหนุ่มซามูไรสมันนี้กลายเป็น “ซามูไรลูกแหง่" ไม่ใช่ “ซามูไรพ่อลูกอ่อน" เหมือนสมัยก่อน สาวญี่ปุ่นสมัยนี้จึงมีแนวโน้มที่จะขออยู่เป็นโสดมากขึ้น แต่ยังดีที่พ่อไทยยังเอาใจใส่ดูแลลูก อย่างน้อยวันหยุดยังเห็นพ่อจำนวนมากเป็นผู้พาลูกไปทำกิจกรรมนอกหลักสูตร เรียนดนตรีบ้าง เล่นกีฬาบ้าง เรียนพิเศษบ้าง

การที่พ่อช่วยดูแลลูกนั้นนอกจากเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของแม่แล้ว ยังทำให้พ่อลูกเกิดความผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้น เป็นการป้องกันปัญหาครอบครัว ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาสังคมได้ดีที่สุดอีกด้วย มีสิ่งที่น่าเป็นห่วงอยู่เพียงเรื่องเดียว คือ พ่อที่ใกล้ชิดลูกมากนั้น หากเป็นพ่อที่คาดหวังในตัวลูกสูงเกินไปจะเป็นภาระหนักทางจิตใจของลูก ทำให้ลูกเกิดความเครียดอยู่เสมอ

ดิฉันถามสาวน้อยวัยมัธยมต้นที่คุณพ่ออยากให้เธอเป็นคนเก่งมากๆ ว่า

“คุณพ่อในฝันของหนูเป็นอย่างไรค่ะ"

เธอตอบว่า “หนูอยากให้คุณพ่อเป็นนักวิทยาศาสตร์เก่งๆ ประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ ได้สำเร็จ และมีชื่อเสียงโด่งดังด้วยค่ะ"

เด็กก็ฝันอยากให้พ่อเป็นสิ่งที่พ่อเป็นไปไม่ได้เหมือนกัน

ลองหันไปถามสาวน้อยที่พ่อชอบส่องกระจกดูบ้าง เธอบอกว่า

“พ่อในฝันเหรอ หล่อ เท่ เก่งด้วย รวยด้วย"

“นั้นมันพ่อในฝัน หรือแฟนในฝันกันแน่ยะ" เพื่อนสาวน้อยติงแล้วก็พากันหัวเราะกิ๊กกั๊ก

แน่นอน พ่อในความเป็นจริงของเธอ ไม่หล่อ ไม่เท่ ไม่เก่ง และไม่รวย

วันดีคืนดีคุณพ่อลองให้ลูกๆ วิจารณ์พ่อดูบ้างซิคะ อาจได้ยินคำวิจารณ์ที่นึกไม่ถึงทีเดียว ความสัมพันธ์กับลูก ช่วยพัฒนาความเป็นคนของพ่อแม่ด้วย
 

ข้อมูลสื่อ

177-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 177
มกราคม 2537
พ่อ-แม่-ลูก
พรอนงค์ นิยมค้า