• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน

โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน

พอพูดถึงหลอดเลือด หลายคนคงคิดถึงหลอดเลือดที่มีมากมายของร่างกาย เมื่ออุดตันไปบ้างก็คงไม่ใช่เรื่องใหญ่โต คงไม่ถึงตาย ครับ...ถ้าเป็นหลอดเลือดทั่วๆไปคงไม่เป็นไร แต่ที่เป็นไร เพราะเป็นหลอดเลือดที่หัวใจ ก่อนที่จะว่ากันต่อไปถึงหลอดเลือดที่หัวใจ เราคงมาทำความเข้าใจกันถึงหัวใจสักนิดดีไหมครับว่าทำไมหัวใจสำคัญนัก ใครๆ ก็รู้ดีว่า หัวใจมีหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆของร่างกาย

หัวใจเป็นอวัยวะที่จำเป็นที่สุดอย่างหนึ่งของร่างกาย เซลล์ของร่างกายทั้งหมดต้องอาศัยหัวใจช่วยฉีดเลือดที่มีอาหารและออกซิเจนไปให้เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการทำงาน หัวใจหยุดเต้นเมื่อใดเซลล์ร่างกายทุกๆส่วนก็ไม่ทำงานและจะตายในที่สุด ตัวหัวใจเองก็ประกอบด้วยเซลล์กล้ามเนื้อของร่างกายชนิดหนึ่ง ที่ต้องการเลือดมาเลี้ยงอย่างเพียงพอจึงจะทำงานยืดหดหรือบีบขยายได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน ดังนั้นจะเห็นว่า หัวใจไม่เพียงแต่บีบเลือดไปเลี้ยงส่วนอื่นๆของร่างกาย แต่จะต้องบีบเลือดไปเลี้ยงเซลล์กล้ามเนื้อของตัวเองด้วย

หลอดเลือดที่นำเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจนี้แหละครับที่เราเรียกว่าหลอดเลือดหัวใจ หรือหลอดเลือดโคโรนารี ถ้าหลอดเลือดหัวใจค่อยๆถูกอุดตัน เลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจก็น้อยลง ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจไม่ได้รับอาหารและออกซิเจนเพียงพอ กล้ามเนื้อหัวใจก็ทำงานลดลง และถ้าหลอดเลือดอุดตัน เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่ได้ หัวใจก็ต้องตาย และเมื่อหัวใจตาย ร่างกายทุกส่วนก็ต้องตายตาม

เห็นไหมล่ะครับว่า โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันมีความสำคัญอย่างไร

โรคน่ารู้ครั้งนี้จึงขอพาท่านมาพบกับ รองศาสตราจารย์นายแพทย์ศุภชัย ไชยธีระพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มาให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคยอดนิยมนี้ มาลองติดตามอ่านกันดูนะครับ

โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน...ทำไมจึงเกิดได้

สาเหตุในการเกิดโรคนี้ที่สำคัญๆ ก็มีอยู่หลายสาเหตุด้วยกัน ที่เห็นชัดๆ ก็คงจะเป็นหลอดเลือดแดงที่หัวใจผิดปกติ เราเรียกกันว่า “หลอดเลือดแดงแข็ง” ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงในผนังหลอดเลือดที่ขรุขระขึ้น และบีบแคบลงจนตันไปในที่สุด บางคนก็เกิดจากการมีไขมันในเลือดสูงเกินไป ไขมันจะไปสะสมพอกพูนอยู่ตามผนังหลอดเลือด จึงทำให้หลอดเลือดค่อยๆ ตีบจนตันในที่สุด

การสูบบุหรี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคนี้ เพราะนิโคตินในบุหรี่ เมื่อถูกเผาผลาญก็จะมีแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์เกิดขึ้น และนิโคตินจะไปกระตุ้นสารคาเทโคลามีนในร่างกายทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ผนังหลอดเลือดพวกไขมัน โคเลสเตอรอลที่อยู่ในเลือดก็ซึมซาบเข้าไปได้ง่ายขึ้น จนเกิดภาวะหลอดเลือดแข็งได้ และอีกสาเหตุหนึ่งที่สำคัญ คือ ความเครียด เพราะพบว่าคนที่อยู่ในเมืองที่ทำอะไรรีบเร่ง ใจร้อน ทุกอย่างต้องเนี้ยบ คือ เป็นระเบียบสมบูรณ์แบบ (personality type A) พวกนี้จะมีโอกาสเกิดโรคหัวใจอุดตันได้สูงกว่าพวกเฉื่อยๆ ไปเรื่อยๆ สบายๆ (personality type B) มาก

นอกจากนี้ก็จะมีสาเหตุอื่นที่ช่วยทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันได้อีก คือ โรคเบาหวาน ความดันเลือดสูง หรือพวกที่อ้วนมากๆ แต่ก็เป็นภาวะที่สามารถควบคุมแก้ไขได้

อายุ และ ชายหรือหญิงใครเป็นมากกว่ากัน

คนเราเมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายก็ร่วงโรยสึกหรอไปเป็นของธรรมดา ก็เหมือนกับเครื่องยนต์ที่พอใช้ไปนานๆก็ต้องเสื่อม ต้องสึกหรอ หลอดเลือดก็เหมือนกัน พอนานเข้ามันก็จะแข็งตัวไปตามเวลา และพบว่า คนที่มีอายุประมาณ 40 ปีขึ้นไปอัตราเสี่ยงของการเป็นโรคนี้ยิ่งสูงมากขึ้นด้วย โรคนี้มักจะเกิดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง คืออายุประมาณ 40-50 ปี ก็มีโอกาสเป็นแล้ว แต่ในผู้หญิงจะอยู่ในช่วงอายุ 50-70 ปี ยกเว้นในรายที่กินยาคุมกำเนิดประจำก็อาจจะเกิดโรคหลอดเลือดอุดตันได้เร็วขึ้น

พ่อแม่เป็นโรคนี้แล้วลูกต้องเป็นตามไหม

เรื่องกรรมพันธุ์นี้ยังพิสูจน์ไม่ได้ชัดเจนว่าถ่ายทอดออกมาลักษณะไหน แต่จากการศึกษาพบว่า โรคนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับยีนและกรรมพันธุ์ คือ ถ้ามีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ในอายุต่ำกว่า 50 ปี ลูกหลานก็มีแนวโน้มที่จะเป็นในอายุน้อยเช่นกัน

คนอาชีพใดเป็นโรคนี้มาก

ส่วนใหญ่จะเป็นพวกประเภทนั่งโต๊ะทำงาน พวกระดับบริหารทั้งหลายคือพวกที่ใช้มันสมองมากๆ มีความเครียดมากๆ พวกนี้จะมีความเสี่ยงของการเกิดโรคสูงกว่าพวกที่ใช้แรงงาน แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกที่ใช้แรงงานจะไม่เป็นโรคนี้ เพียงแต่พบได้น้อยกว่ากันเท่านั้น

สัญญาณอะไรเตือนให้เรารู้ว่าเป็นโรคนี้

ต้องสังเกตจากอาการในระยะแรกๆ คือ จะมีอาการเจ็บหน้าอกคล้ายๆกับมีของหนักมาทับที่ตรงกลางหน้าอก (กลางลิ้นปี่) ทำให้หายใจขัด หายใจไม่ออก หรืออาจมีอาการแน่นหน้าอก จุกบริเวณคอหอย ลิ้นปี่ อาการเจ็บมักจะเป็นแบบแน่นๆ หรือจุกมากกว่าเจ็บแปลบๆ และมักจะปวดร้าวขึ้นมาที่คอ คาง ไหล่ หรือแขนข้างหนึ่งข้างใดหรือทั้งสองข้าง

อาการในระยะแรกๆ นี้จะเป็นอยู่แค่ครู่หนึ่ง พอหยุดนิ่งๆ ก็จะหายไปเอง โดยทั่วไปมักจะไม่เกิน 5 นาที
ที่พบบ่อยคือ อาการตายเฉียบพลัน เช่น กำลังนั่งกินอาหารอยู่ดีๆ ก็ล้มตึงไปเลย ซึ่งพวกนี้เราควรจะปฐมพยาบาลง่ายๆ ก่อนส่งไปโรงพยาบาลด้วยการช่วยปั๊มหัวใจ (หน้าอก) ถ้าไม่หายก็ช่วยหายใจด้วยวิธีเป่าปาก (ต้องบีบจมูกผู้ป่วยไว้ขณะเป่าปาก) ถ้าผู้ป่วยกัดฟันอยู่ก็ใช้วิธีปิดปากและเป่าจมูกแทน และปั๊มหัวใจไปด้วย ให้ได้ความถี่ในการเป่า 20 ครั้งต่อนาที ที่สำคัญคือ พยายามช่วยให้หายใจได้เร็วที่สุด เพราะถ้าสมองขาดเลือดนานแค่ 4-6 นาทีก็ทำให้สมองตายแล้ว

การที่มีอาการเริ่มแรกแบบที่เล่ามานี้ ไม่ได้หมายความว่าเพิ่มเริ่มเป็นโรค แต่แสดงว่า มีความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจมากแล้ว คือ ตีบไปประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์แล้ว จึงเกิดอาการแบบนี้

เมื่อไรจึงควรไปพบแพทย์

ความจริงพอเริ่มเจ็บหน้าอกครั้งแรกดังกล่าวที่เล่าไว้ก็ควรจะไปพบแพทย์แล้ว เพราะว่าอาจจะเป็นครั้งเดียวที่มีอาการก็ได้ ครั้งต่อไปอาจจะถึงตายเลย บางคนเป็นแล้วก็หายเอง แล้วก็เป็นใหม่ พวกนี้เป็นพวกที่โชคดีที่ยังมีชีวิตอยู่ ถ้าสงสัยว่าจะเป็นโรคหัวใจชนิดนี้ ควรจะรีบไปพบแพทย์ ไม่ว่าจะมีอาการมากน้อยแค่ไหน บางคนอาจจะคิดว่า เกิดเพราะกินอาหารมากเกินไปหรืออาหารไม่ย่อย หรือจากสาเหตุอื่น เพราะเป็นเพียงครู่เดียวก็หาย จึงไม่ทันสังเกตทำให้ไปพบแพทย์ช้า จนเป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะในคนที่มีอายุเกิน 40 ปี จะมีอุบัติการณ์ของโรคนี้มาก

สามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่

การรักษานั้นจะไม่ได้ผลเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะถ้าเกิดขึ้นในหลอดเลือดที่มีความผิดปกติมากแล้วหลอดเลือดของเราก็เหมือนกับท่อประปาที่เราใช้มาหลายปี ถ้าตัดกลางท่อดูจะเห็นว่าข้างในมีตะกอนและสิ่งสกปรกต่างๆ เกาะอยู่ ไม่เหมือนกับตอนที่ใช้ใหม่ๆ พอมีตะกอนไปอุดมากๆ ก็จะตัน น้ำไหลผ่านไม่ได้ มีวิธีที่จะทำให้ดีเหมือนเดิมคือเปลี่ยนอันใหม่ แต่หลอดเลือดเราเปลี่ยนใหม่ไม่ได้ ทำได้เพียงรักษาด้วยยาเพื่อให้อาการไม่กำเริบ การผ่าตัด หรือการแยงหลอดเลือด ซึ่งวิธีเหล่านี้ก็เป็นแค่เพียงการรักษาอย่างประทังเท่านั้น

การรักษาต้องดูที่ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคร้าย เช่น ถ้ามีโรคอื่นร่วมด้วยอย่างเป็นเบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูงก็ให้ควบคุมอาหารและให้ยา จะทำให้การดำเนินโรคช้าลง ถ้าผู้ป่วยสูบบุหรี่ก็ต้องเลิกสูบบุหรี่ ถ้าอ้วนมากๆ ก็ต้องควบคุมน้ำหนักเพื่อลดภาระการทำงานของหัวใจไม่ให้หนักเกินไป นอกจากควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว ก็ยังต้องให้กินยาขยายหลอดเลือดหัวใจด้วย การรักษาด้วยยาต้องใช้วิธีกินยาทุกวัน ซึ่งขณะนี้ยามีราคาแพงมากยิ่งถ้ามีอาการมากต้องใช้ยาหลายตัว และพวกนี้มักจะเป็นยาที่มีช่วงการออกฤทธิ์สั้น แถมยังต้องกินตลอดไป จึงสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก สำหรับการผ่าตัดก็ไม่สามารถจะเปลี่ยนหลอดเลือดหัวใจใหม่ทั้งหมด ทำได้แค่ตรงเฉพาะส่วนที่ตันมากๆ โดยการทำทางเบี่ยง (by pass) คือต่อหลอดเลือดใหม่ไปส่วนนั้น เพิ่มขึ้น เพื่อให้เลือดไหลผ่านบริเวณนั้นได้ การรักษาแบบนี้ก็เป็นแค่การประทังหรือรักษาตามอาการเช่นกัน

รักษาแบบผ่าตัดหรือใช้ยาดีกว่ากัน

การที่จะเลือกวิธีใดรักษานั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งก็คงต้องดูว่าหลอดเลือดผิดปกติมากน้อยแค่ไหน ถ้าตีบตันหลายเส้นการผ่าตัดก็อาจจะดีกว่า และช่วยให้ผู้ป่วยทำอะไรต่ออะไรได้มากกว่า แต่ถึงแม้จะผ่าตัดแล้วก็ยังต้องกินยาด้วย ในขณะที่ผู้ป่วยที่กินยาอย่างเดียวก็สามารถดำเนินชีวิตได้ใกล้เคียงคนปกติ อาจจะน้อยกว่าพวกที่ผ่าตัดเล็กน้อย แต่ถ้ากินยาแล้วช่วยไม่ให้มีอาการผิดปกติก็ควรจะกินยาต่อไป การผ่าตัดนั้นเรามักจะทำกับผู้ป่วยที่มีอาการมาก ไม่ตอบสนองต่อยา และมีหลอดเลือดหัวใจที่ตีบหลายเส้นและตันมากๆ เท่านั้น

มีอีกวิธีหนึ่งที่ใช้รักษากันในต่างประเทศ บ้านเรายังเพิ่งจะเริ่มทำกัน คือ การขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน วิธีนี้ไม่ต้องผ่าตัด ผู้ป่วยจึงยอมรับมากกว่า ค่าใช้จ่ายก็น้อยกว่าการผ่าตัด แต่ผลระยะยาวสู้การผ่าตัดไม่ได้ วิธีนี้ก็เป็นการประทังเหมือนวิธีอื่น และยังคงต้องกินยาเช่นเดียวกันกับวิธีรักษาอย่างอื่น

หนีห่างจากโรคนี้ได้อย่างไร

วิธีป้องกันที่จะไม่ให้เป็นโรคนั้นคงจะต้องแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ

ขั้นที่ 1 (ปฐมภูมิ) คือ การป้องกันก่อนที่จะเกิดโรค ในแง่ปฏิบัตินั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะบางคนจะมีความผิดปกติของหลอดเลือดมาตั้งแต่เด็ก ทำได้ก็เพียงแต่พยายามไม่ให้ความผิดปกตินี้เกิดขึ้นเร็วนัก คือ ต้องควบคุมเรื่องปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ถ้าสามารถตรวจพบในระยะแรกๆ การควบคุมการดำเนินโรคจะสามารถทำได้ง่ายขึ้น

ขั้นที่ 2 (ทุติยภูมิ) คือ การป้องกันหลังจากผู้ป่วยมีอาการแล้ว ซึ่งอาจแบ่งออกเป็น 3 วิธี คือ

1. การป้องกันไม่ให้มีอาการมากขึ้น โดยแนะนำให้ตรวจดูเรื่องปัจจัยเสี่ยงต่างๆและทำการควบคุมปัจจัยเสี่ยงนั้นๆ รวมทั้งการกินยาตามแพทย์สั่ง ซึ่งอาจจะต้องกินไปตลอดชีวิต

2. การป้องกันหลังจากที่มีความผิดปกติเกิดขึ้นแล้ว เช่น หลอดเลือดอุดตันแล้ว เป็นต้น จนถึงขั้นนี้แล้วคงต้องรักษาอาจโดยการให้ยา เพื่อช่วยไม่ให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายซ้ำหรือพิจารณาการป้องกันรักษาโดยวิธีผ่าตัด หรือขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน (ลูกโป่ง)

3. ในปัจจุบัน มีรายงานที่เชื่อถือได้ว่า การกินยาแอสไพรินขนาดน้อยๆ วันละเม็ด จะช่วยลดอุบัติการณ์ของการเกิดโรคนี้ (ยานี้มีผลต่อเกร็ดเลือด ทำให้เลือดไม่ค่อยจับตัวกันเป็นก้อนเลือดไปอุดตันหลอดเลือด)

ถ้าไม่อยากให้โรคนี้เกิดขึ้นกับตนเอง ก็ควรพยายามหาเวลาว่างไปออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจบ้าง อย่าเคร่งเครียดกับการทำงาน และจริงจังกับชีวิตจนเกินไป ยิ่งในสังคมปัจจุบันนี้สับสนวุ่นวาย และมีปัจจัยมากมายที่จะทำให้สุขภาพของเราเสื่อมลงทุกวันๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการจราจรติดขัด มลภาวะ การแข่งขันกันในการประกอบอาชีพและชีวิตที่รีบเร่ง ทำให้ขาดการดูแลสุขภาพตนเอง ทั้งในเรื่องอาหารการกินที่มีคุณภาพและการออกกำลังกาย ซึ่งส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ ได้สารพัดชนิด

วิธีที่ดีที่สุดที่จะทำได้กับคนที่เป็นโรคนี้แล้วหรือกำลังจะเป็นในอนาคต คงจะเป็นการดำเนินชีวิตแบบสายกลาง ทำทุกอย่างพอดีๆ เพราะดูจะเป็นการชะลอการเกิดโรคนี้ได้ดีที่สุด
 

ข้อมูลสื่อ

121-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 121
พฤษภาคม 2532
โรคน่ารู้
นพ.ศุภชัย ไชยธีระพันธุ์