• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กสี่ขวบถึงห้าขวบ

เด็กสี่ขวบถึงห้าขวบ

สภาพแวดล้อม

359. เล่นกับเพื่อนไม่ได้

เด็กอายุ 4 ขวบ มิได้มีความสามารถเล่นกับเพื่อนได้ทุกคนไป การเล่นกับเพื่อนนั้นเด็กต้องรู้จักรอมชอมถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน เด็กวัยนี้มีน้อยที่ใจกว้างถึงขนาดยอมให้เพื่อนจนเล่นด้วยกันได้ ส่วนใหญ่มักทะเลาะกัน และร้องไห้กลับบ้านหลายหน กว่าจะเรียนรู้ว่าต้องร่วมมือกันจึงจะเล่นด้วยกันได้อย่างสนุกสนาน เพราะฉะนั้น ช่วงแรกที่ลูกร้องไห้กลับมาหรือทำให้เด็กข้างบ้านร้องไห้ พ่อแม่ไม่ควรโวยวายไปด้วย เพราะจะทำให้เด็กเล่นกับเพื่อนไม่เป็นสักที

ระยะแรกเด็กจะไม่กล้าไปเล่นบ้านเพื่อน แต่อยากให้เพื่อนมาเล่นด้วยที่บ้าน อย่างไรก็ตาม เมื่อเพื่อนรื้อของเล่นออกมาเพื่อเล่นด้วยกัน เด็กจะรู้สึกหวงของเพราะคิดว่าเป็นของตน ไม่อยากให้คนอื่นแตะต้องและแย่งคืน เพื่อนก็ไม่ยอม จึงลงเอยด้วยการทะเลาะกัน และเพื่อนกลับบ้านไป หากทั้งคู่เป็นเด็กที่ไปโรงเรียนอนุบาลแล้ว ปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้น เพราะต่างฝ่ายต่างรู้ว่าของเล่นเป็นเครื่องมือสำหรับเล่นด้วยกัน และสนุกกว่าเล่นคนเดียว

สมัยก่อนเมื่อเมืองยังไม่พัฒนาจนกระทั่งลานกว้างหายไปหมดเช่นในปัจจุบัน เด็กๆ ในละแวกใกล้เคียงมักอาศัยลานกว้างเป็นที่ชุมนุมเล่นด้วยกัน เมื่อมีเด็กจำนวนมาก แต่ละคนก็มีโอกาสเลือกคู่หูที่นิสัยเข้ากันได้เป็นเพื่อนเล่น สังคมเมืองทำให้เด็กขาดเพื่อนเล่น ศูนย์เด็กหรือโรงเรียนอนุบาลจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็กเล็ก เพราะเด็กต้องการเพื่อน

เด็กเล่นกับเด็กด้วยกันนั้นสนุกสนานที่สุด และความสนุกจะเกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือรอมชอมกันเท่านั้น สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เด็กจะต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง ผู้ใหญ่สอนให้ไม่ได้เสียด้วย สำหรับเด็กที่โรงเรียนอนุบาลอยู่ไกล จำเป็นต้องเล่นกับเพื่อนบ้านวัยเดียวกัน ในช่วงแรกพ่อแม่ต้องพยายามช่วย หากของเล่นเป็นต้นเหตุให้เด็กทะเลาะกันก็ให้เล่นด้วยกันโดยไม่มีของเล่น หรือให้มีของเล่นในมือทั้งคู่ เมื่อเด็กเล่นด้วยกันหลายครั้งจนรู้สึกว่าเล่นกับเพื่อนสนุกกว่าเล่นคนเดียว ก็จะเล่นกันได้เอง การให้กินขนมด้วยกันหรือกินข้าวด้วยกันจะช่วยให้เด็กๆ สนุกมากขึ้น การห้ามลูกไม่ให้เล่นกับเพื่อนบ้านโดยอ้างว่า เพราะเป็นเด็กชอบรังแก แสดงว่าในใจของผู้ใหญ่นั่นเองที่มีความรู้สึกเป็นศัตรูต่อเด็กแอบแฝงอยู่

360. ไม่อยากไปโรงเรียนอนุบาล
ระยะแรกที่เด็กเริ่มไปโรงเรียนอนุบาล ทางโรงเรียนรู้ปัญหาดีว่าเด็กอยู่ในช่วงปรับตัว จึงเอาใจใส่เป็นพิเศษ บางโรงเรียนยอมให้เด็กกลับบ้านเร็ว บางโรงเรียนยอมให้คุณแม่มาอยู่เป็นเพื่อนลูกชั่วระยะหนึ่ง เมื่อเด็กปรับตัวได้ ก็ยอมไปโรงเรียนคนเดียว แต่พอเวลาผ่านพ้นไปประมาณ 1-2 เดือน (หรือ 1 ปี) เด็กเริ่มพูดว่า “หนูไม่อยากไปโรงเรียน”

หากต้นเหตุ คือ อาการเจ็บป่วย คุณแม่ย่อมรู้ดีที่สุด เด็กจะแสดงอาการผิดปกติให้เห็น ลองวัดปรอทดูถ้ามีไข้ก็พาไปหาหมอ อาการป่วยบางอย่างก็ไม่มีไข้ แต่อย่างไรก็ดีเมื่อคุณแม่ดูท่าทีลูกแล้วจะทราบว่าป่วยการเมืองหรือไม่ เด็กจะอ้าง “เหตุผล” นานัปการเพื่อยืนยันความไม่อยากไปโรงเรียน เช่น เพื่อนรังแก อากาศร้อน ครูบังคับให้นอน ครูบังคับให้กินผัก เป็นต้น

เวลาแบบนี้ พ่อแม่ โดยเฉพาะปู่ย่าหรือตายายมักเกิดความสงสารเด็ก คิดว่าลูกยังเล็ก อยู่กับบ้านต่อไปก็ได้ เอาไว้เข้าเกณฑ์แล้วค่อยไปโรงเรียน อย่างไรก็ตาม หากเกิดกรณีป่วยการเมืองขึ้นแล้ว คุณแม่ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้พาลูกไปโรงเรียนตามปกติ เมื่อเด็กเข้าไปอยู่ในหมู่เพื่อน และเล่นด้วยกันอย่างสนุกสนานตามเคย อาการป่วยการเมืองก็จะหายเป็นปลิดทิ้ง วันรุ่งขึ้นหากลูกพูดว่า “ไม่อยากไปโรงเรียน” อีก คุณแม่ลองทำเหมือนเมื่อวาน คงได้ผลเช่นเดียวกัน แต่ถ้ามีใครเกิดความรู้สึกสงสารเด็ก หรือเสนอข้อแลกเปลี่ยนขึ้นมา อาการ “ไม่อยากไปโรงเรียน” ก็หายช้า หรือมีอาการเรื้อรัง เพราะเด็กล่วงรู้จิตใจผู้ใหญ่ได้ดีทีเดียว

แต่มีบางกรณีที่เด็กไปโรงเรียนอนุบาลแล้วไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมแบบรวมหมู่ได้จริงๆ โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนที่โลภมาก รับนักเรียนมากเกินไป จนกระทั่งห้องหนึ่งๆ มีนักเรียนถึง 50 คน ครูย่อมดูแลเด็กไม่ทั่วถึง เด็กบางคนเป็นเด็กเงียบขรึมชอบเก็บตัว ไม่กล้าออกมาหาครู จึงไม่อยู่ในสายตาของครูเอาเสียเลย เด็กไปโรงเรียนหลายเดือนแล้วก็ยังไม่มีเพื่อน ชอบซุกตัวอยู่เงียบๆคนเดียวตามมุมห้อง ก่อนไปโรงเรียนแกจะร้องไห้ไม่อยากไปโรงเรียนทุกเช้า เด็กแบบนี้ไม่เหมาะกับโรงเรียนประเภท “ธุรกิจอนุบาล” เอาออกไปอยู่โรงเรียนเล็กๆ ที่ครูดูแลเด็กอย่างทั่วถึงดีกว่า

ข้อมูลสื่อ

121-025
นิตยสารหมอชาวบ้าน 121
พฤษภาคม 2532