• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อย่าให้ทอฟฟี่ทำร้ายลูกคุณ

พูดถึงโรคฟันผุ บางท่านอาจนึกถึงความเจ็บปวดที่รุนแรงมากที่ตัวเองมีประสบการณ์มาในอดีต บางท่านอาจเห็นภาพพจน์ของเด็กหรือลูกหลานที่แก้มบวมโย้ ร้องไห้งอแง หรือบางท่านอาจนึกถึงภาพฟันเป็นรูบิ่นแตก และมีสีดำสกปรก ไม่น่าดู และทำให้เสียบุคลิกภาพ

จากสถิติการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพของคนไทย พบว่า โดยเฉลี่ยประชากรกว่าร้อยละ 70 มีโรคฟันผุในปาก ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ชายและหญิง ผุทั้งในฟันน้ำนมและฟันถาวร ซึ่งเป็นเหตุให้สูญเสียฟันมากที่สุดประการหนึ่ง

โรคฟันผุ จะเพิ่มมากขึ้นและรุนแรงขึ้นตามการพัฒนาบ้านเมือง กล่าวคือ การเปลี่ยนแปลงจากชุมชนชนบทเป็นชุมชนเมืองนั้น นอกจากจะเปลี่ยนสภาพแวดล้อมเป็นหลักแล้ว ยังเปลี่ยนแปลงไปถึงรูปแบบการบริโภคอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกินอ่อนที่ไม่ต้องอาศัยการบดเคี้ยวมากนัก กินจุบจิบบ่อยๆ ไม่เป็นมื้อเป็นคราว ตลอดจนการเพิ่มขนมหวานและอุปนิสัยการอมลูกอมหรือลูกกวาดเป็นระยะๆ เป็นต้น

ถ้าจะลองดูถึงวิวัฒนาการของโรคฟันผุ ในห้วง 20 ปีที่ผ่านมา โรคฟันผุได้ย้ายจากประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้วมาสู่ประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งประเทศไทยด้วย กล่าวคือ เมื่อประมาณปี 2507 ประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลาย เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย มีอัตราโรคฟันผุสูงมาก ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาแทบจะไม่มีโรคฟันผุเลย แต่ในปัจจุบันนี้ ด้วยวิชาการทันตแพทยศาสตร์ที่ก้าวหน้า ประเทศอุตสาหกรรมสามารถลดอัตราโรคฟันผุจนเป็นที่น่าพอใจ ในทางตรงข้าม โรคฟันผุในประเทศกำลังพัฒนากลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศ

ในประเทศไทย อัตราโรคฟันผุเฉลี่ยในเด็กอายุ 12 ปี เพิ่มขึ้นจาก 0.6 ซี่/ คนในปี 2508 เป็น 2 ซี่ในเด็กชนบท และ 4 ซี่ ในกรุงเทพมหานครในปี 2527 ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า แนวโน้มการเพิ่มของโรคฟันผุนี้ควบคู่ไปกับการเพิ่มปริมาณการบริโภคน้ำตาลในประเทศด้วย

โดยที่โรคฟันผุมีการดำเนินโรคอย่างช้าๆ และในระยะแรกยังไม่มีอาการเจ็บปวดชัดเจน จึงมักถูกปล่อยปละละเลย ไม่ได้รับความสนใจดูแลรักษาในระยะนี้ แต่ฟันที่มีรูผุแล้วไม่ได้รับการรักษาในระยะแรกเริ่มเมื่อปล่อยทิ้งไว้จะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคและการติดเชื้อ ซึ่งอาจลุกลามต่อไปจนมีอาการปวด ทรมานในที่สุด

การเกิดโรคฟันผุ
ปัจจัยสำคัญ 4 ประการของการเกิดโรคฟันผุ ได้แก่
1. ฟัน ถ้าไม่มีฟัน ก็ไม่มีโรคฟันผุ
2. เชื้อโรคหรือเชื้อจุลินทรีย์ ถึงแม้ว่าจะมีเชื้อในปากอยู่มากมายหลายชนิด แต่มีเชื้อเฉพาะที่เป็นสาเหตุของโรคฟันผุ และพบมีเชื้อชนิดนี้มากในปากของคนที่ฟันผุมาก
3. น้ำตาล ซึ่งเป็นอาหารเฉพาะสำหรับเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคฟันผุ จำเป็นสำหรับการดำรงชีพและการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ดังกล่าว ซึ่งเมื่อเชื้อใช้น้ำตาลแล้วจะเปลี่ยนแปลงทางเคมีให้สารสุดท้ายเป็นกรดอินทรีย์ และสามารถทำลายหรือสลายแร่ธาตุของฟันต่อไป
4. เวลา ในการทำปฏิกิริยาของปัจจัยทั้ง 3 ดังกล่าวข้างต้น จะต้องใช้เวลานานพอที่การสลายแร่ธาตุของฟันมีการสูญเสียมาก จนเกิดเป็นรูฟันขึ้นอย่างถาวรในที่สุด

ปัจจัยสำคัญที่จะกล่าวถึงในที่นี้ คือ น้ำตาล เป็นที่ทราบแน่ชัดแล้วว่า เชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคฟันผุ ต้องการอาหารประเภทแป้งที่ย่อยสลายแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำตาล และที่ใช้ได้ดีเป็นพิเศษคือ น้ำตาลอ้อย (SUCROSE) ซึ่งนอกจากจะใช้เป็นพลังงานในการเจริญเติบโตของเชื้อ และทำปฏิกิริยาทางเคมีให้สารสุดท้ายเป็นกรดอินทรีย์ปล่อยออกมานอกเซลล์ของเชื้อจุลินทรีย์ ไปสลายแร่ธาตุของฟันแล้ว เชื้อจุลินทรีย์จะใช้อีกส่วนหนึ่งของน้ำตาลสร้างเป็นชั้นเมือกเหนียวติดบนตัวฟัน เพื่อให้เป็นที่ยึดเกาะทับถมเพิ่มจำนวนเชื้อบนฟันในรูปของคราบจุลินทรีย์ (plaque) ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการทำปฏิกิริยาในการทำลายฟันมากขึ้นไปอีก

โดยปกติ คนเราจะกินอาหารที่มีส่วนประกอบหลายชนิด รวมทั้งน้ำตาลด้วย ซึ่งถ้าเชื้อจุลินทรีย์ใช้น้ำตาลจากอาหารสร้างเป็นกรดในปากของเราไปเรื่อยๆ เช่นนี้ ไม่ช้าไม่นานฟันทั้งหลายก็คงถูกย่อยสลายด้วยกรดจนหมดทั้งปากในที่สุด

แต่โชคดี ธรรมชาติสร้างร่างกายเรามาอย่างวิเศษสุด โดยให้ระบบต่อต้านและซ่อมแซมควบคู่มาด้วย ได้แก่ น้ำลาย โดยเมื่อมีกรดเกิดขึ้นในปาก หรือเมื่อมีกรดเกิดขึ้นในปาก หรือเมื่อมีการบดเคี้ยวอาหารในปาก ร่างกายจะกระตุ้นให้มีการขับและหลั่งน้ำลายเพิ่มมากขึ้น น้ำลายนี้นอกจากจะมีเจ้าหน้าที่ให้ความชุ่มชื่นในปากแล้ว ยังทำหน้าที่ชำระล้างและเจือจางกรดที่เกิดขึ้นจากเชื้อจุลินทรีย์ น้ำลายยังมีคุณสมบัติพิเศษในการปรับสภาวะกรด-ด่าง เพื่อลดความเป็นกรดที่เกิดขึ้น และที่สำคัญสารประกอบทางเคมีของน้ำลายยังสามารถช่วยเสริมสร้างแร่ธาตุบนฟัน โดยเฉพาะบริเวณที่มีการสูญเสียแร่ธาตุจากการทำลายด้วยกรดมาก่อน ให้กลับคงสภาพเดิม อันเป็นขบวนการธรรมชาติช่วยซ่อมแซมและหยุดยั้งโรคฟันผุที่เพิ่งเริ่มต้น มิให้ลุกลามต่อไป

ในรูป จะเห็นได้ว่า กรดที่เกิดขึ้นถ้ามากจนถึงสภาวะกรดด่างในปากเป็น pH 5.5 แร่ธาตุของฟันจะเริ่มถูกทำลาย ซึ่งถ้าเรากินอาหารเป็นครั้งคราว เช่น ในมื้ออาหารวันละ 2-3 ครั้ง น้ำลายก็สามารถปรับสภาพและซ่อมแซมได้โดยฟันไม่ทันผุ แต่ถ้าเรากินน้ำตาลบ่อยๆ วันละหลายๆครั้ง เช่น กินขนมจุบจิบ อมลูกอม ลูกกวาด เป็นประจำ การเกิดกรดในปากก็มากขึ้น โดยอาจรู้สึกถึงรสเปรี้ยวเล็กน้อยจากกรดในปาก ภายหลังที่อมลูกอมเป็นเวลานานๆ เปรียบเสมือนกับการแช่ฟันที่แข็งแกร่งในกรดตลอดเวลา การสูญเสียแร่ธาตุของฟันก็มากเกินกว่าอำนาจ การซ่อมสร้างจากน้ำลายฟันจึงผุได้ง่ายและเร็ว ซึ่งจะพบได้ในเด็กที่อมลูกอม ลูกกวาดบ่อยๆ หรือแม้แต่ในผู้ใหญ่ที่อมลูกอมหรือยาอมที่มีส่วนผสมของน้ำตาลเป็นประจำ ฟันจะผุได้รุนแรงและจำนวนมากซี่ด้วย

ผลเสียจากลูกอมต่อฟัน
ประเทศไทย นับได้ว่าเป็นประเทศที่มีผลผลิตน้ำตาลจากอ้อยมากที่สุดประเทศหนึ่ง มีผลให้การใช้น้ำตาลเป็นไปอย่างเสรี กิจการผลิตลูกอมลูกกวาดชนิดต่างๆ ทั้งในระดับชาวบ้านและระดับที่มีชื่อเสียงนานาชาติจึงเฟื่องฟูมาก ดังจะเห็นได้ชัดว่า การโฆษณาลูกอมในสื่อมวลชนต่างๆมีจำนวนมาก จนติดอันดับการโฆษณาที่เสียค่าใช้จ่ายสูงสุดประเภทหนึ่ง และแน่นอนว่าย่อมมีผลกระทบถึงผู้บริโภค โดยเฉพาะเด็ก เป็นที่ทราบกันดีว่าอิทธิพลจากโทรทัศน์มีสูงมากในปัจจุบัน สื่อทุกชนิดทั้งโทรทัศน์ วิทยุและหนังสือพิมพ์มีทั่วไปทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นชุมชนเมืองหรือชนบท ประกอบกับราคาของลูกอมเหล่านี้ไม่แพงมากนัก การซื้อขายหาได้ง่ายทั่วไปทุกหัวระแหง จึงได้ผลในการที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ทุกระดับ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่

การกินน้ำตาลบ่อยๆ นอกจากมีผลเสียในการเกิดโรคฟันผุแล้ว ในทางการแพทย์ยังพบว่า การที่ร่างกายได้รับน้ำตาลมากเกินไป โดยเฉพาะในระยะเวลาก่อนอาหารแต่ละมื้อจะมีผลให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นชั่วคราว และมีผลให้ร่างกายไม่อยากอาหารอันอาจเป็นเหตุให้กินอาหารได้น้อยลงกว่าปกติ ประกอบกับการมีฟันผุในปากซึ่งโดยมากไม่ได้รับการรักษา ปล่อยเป็นรูผุไว้ และจะเจ็บปวดมากเมื่อเศษอาหารไปอุดรูผุนั้น จึงพบว่าเด็กที่ฟันผุมากๆมักเป็นในเด็กผอมไม่แข็งแรง อันเนื่องจากการที่ร่างกายได้รับอาหารไม่ครบส่วน สาเหตุจากไม่อยากอาหารและไม่ยอมกินอาหารร่วมกันด้วย

แท้ที่จริงแล้ว การบริโภคน้ำตาลหรือของหวานไม่เป็นผลเสียโดยสิ้นเชิงทีเดียว และไม่มีข้อห้ามกินน้ำตาลแต่อย่างใดทั้งสิ้น แต่ขอให้กินน้ำตาลจำนวนพอเหมาะ ในระยะเวลาที่เหมาะสม และปฏิบัติตนภายหลังกินน้ำตาลให้ถูกต้องด้วย

ในทางตรงข้าม ลูกอมชนิดต่างๆในปัจจุบันมักนิยมอมในระหว่างมื้ออาหาร และอมวันละหลายๆครั้งอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเปรียบได้กับการแช่ฟันในกรดตลอดทั้งวัน

                                     

นอกจากนี้ลูกอมแต่ละชนิดยังพัฒนากรรมวิธีในการผลิตให้สามารถอมไว้ในปากได้นานๆ และที่ร้ายยิ่งขึ้น ซอกฟันซึ่งชะล้างออกได้ยาก จึงเท่ากับเป็นการเพิ่มเวลาและปริมาณน้ำตาลให้เชื้อจุลินทรีย์ใช้สร้างกรดได้ ก็คือการทำให้ลูกอมมีลักษณะเหนียวหนับ เมื่อเวลาเคี้ยวทำให้ติดฟันมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในบริเวณร่องและนานและมากขึ้น โอกาสในการทำลายฟันผุรุนแรงจึงมากยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณ

การป้องกันโรคฟันผุ
เมื่อได้ทราบถึงปัจจัยของการเกิดโรคฟันผุ 4 ประการแล้ว การป้องกันโรคฟันผุให้ได้ผลก็โดยอาศัยการเปลี่ยนแปลง หรือลดปัจจัยหนึ่งปัจจัยใด เช่น

ปัจจัยเกี่ยวกับฟัน
โดยการใช้ฟลูออไรด์ไปเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับแร่ธาตุของฟัน ให้ละลายตัวหรือถูกทำลายด้วยกรดได้ช้าลง การใช้สารเคลือบร่องฟันเพื่อปรับสภาพของฟันไม่ให้เป็นที่กักและสะสมน้ำตาลและเชื้อจุลินทรีย์ในการเกิดโรคฟันผุ

ปัจจัยเกี่ยวกับเชื้อโรคหรือเชื้อจุลินทรีย์
โดยการลดหรือทำลายคราบจุลินทรีย์บนตัวฟันด้วยวิธีทางกายภาพ เช่น แปรงฟัน บ้วนน้ำ และด้วยสารเคมีที่มีคุณสมบัติในการต่อต้านคราบจุลินทรีย์ ที่อาจอยู่ในรูปของยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก ฯลฯ ซึ่งเท่ากับการรบกวนการยึดเกาะของเชื้อจุลินทรีย์บนฟัน เป็นการลดโอกาสการทำลายฟันด้วย อย่างไรก็ดี เนื่องจากในช่องปากมีเชื้อโรคอยู่หลายชนิด การกำจัดหรือลดเชื้อโรคโดยเฉพาะชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไป อาจมีผลเสียต่อสภาวะแวดล้อมภายในปาก ทำให้เกิดโรคติดเชื้ออื่นหรือเชื้อราได้

ในปัจจุบันนี้ นักวิทยาศาสตร์พยายามคิดค้นวัคซีนต่อต้านโรคฟันผุโดยอาศัยหลักการการจำกัดเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคฟันผุ ด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันจากร่างกายแต่ยังไม่เป็นผลสำเร็จในคน แม้จะได้ผลดีกับการทดลองในลิงแล้วก็ตาม

ปัจจัยเกี่ยวกับน้ำตาล
โดยการลดปริมาณการบริโภค และที่สำคัญคือ ความถี่บ่อยของการอมลูกอมหรือกินของหวานในระหว่างมื้ออาหารแต่ละวัน ซึ่งนอกจากจะลดการสร้างกรดโดยเชื้อจุลินทรีย์แล้ว ยังลดอาหารสำหรับเชื้อมิให้เจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ เป็นการลดจำนวนเชื้อไปในตัว และในที่สุดก็จะเป็นวงจรย้อนกลับ โดยการลดปริมาณกรดในปาก ซึ่งจะมีผลให้ช่องปากอยู่ในสภาวะสมดุลกับการซ่อมสร้างโดยน้ำลาย เป็นการลดการเกิดโรคฟันผุที่ได้ผลดีมากวิธีหนึ่ง

มีการวิจัยเกี่ยวกับการใช้น้ำตาลเทียม หรือสารที่ให้ความหวานโดยมีสูตรเคมีที่ไม่ใช่น้ำตาล และเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคฟันผุ พบว่า น้ำตาลเทียมไม่สามารถใช้ในการเจริญเติบโตและสร้างเป็นกรดได้ ซึ่งได้ผลดีในการลดโรคฟันผุ แต่ยังมีราคาสูงและมีคุณสมบัติทางอาหารไม่เหมือนน้ำตาลจึงยังไม่เป็นที่แพร่หลาย

ปัจจัยเกี่ยวกับเวลา
โดยการกำจัดหรือลดเวลาในการทำปฏิกิริยาระหว่างเชื้อจุลินทรีย์กับน้ำตาลในการสร้างกรด และจำกัดเวลาในการทำลายฟันโดยกรดนั้นๆ เช่น ของหวานหรือน้ำตาลที่อยู่ในรูปของเหลว หรือละลายง่ายจะผ่านปากไปได้เร็ว โอกาสที่จะเกิดกรดทำลายฟันก็น้อยกว่าลูกอมที่ใช้เวลาอมในปากเป็นเวลานานๆ หรือลูกอมที่เหนียวหนับ อร่อยจับใจ ซึ่งจะตกค้างตามร่องและซอกฟันให้โอกาสในการทำปฏิกิริยาของเชื้อจุลินทรีย์ได้นานขึ้น การทำลายฟันก็มากขึ้นด้วย ตลอดจนความถี่บ่อยในการกินน้ำตาลก็เป็นส่วนสำคัญมาก ถ้าอมลูกอมบ่อยๆ ก็เท่ากับเพิ่มเวลาในการสร้างกรดและทำลายฟัน โดยที่ไม่ให้โอกาสน้ำลายช่วยชะล้าง ต่อต้าน ซ่อมแซม และแก้ไขรอยฟันผุที่เพิ่งเริ่มต้น ในที่สุดก็จะลุกลามจนเป็นรูผุบนฟัน

ที่เห็นได้ชัด ในรายเด็กเล็กอายุ 2-3 ขวบที่ดูดนมขวด โดยเฉพาะนมที่มีรสหวานจากน้ำตาลและดูดนมนี้ในเวลาก่อนนอน แล้วหลับคาขวดนม จะพบว่าไม่ช้าไม่นานฟันจะผุเต็มทั้งปากเกือบจะทุกซี่ และเป็นอย่างรุนแรงมาก มีการทำลายเคลือบฟันและเนื้อฟันมากมาย โดยเฉพาะในฟันหน้าบนและฟันกรามน้ำนม ในที่สุดมีอาการปวด บวม รุนแรงมาก ซึ่งเป็นผลจากการที่น้ำตาลจากนมเกาะบนฟันตลอดเวลา เกือบทั้งวันทั้งคืน เพิ่มโอกาสเกิดกรดและทำลายฟันอย่างมากมาย

ดังนั้น ในเด็กที่โตพอจะดื่มน้ำจากแก้วได้แล้ว ควรให้ดื่มนมจากแก้วหรือดูดจากหลอดดูด รวมทั้งไม่มีความจำเป็นให้ดื่มนมหวาน เพราะนมจืดจะได้คุณค่านมที่ครบถ้วนกว่า หรือถ้าให้ดูดนมขวด ควรฝึกให้ดูดน้ำเปล่าตามภายหลังดูดนมทุกครั้ง โดยเฉพาะเวลาก่อนนอน เป็นการชะล้างคราบนมและน้ำตาลที่ตกค้างไว้ ให้โอกาสการเกิดกรดและทำลายฟันน้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้

แนวปฏิบัติในการป้องกันโรคฟันผุ
1. แปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์เป็นประจำสม่ำเสมอ ซึ่งได้ผลดีทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ตลอดจนใช้ฟลูออไรด์ในรูปแบบอื่นที่เหมาะสมกับอายุและสภาพฟันในปาก เช่น น้ำยาอมบ้วนปาก ยาเม็ดฟลูออไรด์ ฯลฯ

2. ลดอาหารหวาน หรือกินน้ำตาลให้ถูกวิธี โดยการกินน้ำตาลในมื้ออาหาร ลดความถี่ในการอมลูกอม ไม่กินหรือเคี้ยวลูกอมที่เหนียวหนับในระหว่างมื้ออาหาร ภายหลังกินอาหารหวานจัด หรือที่มีส่วนผสมของน้ำตาล ให้บ้วนปากแรงๆ ทำความสะอาดฟัน หรือดื่มน้ำตามทันที พยายามอย่าให้มีเศษอาหารหรือลูกอมน้ำตาลติดตามร่องและซอกฟัน

3. ตรวจความผิดปกติบนตัวฟันเป็นประจำ ถ้าเป็นไปได้ควรตรวจช่องปากปีละครั้งเช่นเดียวกับการตรวจร่างกายประจำปี ถ้าฟันเป็นรูหรือบิ่นแตก หรือมีจุดดำ ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นของโรคฟันผุ ควรได้รับการบำบัดรักษาแต่เนิ่นๆ ก่อนที่จะลุกลามจนมีอาการปวดเสียว ซึ่งทำให้การรักษายุ่งยากขึ้นและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากขึ้นด้วย

4. ในเด็กที่ฟันกรามเพิ่งขึ้นโดยเฉพาะในฟันถาวร ควรได้รับการเคลือบร่องฟันป้องกันฟันผุ ซึ่งพบว่า บริเวณรูและร่องฟันเป็นจุดที่ฟันผุได้ง่ายกว่า เพราะเป็นที่กักสะสมเศษอาหารและเชื้อจุลินทรีย์ โอกาสการเกิดฟันผุจึงง่ายกว่าบริเวณอื่น จึงควรได้รับการป้องกันเป็นพิเศษ

ถึงแม้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ที่โรคฟันผุเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ แต่ถ้าเรารู้ทันถึงปัจจัยของการเกิดโรคฟันผุ และปฏิบัติตนในการป้องกันโรคฟันผุ โดยเฉพาะไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของการโฆษณาลูกอมทั้งหลาย และถ้าเป็นไปได้ควรช่วยส่งเสริมไม่ให้มีการจำหน่ายลูกอมในโรงเรียนอนุบาลและประถมศึกษา เนื่องจากในเด็กเล็กยังไม่สามารถตัดสินใจด้วยตนเองในเรื่องลูกอมได้อย่างถูกต้อง ประกอบกับการใช้ฟลูออไรด์ในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับฟันอย่างสม่ำเสมอ

ข้อแนะนำ
โดยปกติแล้ว ทอฟฟี่ ลูกอม ลูกกวาด ช็อกโกแลต และขนมประเภทขบเคี้ยวเล่น เช่น มันฝรั่งทอดกรอบ เป็นต้น ไม่ใช่สิ่งจำเป็นต่อร่างกายและการดำรงชีวิตของมนุษย์ ถึงแม้ว่าในของเหล่านี้จะมีแป้งและน้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งให้พลังงานบ้างเล็กน้อยต่อผู้บริโภค แต่ความจริงนั้นกลับมีโทษมากกว่า เพราะลูกอม ลูกกวาด ทอฟฟี่แต่ละชนิดมีการแต่งสี แต่งกลิ่นด้วยสารปรุงแต่ง เพื่อให้หอมหวานชวนรับประทาน ทำให้เด็กๆโปรดปรานมาก ถ้าหากเด็กๆอมเป็นประจำจะทำให้ไม่อยากกินอาหาร กินข้าว อาจเป็นโรคขาดอาหารได้ อีกทั้งสีที่ผสมอยู่นั้นถ้าอมบ่อยๆจำนวนมาก ก็อาจจะเกิดการระคายเคืองต่อระบบขับถ่าย เช่น ไต จึงไม่ควรให้เด็กกิน

สิ่งสำคัญที่ต้องพึงระวังประการหนึ่งก็คือเวลาที่เด็กๆอมลูกอมอาจจะหลุดติดเข้าไปในหลอดลมเป็นอันตรายได้ เนื่องจากมีลักษณะเป็นเม็ดกลมๆ วงรี เพราะฉะนั้น ผู้ปกครองควรจะเอาใจใส่ดูแลใกล้ชิดด้วย

ในไม่ช้า ลูกหลานของเราและตัวเราเองคงจะมีสุขภาพฟันดี ลดอัตราโรคฟันผุลงได้เช่นเดียวกับประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย

                       100อันดับ โฆษณาสูงสุดยอดรวม 9 เดือน มกราคม - กันยายน 2528
                                ทางโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และโรงภาพยนตร์
                                                                                                                                            หน่วย-ล้านบาท

อันดับผลิตภัณฑ์และบริการล้านบาท%
7
19
23
31
56
84
น้ำส้มกรีนสปอต
เครื่องดื่มน้ำอัดลมโค้ก
ลูกอมฮอลล์
เครื่องดื่มน้ำอัดลมเป๊ปซี่
มันฝรั่งโปเต้
ลูกอมคลาสสิก
20.26
16.19
14.07
12.04
8.52
6.61
1.82
1.45
1.26
1.08
0.76
0.59
หมายเหตุ : ข้อมูลจากนิตยสารคู่แข่ง ฉบับพิเศษฉลองครบรอบ 5 ปี

ทรรศนะ
ผศ.ทันตแพทย์หญิงนิสา เจียรพงษ์
คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

“ในเมืองที่ยิ่งเจริญและพัฒนามากเท่าไรพบว่า ฟันผุจะยิ่งเพิ่มขึ้น เพราะเป็นผลจากอาหารที่กินเข้าไป ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่ง พวกอาหารแป้งและน้ำตาลหรืออาหารที่ทำเป็นแบบสำเร็จรูป ปรากฏว่า คนไทยมีสถิติการบริโภคน้ำตาลสูงมาก ถ้าเป็นเด็กนั้นจะเริ่มฟันผุตั้งแต่ฟันน้ำนมเลย

จากสถิติการสำรวจทันตสุขภาพแห่งชาติในปี 2527 ประมาณครึ่งหนึ่งของเด็กอายุ 12 ปี ทั่วประเทศเป็นโรคฟันผุ โดยในกรุงเทพมหานครมีอัตราร้อยละ 80 ในขณะที่ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคอีสานพบในอัตราร้อยละ 62, 50, 24 และ 58 ตามลำดับ

จะเห็นว่าประเทศไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ อยู่ในสภาวะเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย คือ มีอัตราโรคฟันผุสูงขึ้น ในระหว่างที่ประเทศมีการพัฒนามากขึ้น กรุงเทพฯจากการสำรวจปี พ.ศ.2503, 2520 และ 2525 แสดงให้เห็นว่าอัตราการเกิดโรคฟันผุในเด็กอายุ 12 ปี มีการเพิ่มขึ้นรวดเร็วมาก โดยพบว่าอัตราการเกิดฟันผุ อุด ถอน ในช่วงปี 2503-2520 เพิ่ม 0.09 ซี่ต่อคนต่อปี และช่วงปี 2520-2525 เพิ่ม 0.38 ซี่ ต่อคนต่อปี สาเหตุหนึ่งเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการบริโภคน้ำตาลมากขึ้น คือจากปี 2503 - 2525 เพิ่มจาก 2.7 กิโลกรัมต่อคนต่อปี เป็น 13.2 กิโลกรัมต่อคนต่อปี

จากสถิติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าแนวโน้มของการเกิดโรคฟันผุเพิ่มขึ้นรวดเร็วมาก ร้อยละ 90 ของประชาชนยังมีอนามัยในช่องปากอยู่ในเกณฑ์ไม่ดี การบริการทันตกรรมยังไม่สามารถควบคุมการเกิดโรคฟันได้ จำนวนบุคลากรโดยเฉพาะทันตแพทย์ที่มีอยู่ขณะนี้ประมาณ 2,299 คน ไม่เพียงพอต่อการบริการ ซึ่งนับวันจะทวีมากขึ้น

ดังนั้น การป้องกันโรคฟันผุจึงเป็นนโยบายหลัก กลวิธีต่างๆได้ระดมมาใช้ อาทิเช่น โครงการทันตศึกษาสำหรับประชาชนทั่วไป โครงการแปรงฟันในโรงเรียนประถมศึกษา โครงการอมน้ำยาบ้วนปากฟลูออไรด์ทุก 2 สัปดาห์ โดยทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนร่วมกัน สำหรับการป้องกันโรคฟันผุในระดับบุคคล ทำได้ด้วยการพยายามรักษาอนามัยในช่องปากให้สะอาด เช่น การแปรงฟันให้ถูกวิธี การใช้สายใยขัดฟันเพื่อกำจัดแผ่นคราบจุลินทรีย์บนตัวฟัน ตลอดจนการใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์และการกินยาเม็ดฟลูออไรด์ในเด็กแรกเกิด จนกระทั่ง 12 ปี เพื่อให้ผิวเคลือบฟันแข็งแรง

ที่สำคัญคือ จะต้องหลีกเลี่ยงการกินอาหารจุบจิบ โดยเฉพาะอาหารประเภทน้ำตาล แป้ง พวกลูกอม หรือทอฟฟี่ สร้างพฤติกรรมการกินให้ถูกต้อง”

รศ.ทันตแพทย์วัฒนะ มธุราสัย
รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะทันตแพทยศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


“ปัจจัยที่จะทำให้เกิดฟันผุมี 3 องค์ประกอบใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ ส่วนของตัวฟัน ลักษณะของอาหาร และแบคทีเรียที่มีอยู่ในช่องปาก แต่ละส่วนประกอบมีความสัมพันธ์กันในการจะทำให้เกิดโรคฟันผุ

ในเด็กนั้นฟันจะเริ่มขึ้นตั้งแต่อายุประมาณ 6 เดือน และจะขึ้นครบเมื่ออายุประมาณ 2-2 ขวบครึ่ง ลักษณะของฟันน้ำนมในช่วงนี้มีเคลือบฟันค่อนข้างบาง โพรงประสาทใหญ่และฟันมีร่องลึก เศษอาหารจะติดง่าย นอกจากนี้ลักษณะการเรียงตัวของฟันก็มีความสำคัญ ถ้าฟันแต่ละซี่เรียงตัวถูกต้องเป็นระเบียบ การทำความสะอาดก็จะทำได้ง่ายกว่า ในทางตรงกันข้ามถ้ามีฟันซ้อนเกจะทำให้ทำความสะอาดฟันไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะในช่วงฟันแท้จะมีฟันซ้อนเกค่อนข้างมาก จากการทำวิจัยมาพบว่า เด็กในบ้านเรามีฟันซ้อนเกในระยะฟันแท้สูงถึง 37.6% ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่ง

อาหารการกินของเด็กเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่จะทำให้เกิดฟันผุได้มากน้อยต่างกัน อาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล ถ้าอยู่ในลักษณะนิ่มหรือเหนียว ก็จะทำให้ติดตามฟันได้ง่าย แป้งและน้ำตาลถูกเปลี่ยนเป็นกรดจากแบคทีเรียที่อยู่ในช่องปากกรดนี้จะไปละลายเคลือบฟันทำให้ฟันผุได้ พวกของหวาน ขนม ทอฟฟี่ หรือลูกอมต่างๆ ถ้าเด็กกินของเหล่านี้จุบจิบ โอกาสที่เด็กจะทำความสะอาดบ่อยๆคือแปรงฟันทุกครั้งที่กินก็คงเป็นไปไม่ได้

จากปัจจัยทั้ง 3 ที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคฟันผุนั้น สามารถป้องกันรักษาได้คือ ในเรื่องเกี่ยวกับตัวฟันควรจะให้เด็กรับการตรวจฟันตั้งแต่ระยะแรกที่ฟันน้ำนมขึ้น อายุประมาณ 6 เดือนก็พามาตรวจได้แล้ว ถ้าจะช้าไปกว่านั้นก็ไม่ควรจะเกินระยะที่ฟันน้ำนมขึ้นครบแล้ว คือ ประมาณ 2-2 ขวบครึ่ง ทันตแพทย์จะพิจารณาดูว่าลักษณะของฟันแต่ละซี่ตลอดจนการเรียงตัวของฟันมีอัตราเสี่ยงในการเกิดฟันผุได้ง่ายหรือเปล่า เช่น ถ้าฟันมีร่องลึก ก็มีวิธีป้องกันโดยการอุดร่องฟัน (Fissure Sealant) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการอุดฟัน แตกต่างกันที่การอุดร่องฟันกระทำได้ง่ายกว่า เนื่องจากไม่จำเป็นต้องกรอฟัน ร่องฟันที่อุดไปแล้วจะตื้น เด็กแปรงฟันได้ง่ายขึ้น และเศษอาหารจะติดตามร่องฟันน้อยลง

นอกจากนี้สามารถเพิ่มความแข็งแรงให้กับเคลือบฟันโดยการให้ฟลูออไรด์ซึ่งควรจะให้ตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งฟันแท้ขึ้นครบ คือ อยู่ในช่วงอายุ 12-13 ปี การให้ฟลูออไรด์นั้น กระทำได้โดยการกินและการให้เฉพาะที่ เช่น การใช้ฟลูออไรด์ทาบนตัวฟัน และการใส่ฟลูออไรด์ลงในยาสีฟันหรือน้ำยาบ้วนปาก ซึ่งถ้าจะให้ได้ผลจะต้องแปรงฟันนานๆ อย่างน้อย 3-5 นาที

สำหรับเด็กเล็กๆ ที่ดื่มนมขวดอยู่ คุณแม่ต้องช่วยทำความสะอาดฟันให้ อาจจะโดยใช้สำลีชุบน้ำอุ่นเช็ดฟัน และควรให้เด็กกินพวกผัก ผลไม้บ่อยๆ เพราะมีกากที่จะช่วยทำความสะอาดฟันในขณะที่บดเคี้ยว

ฟันผุที่พบบ่อยที่สุดถ้าในระยะฟันน้ำนมจะพบที่บริเวณฟันกรามกับบริเวณฟันหน้า ฟันกรามที่ผุนั้นเนื่องมาจากการแปรงฟันและลักษณะของฟันที่เอื้อให้เกิดฟันผุได้ง่าย เพราะว่ามีร่องลึก ส่วนฟันหน้าที่บางครั้งเห็นเด็กบางคนหลอไปทั้งแถบ อันนี้เกิดจากการเลี้ยงดูไม่ถูกต้อง คือการใช้นมขวด ลักษณะฟันผุแบบนี้เรียกว่าบอตเทิล (Bottle Feeding Caries) ในระยะฟันแท้ จากการสำรวจพบว่าตำแหน่งฟันที่ผุมากเป็นอันดับหนึ่งคือ ฟันกรามแท้ซี่ที่ 1 ล่าง รองลงมาได้แก่ฟันกรามแท้ซี่ที่ 1 บน และฟันหน้าตามลำดับ ทั้งนี้เพราะฟันกรามซี่ที่ 1 เป็นฟันแท้ซี่แรกที่ขึ้นมาในช่องปากตั้งแต่อายุ 6 ขวบ การดูแลทำความสะอาดของเด็กไม่ดีเท่าที่ควร และผู้ปกครองมักเข้าใจว่าเป็นฟันน้ำนม จึงไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร ส่วนฟันหน้ามักมีจุดสัมผัสค่อนข้างจะแน่น ถ้าดูแลไม่ดีจะผุลามและติดกันไปทุกซี่

ผลเสียจากฟันผุมีมาก จะทำให้การบดเคี้ยวไม่ดีและส่งผลถึงระบบการย่อยอาหาร เสียทั้งบุคลิกภาพและสุขภาพจิต ที่สำคัญก็คือ ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจด้วย... สมัยโบราณไม่มีหมอฟัน แต่ฟันของเขาก็ไม่ได้ผุมากเหมือนกับคนรุ่นใหม่ เพราะฉะนั้น อาหารเป็นปัจจัยสำคัญทีเดียว เราจะต้องสร้างพฤติกรรมการกินให้ถูกต้อง”

ทันตแพทย์หญิงทนุ รัตนวราห
ผู้อำนวยการกองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

“ปัจจัยที่ทำให้ฟันผุมาจากอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลเป็นสำคัญ เช่น พวกลูกอม ทอฟฟี่ น้ำอัดลม และขนมหวานต่างๆ พอไปกินจุบกินจิบระหว่างมื้ออาหารแล้วไม่ได้แปรงฟัน ทำให้หมักหมมและเกิดฟันผุได้

แนวโน้มฟันผุจะมากขึ้น ในชนบทเวลานี้มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านระบบเศรษฐกิจ ด้านความเป็นอยู่มีความเจริญทางเทคโนโลยีต่างๆเข้าไปมากขึ้น วิถีชีวิตจึงปรับคล้ายชาวเมืองมากขึ้น ปัญหาฟันผุก็เพิ่มตามไปด้วย เวลานี้เป้าหมายที่เราจะลดอัตราฟันผุก็เพียงชะลอให้อยู่ในระดับเดิม ก็นับว่าดีที่สุดแล้ว ในกลุ่มเด็กอายุ 12 ปีมีอัตราฟันผุ 1.5 ซี่ต่อคน ซึ่งเราพยายามรักษาระดับนี้ให้อยู่ตลอดไปจนถึงปี 2543 ถือว่าบรรลุเป้าแล้ว เพราะแนวโน้มมีแต่จะมากขึ้นกว่านี้

เราได้ผลิตทันตาภิบาลขึ้นมา โดยรับผู้ที่จบมัธยมปลายแล้วให้มาเรียนต่ออีก 2 ปี แล้วส่งไปตามโรงเรียนต่างๆ ให้พยายามดูแลเด็กนักเรียนตั้งแต่เด็กป.1 จนจบชั้นประถม ในเรื่องดูแลทำความสะอาดฟัน แต่วิธีนี้ไม่ครอบคลุม นักเรียนมีถึง 6 ล้านคน เราคิดว่าจะเลิก หันมาเน้นการเผยแพร่ความรู้ทางทันตสาธารณสุขมากขึ้น แล้วก็วิธีให้อมฟลูออไรด์เพื่อป้องกันฟันผุ โดยทางกองส่งไปให้กับโรงเรียน มีการประสานงานกับทันตสาธารณสุขจังหวัดและสำนักงานประถมศึกษาแห่งชาติเข้ามาร่วมมือ

ขณะนี้เราอยู่ในระหว่างการคิดทำรูปแบบใหม่ โดยจะทำฟลูออไรด์ในรูปยาเม็ด ให้เด็กเคี้ยวแล้วอมไว้ให้มันซึมสักพักค่อยกลืน พอกลืนลงไปฟลูออไรด์ก็จะเข้าไปอยู่ในกระแสเลือด เรามีแผนรณรงค์โดยทำเป็นนโยบายมอบให้แต่ละจังหวัดไปดำเนินการ ในปี 2532 เรามีแผนการจะรณรงค์ครั้งใหญ่ทั่วประเทศ

พูดถึงการโฆษณาทางโทรทัศน์ พวกลูกอม ลูกกวาด ทอฟฟี่ และขนมหวาน เคี้ยวมัน เคี้ยวกรอบอะไรพวกนี้มีอิทธิพลอย่างสำคัญที่ทำให้เด็กอยากกิน การที่จะต่อต้านการโฆษณาเราก็ทำไม่ได้ เราก็พยายามโหมทันตสุขศึกษาเผยแพร่ออกไปให้มากขึ้น ให้ประชาชนรู้ว่ากินขนมหวาน กินแป้ง กินจุบกินจิบมันทำให้เกิดฟันผุ แต่งบประมาณที่เราได้มานั้นปีหนึ่งไม่กี่ล้านต่อปี ในขณะที่งบการโฆษณาของผู้ผลิตลูกอม ลูกกวาด ทอฟฟี่ เขามีมากกว่าตั้งไม่รู้กี่สิบเท่า

ถึงจะพยายามหามาตรการอะไรมาแก้โรคฟันผุก็ไม่สามารถได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าหากประชาชนไม่ร่วมมือกันสร้างพฤติกรรมการกินเสียใหม่ ต้องลดการกินอาหารที่ไม่ถูกต้อง และการกินจุบกินจิบไม่เป็นเวลา โดยเฉพาะพวกผู้ใหญ่ควรจะสอนระเบียบวินัยและพฤติกรรมการกินที่ถูกต้องให้กับเด็กๆ ซึ่งจะช่วยได้อย่างมากในการแก้ปัญหาโรคฟันผุ...”

พันเอกทันตแพทย์ชนาธิป อมาตยกุล
นายกทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย
ในพระบรมราชูปถัมภ์


“ปัญหาเรื่องฟันของเด็กเดี๋ยวนี้พบมากที่สุด โดยเฉพาะฟันผุเป็นปัญหาใหญ่ทีเดียว ในประเทศที่เจริญแล้วปัญหาพวกนี้ลดลงมาก เพราะมีการรณรงค์ป้องกันโดยเพิ่มความต้านทานของผิวเคลือบฟัน เช่น ในสหรัฐอเมริกาใช้วิธีใส่ฟลูออไรด์ลงไปในน้ำดื่มในน้ำประปา ซึ่งได้ผลดีมาก

พฤติกรรมการกินของเด็กเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดฟันผุ คือ กินจุบกินจิบ การโฆษณาผลิตภัณฑ์พวกทอฟฟี่ ลูกอม ขนมหวาน และของขบเคี้ยวเล่น ทางโทรทัศน์มีอิทธิพลกับเด็กมาก อาหารพวกนี้เป็นแป้งและน้ำตาลเอื้ออย่างยิ่งต่อการเกิดฟันผุ เพราะเด็กกินหรืออมเอาไว้นานๆ เราจะต้องฝึกระเบียบวินัยในการกินให้กับเด็ก ต้องกินอาหารเสร็จแล้วจึงจะกินของหวานได้และต้องแปรงฟันตามหลัง ถ้าอยู่โรงเรียนคุณครูก็ต้องช่วย จัดแบ่งเวลาให้เด็กเขาแปรงฟันพร้อมกันทั้งหมด

พฤติกรรมการกินของคนในชนบท เด็กจะฟันผุน้อยกว่าในเมือง อันนี้เป็นหลักการเหมือนๆกันของทุกประเทศทั่วโลก เพราะในเมืองสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลมาก เช่น สินค้าหรือผลิตภัณฑ์มีมาล่อใจมาก อิทธิพลของการโฆษณา โดยเฉพาะโทรทัศน์ และอำนาจการซื้อของคนในเมืองก็มีมากกว่าคนชนบท

การที่มีโฆษณาทางโทรทัศน์ของลูกอมหรือผลิตภัณฑ์ทอฟฟี่ และขนมหวาน ต่างๆอย่างหนาตา ในฐานะที่เป็นนายกทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ผมไม่เห็นด้วยที่ปล่อยให้มีการโฆษณาอย่างนั้นมากเกินไป แต่เราจะไปห้ามไม่ได้ ต้องเข้าใจในเรื่องระบบธุรกิจการค้าด้วย... แต่ผมว่า เราควรจะมีรายการเกี่ยวกับสุขภาพไปขัดให้มากขึ้น เพราะว่ารายการเกี่ยวกับวิชาการ หรือสุขภาพของบ้านเรามีน้อยเกินไป เป็นรายการตามใจตลาดหรือตามใจคนดูเสียมากกว่า เราควรจะทำรายการที่ให้ความรู้และเป็นประโยชน์กับประชาชนด้วย คือให้ประชาชนได้รู้ แต่การเลือกปฏิบัติหรือไม่นั้นก็เป็นสิทธิของประชาชน

ฟันเสียนี้มีผลกับสุขภาพหลายอย่าง ไม่แพ้การสูบบุหรี่ อย่างน้อยที่สุดก็มีอาการปวดฟัน เหงือกบวม เกี่ยวโยงถึงระบบการย่อยอาหารและสุขภาพกายสุขภาพจิตก็แย่ การรักษาฟันนั้นก็สิ้นเปลืองไม่น้อย วัสดุในการรักษาฟันเกือบทุกชนิดต้องสั่งซื้อมาจากต่างประเทศ แต่มาใช้แรงงานไทยประกอบขึ้นมา

วิธีหนึ่งที่จะทำให้เด็กฟันผุน้อยลงนั้น ต้องสอนผู้ใหญ่ ผมว่าผู้ใหญ่เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหานี้ถ้าผู้ใหญ่เห็นความสำคัญของฟันและเอาใจใส่ในเรื่องนี้อย่างจริงจังก็จะทำให้ปัญหานี้เบาบางลดลงไปมาก เช่น ไม่เลี้ยงลูกอย่างตามใจ สร้างระเบียบวินัยในการกินให้กับเด็ก และผู้ใหญ่เองก็จะต้องทำตัวเป็นแบบอย่างให้เขาด้วย...แต่ผู้ใหญ่ของเราก็ยังไปไม่ถึงไหนเลย เพราะฉะนั้น ผู้ใหญ่จะต้องสร้างจิตสำนึกในเรื่องนี้และสื่อมวลชนก็จะต้องช่วยกันด้วย

ปัญหาเรื่องฟันของเด็กนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขก็พยายามรณรงค์อยู่อย่างเต็มที่ สำหรับทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ที่ผ่านมาเราก็ให้ความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข เราจัดอบรมครูที่สอนทันตสุขศึกษา ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราผ่านการอบรมครูมาเป็นจำนวนพันๆคนแล้ว นอกจากนี้เราก็ร่วมมือกับทางกรุงเทพมหานคร เช่น การรณรงค์สัปดาห์ป้องกันโรคฟันผุ การร่วมโครงการทันตสาธารณสุขกับหน่วยพอ.สว.ของสมเด็จย่า (หน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระบรมราชชนนี) โดยทำในรูปแบบต่างๆ ทำใบปลิว โปสเตอร์ ออกรายการวิทยุ โทรทัศน์ และสื่อมวลชนอื่นๆ เป้าหมายก็เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ดีขึ้นและช่วยเหลือตัวเองได้ ”

ทันตแพทย์อุดม ทุมโฆสิต
ประธานชมรมทันตสาธารณสุขภูธร

“ปัญหาทันตสุขภาพของประเทศเรามี 2 โรคใหญ่ๆ คือ โรคฟันผุและโรคเหงือก สำหรับเด็กๆนั้นฟันผุย่อมมาเป็นอันดับหนึ่งแน่นอน ของขบเคี้ยวที่มีดาษดื่นในตลาดขณะนี้เป็นปัจจัยที่มีพลังสูงมาก เชิญชวนให้ประชาชนชอบกินจุบกินจิบโดยเฉพาะเด็กๆในระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา โรคฟันผุเพิ่มขึ้นประมาณ 4.5 เท่า มีข้อมูลว่าปัจจุบันเด็กอายุ 5-6 ขวบ ในกรุงเทพมหานครฟันผุถึงร้อยละ 94 เป็นอัตราที่สูงมาก ยังไม่พบว่ามีประเทศใดมีอัตราเพิ่มของโรคฟันผุเท่ากับประเทศไทย ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า ในอนาคตรัฐจะแก้ปัญหานี้อย่างไร

สำหรับในต่างจังหวัดนั้นก็เพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน เพราะลูกอม ลูกกวาดเข้าไปถึง ราคาไม่แพงนักและซื้อหาได้ง่าย ในภาคใต้พบว่าเด็กอายุ 5-6 ขวบ มีอัตราโรคฟันผุร้อยละ 94 (เท่ากับกรุงเทพมหานคร)

แต่ในภาคอื่นมีอัตราลดหลั่นลงมาคือ ในภาคกลาง (ไม่รวมกรุงเทพมหานคร) ร้อยละ 89 ในภาคเหนือร้อยละ 75 และภาคอีสานร้อยละ 57

คนในต่างจังหวัดเจอปัญหายิ่งใหญ่ คือ อัตราป่วยสูงแต่ขาดหมอ ทันตแพทย์ร้อยละ 61.3 อยู่ในกรุงเทพฯ ร้อยละ 32.2 อยู่ในระดับจังหวัด และเพียงร้อยละ 0.8 เท่านั้นที่อยู่ในระดับอำเภอ ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่สมดุลอย่างยิ่ง เป็นความไม่เป็นธรรมที่คนชนบทมีจำนวนมาก แต่จำนวนบุคลากรที่ให้บริการทันตกรรมมีน้อยนิด

มีอย่างหนึ่งที่ผมรู้สึกอนาถในฐานะที่เกิดมาเป็นหมอฟันในประเทศนี้ คือเด็กๆของเราต้องตกเป็นเหยื่อของการโฆษณา มอมเมาจากของมีโทษ การผลิตจำหน่ายและการโฆษณามีมาก แต่ผู้ปกครองไม่เข้าใจ ครูไม่เข้าใจ บางครั้งก็มักง่ายเอาลูกอมลูกกวาดเป็นของล่อใจเด็กให้ทำในสิ่งที่ตัวเองพอใจ
ในโรงเรียนเกือบร้อยละร้อยทอฟฟี่ ลูกอม ลูกกวาดขายดีมาก บางแห่งครูเป็นผู้ขายเสียเอง...

ทางแก้ปัญหาที่ได้ผลก็คือ การหาทางลดการกินอาหารประเภทนี้ ที่สำคัญทั้งประชาชนและรัฐต้องให้ความสำคัญด้วย เพราะปริมาณการผลิตและการบริโภคทำในระดับรัฐแล้ว เฉพาะทันตแพทย์ ทันตาภิบาล คงแก้ปัญหาไม่ได้แน่นอน

พวกเราชาวชมรมทันตสาธารณสุขภูธรและเพื่อนๆหลายคนได้พยายามต่อสู้ในเรื่องนี้ พยายามผลักดันรัฐให้เห็นความสำคัญ ความทุกข์ทรมานที่เด็กร้อยละ 90 ของประเทศพบปัญหาโรคฟันและในช่องปาก แต่เป็นที่น่าเสียใจ เราไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ปัญหาเช่นนี้ยังคงไม่ใช่ปัญหาสำคัญที่จะได้รับความใส่ใจในระดับรัฐอย่างเช่นในต่างประเทศ

ถ้าเรารณรงค์ให้ประชาชนดูแลตัวเองได้ ปัญหานี้แก้ได้แน่ครับ”

นายแพทย์โชติช่วง ชุตินธร
ประธานชมรมผู้บริโภคแห่งสยาม

“ปัญหาเรื่องฟันผุนี้ ผมคิดว่าพฤติกรรมการกินเป็นเรื่องสำคัญที่สุด และพ่อแม่จะเป็นตัวอย่างให้แก่ลูกได้ดีที่สุด ถ้าพ่อแม่มีพฤติกรรมการกินอย่างไร ลูกก็จะเดินตามแบบอย่างนั้น เช่น พ่อแม่ที่บอกลูกว่า อย่าสูบบุหรี่ อย่าดื่มเหล้า แต่ตัวพ่อแม่กลับทำเสียเอง อย่างนี้ก็ไร้ประโยชน์ที่จะไปสอนลูกหรือห้ามลูก

การกินอาหารให้ถูกต้องและกินถูกเวลาสำคัญกว่าการแปรงฟันหรือเคลือบรักษาฟันด้วยฟลูออไรด์ ถ้าเรากินอาหารที่ไร้ประโยชน์ (Junk Food) และกินไม่เป็นเวลา แม้ว่าเราจะแปรงฟันวันละ 10 ครั้งหรือเคลือบฟันด้วยฟลูออไรด์ก็ตาม ไม่สามารถป้องกันฟันผุได้ เราต้องเน้นเรื่องการกินอาหารที่ไม่มีของหวานมากหรือน้ำตาลมาก และต้องกินเป็นเวลา

เราพยายามหลีกเลี่ยงอาหาร “กิ๊กก๊อก” (Junk Food) เช่น ลูกอม ทอฟฟี่ ช็อกโกแลต เค้ก ไอศกรีมและขนมหวานต่างๆ แต่ผลไม้ที่มีรสหวานไม่เป็นไร เพราะหวานตามธรรมชาติ ถ้าลูกอยากทานของหวานหรืออาหารกิ๊กก๊อก ก็ให้ทานหลังจากทานข้าวอิ่มแล้ว และไม่ให้ทานมากหรือบ่อยนัก และพยายามให้ทานผลไม้แทนขนมหวาน

ผมพยายามสอนลูกไม่ให้ติดของหวานตั้งแต่เกิด นมที่ให้ลูกกินก็เป็นนมธรรมชาติ ผมฝึกให้เขากินเป็นเวลาตั้งแต่เขากินนมแม่เลยทีเดียว แม่บางคนไม่รู้เห็นเด็กร้องขึ้นมาก็ให้เด็กกินทันที เข้าใจว่า เด็กร้องไห้แปลว่าเด็กหิวแล้ว อันนี้ผิดพลาดนะ ลูกของผมนั้นให้กิน 3-4 ชั่วโมงในช่วงแรก พอโตขึ้นมาหน่อยก็ห่างเหลือ 3 มื้อ และระหว่างมื้อก็พยายามไม่ให้กินอะไร ให้เขาดื่มน้ำเปล่าแทน

เราจะกินอาหาร 3 มื้อ พวกของหวานนั้นผมจะให้ลูกกินหลังอาหาร ต้องกินข้าวเสร็จแล้วจึงกินขนมได้ การกินอาหารระหว่างมื้อ เช่น ขนมสักชิ้นสองชิ้น ทอฟฟี่ ช็อกโกแลต อะไรพวกนี้จะทำให้กระเพาะต้องใช้เวลาย่อยเป็น 2-3 เท่า และทำงานหนักมากขึ้น เด็กก็จะหงุดหงิด และไม่ค่อยจะเชื่อฟังผู้ใหญ่ เรื่องอาหารกับอารมณ์นี้เป็นเรื่องลึกซึ้งมากนะครับ มันเกี่ยวเนื่องถึงสติปัญญาด้วย การกินอาหารถูกต้องและถูกวิธี ถูกเวลาจะทำให้สุขภาพกายดี และสุขภาพจิตก็ดีด้วย

ไม่ใช่สิ่งยากเกินไปเลยสำหรับการอธิบายเหตุผลที่เราห้ามไม่ให้เขากินอาหารอย่างนั้นอย่างนี้ เพียงแต่เราบอกว่าเป็นอาหารที่ไม่มีประโยชน์และไม่จำเป็นต่อร่างกาย พยายามบอกเขาว่าไม่ว่าจะเป็นช่วงที่เขาโตพอจะรู้เหตุผลหรือไม่ก็ตาม พยายามพูดไป พอถึงเวลาเขาก็จะรู้เอง อย่าไปดูถูกเด็กนะ บางครั้งเขาฉลาดกว่าที่เราคิดมากทีเดียว

ปกติลูกผมไม่กินขนม ทอฟฟี่ เค้ก หรืออาหารประเภทของหวาน หรือของกินเล่นก่อนอาหารเขาปฏิเสธเวลาใครเสนอทอฟฟี่หรือขนม เขาจะบอกว่ายังไม่ถึงเวลา ซึ่งที่จริงเขาคงอยากกินเหมือนกัน แต่เขาถูกฝึกอบรมมาจนเป็นนิสัยแล้ว เขาจะไม่รู้สึกทุกข์ เหมือนคนที่ไม่สูบบุหรี่ เขาเห็นคนสูบก็เฉยๆ คนติดบุหรี่ต่างหากต้องต่อสู้กับตัวเอง หรือเช่นคนที่ทำความดี ไม่ใช่เขามีความทุกข์ เขาจึงทำความดี เราต้องไม่มองว่าเป็นภาพที่เข้มงวด ไร้ความสุข แต่เป็นพฤติกรรที่เราทำกันมาเป็นประจำทุกวัน ไม่มีความรู้สึกว่าถูกบังคับ ก็เหมือนเป็นธรรมชาติไปเอง ผมทำเป็นตัวอย่างให้เขามาตลอด ต้องกินอาหารเป็นเวลา ระหว่างมื้อก็เป็นน้ำเปล่า ไม่กินจุบกินจิบ

การมีระเบียบในการกินเป็นสิ่งดี จะทำให้ร่างกายเราทำงานเข้าระบบทุกอย่าง ผมขอย้ำว่า การแปรงฟันไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุดเรื่องเดียวในการป้องกันฟันผุ พฤติกรรมการกินต่างหากที่เราต้องแก้ไขกัน อย่าลืมว่าฟันถาวรของเรามีอยู่ชุดเดียว ถ้าผุหรือเสื่อมไปก็จะเสียไปตลอดชีวิต ไม่ได้กลับคืนมา”

อาจารย์นงเยาว์ บุญมาก
ครูพยาบาลโรงเรียนอนุบาลสามเสน

“สำหรับปัญหาฟันผุของเด็กนักเรียนนั้น ที่นี่ค่อนข้างจะพบน้อยมาก เด็กนักเรียนที่นี่เราใช้วิธีจับฉลากเข้ามา จึงมีหลายระดับ ทั้งคนรวย ปานกลาง และยากจน เด็กฐานะดีและปานกลางไม่ค่อยพบว่ามีปัญหาเรื่องฟันผุเท่าไรนัก เพราะผู้ปกครองดูแลเอาใจใส่ เวลาทางโรงเรียนเชิญมาพบและให้คำแนะนำเกี่ยวกับปัญหาการเรียนและสุขภาพของเด็ก ผู้ปกครองก็รับฟังและเอาใจใส่ แต่เด็กที่ฐานะค่อนข้างยากจนเคยเชิญผู้ปกครองมาชี้แจงเหมือนกัน ปรากฏว่าไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร มักจะบอกว่าไม่มีเวลา

ทางโรงเรียนเองนั้นเน้นการดูแลสุขภาพของเด็กนักเรียนด้วยเหมือนกัน ในวิชาสุขศึกษาเราก็สอนเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ จัดให้เด็กได้แปรงฟันตอนกลางวันหลังจากกินอาหารแล้ว ให้อมฟลูออไรด์ 2 อาทิตย์ต่อครั้ง ตอนเช้าๆครูจะเดินตรวจแถวนักเรียนสำรวจสุขภาพอนามัยของเด็ก ดูผม ดูเล็บ นอกจากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่จากศูนย์บริการสาธารณสุข 11 ประดิพัทธ์มาตรวจด้วย

ทางโรงเรียนไม่มีการขายทอฟฟี่เลย อาหารที่มีขายอยู่เราเน้นถึงประโยชน์ที่มีต่อสุขภาพของเด็กเป็นสำคัญ ดิฉันเห็นด้วยว่าโฆษณาทางโทรทัศน์เกี่ยวกับพวกขนม ทอฟฟี่ หรือของขบเคี้ยวเล่น มีอิทธิพลต่อเด็กมาก อันนี้ทางโรงเรียนก็พยายามย้ำสอนว่ากินแล้วไม่เกิดประโยชน์ ถ้าผู้ปกครองร่วมมือและให้ความเอาใจใส่ในเรื่องนี้ก็จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ไปได้มากทีเดียว”

เด็กชายพุทธิพล โพธิกนิษฐ์
อายุ 9 ปี ชั้นป.4
โรงเรียนอนุบาลสามเสน กรุงเทพฯ


“ผมมีฟันผุ เป็นฟันกรามซี่ล่าง ครั้งแรกก็ยังไม่ผุมาก ไปหาหมอฟันเขาอุดฟันให้ แต่ตอนหลังมาก็เกิดผุขึ้นอีก เวลาฟันผุเจ็บมาก เคี้ยวอาหารไม่ค่อยถนัด ผมรู้ว่าฟันผุเพราะกินทอฟฟี่ หมอฟันบอกอย่างนี้และให้กินทอฟฟี่น้อยๆหน่อย ถ้าจะกินก็ต้องแปรงฟัน แต่ทอฟฟี่มันอร่อย เวลาผมไปที่ทำงานของคุณแม่ที่แบงก์ผมก็ซื้อกินบ่อยๆ บางทีผู้ใหญ่ก็แจกให้”

เด็กหญิงนันต์ฐานิต ส่องพราย
อายุ 8 ปี ชั้นป.3/4
โรงเรียนอนุบาลสามเสน กรุงเทพฯ


“หนูไม่ชอบกินทอฟฟี่ เพราะว่ากินแล้วทำให้ฟันผุ แล้วคุณพ่อก็บอกว่าฟันแท้เราหมดไปแล้วก็ไม่มีอีกต้องใส่ฟันชุดที่ 3 คือฟันปลอม ตอนที่ไปถอนคุณพ่อบอกว่าเจ็บชาไปถึงสมองเลย เพราะตอนนี้คุณพ่อใส่ฟันปลอมอยู่ แต่คุณแม่แค่ผุนิดหน่อย ต้องไปขูดหินปูน คุณพ่อบอกว่าถึงจะใส่ฟันปลอมก็สู้ฟันธรรมชาติไม่ได้ เพราะฟันปลอมเคี้ยวไม่ถนัด นอกจากนี้ถ้าฟันผุมากๆจะเจ็บไปถึงโพรงประสาท ทำให้เหงือกอักเสบ หรือที่เรียกว่า โรครำมะนาด หรือโรคปริทนต์

หนูไม่เคยคิดอยากจะซื้อทอฟฟี่ คุณพ่อบอกว่าเราควรจะกินแต่อาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย...คุณพ่อเป็นทหารค่ะ หนูเป็นลูกคนเดียว”

เด็กชาย ช.พิรรธน์ เพ็ชญไพศิษฎ์
อายุ 9 ปี ชั้นป.4
โรงเรียนอนุบาลสามเสน กรุงเทพฯ


“ที่ฟันผมหลอทั้ง 2 ข้าง เพราะไปให้หมอถอนออก มันผุหมดต้องถอนออกไปเลย ลูกอมอร่อยผมชอบกินมาก คุณหมอเตือนแล้วว่ามันจะทำให้ฟันผุ แต่ผมไม่กลัว เพราะอมแล้วอร่อย เวลากินอยู่บ้านคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่เห็นว่าอะไร”

 

 

ข้อมูลสื่อ

99-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 99
กรกฎาคม 2530
เรื่องน่ารู้
ทพ.ประทีป พันธุมวนิช