• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ถ้าอยากมีลูกหัวดี

ถ้าอยากมีลูกหัวดี

จากหนังสือ KODOMO NO ATAMA O YOKUSURU SEIKATSU SHUKAN
เขียนโดย DR. YOSHIRO NAKAMATSU
แปล/เรียบเรียง โดย พรอนงค์ นิยมค้า

บทที่ 3
ชีวิตความเป็นอยู่ (สภาพแวดล้อม) ที่กระตุ้นพัฒนาการทางสมอง

28. ดนตรีดิสโก้ทำให้สมองเสื่อม

องค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งจะช่วยให้หัวดี คือ ดนตรี ผมคิดว่าดนตรีเป็นสิ่งจำเป็นมากถ้าอยากมีลูกหัวดี แต่ดนตรีในที่นี้มิได้หมายถึงเสียงบรรเลงอะไรก็ได้ เราต้องเลือกเฉพาะดนตรีที่ช่วยพัฒนาสมองเท่านั้น โดยพื้นฐานแล้ว ดนตรีที่จะช่วยทำให้เด็กหัวดี คือ ดนตรีคลาสสิก ผมไม่ได้หมายความว่า มีแต่เฉพาะดนตรีคลาสสิกเท่านั้น แต่ถึงอย่างไรดนตรีคลาสสิกก็เป็นหลัก เพราะลองใช้ดนตรีจำพวกกึ่งคลาสสิก (semi-classical musics) ดูแล้ว ปรากฏว่าไม่ได้ผลครับ

ผมเล่าให้คุณผู้อ่านฟังแล้วว่าผมสร้าง ‘ห้องสงบ’ กับ ‘ห้องเล่น’ ไว้ในบ้าน ใน ‘ห้องเล่น’ ของผมติดตั้งเครื่องเสียงแบบใหม่ล่าสุด และมีลำโพง 14 ตัวเรียงกันเป็นตับ ดนตรีมีความสำคัญมากสำหรับห้องนี้ ผมใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือปรับให้สมองของผมอยู่ในสภาพที่ดีที่สุด ผมฟังดนตรี 3 ประเภทในห้องนี้ เมื่อพักสมองมาจาก ‘ห้องสงบ’ แล้ว ผมก็เริ่มฟังดนตรีด้วยจิตใจและสมองที่สงบ โดยผมกำหนดประเภทดนตรีที่จะฟังเอาไว้ตามลำดับก่อนหลัง กล่าวคือ ก่อนอื่นผมจะฟังดนตรีจังหวะเร็ว และสดชื่นคึกคัก ส่วนใหญ่ผมจะเลือกพวกเพลงสวิง (Swing) บางครั้งก็เลือกพวกเพลงดิกซีแลนด์ (Dixieland) ดนตรีจังหวะเร็วและสดใสพวกนี้จะช่วยเขย่าสมอง เปรียบเสมือนเราเขย่าขวดน้ำสลัดที่แยกตัวกันอยู่ให้เข้ากันเสียก่อนจึงจะกินได้อร่อย

อันดับต่อมา ผมก็จะเลือกเพลงบรรเลงเบาๆ ประเภทเพลงบรรเลงของมานโตวานี (Mantovani) หรือเพลงของพอล โมริอาต์ (Paul Mauriat) เด็กสมัยใหม่อาจไม่รู้จักโมริอาต์ก็เลือกเพลงเปียโนของริชาร์ด เคลย์เดอร์แมน (Richard Clayderman) ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอยู่ในสมัยนี้ก็ได้

หลังจากเขย่าสมองด้วยเพลงอันดับแรก และสงบสติด้วยเพลงอันดับสอง สมองของผมก็อยู่ในสภาพดีที่สุดที่จะผลิตความคิด และจินตนาการสร้างสรรค์ออกมา อันดับสุดท้าย ผมจะฟังเพลงคลาสสิก ผมกำหนดไว้เลยว่าจะต้องใช้เพลงซิมโฟนี หมายเลข 5 ของเบโธเฟ่น (Beethoven’s Symphony No.5 in C minor) เพราะเป็นเพลงไดนามิกที่มีความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาอยู่ในตัว นอกจากเพลงของเบโธเฟ่นแล้ว เพลงของไชคอฟสกี้ (Tchikovsky) ก็ใช้ได้ครับ

แต่ถ้าเป็นเพลงของโชแปง (Chopin) หรือโจฮาน สเตร้าส์ (Johann Strauss) จะไม่ได้ผล เพราะเพลงของโชแปงอ่อนไหวเกินไป ส่วนของโจฮาน สเตร้าส์ ก็รื่นเริงเกินไป เหมาะสำหรับเป็นเพลงอุ่นเครื่องมากกว่าเป็นเพลงสร้างความสำเร็จ เพลงของโมสาร์ท (Mozart) ก็ไม่เหมาะสำหรับช่วงสุดท้าย ควรอยู่ในประเภทที่สอง

เมื่อผมฟังเพลงคลาสสิกเป็นอันดับสุดท้ายนั้น สมองซึ่งยังอยู่ในสภาพดีที่สุดจะสรุปความคิดออกมา ปัญหายุ่งยากที่ติดค้างอยู่ก็แก้ได้ และเกิดความคิดแปลกใหม่ผุดออกมาอย่างน่าอัศจรรย์ใจทีเดียว อย่างไรก็ตาม ดนตรีบางประเภทกลับให้ผลตรงกันข้าม คือ หยุดการทำงานของสมอง จึงไม่ควรฟังเวลาใช้ความคิด ตัวอย่างเช่น เพลงดิสโก้ที่พวกนักเรียนมัธยมชอบฟังกันนั้น ผมว่าฟังแล้วสมองเสื่อม ดนตรีดิสโก้ เป็นดนตรีที่จังหวะไม่เป็นระเบียบ ทำนองก็ลุ่มๆ ดอนๆ เสียงดังเสียงเบาปนกันเละเทะ ผมว่าฟังแล้วแทนที่จะเขย่าสมองเบาๆ ปลุกให้ลุกขึ้นมาทำงาน กลับทำให้สมองอลเวง เพราะมันสมองถูกกวนจนเลอะเทอะและคิดอะไรไม่ออก

การฟังเพลงดิสโก้ในขณะที่ดูหนังสือนั้น ทำให้สมองปั่นป่วน และการเรียนไม่ได้ผล ดังนั้น ดนตรีจึงมีทั้งประเภทที่ทำให้หัวดี และประเภทที่ทำให้สมองเสื่อม ควรหัดให้เด็กชอบดนตรีที่มีประโยชน์ต่อสมอง โดยเปิดเพลงเหล่านั้นให้ฟังบ่อยๆ ตั้งแต่ก่อนเริ่มหัดเดิน

ข้อมูลสื่อ

122-024
นิตยสารหมอชาวบ้าน 122
มิถุนายน 2532
อื่น ๆ
Dr.YOSHIRO NAKAMATSU, พรอนงค์ นิยมค้า