• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กสี่ขวบถึงห้าขวบ

เด็กสี่ขวบถึงห้าขวบ

361. ไม่มีเพื่อนที่โรงเรียนอนุบาล

เด็กบางคนไปโรงเรียนอนุบาลได้ 2-3 เดือนแล้วแต่ยังไม่มีเพื่อน เด็กพวกนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กเรียบร้อย ขี้อาย ไม่กล้าแสดงออก ชอบหมกตัวอยู่คนเดียวเงียบๆ บางคนไม่อยากไปโรงเรียน แต่บางคนก็ชอบไปโรงเรียนทั้งๆที่ไปอยู่คนเดียว หากเด็กแบบนี้เจอครูที่มีประสบการณ์สอนมา 20-30 ปี ครูจะไม่รู้สึกแปลกใจอะไรกับนิสัยของเด็ก แต่ถ้าเด็กเจอครูใหม่เพิ่งจบ ครูอาจเขียนมาในสมุดพกว่า “เด็กขาดศักยภาพทางสังคม” พ่อแม่เจอประโยคนี้เข้าคงแทบช็อก

หากเด็กยินดีไปโรงเรียนทุกวัน อยู่บ้านก็มิได้มีสิ่งใดผิดแผกไป คุยกับคุณพ่อคุณแม่เก่งเหมือนเดิม ก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงเลย มนุษย์เรามีอุปนิสัยแตกต่างกัน บางคนชอบพูดต่อหน้าคนมากๆ บางคนพยายามหลบเท่าที่จะทำได้ จะทำให้เด็กทุกคนพูดจาฉาดฉานเหมือนแฟนต้ายุวทูตหมดทั้งเมืองย่อมเป็นไปไม่ได้

362. วันปิดภาคเรียน

เด็กที่เริ่มไปโรงเรียนอนุบาลแล้วเมื่อถึงวันปิดภาคเรียน ก็อย่าให้เด็กพลอยหยุดกิจกรรมช่วยตัวเองที่เรียนรู้มาจากโรงเรียนแล้วไปด้วย ควรให้เด็กสวมเสื้อผ้าเอง และล้างมือก่อนกินอาหารเหมือนเมื่ออยู่โรงเรียน

สิ่งสำคัญที่สุดที่เด็กเรียนรู้จากโรงเรียน คือ การเล่นกับเพื่อน หาโอกาสให้เด็กได้เล่นกับเพื่อนบ้านบ่อยๆ แม้ว่าเมื่อก่อนนี้จะเล่นด้วยกันไม่ได้ เพราะแย่งของเล่นกัน หลังจากไปโรงเรียนแล้วปัญหานั้นน่าจะหมดไป หากมีโอกาสไปเที่ยวด้วยกันทั้งครอบครัวในช่วงปิดภาคเรียน จะเป็นประสบการณ์ที่ดียิ่งสำหรับเด็ก ความสุขและความสนุกกับครอบครัวนั้นเด็กจะจดจำไปชั่วชีวิต และเป็นสิ่งที่ซื้อหาด้วยเงินทองไม่ได้เสียด้วย

363. ป้องกันอุบัติเหตุ

อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยกับเด็กวัย 4-5 ขวบ คือ อุบัติเหตุถูกรถชนและตกน้ำ เด็กวัยนี้เป็นวัยที่ชอบเล่นกับเพื่อน เมื่อสถานที่เล่นไม่มีก็เล่นกันบนถนน สำหรับรายที่มีพี่เลี้ยงคอยระแวดระวังดูแลก็รอดอันตรายได้มากกว่า ส่วนเด็กที่พ่อแม่หาเช้ากินค่ำและเล่นกันตามลำพังย่อมมีอัตราเสี่ยงสูง ควรห้ามอย่างเด็ดขาดไม่ให้เล่นบนถนนตามลำพังเด็กๆ โดยเฉพาะการเล่นบอล เด็กถูกรถชนบ่อยๆ เพราะวิ่งตามเก็บลูกบอลซึ่งกลิ้งไปกลางถนน

เมืองไทยมีแหล่งน้ำมาก ทั้งแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง บ่อ สระ ท่อระบายน้ำเปิดฝา เป็นต้น สุดวิสัยที่จะทำรั้วล้อมเด็กเอาไว้ ใครรอดตายเติบโตขึ้นมาได้ก็นับว่าบุญหลาย ทางที่ดีที่สุด คือ หัดให้เด็กว่ายน้ำเป็นเร็วๆ อุบัติเหตุในบ้านที่เกิดบ่อย คือ ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก คุณแม่หรือพี่เลี้ยงเผลอวางกระติกน้ำร้อน เตารีดร้อนๆ ไว้บนพื้น เด็กเดินมาชนเข้าจึงถูกลวก

สมัยนี้มีครอบครัวที่อยู่แฟลตหรือคอนโดมิเนียมมากขึ้น ระวังอย่าเอาเก้าอี้หรือกล่องกระดาษวางไว้ที่ระเบียง เด็กเล็กๆ อาจปีนขึ้นไปบนนั้นแล้วชะโงกมองข้างล่างจนพลัดตกลงมาได้ สำหรับเด็กที่ชอบเล่นฟันดาบแบบหนังโทรทัศน์ ก็เคยมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น คือ เด็กเอาดาบของเล่นปลายแหลมแทงเข้าเบ้าตาเพื่อนจนตาบอด บ้านใครมีปืนต้องเก็บงำไว้ให้ดี ความสะเพร่าของผู้ใหญ่คร่าทั้งชีวิตและอนาคตของเด็ก หากเมืองไทยเป็นเมืองปลอดอาวุธ บริสุทธิ์ชนคงนอนตาหลับกว่าทุกวันนี้

364. ภูมิอากาศ

ช่วงฤดูร้อนเป็นช่วงที่ร่างกายเหนื่อยง่าย รู้สึกเบื่ออาหาร และต้องการพักผ่อนมากกว่าฤดูอื่น แต่เนื่องจากความจำเป็นของพ่อแม่สมัยนี้ เด็กจึงต้องเรียนตะพึดทุกฤดู ตั้งแต่อนุบาล ไม่มีการหยุดภาค โรงเรียนปิดภาคก็จริง แต่เด็กอยู่บ้านก็ไม่มีเพื่อนและไม่มีคนดูแล พ่อแม่จึงให้เรียนพิเศษภาคฤดูร้อน ท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าว ซึ่งแม้แต่ผู้ใหญ่ก็ยังง่วงเหงาหาวนอนเป็นที่สุด พ่อแม่ที่ทันสมัยหน่อยก็ให้ลูกเข้าค่ายฤดูร้อน ฝึกกีฬา ว่ายน้ำ ศิลปะ ดนตรี ก็นับว่ายังดีที่เด็กได้เล่นบ้าง ปัญหาน่าปวดหัวของพ่อแม่ทุกวันนี้ คือ ช่วงปิดเทอมลูกไม่มีอะไรจะทำ ที่บริษัทเอกชนซึ่งไม่เคร่งครัดนัก ช่วงปิดเทอมเกือบจะกลายเป็นสถานเลี้ยงเด็กทีเดียว

โรคภัยไข้เจ็บที่ควรระวังในช่วงฤดูร้อน คือ โรคอุจจาระร่วงและอาหารเป็นพิษ น้ำแข็ง ไอศกรีม น้ำผลไม้ที่ขายตามข้างถนน มีปัญหาเรื่องความสะอาด ไม่ควรให้เด็กกิน เมื่อเข้าฤดูฝน โรงเรียนก็เปิดเทอมพอดี เด็กส่วนใหญ่ดีใจที่จะได้พบเพื่อนๆ ที่โรงเรียนอีก โรคที่ตามมากับฝน คือ หวัด ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก ปอดอักเสบ ฯลฯ โดยเฉพาะเด็กเริ่มไปโรงเรียน จะติดเชื้อต่างๆ กลับมาบ่อยมาก เด็กวัยนี้ต้องหยุดโรงเรียนบ่อยจนพ่อแม่เอือมระอาทีเดียว

ฤดูหนาวเป็นฤดูที่สั้นที่สุด และสบายที่สุด ยกเว้นสำหรับคนยากจนซึ่งขัดสนเครื่องกันหนาว ระวังให้เด็กสวมเสื้อผ้าอบอุ่นอย่างพอเพียง โดยเฉพาะช่วงเช้าตรู่ซึ่งอากาศเย็น ฤดูนี้มีงานเทศกาลมากมาย เริ่มจากลอยกระทง คริสต์มาส ปีใหม่ ส่งท้ายด้วยตรุษจีน และวาเลนไทน์ ซึ่งกลายเป็นแฟชั่น จนกระทั่งเด็กเล็กๆ ก็รบเร้าจะเอาดอกกุหลาบแดงให้ครูและเพื่อนๆ 

ข้อมูลสื่อ

122-025
นิตยสารหมอชาวบ้าน 122
มิถุนายน 2532