• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ถ้าอยากมีลูกหัวดี

ถ้าอยากมีลูกหัวดี

จากหนังสือ KODOMO NO ATAMA O YOKUSURU SEIKATSU SHUKAN
เขียนโดย DR. YOSHIRO NAKAMATSU
แปล/เรียบเรียง โดย พรอนงค์ นิยมค้า

การออกกำลังกายคือกิจกรรมทางสมอง

การเคลื่อนไหวร่างกายคือการพัฒนาสมอง

บางวันเราตื่นเช้าขึ้นมารู้สึกหัวตื้อ เรียนอะไรก็ไม่เข้าหัว ไม่มีความกระตือรือร้นอยากจะทำอะไรเลย เวลาเป็นเช่นนี้ ลองจามแรงๆ ดูซิครับ จะรู้สึกว่าสมองโล่ง จิตใจก็พลอยคึกคักไปด้วย ทั้งนี้เพราะการจามช่วยกระตุ้นให้สมองตื่นนั่นเอง วันสอบ ในขณะที่ตาจ้องมองข้อสอบ บางคนจะเม้มปากบ้าง กัดฟันบ้าง ความเคลื่อนไหวเหล่านี้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เพราะเราต้องการใช้สมองอย่างเต็มที่ การเม้มปากจะดึงกล้ามเนื้อที่คางกระตุ้นการทำงานของสมองโดยเราไม่รู้ตัว

ตอนกลางคืน หากเราทนอดนอนทั้งๆ ที่ง่วงเต็มที่ เราจะหาวเป็นชุดทีเดียว การนอนเป็นการพักผ่อน เอาความเครียดออกจากสมอง เวลารู้สึกง่วง แปลว่า สมองของเราอ่อนเพลียเหนื่อยล้า ถ้าหากทนง่วงอยู่ การไหลเวียนของเลือดในสมองจะเลวลง ทำให้ขาดออกซิเจน จึงเกิดอาการหาวโดยอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มออกซิเจนในเลือด และไล่แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกาย กล่าวคือ มนุษย์เรามีกลไกอัตโนมัติสำหรับป้องกันมิให้สมองทำงานเลวลง ติดตัวมาตั้งแต่เกิด

ทีนี้ลองคิดดูว่า เราจะใช้วิธีการนี้เพื่อพัฒนาสมองได้หรือไม่ การหาวเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติซึ่งเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ เป็นมาตรการตั้งรับ มิใช่มาตรการรุก และให้ผลเป็นการชั่วคราวเฉพาะช่วงเท่านั้น เราทราบแล้วว่า การเคลื่อนไหวร่างกายทำให้สมองทำงานดีขึ้น เพราะฉะนั้น จะมีวิธีการใดหรือไม่ที่ทำให้สมองดีตลอดไป มิใช่ชั่วคราวเหมือนการหาว

ผมขอเสนอข้อสรุปก่อนเลยครับว่า การเคลื่อนไหวร่างกาย การบริหารร่างกาย และการออกกำลังกาย คือวิธีการที่ช่วยให้สมองทำงานดีขึ้นแน่นอน มิใช่สักแต่ว่าเคลื่อนไหวร่างกายแล้วจะได้ผลนะครับ เราต้องเลือกการบริหารร่างกายที่มีผลดีต่อสมองด้วย การบริหารร่างกายที่มีผลดีต่อสมอง คือ ท่าบริหารที่ช่วยให้เลือดไหลเวียนดี และนำออกซิเจนจำนวนมากไปสู่สมอง ซึ่งจะช่วยให้สวิตช์สมองสับเร็ว และสื่อดี เด็กทารกจะเริ่มคลาน เกาะเดิน ตั้งไข่ และก้าวเดิน การเคลื่อนไหวร่างกายของเด็กมีประโยชน์มากต่อการพัฒนาจุดประสานประสาท เด็กบางคนร่างกายอ่อนแอเดินไม่ได้ในวัยทารก เป็นผลให้การพัฒนาทางปัญญาพลอยช้าไปด้วย ทั้งนี้เพราะจุดประสานประสาทไม่พัฒนาในช่วงอายุที่ควรจะพัฒนามากที่สุด

ผมเคยกล่าวไว้แล้วว่าความอยากรู้อยากเห็น และพลังสมาธิมีอิทธิพลมากต่อการพัฒนาสมอง อย่างไรก็ตาม ความอยากรู้อยากเห็น และพลังสมาธิของคนเราจะถดถอยลงไปตามอายุขัยหากเราไม่พยายามป้องกันไว้ วัยอยากรู้อยากเห็นที่สุดคือวัยทารกนั่นเอง เมื่อเด็กเคลื่อนไหวไปไหนๆ ได้ แกจะคลานหรือเดินไปทั่วบ้าน จับโน่น หยิบนี่ อมนั่น วุ่นวายทั้งวัน เพราะการทำเช่นนั้นตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก และช่วยเพิ่มพูนปัญญาของแกด้วย

อย่างไรก็ดี เมื่อมนุษย์เราอายุเลย 25 ปี ความอยากรู้อยากเห็นก็ลดน้อยลงเป็นลำดับ แม้จะเห็นสิ่งแปลกใหม่ก็ไม่เกิดคำถามสงสัยว่าทำไม ได้แต่ยอมรับสิ่งนั้นๆ ดุจเป็นเรื่องธรรมดา วัยเบญจเพสมิได้เป็นเพียงจุดหักเหของชีวิตเท่านั้น ยังเป็นจุดผกผันของสมองด้วย เมื่ออายุมากขึ้น นอกจากความอยากรู้อยากเห็นจะลดน้อยลงแล้ว ความอยากออกกำลังกาย หรือเคลื่อนไหวร่างกายก็พลอยเสื่อมถอยลงด้วย สมองจึงขาดการกระตุ้น และตกอยู่ในวัฏจักรแห่งความเสื่อม

ถ้าอยากมีลูกหัวดี ควรสนับสนุนให้ลูกออกกำลังกายนะครับ แน่นอน มิใช่ว่าการบริหารร่างกาย หรือการออกกำลังกายทุกชนิดจะดีต่อสมองเสมอไป การออกกำลังกายบางชนิดดีสำหรับกล้ามเนื้อแต่ให้ผลไม่ดีต่อสมอง การเคลื่อนไหวร่างกายเป็นการกระตุ้นสมอง ทำให้เลือดไหลเวียนดี เพิ่มแก๊สออกซิเจน และไล่แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่สกปรกออกจากร่างกาย ดังนั้นการออกกำลังกายจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะขาดเสียมิได้

หากต้องการให้เด็กหัวดี ไม่ควรบังคับให้เด็กนั่งอยู่กับโต๊ะ หรือพับเพียบเรียบร้อยอยู่ตลอดเวลา ควรสนับสนุนให้เด็กออกไปเล่นนอกบ้าน และออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ เมื่อเด็กเริ่มหัดเดินเตาะแตะ อย่าขัดขวางความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก ควรปล่อยให้แกเล่นอย่างเต็มที่ และไม่เฉพาะแต่เด็กเท่านั้น ผู้ใหญ่ก็เช่นเดียวกัน การเคลื่อนไหวร่างกายจะช่วยพัฒนามันสมองของคุณ ถ้าเปรียบเทียบระหว่างอาหารกับการออกกำลังกายแล้ว อาหารต้องการระยะเวลาพอสมควรกว่าจะส่งผลต่อสมอง แต่การออกกำลังกายนั้นส่งผลให้เห็นทันที หากเรานำทั้งสองสิ่งนี้มาปฏิบัติ และระมัดระวังเรื่องสภาพแวดล้อมด้วยแล้ว ผมรับรองว่าลูกของคุณจะหัวดีขึ้น

ข้อมูลสื่อ

123-024
นิตยสารหมอชาวบ้าน 123
กรกฎาคม 2532
อื่น ๆ
Dr.YOSHIRO NAKAMATSU, พรอนงค์ นิยมค้า