• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กสี่ขวบถึงห้าขวบ

เด็กสี่ขวบถึงห้าขวบ

สภาพผิดปกติ

365. เป็นไข้บ่อย

เด็กที่เริ่มไปสถานเลี้ยงเด็กหรือโรงเรียนอนุบาลจะเป็นไข้บ่อย เรียกว่าเป็นแทบทุกเดือน และอาจจะหยุดเรียนเกือบครึ่งหนึ่งของเวลาที่ไปโรงเรียนทีเดียว ทั้งนี้เพราะสมัยที่เด็กอยู่บ้าน โอกาสที่จะพบโรคติดต่อมีน้อย เมื่อเข้าไปอยู่ในกลุ่มเด็กจำนวนมาก นอกจากจะได้เพื่อนแล้ว ยังได้เชื้อโรคเป็นของแถมอีกด้วย แต่โรคเหล่านั้นเมื่อเป็นแล้วจะทำให้เด็กเกิดภูมิต้านทานขึ้นในร่างกาย และร่างกายแข็งแรงขึ้น หากพ่อแม่กลัวลูกเป็นไข้จนกระทั่งเอาออกจากโรงเรียนอนุบาล พอปีถัดไปเอาไปเข้าใหม่เด็กก็จะเป็นไข้บ่อยเช่นเดิม เพราะการเป็นไข้ในวัยนี้เปรียบเสมือน “ภาษีของการเจริญเติบโต”

โรคต่างๆ ที่ทำให้เด็กเป็นไข้ในวัยนี้นอกจากไข้หวัด ก็มีหัด หัดเยอรมัน อีสุกอีใส คางทูม เป็นต้น สำหรับหัด หัดเยอรมัน และคางทูม มีวัคซีนป้องกัน ควรฉีดวัคซีนให้ครบตามกำหนด นอกจากนั้นยังมีโรคร้ายจำพวก ไข้เลือดออก ไข้สมองอักเสบ ปอดอักเสบ ตับอักเสบ เป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้เราต้องป้องกันที่ต้นเหตุ โรคที่ทำให้เด็กวัยนี้เป็นไข้บ่อยที่สุด คือ หวัดและต่อมทอนซิลอักเสบ ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสมากมายหลายชนิด และไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่โรคหวัดนั้นอาการไม่หนักหนาสาหัสนัก เด็กมีไข้สูงจนพ่อแม่ตกใจเพียงคืนเดียว นอนพักสักวันสองวันก็หาย และไม่ก่อให้เกิดอาการผิดปกติตามมาในภายหลัง

เด็กบางคนเป็นไข้บ่อย บางคนไม่ค่อยเป็น แต่ไม่ได้หมายความว่า ตอนเด็กเป็นไข้บ่อยแล้วโตขึ้นจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่อ่อนแอ เพราะฉะนั้น เมื่อลูกเป็นไข้เดือนละครั้งหลังจากเข้าโรงเรียนอนุบาล ก็ไม่ควรเอาออกมาอยู่บ้าน เพราะอยู่โรงเรียนเด็กมีโอกาสได้เล่น ได้ออกกำลังกายกับเพื่อนๆ มากกว่าอยู่บ้าน (ยกเว้นโรงเรียนอนุบาลประเภทเร่งเรียน) เด็กบางคนเป็นหวัดบ่อย และมีคนพูดแนะให้ตัดต่อมทอนซิลทิ้งเสีย แต่ต่อมทอนซิลมิใช่อวัยวะที่ไร้ประโยชน์ จึงไม่ควรตัดทิ้งโดยไม่จำเป็น

เด็กที่เป็นไข้บ่อย เวลาเป็นไข้ หากไม่มีสิ่งผิดปกติอย่างอื่น มักแสดงอาการออกมาในทำนองเดียวกัน คุณแม่ควรจดจำอาการไข้รวมทั้งแนวโน้มที่บ่งบอกว่า อาการคลี่คลายและจะหายในที่สุดเอาไว้ จะได้ไม่ต้องวิ่งโร่กระเตงลูกไปโรงพยาบาลกลางดึกบ่อยๆ

366. อุจจาระร่วง

โดยทั่วไปเมื่อเด็กอุจจาระร่วง พ่อแม่มักนึกว่าลูกกินมากเกินไปจนกระเพาะย่อยไม่ไหว แต่เด็กวัยนี้ถ้ากินมากเกินไปจะอาเจียนออกมาก่อนที่จะเกิดอาการอุจจาระร่วง การกินของแข็งย่อยยากก็มิได้ทำให้อุจจาระร่วง แต่ของย่อยยากนั้นจะหลุดมาทั้งชิ้นร่วมกับอุจจาระ มีเด็กบางรายเหมือนกันที่อุจจาระร่วงง่าย หากกินอาหารบางประเภทมากเกินไป เช่น ผลไม้จำพวกสับปะรด มะม่วงดิบ มะขาม มะยม เป็นต้น ในกรณีเช่นนี้ พ่อแม่ย่อมรู้ดีว่าลูกอุจจาระร่วงเพราะอะไร จึงไม่ตกใจนัก

อย่างไรก็ตาม หากเด็กมีอาการอุจจาระร่วง ควรนึกถึงเชื้อโรคเอาไว้ก่อนจะปลอดภัยกว่า โดยเฉพาะในรายที่เด็กมีอาการไข้และอาการปวดท้องร่วมด้วย หรือมีโรคอุจจาระร่วง โรคบิดระบาดอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ควรพาไปพบแพทย์ ไม่ควรรักษาด้วยตนเอง

โรคติดเชื้อในทางเดินอาหารที่เด็กเป็นบ่อย คือ โรคบิด ซึ่งมีอาการสำคัญ คือ อุจจาระร่วง อุจจาระเป็นมูกเลือด ปวดถ่วงอยากถ่ายบ่อยๆ และบางครั้งอาจมีไข้ด้วย โรคบิดอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้ออะมีบาซึ่งการรักษาแตกต่างกัน และแพทย์เท่านั้นที่จะวิเคราะห์โรคและให้การรักษาอย่างถูกต้องได้

นอกจากโรคบิดแล้ว โรคอุจจาระร่วงร้ายแรงซึ่งมักเป็นโรคระบาดในฤดูร้อน คือ อหิวาตกโรค แต่เมื่อการสาธารณสุขเจริญขึ้น โรคนี้ก็ระบาดน้อยลงเป็นเงาตามตัว และในช่วงที่มีการระบาด หากเราระมัดระวังเรื่องอาหารและน้ำดื่มอย่างดี เด็กจะไม่เป็นโรคนี้ เสื้อผ้าของเด็กที่เป็นโรคติดเชื้อและเปื้อนอุจจาระ ควรต้มหรือแช่น้ำยาฆ่าเชื้อโรค และล้างมือด้วยน้ำสบู่ฆ่าเชื้อ เช่น น้ำสบู่ผสมครีซอล (cresol) 1%

เด็กอาจเป็นโรคอุจจาระร่วงเพราะติดเชื้อไวรัส โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว กรณีนี้เด็กมักมีอาการคลื่นเหียนอาเจียนร่วมด้วย เมื่อเด็กมีอาการอุจจาระร่วง การดูแลรักษาที่สำคัญที่สุด คือ ให้เด็กได้รับน้ำอย่างพอเพียง ระวังมิให้เกิดภาวะขาดน้ำ ถ้าเด็กดื่มน้ำได้ทางปาก ก็ให้ดื่มน้ำหวาน น้ำเกลือแร่ น้ำชา หรือน้ำเปล่าก็ได้ ไม่ควรให้น้ำเกลือทางเข็มฉีดยา นอกจากในรายที่จำเป็นจริงๆ เช่น ถ้าให้น้ำทางปาก เด็กจะอาเจียนออกมาหมด หากเด็กได้รับน้ำอย่างพอเพียง อดอาหารสักวันสองวันก็ไม่มีปัญหา เด็กจะค่อยๆ ฟื้นตัว และอยากกินอาหารเมื่ออาการดีขึ้น ระยะแรกควรให้อาหารอ่อนจำพวกโจ๊ก หรือข้าวต้ม ขนมก็ให้ลูกอมหรือทอฟฟี่ แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นขนมนุ่มๆ ในวันถัดไป และให้อาหารธรรมดาเมื่อเด็กมีอาการเป็นปกติแล้ว

ข้อมูลสื่อ

123-025
นิตยสารหมอชาวบ้าน 123
กรกฎาคม 2532