• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ถ้าอยากมีลูกหัวดี

บทที่ 1
เด็กหัวดี เด็กหัวไม่ดีต่างกันที่ตรงนี้

------------------------------------------------------------
1. มันสมองของมนุษย์ทุกคนเสมอภาค-ไม่ว่าใครก็หัวดี
“ทำอย่างไรจึงหัวดี และมีมันสมองคงสภาพอยู่ในระดับเยี่ยม” ... นี่คือหัวข้อวิจัยตลอดชีวิตของผม

สำหรับผู้ใหญ่นั้นไม่ต้องพูดถึงละครับ แม้แต่เด็กก็ยังมีความแตกต่างกันระหว่างเด็กหัวดีกับเด็กหัวไม่ดี ต้นเหตุของเรื่องนี้อยู่ที่ไหนกันหนอ?

ผมมีความสนใจเกี่ยวกับมันสมองอยู่แล้ว จึงไปทำการค้นคว้าที่มหาวิทยาลัยโตเกียว ซึ่งกล่าวกันว่า มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศญี่ปุ่นทางด้านการวิจัยในสาขาวิชาสรีรวิทยาของสมอง (Cerebrophysiology)

แต่ปรากฏว่า ในปัจจุบันแม้แต่คำจำกัดความของคำว่า “หัวดี” เราก็ยังระบุชัดเจนลงไปไม่ได้เลยครับ
ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับมันสมองนั้นมิใช่มีแต่ผมเพียงคนเดียว มีผู้คนจำนวนมากที่สนใจและทำการวิจัยค้นคว้ามานานแล้ว

โดยทั่วไปมักพูดกันว่า คนที่หัวดีจะมีมันสมองหนักกว่าคนธรรมดา นักประพันธ์ชาวรัสเซีย ชื่อทูร์เกเนฟ*นั้น มีผู้กล่าวว่า เขามีมันสมองหนักกว่า 2,000 กรัม และของโซเซกิ นัทสุเมะ**หนักกว่า 1,400 กรัม อย่างไรก็ตาม นักประพันธ์เรื่องเสียดสีชาวฝรั่งเศส อนาโตล ฟรานซ์*** กลับมีน้ำหนักของมันสมองเพียง 1,000 กรัมเท่านั้น

เนื่องจากน้ำหนักสมองของสตรีน้อยกว่าบุรุษประมาณ 150 กรัม ประกอบกับความคิดแบบลำเอียง ทำให้มีผู้คิดว่าความฉลาดมีส่วนสัมพันธ์กับน้ำหนักสมอง แต่ตามรายงานของคณะสำรวจทางวิชาการของมหาวิทยาลัยโตเกียว ปรากฏว่า สมองของมนุษย์ยุคหินนีแอนเดอร์ธาล (Neanderthal) หนักกว่าสมองมนุษย์ปัจจุบันเสียอีก ยิ่งกว่านั้น สมองของปลาวาฬ และช้างก็หนักกว่าสมองคนหลายเท่า

เมื่อเปรียบเทียบสมองของมนุษย์นีแอนเดอร์ธาลกับสมองมนุษย์ปัจจุบันจะเห็นข้อแตกต่างชัดเจนประการหนึ่งคือ แม้ว่าน้ำหนักสมองโดยรวมจะไม่ต่างกันนัก แต่เฉพาะสมองกลีบหน้านั้น ของมนุษย์ปัจจุบันหนักกว่ามาก สมองกลีบหน้าของมนุษย์ยุคหินนีแอนเดอร์ธาลพัฒนาล้าหลังกว่าของมนุษย์ปัจจุบัน

สมองกลีบหน้านี้คือ กองบัญชาการของสมอง ทำหน้าที่คิดพิจารณา ตัดสินใจ และควบคุมความรู้สึก ทุกข์ สุข สนุก โกรธ เกลียด ฯลฯ ของคนเรา

แม้แต่สัตว์ซึ่งนับว่าเป็นสัตว์ฉลาด เช่น ลิง ปลาโลมา สมองกลีบหน้าก็ไม่พัฒนา เรียกว่า เกือบจะไม่มีเอาเสียเลย

สมองของสัตว์จะอยู่ในสภาพเสร็จสมบูรณ์ตั้งแต่เกิด ส่วนสมองของเด็กแรกเกิดนั้นยังไม่สมบูรณ์ พอร์โตมาน****นักสัตววิทยาชาวสวิตฯกล่าวว่า “มนุษย์เกิดมามีสมองไม่สมบูรณ์ที่สุดในหมู่สัตว์ ทางด้านสรีรวิทยานั้น มนุษย์เป็นสัตว์ที่คลอดก่อนกำหนด”

กล่าวกันว่าความรู้สึกนึกคิดซึ่งแสดงความเป็นมนุษย์ หรือซอฟต์แวร์ของสมองกลีบหน้าจะสร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่ออายุประมาณ 10 ขวบ เพราะฉะนั้น การศึกษาจากพ่อแม่และสภาพแวดล้อมจนถึงช่วงอายุนี้จะมีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่อสภาพจิตประสาท และอนาคตของเด็ก

นอกจากนี้ยังมีทฤษฎีที่ว่า คนเราหัวดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับจำนวน และความลึกของกลีบสมองใหญ่ (Cerebrum) กล่าวคือ คนที่มีพื้นผิวของสมองใหญ่กว้างกว่าก็หัวดีกว่า

แต่สิ่งเหล่านี้เรารู้ได้จริงหรือ ?
เพราะรายงานทั้งหมดมาจากผลของการผ่าศพสำรวจสมองของคนตาย ซึ่งหยุดทำงานแล้ว แม้เราจะนำสมองใหญ่ออกมาวิเคราะห์ แต่เราก็ยังไม่รู้สภาพสมองในขณะกำลังทำงาน เรารู้แต่เพียงสภาพของเซลล์ และโครงสร้างของสมองเท่านั้น

อีกประการหนึ่ง ถ้าหากน้ำหนักหรือพื้นผิวของสมองใหญ่เป็นตัวกำหนดความฉลาด ความโง่ก็แสดงว่าคนเราจะถูกกำหนดให้เป็นเด็กฉลาดหรือเด็กโง่ตั้งแต่วินาทีที่ถือกำเนิดออกมาทีเดียว

เรื่องนี้ขัดกับความเป็นจริง เพราะถ้าเป็นดังที่ว่า เด็กคนไหนหัวดีก็จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่หัวดี ส่วนเด็กโชคร้ายที่เกิดมาหัวไม่ดี แม้จะพยายามเรียนสักเท่าใดในภายหลัง ก็จะต้องเป็นคนหัวไม่ดีไปตลอดชีวิต

ในความเป็นจริง เด็กที่เคยเรียนเก่งได้เป็นกรรมการห้องสมัยอยู่ชั้นประถม ก็มิใช่ว่าจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยโตเกียวได้ทุกคน คนปัญญาเลิศมิใช่ว่าจะปัญญาเลิศตลอดไปทุกคน

“อายุ 10 ปี เขาว่าฉันมี “พรสวรรค์” พอฉัน 15 เขาเรียกว่า “เด็กเก่งหัวดี” แต่เมื่อเลย 20 ปี ฉันนี้กลายเป็น “คนธรรมดา”...”

กรณีข้างต้นนี้มีมาก เด็กซึ่งเคยฉลาดหลักแหลม เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่กลับกลายเป็นคนมีมันสมองธรรมดาๆ

ตรงกันข้าม เด็กซึ่งเคยเรียนไม่ดี เลิกเรียนแล้วถูกครูสั่งให้อยู่ต่อเพื่อเรียนพิเศษเป็นประจำ เมื่อโตขึ้นกลับกลายเป็นนักคณิตศาสตร์ผู้มีชื่อเสียง

หลังจากการวิจัยเกี่ยวกับสมองใหญ่แล้ว ผมสรุปได้ว่า “มันสมองของมนุษย์ทุกคนเสมอภาค” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ คนเราหัวดีทุกคน

เหตุผลของผมคือ จำนวนเซลล์สมองของมนุษย์เกือบจะทุกคนนั้นเท่ากัน ถ้าเปรียบกับวงจรคอมพิวเตอร์แล้ว เครื่องที่มีจำนวนทรานซิสเตอร์เท่ากัน ความสามารถย่อมเท่ากัน สมองของคนก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีจำนวนเซลล์สมอง (ทรานซิสเตอร์) เท่ากัน ย่อมไม่มีความแตกต่างกันทางด้านความโง่ความฉลาด

แต่เดี๋ยวก่อนนะครับ คงมีผู้สงสัยว่า ถ้าเป็นเช่นนี้ ทำไมผลการเรียนของเด็กจึงแตกต่างกันล่ะ?

ผมตอบได้ว่าเพราะสมองของเด็กได้แยกออกเป็นเด็กหัวดีกับหัวไม่ดีเสียแล้วตั้งแต่ก่อนเข้าโรงเรียนประถมน่ะซีครับ แม้ว่าจุดเริ่มต้นจะเท่ากัน มีมันสมองเหมือนกันทุกคน แต่หลังจากนั้นก็อยู่ที่ว่า เราจะใช้จำนวนเซลล์สมองซึ่งเท่ากับคนอื่นนี้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดได้เพียงใด เด็กหัวดี เด็กหัวไม่ดี ต่างกันที่ตรงนี้แหละครับ

ข้อมูลสื่อ

100-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 100
สิงหาคม 2530
อื่น ๆ
พรอนงค์ นิยมค้า