• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ถ้าอยากมีลูกหัวดี

ถ้าอยากมีลูกหัวดี

จากหนังสือ KODOMO NO ATAMA O YOKUSURU SEIKATSU SHUKAN
เขียนโดย DR. YOSHIRO NAKAMATSU
แปล/เรียบเรียง โดย พรอนงค์ นิยมค้า

การออกกำลังกายคือกิจกรรมทางสมอง

ทำไมต้องมีพัก 10 นาที

หากต้องการทำให้หัวดีขึ้น ควรฝึกพลังสมาธิ อย่างไรก็ดี แม้แต่มนุษย์ปัญญาเลิศก็ไม่สามารถมีสมาธิ ทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อหมดสมาธิ ควรพักผ่อนสักเล็กน้อย หรือให้สมองได้พัก ซึ่งจะทำให้พลังสมาธิกลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง ตารางสอนของโรงเรียนก็มีเวลาพัก โดยทั่วไปนักเรียนจะเรียน 50 นาที และมีพัก 10 นาทีคั่นก่อนจะเรียนชั่วโมงต่อไป เวลาพัก 10 นาทีนี้มีความหมายมาก เวลาพักระหว่างชั่วโมงเรียนมีไว้สำหรับย้ายห้องเรียนหรือเตรียมตัวเรียนชั่วโมงต่อไปก็จริง แต่มีความสำคัญยิ่งต่อการพักสมอง การเรียนหนังสือติดต่อกัน 50 นาที ทำให้สมองเหนื่อยล้ามาก ถ้าอยากให้สมองหายเพลีย ควรเล่นกีฬาเบาๆ เป็นดีที่สุด ช่วงเวลาพัก นักเรียนควรออกจากห้องเรียนลงไปเล่นในสนาม แต่อย่าออกกำลังกายขนาดหนัก เพราะจะให้ผลในทางตรงข้าม ควรออกกำลังกายเบาๆ เช่น วิ่งไล่จับ ตบบอล วิ่งรอบสนาม เป็นต้น ช่วงพัก 10 นาทีนี้ควรลืมเรื่องเรียนให้หมด

ถ้าไม่วิ่งเล่น นักเรียนอาจพักสมองโดยการเล่นทราย สร้างภูเขาทราย หรือสร้างสิ่งต่างๆ ด้วยแท่งไม้ก็ได้บางท่านอาจคิดว่า การทำเช่นนี้จะไม่ทำให้สมองยิ่งเหนื่อยล้ามากขึ้นหรือ อันที่จริงการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆนั้นเราใช้สมองซีกขวา การเรียนในห้องเรียน ฟังครูสอน เราใช้สมองซีกซ้าย การสลับข้างสมองที่ใช้จะช่วยลดความเครียดของสมองอีกข้างหนึ่งได้ แต่เด็กบางคนกลับใช้สมองซีกซ้ายมากขึ้นในช่วงเวลาพัก เช่น นั่งคุยกับเพื่อนๆ ถึงเรื่องดาราโทรทัศน์บ้าง คุยเรื่องไร้สาระต่างๆ หรือทะเลาะกับเพื่อน ซึ่งต้องใช้สมองซีกซ้ายทั้งนั้น เวลาพักจึงกลายเป็นช่วงเวลาเพิ่มความเหนื่อยให้สมอง และมีผลต่อการเรียนชั่วโมงถัดไปด้วย

ทีนี้มาถึงปัญหาที่ว่า เวลาดูหนังสือที่บ้านควรจัดเวลาอย่างไรดี ผมคิดว่า ตอนอยู่บ้านเด็กไม่ควรดูหนังสือติดต่อกันนานถึง 50 นาที เพราะเครียดเกินไป ในระหว่างชั่วโมงเรียน 50 นาทีที่โรงเรียนนั้น มีช่วงเวลาส่งการบ้านบ้าง หรือบางครั้งครูก็คุยเล่นเล่าเรื่องตลก และบางทีเด็กก็แอบคุยกับเพื่อนข้างๆ ช่วงเวลาเหล่านี้จะเป็นการพักสมองไปโดยปริยาย ดังนั้น นักเรียนจึงเรียนวิชาหนึ่งๆ ได้รวดเดียวนานถึง 50 นาที แต่การดูหนังสือที่บ้านนั้นต่างกับที่โรงเรียน เด็กต้องนั่งจ้องตำราหรือสมุดโน้ตอยู่ลำพังคนเดียว เป็นการรวมศูนย์สมาธิโดยไม่มีเวลาพัก

เด็กจะรวมศูนย์สมาธิอยู่ได้นานประมาณ 20 นาทีเท่านั้น แม้แต่ผู้ใหญ่ก็ยากที่จะรวบรวมสมาธิอยู่ได้นานถึง 30 นาที เวลาผมไปปาฐกถาผมมักพูดนานถึง 120 นาที แต่ผมก็มีเทคนิคในการบรรยาย สำหรับเด็กนั้น หากหมดสมาธิแล้วฝืนดูหนังสือต่อไปก็ไม่ได้ประโยชน์ ประสิทธิภาพจะถดถอย สมองก็อ่อนล้า ดังนั้น เวลาดูหนังสือที่บ้านควรทำตารางไว้ประมาณ 20 นาทีต่อวิชา เมื่อดูหนังสือไปได้ 20 นาทีก็พักสัก 5 นาที แม้ว่าตัวเองยังไม่รู้สึกเหนื่อย แต่ความเหนื่อยในสมองนั้นทับถมอยู่โดยเราไม่รู้ตัว หากฝืนดูหนังสือต่อไปพลังสมาธิจะเสื่อมถอยลง ควรกำหนดเวลาไว้เพียง 20 นาทีแล้วเปลี่ยนไปดูวิชาอื่น

ตารางดูหนังสือที่ดีคือ ดูวิชาหนึ่ง 20 นาที พัก 5 นาที แล้วดูต่อไปอีก 20 นาที พัก 5 นาที สลับกันไปเช่นนี้ ช่วงพัก 5 นาทีนั้น ต้องทำให้สมองโปร่งโดยการออกกำลังกายเบาๆ เพื่อบริหารสมอง ดังผมจะได้กล่าวถึงในภายหลัง บางคนอาจใช้ช่วงนี้พักกินขนม เมื่อเรากินอาหารเลือดจะไหลลงไปอยู่ที่กระเพาะ การที่เลือดจากสมองลงไป เท่ากับนำความเหนื่อยไปจากสมองด้วย แต่ถ้ากินมากเกินไปก็ไม่ดี เพราะจะทำให้หนังท้องตึงจนกระทั่งหนังตาหย่อนดูหนังสือต่อไปไม่ไหว ควรกินขนมหรือของว่างเพียงเล็กน้อย ให้กระเพาะย่อยได้ภายใน 5 นาที

หากเป็นไปได้ ควรกินขนมทำเองในบ้าน เพราะขนมที่ขายทั่วไปใช้น้ำตาลทรายขาวหรือน้ำมันจำนวนมาก เวลาพักสมอง 5 นาที จะกลายเป็นเวลากินอาหารทำลายสมองไปเสีย

ข้อมูลสื่อ

125-018
นิตยสารหมอชาวบ้าน 125
กันยายน 2532
อื่น ๆ
Dr.YOSHIRO NAKAMATSU, พรอนงค์ นิยมค้า